ผ่านพ้นการประชุมที่แฟนพรีเมียร์ลีกเงี่ยหูรอฟังไปเป็นที่เรียบร้อย กับการหารือของสมาชิกในวันที่ 18 พ.ค. โดยมีการลงมติเรื่องสำคัญเรื่องแรก นั่นคือการอนุมัติให้แต่ละทีมสามารถกลับมารวมกลุ่มซ้อมแบบย่อยๆ ได้แล้ว โดยในรายละเอียด เดี๋ยวเราพาไปดูกันให้ครบถ้วน พร้อมแง่มุมอื่นๆ
พรีเมียร์ลีกยังคงมุ่งไปในการกลับมาเตะ โดยเริ่มอนุมัติการกลับมาซ้อมแบบกลุ่มย่อยๆ
นอกจากนั้น สิ่งสำคัญของแฟนๆ Fantasy Premier League ที่ผ่านพ้นเดดไลน์ Gameweek 38 หรือวีคสุดท้ายของโปรแกรมปกติ ไปแล้ว FPL จะทำยังไงต่อ มีท่าทีออกมาด้วย เดี๋ยวเราสรุปให้ฟังเช่นกัน
การประชุมพรีเมียร์ลีก 18 พ.ค.
หลังรัฐบาลมีการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ โดยอนุญาตให้กีฬากลับมาแข่งแบบไม่มีผู้ชม ตั้งแต่ มิ.ย. เป็นต้นไป บวกกับการพูดคุยระหว่างฟุตบอลลีก, พรีเมียร์ลีก และรัฐบาล มีทิศทางโอเคให้กลับมาแข่งขันได้ พรีเมียร์ลีกก็เลยประชุมโดยพร้อมเพรียง 18 พ.ค. ที่ผ่านมา
มติเรื่องแรก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการกลับมาเตะ นั่นคือที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ได้เสียงอย่างน้อย 14 จาก 20 เสียง (ไม่มีการเปิดเผยว่าเห็นด้วยกี่เสียง แต่สื่อรายงานว่าไม่ครบ 20 เสียงเต็ม) ให้แต่ละทีมสามารถกลับมาซ้อมแบบกลุ่มย่อย ตั้งแต่ 19 พ.ค. เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นการกลับมาซ้อมเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรก นับตั้งแต่เบรกไปเพราะโควิด-19
“แซร์โจ้ อเกวโร่” หนึ่งในนักเตะที่เริ่มกลับมาซ้อมกับสโมสร หลังได้อนุมัติซ้อมกลุ่มย่อย
ฝั่งลิเวอร์พูล ก็กลับมาซ้อมแบบกลุ่มย่อยเช่นกัน "อลิสซง เบคเกอร์" กลับมาฟิตแล้ว
โดยรายละเอียดการซ้อมที่อนุญาต ยังคงคำนึงถึง Social Distancing และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง โดยการซ้อมรวมกลุ่มสูงสุด อนุญาตให้ไม่เกิน 5 คน และเซสชั่นการซ้อมแต่ละครั้ง จะต้องไม่เกิน 75 นาที
นอกเหนือจากรายละเอียดการซ้อม พรีเมียร์ลีกยังจะส่งระเบียบการไปให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และมีความปลอดภัยสูงสุด
การหารืออื่นๆ
นอกเหนือจากการประชุมทางการของพรีเมียร์ลีก ในรอบสัปดาห์ยังมีการหารือในกลุ่มย่อยต่างๆ เพื่อให้เห็นแนวทางของความปลอดภัย โดยเฉพาะการคอนเฟอเรนซ์ระหว่าง ตัวแทนนักเตะ, ตัวแทนผู้จัดการทีม, สมาคมนักเตะอาชีพ, สมาคมผู้จัดการทีม, พรีเมียร์ลีก, ฟุตบอลลีก และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์
แม้ส่วนใหญ่ จะไม่มีข้อติต่อแผนการกลับมาเตะของพรีเมียร์ลีก นับตั้งแต่รัฐบาลอนุมัติให้กีฬาอาชีพกลับมาแข่งได้ แต่ก็มีบางส่วนยังคงกังวลต่อสุขภาพของนักเตะ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการแสดงออกต่อสาธารณะกันพอสมควร
“ทรอย ดีนีย์” หนึ่งเสียงที่แข็งขัน ไม่เห็นด้วยกับการเร่งกลับมาแข่งขัน
กัปตันทีม ซึ่งถือเป็นตัวแทนนักเตะของสโมสร ที่แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการรีบกลับมาเตะคือ “ทรอย ดีนีย์” กัปตันทีมวัตฟอร์ด ที่มองว่าสุขภาพครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ควรมีใครต้องเสี่ยง โดยเขามองว่าเรื่องเงิน เป็นเรื่องรอง และมีความสำคัญน้อยกว่า
