หมอคนสุดท้ายที่ปลายทาง ตอน ใครที่ควรรักษาแบบประคับประคอง

- ประคับประคองคืออะไร
เมื่อกล่าวถึงการรักษาแบบประคับประคองหลายคนยังนึกถึงภาพในการดูแลก่อนเสียชีวิต บางคนมองเป็นการที่เรายอมแพ้และไม่ทำอะไรให้คนไข้ แต่ในความเป็นจริงนั้นการรักษาประคับประคองถือได้ว่าเป็นมาตรฐานการรักษาที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในผู้ป่วยที่สมควรได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

ตามนิยามขององค์การอนามัยโรคนั้นระบุไว้ว่า ประคับประคองคือ กระบวนการที่เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว  ซึ่งเผชิญหน้ากับโรคที่คุกคามต่อชีวิต (life-threatening illness) ด้วยการป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมาน โดยการระบุปัญหาตั้งแต่ระยะแรกของโรค การประเมินอย่างถูกต้อง และการรักษาอาการเจ็บปวด รวมทั้งปัญหาทางกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

ซึ่งมีองค์ประอบสำคัญคือ
เป้าหมาย - เพิ่มคุณภาพชีวิต
กับใคร - ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว
ในโรคใด - ในโรคที่คุกคามชีวิต
เมื่อใด - ตั้งแต่การวินิจฉัย
อย่างไร - ป้องกันและรักษาความทุกข์ทรมาน
แค่ไหน - ทุกมิติที่เกี่ยวข้อง

-  เมื่อไรที่ควรเริ่มการรักษาประคับประคอง



ในอดีต (ใครยังมองแบบนี้เปลี่ยนได้นะครับ) เราจะมองขั้นตอนการรักษาแบบสองช่วง คือ รักษาเต็มที่หวังให้หายขาด จนบั้นปลายสุดความสามารถสุดกระบวมการทางการแพทย์แล้วจึงค่อยประคับประคอง และจบลงที่คนไข้เสียชีวิต (ภาพบน) แต่ในปัจจุบันซึ่งจริงๆก็หลายปีมากแล้วนั้น การประคับประคองจะเริ่มต้นไปกับจุดเริ่มต้นของการวินิจฉัยในหลายๆโรค (ภาพล่าง) เพราะการที่เราทราบว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่มีโอกาสตายได้นั้นย่อมมีผลกระทบต่อมิติทางด้านจิตใจไม่มาก็น้อย เพียงแต่ว่าสัดส่วนของการดูแลตามปกตินั้นจะยังมากอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการรักษานั้นเริ่มได้ผลลดลงหรือโรคดำเนินแย่ลง เริ่มมีอาการรบกวนคนไข้ บทบาทของการประคับประคองก็จะสูงขึ้นจนถึงบั้นปลายชีวิตที่มักจะเหลือแต่การประคับประคองที่จะให้ประโยชน์กับคนไข้ได้จริงๆ และแม้คนไข้จะเสียชีวิตไปแล้วนั้นกระบวนการประคับประคองจะยังดำเนินต่อไปกับสมาชิกในครอบครัวเพื่อการรับมือกับการสูญเสียคนที่เขารักและสามารถก้าวต่อไปได้ในอนาคต

- แล้วใครที่ควรได้รับการรักษาแบบประคับประคอง
การพิจารณาว่าใครที่ควรได้รับการรักษาแบบประคับประคองนั้นมีพื้นฐานมาจากหลักการที่ว่า ใครจะได้ประโยชน์จากการรักษาประคับประคองบ้าง ซึ่งอาจดูตามความรุนแรงของโรค อาจดูว่าคนไข้แบบนี้มีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์ทรมานรบกวน และบางกรณีมาจากการศึกษาวิจัยซึ่งพบว่าคนไข้กลุ่มนี้ได้ประโยชน์หากเริ่มการรักษาประคับประคองแต่เนิ่นๆไม่ใช่รอแย่แล้วค่อยเริ่ม

