ศิลปะไทย "ลายรดน้ำ"

งานช่างลายรดน้ํา 

     งานช่างลายรดน้ํา เป็นงานประณีตศิลป์ด้านตกแต่งอย่างหนึ่งซึ่งมีรูปแบบและการทํา  สืบเนื่องกันมาแต่โบราณ  จัดเป็นงานช่างศิลป์ประเภทหนึ่งเรียกว่า ช่างรัก  อันเป็นหมู่หนึ่งในบรรดาช่างหลวง หรือช่างประจําราชสํานักซึ่งเรียกกันว่า “ช่างสิบหมู่”

ลายรดน้ำ หมายถึง การเขียนลวดลายหรือรูปภาพให้ปรากฏเป็นลายทองด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรด  จัดเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีความสำคัญมาก สำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับของชาวบ้านธรรมดา เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนาตลอดไปจนถึงในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยใช้ตกแต่งผนังห้องอาคารที่มีขนาดใหญ่ อันหมายถึงใช้ตกแต่งตั้งแต่เนื้อที่ไม่กี่ตารางนิ้วไปจนถึงเนื้อที่หลายร้อยตารางฟุต

     การเขียนลวดลายหรือรูปภาพประเภทลายรดน้ำนี้คงจะมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ลายรดน้ำนี้คงแพร่หลายและเป็นที่นิยมเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาและต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ดังปรากฏศิลปะโบราณวัตถุที่ตกทอดมาได้แก่ ตู้พระธรรม หีบพระธรรม ไม้ประกับคัมภีร์ พานแว่นฟ้า ตะลุ่ม ฉากลับแล ฝาผนัง บานประตูหน้าต่าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่างานช่างลายรดน้ำของไทยนั้นมีคุณค่าทางด้านศิลปะอันมีลักษณะโดยเฉพาะและเป็นแบบอย่างของศิลปะไทยมาแต่โบราณ เเม้ว่างานส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในด้านที่เกี่ยวกับศาสนาและพระมหากษัตริย์  ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่เกิดจากชาวบ้านธรรมดา  เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน และเป็นที่เชิดหน้าชูตาแห่งตน

ตู้พระธรรม ลายรดน้ำ สมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 23
หีบพระธรรม ลายรดน้ำ สมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 23
ขั้นตอนการเขียนลายรดน้ำ
1)  เริ่มจากการร่างภาพเสียก่อนบนกระดาษ จากนั้นแล้วค่อยลอกแบบลงบนกระดาษไข โดยเอากระดาษไขวางทาบกับแบบที่ร่างไว้  

2)  การทําแบบปรุ นําแบบที่ร่างเรียบร้อยแล้ว มาทําเป็นแบบปรุโดยซ้อนกระดาษไขสัก 2 แผ่น เเล้วรองด้วยผ้าใช้เข็มปรุปรุอย่างถี่ๆตามลวดลาย เฉพาะในส่วนของโครงสร้างลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแบบ

วิธีทําความสะอาดพื้นก่อนการเริ่มลงมือเขียน ใช้ดินสอพองละลายกับน้ํา ความเข้มข้นพอสมควร ใช้นิ้วมือหรือ สําลีแตะดินสอพองละลายน้ำถูลงบนพื้นรัก โดยถูวนเป็นวงกระจายออกและถูให้ทั่วหมดทั้งแผ่น หรือจําเพาะบริเวณที่จะเขียนลายก็ได้พอดินสอพองหมาดๆ ก็ถูลบเอาดินสอพองออกให้หมด

3) การลูบฝุ่นโรยแบบ นําแบบกระดาษไขที่ปรุเรียบร้อยเเล้ววางทาบลงบนพื้นผิวที่จะเขียนตรึงให้แน่นอย่าให้เคลื่อน เเล้วใช้ลูกประคบฝุ่นดินสอพองลูบแต่เพียงเเผ่วเบาบนกระดาษตามรอยปรุ เพื่อให้ฝุ่นนั้นผ่านรูปรุติดบนพื้นผิวเกิดเป็นลวดลาย แล้วจึงม้วนตลบกระดาษลายไว้ด้านบน เผื่อในกรณีที่ลายที่ตบด้วยฝุ่นไม่ชัดเจนสามารถทาบกระดาษได้ตรงลายเดิม

4)  การเขียนด้วยนํ้ายาหรดาล  ก่อนลงมือเขียนน้ํายาจะต้องคนน้ำยาให้เข้ากันเสียก่อนทุกครั้งทั้งนี้เพื่อป้องกันน้ํายาตกตะกอน  น้ํายาต้องไม่ข้นเหนียวหรือผสมน้ําฝักส้มป่อยมากจนเกินไป
ใช้สะพานรองมือทุกครั้งที่ทําการเขียนน้ํายาหรดานไม่ควรให้มือหรือส่วนหนึ่ง  ส่วนใดของร่างกายไปถูกบริเวณที่ลูบฝุ่นโรยแบบไว้  โดยให้เริ่มเขียนตัดเส้นโครงสร้างหลักของลวดลายเสียก่อน 