โดยนอกจากจะแสดงความเห็นก่อนมีการประชุมของพรีเมียร์ลีก ภายหลังที่มติอนุญาตให้กลับมาซ้อมรวมกลุ่ม ดีนีย์ก็ออกมาปฏิเสธการกลับมาซ้อมชัดเจน โดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพของครอบครัว ซึ่งเขามีลูกเล็กวัย 5 เดือน และมีปัญหาเรื่องการหายใจ ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องเสี่ยงกลับมาสัมผัสกับผู้คนทั้งกับการซ้อม และการลงเล่น ซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงการปะทะใกล้ชิดได้
“แกรนท์ แฮนลีย์” กัปตันนอริช อีกรายที่มีความกังวล และคิดว่านักเตะแต่ละคน คงมีความเห็นต่างกัน
โดยนอกเหนือจากดีนีย์แล้ว ยังมีความกังวลจากกัปตันทีมบางราย เช่น “แกรนท์ แฮนลีย์” กัปตันทีมนอริช หรือ “มาร์ค โนเบิล” กัปตันทีมเวสต์แฮม รวมถึงนักเตะอีกหลายราย ซึ่งรู้สึกว่ามีการถามความคิดเห็นของตัวนักเตะแต่ละคน น้อยเกินไป
และนอกจากความกังวลเรื่องสุขภาพของนักเตะหลายราย ฝั่งรัฐบาลเอง ยังได้เน้นย้ำเรื่องการถ่ายทอดสดฟรี ให้ผู้ชมที่ไม่สามารถเข้ามาดู สามารถติดตามได้สะดวก และพรีเมียร์ลีกควรมีการแบ่งรายได้ไปให้กับลีกรอง และฟุตบอลระดับรากหญ้า ซึ่งเจอผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19
“โอลิเวอร์ ดาวเด้น” เลขาธิการด้านวัฒนธรรม ตัวแทนรัฐบาล ที่เรียกร้องการถ่ายทอดสดฟรี
สเต็ปต่อไปของพรีเมียร์ลีก
ถึงจะมีบางส่วนที่แสดงความกังวล แต่สโมสรโดยส่วนใหญ่ก็เริ่มเรียกนักเตะเข้ามายังศูนย์ซ้อม เพื่อเริ่มมาตรการกลับมาซ้อมกลุ่มย่อย โดยคำนึงถึง Social Distancing
เป้าหมายสำคัญของการกลับมาซ้อมแบบทีม คือการเรียกความฟิตของนักเตะ หลังห่างหายอยู่บ้านกันมายาวนาน ซึ่งแม้จะมีการรักษาความฟิตส่วนตัว แต่ก็ยากจะทำให้มันได้ประสิทธิภาพพร้อมแข่งขันในช่วงเดือนหน้า
สนามซ้อมของแต่ละสโมสร เตรียมพร้อม และเปิดให้นักเตะกลับมาซ้อมได้แล้ว
โดยตอนนี้ ยังไม่มีการระบุวันที่กลับมาแข่งขันชัดเจน เพราะยังต้องผ่านอีกหลายด่าน โดยเฉพาะการตรวจเชื้อของผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และการตัดสินใจเรื่องสนามแข่งขัน ซึ่งยังคาราคาซังอยู่
เรื่องของการตรวจเชื้อ ข่าวจาก BBC ล่าสุดเมื่อคืนวันอังคาร (19 พ.ค.) มีการระบุว่าจากการตรวจเชื้อ 3 สโมสรแรก (อาทิตย์-จันทร์) พบผลบวก หรือติดเชื้อจำนวน 6 ราย โดยไม่มีการระบุว่าเป็นนักเตะหรือสตาฟฟ์ ไม่ระบุชื่อและสโมสร โดยการดำเนินการตรวจตอนนี้ สามารถตรวจไปแล้ว 19 สโมสร ครอบคลุม 748 เคส ผลยอดรวมจะเป็นยังไง จะทราบในไม่กี่วันข้างหน้า แล้วเอาไปรวมกับผล 3 สโมสรดังกล่าว
การตรวจเชื้อตลอดช่วงการกลับมาเตะ เป็นอีกสิ่งสำคัญที่พรีเมียร์ลีกต้องทำให้ชัดเจน
ซึ่งจุดตรงนี้น่าติดตามต่อไม่น้อย ว่าหากปูพรมครบถ้วนทุกทีม จะเจอผู้ติดเชื้อทั้งหมดกี่คน และจะจัดการยังไงต่อ ซึ่งถือเป็นการบ้านหนักของพรีเมียร์ลีก ที่ต้องกำหนดมาตรการว่าหากพบผู้เกี่ยวข้องติดเชื้อ จะตัดสินใจยังไง กักตัวยังไง และส่งผลต่อโปรแกรมโดยรวมแค่ไหน
เช่นเดียวกับเรื่องของสนามแข่งขัน เพราะพรีเมียร์ลีกตั้งท่ามาก่อนว่าอยากเตะสนามกลาง ซึ่งเจอการคัดค้านจากหลายสโมสร จนน่าจะต้องหามาตรการเตะแบบเหย้า-เยือน แบบเดิมให้ได้