ในอังกฤษและบ้านเราเอามาปรับใช้นั้น เราแบ่งเป็นสามขั้นตอนครับ
๑ คำถามว่า จะแปลกใจหรือไม่หากคนไข้คนนี้จะมีโอกาสเสียชีวิตภายในหนึ่งปีข้างหน้า
หากคำตอบคือไม่แปลกใจ คนไข้กลุ่มนี้ไม่ว่าโรคใด ร่างกายแข็งแรงแค่ไหน ก็ควรมีโอกาสได้รับการรักษาแบบประคับประคอง เนื่องจากเมื่อเรามีโอกาสจะเสียชีวิต หากเราได้รู้ตัวเองล่วงหน้าย่อมมีการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ กิจธุระต่างๆ มุมมองของปัญหาต่างๆของคนเรามักจะเปลี่ยนไปเมื่อรู้ว่าความตายได้มารอตรงหน้าแล้ว คำถามเหล่านี้ไม่ใช่คำแช่ง และคนไข้ส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตจริงภายในหนึ่งปี แต่เป็นจุดเริ่มที่ดีที่จะเริ่มการประคับประคองเพราะหากรอจนร่างกายย่ำแย่มักจะมีปัญหาต่างๆตามมามากมาย

๒ ประเมินดูความแข็งแรงโดยทั่วไป 
ในหลายรายอาจไม่ได้จะเสียชีวิตเร็วๆนี้ แต่ร่างกายกลับเสื่อมถอย ทรุดโทรม จนเริ่มเกิดปัญหา คนไข้กลุ่มนี้ก็ควรจะได้รับการรักษาแบบประคับประคองไปด้วยเสมอ ตัวอย่างของหลักเกณฑ์ในข้อนี้คือ
- มีการถดถอยของการประกอบกิจกรรมประจำวัน จำเป็นต้องมีคนช่วยเหลือดูแลเป็นส่วนใหญ่
- มีโรคร่วมที่มีผลอย่างมากต่อการป่วยและตาย
- มีสภาวะเสื่อมถอยของร่างกาย ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น
- โรคอยู่ในระยะลุกลาม ไม่คงตัว มีอาการซับซ้อนที่ไม่สุขสบายมาก
- ไม่ตอบสนองต่อการรักษา (มีผลให้เสียชีวิต)
- เลือกที่จะไม่รักษาตัวโรคต่อไปอย่างเต็มที่ 
- น้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 10 ในหกเดือน
- เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างไม่คาดหมายบ่อยครั้ง
- มีเหตุการณ์เช่น การล้มรุนแรง ภาวะสูญเสีย นอนในสถานดูแล
- ค่าโปรตีนไข่ขาวในเลือดลดต่ำมาก (Serum albumin < 2.5 mg/dl)

๓ ประเมินตามเกณฑ์รายโรค
หากผ่านสองขั้นตอนแรกมาได้ คนไข้ที่เข้าเกณฑ์ที่สามนี้มักจะมาจากข้อมูลการศึกษาวิจัยว่าคนไข้ต่อไปนี้มีโอกาสสูงมากที่จะเสียชีวิตในหนึ่งปีหรือการรักษาประคับประคองมีประโยชน์มากเช่น คนไข้มะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย หากได้รับการดูแลตามแนวทางประคับประคองตั้งแต่การวินิจฉัยจะมีระยะเวลารอดชีวิตที่นานกว่าทั้งๆที่มีการยื้อความตายที่น้อยกว่า เป็นต้น

ในบทความนี้คงไม่ได้ลงรายละเอียดไว้เพราะตั้งใจไว้ใช้กับคนทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์สามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ แต่โรคที่อาจมีเกณฑ์เฉพาะโรคเช่น มะเร็ง ไตวายระยะท้าย ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจล้มเหลวเรื้อรัง เส้นเลือดสมองตีบ คนไข้ติดเตียง เป็นต้น

ดังนั้นคงจะพอมองเห็นได้ว่า ทำไมบางคนยังดูดี ยังดูแข็งแรงอยู่เลย หมอถึงมาคุยเรื่องการรักษาประคับประคองแล้วล่ะ ก็เพราะเรารู้ว่าคนไข้และครอบครัวมีโอกาสจะได้ประโยชน์จากการรักาาประคับประคองนั่นเองครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่