5)  ถมลายในส่วนที่ต้องการให้เป็นพื้นสีดำ  ตรวจสอบช่องไฟจากนั้นจึงเขียนเส้นหรือส่วนเเสดงลายละเอียดในภายหลังใส่ลายละเอียดเส้นขนาดเล็ก  ช่วงเวลานี้พิจรณาโดยรวมพร้อมทั้งเเก้ไขส่วนบกพร่องเเละผิดพลาด ก่อนการเช็ดรัก

6)  การเช็ดรัก เมื่อเขียนด้วยน้ํายาหรดาลเสร็จเรียบร้อยและผึ่งจนแห้งดีแล้วจึงนำมาเช็ดด้วยรักเคี่ยว (รักเช็ดหรือรักเคี่ยว คือ รักน้ําเกลี้ยงตั้งไฟเคี่ยวโดยใช้ไฟอ่อนๆเพื่อไล่ความชื้นออกไปให้หมด) ใช้สำลีปั้นเป็นก้อนห่อด้วยผ้าที่ผิวเรียบไม่มีขนแตะรักเช็ด  เช็ดลงบนพื้นที่เขียนน้ํายาให้ทั่ว  
จากนั้นเปลี่ยนสําลีก้อนใหม่เช็ดถอนยางรักออกให้เหลือน้อยที่สุด  ครั้งหรือสองครั้งเเละที่สำคัญต้องให้มีความหนึบเหนียวสม่ำเสมอทั้งชิ้นงาน  วิธีทดสอบโดยเอาหลังนิ้วมือแตะดูพอหนึบๆ ก็ใช้ได้เเละควรกะระยะเวลารักเเห้งตัวเเละระยะเวลาปิดทองให้สัมพันธ์กัน

7)  การปิดทองคําเปลว  เเผ่นทองที่จะนำมาปิดต้องเป็นทองคัดอย่างดีไม่มีตามดหรือมีรอยด่าง  การปิดทองควรจับแผ่นทองจะเป็นทีละแผ่นในส่วนที่พื้นผิวโค้งงอ  หรือทีละหลายๆแผ่นประมาณ10-20แผ่นในส่วนพื้นผิวที่เป็นระนาบเรียบ
ในการปิดทองต้องให้ขอบเเผ่นทองด้านใดด้านหนึ่งทับเกยกัน  โดยให้เกยกันประมาณ 2มิลลิเมตรเพื่อมิให้เกิดรอยต่อ  เมื่อปิดทองจนเต็มพื้นที่ที่ต้องการจึงตามด้วยการกวดทองโดยใช้นิ้วมือ(เเตะเเผ่นทองเสียก่อนหนึ่งแผ่น)กดตามรอยต่อที่เกยกันให้แน่นเนียนเรียบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันเสมอทั่วทั้งชิ้นงาน เก็บชิ้นงานไว้ประมาณ 8 ชั่วโมงหรือประมาณหนึ่งคืนเพื่อให้รักที่เช็ดเเห้งในระดับหนึ่ง  โดยขั้นตอนปิดทองนี้ควรกระทำในที่ไม่มีกระเเสลม

8)  การรดน้ํา ใช้กระดาษฟางที่ห่อทองคําเปลวหรือที่เราเรียกว่า  เปลือกทองชุบน้ําปิดให้ทั่วทิ้งไว้สักครุ่หนึ่งเพื่อให้น้ํายาหรดาลละลายตัวออกอย่างช้าๆ  จึงค่อยนําสำลีก้อนชุบน้ำสะอาดชะถูตามลวดลายอย่างแผ่วเบา  เพื่อช่วยให้ล้างออกได้เร็วสะอาดดีเเละไม่ทำให้ผิวทองช้ำ   
หลังจากล้างน้ำยาออกหมดแล้ว รดด้วยน้ําสะอาดให้หมดน้ํายาเป็นครั้งสุดท้าย  ก็จะได้ลายรดน้ําตามที่ต้องการแล้วใช้ผ้าสะอาดนิ่มๆ เช็ดทําความสะอาดและเก็บคราบน้ําให้เเห้งสนิท

9)  ตรวจสอบความเรียบร้อย หากพบร่องรอยความเสียหายลายขาด ไม่คมชัด ซ่อมลายโดยการใช้น้ำยาหรดานเขียนไปตามเเนวเส้นเดิมเเละกั้นลายในส่วนสมบูรณ์ไว้ ให้เหลือเฉพาะส่วนที่ที่ต้องการซ่อม เขียนน้ำยาหรดาลตามรอยเดิม เช็ดรัก ปิดทอง รดน้ำ เฉพาะส่วนนั้นๆ

...............................................................................................................
ลายรดน้ำรูปแแบบจิตรกรรมไทยประเพณี
https://lairodnamart.blogspot.com/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่