สนามแต่ละสโมสรของพรีเมียร์ลีก ต้องเตรียมพร้อมการเตะแบบ “นิว นอร์มอล” แบบในเยอรมัน
โดยเรื่องของการใช้สนามแข่งขันนั้น คงต้องตัดสินใจกันในอนาคตอันใกล้ เพราะทุกสนามย่อมต้องเตรียมการทุกอย่างเพื่อรองรับแมทช์แข่งขันที่ไม่ปกติ อย่างน้อยๆ ก็ราว 4 นัด
สุดท้ายแล้ว กำหนดการจะกลับมาเตะคือวันไหนของเดือน มิ.ย. ยังคาดเดาได้ยาก เพราะตอนแรกคาดว่า 12 มิ.ย. แต่เมื่อเจอปัญหา และความไม่เห็นด้วยเข้ามาเรื่อยๆ 19 มิ.ย. หรือ 26 มิ.ย. อาจจะเป็นคำตอบที่เห็นภาพได้ชัดกว่า
ความคลุมเครือของลีกผู้ดี
นอกเหนือจากอุปสรรคหลายสิ่ง ที่ทำให้การกลับมาเตะของพรีเมียร์ลีกตะกุกตะกัก การได้เห็นลีกใหญ่อย่าง “ลา ลีก้า” สเปน หรือ “กัลโช่ เซเรีย อา” อิตาลี ขยับตัวเป็นรูปเป็นร่างได้เร็วกว่า ทั้งๆ ที่ประกาศกลับมาเตะทีหลัง ทำให้สื่อเริ่มวิเคราะห์ว่า “ลีกผู้ดี” มีปัญหาอะไรลึกๆ หรือเปล่า
“ฆาเบียร์ เตบาส” หัวเรือใหญ่ของลา ลีก้า ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางการกลับมาเตะ ได้อย่างชัดเจน
ประเด็นแรกคือเรื่องของความไม่แข็งแรงของผู้นำพรีเมียร์ลีก ซึ่งไม่สามารถโน้มน้าวหรือล็อบบี้ให้ผู้เกี่ยวข้องให้ภาพรวม และผลักดันให้การกลับมาเตะเดินหน้าได้เร็วเหมือนอย่างในสเปน ซึ่งลา ลีก้า ยืนหยัดลุยกับสมาคมฟุตบอล และรัฐบาลมาก
อีกประเด็นคือเรื่องความจุกจิก และการไม่ค่อยยอมเสียสละของนักเตะ และบุคคลที่เกี่ยวข้องของพรีเมียร์ลีก ซึ่งสะท้อนออกมาจากการแสดงตัวแก้ปัญหาก่อนนี้ ทั้งเรื่องลอยแพพนักงานของหลายสโมสร, การยึกยักไม่ลดค่าเหนื่อยของนักเตะ และการตั้งข้อแม้มากมาย โดยขาดการมองภาพรวม
การจัดการกับปัญหาเรื่องพนักงานสโมสร และการวางมาตรการ ทำให้พรีเมียร์ลีกดูเชื่องช้า
ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องความทะนงตนในแบบชาวเมืองผู้ดี ที่ไม่ค่อยเปิดใจยอมรับไอเดียจากภายนอก หลายสื่อยังเล่นข่าวการกลับมาเตะด้วยมาตรการนู่นนี่ของบุนเดสลีก้าแบบขำๆ โดยหารู้ไม่ว่านั่นอาจจะเป็นแบบอย่างที่พวกเขาควรเอามาปรับใช้ หากอยากกลับมาเตะแบบเขา
แวะดูลีกอื่นกันนิดนึง
อย่างที่ทราบกันไป ว่า
“บุนเดสลีก้า” เป็นลีกใหญ่ลีกแรกที่กลับมาเตะไปเรียบร้อยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีมาตรการ
“นิว นอร์มอล” ที่เตรียมพร้อมมาดีทีเดียว ซึ่งผมได้เขียนรายละเอียดไว้ในอีกบทความ
>> ตามไปอ่าน คลิกที่นี่ <<
เพื่อนบ้านของพรีเมียร์ลีก อย่าง “สก็อตติช พรีเมียร์ลีก” ของสก็อตแลนด์ ได้ตัดสินใจตัดจบไปเป็นที่เรียบร้อย โดยการนำเอากฎ “คะแนนต่อนัด” มาคิด โดยเซลติก คว้าแชมป์ไปเป็นที่เรียบร้อย ส่วนฮาร์ทส์ กลายเป็นทีมที่ตกชั้น
เซลติก คว้าแชมป์ลีกสก็อตแลนด์ ไปเรียบร้อยแล้ว หลังมีมติให้ตัดจบ
ด้าน “ลา ลีก้า” สเปน กับ “กัลโช่ เซเรีย อา” อิตาลี รุดหน้าการกลับมาเตะพอสมควรเลย โดยได้เริ่มให้มีการซ้อมแบบรวมกลุ่มแล้ว และน่าจะกลับมาเตะได้ตามกำหนดการกลางเดือน มิ.ย. ซึ่งไปๆ มาๆ จะแซงหน้าพรีเมียร์ลีกค่อนข้างแน่
(ขออนุญาตต่อส่วนที่เหลือในคอมเมนท์)
มิตรรัก นักแฟนตาซี : EP 44 พรีเมียร์กลับมาซ้อมกลุ่มย่อย และท่าทีของ FPL หลังผ่าน GW 38