เวลาจะนำพามาซึ่งความจริงที่ครบถ้วน

กระทู้สนทนา
ท้ายสุด คาวาซากิ ในเด็กคือภาวะที่ร่างกายไวต่อไวรัส ไม่ต่างกะต่อมทอลซินไวกะแบคทีเรีย
และโรค SAD ไม่ใช่ภาวะฤดูหนาวคุกคาม
แต่เป็นด้วยการที่ร่างกายถูกจิตใจบังคับให้แข็งแกร่งเกินไป
ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว และถ้านายไม่แกร่งพอจะฝืนแกร่งก็แกว่งตามกันไป
.
.
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
11 มกราคม 2016 · 
S.A.D. คำนี้ มิได้แปลว่า "เศร้า"
แต่ฉันคือ Somatoform Autonomic Dysfunction.
ภาวะที่
"ทรมานทุกข์เข็ญ
เป็นกันมากมาย
เป็นแล้วไม่ตาย
แต่หายยาก...เหลือเกิน"
เสียงรถปิ๊คอัพ คันโต ถอยพรืดมาหน้า ห้องฉุกเฉิน
ชายหญิงหลายคนช่วยกันหาม เด็กหญิงวัยรุ่นแต่งชุดนักเรียนขึ้นรถนอน เข็นมาห้องฉุกเฉินอย่างรีบเร่งและเคร่งเครียด
ผู้ชายเสียงดัง แต่งชุดกากี คนรอบข้างเรียก ครูใหญ่ ร้องถามพยาบาลที่เข้ารับ หน้าห้องฉุกเฉิน ถามหาหมอ "ลูกศิษย์ผมยืนหน้าเสาธงล้มลงกองกับพื้นหน้าซีดบ่นแน่นหน้าอกหายใจไม่ออกครับ ช่วยตามหมอมาช่วยหน่อย"
พยาบาลกุลีกุจอ วัดสัญญาณชีพ ร้องเรียกผู้ช่วยเหลือคนไข้ ให้ตามหมอเวรด่วน แล้วเข็น ผู้ป่วยเข้าห้องตรวจรักษา
เมื่อหมอเวรมาถึง จึงเริ่มตรวจคนไข้พบว่า ผู้ป่วยหน้าซีด หายใจเร็วเหมือนคนหอบ นอนดิ้นทุรนทุราย มือเกร็ง ปลายมือจีบ แต่ยังรู้สติอยู่ ทำตามคำสั่งได้ ท่าทางเหนื่อยมาก
หมอฟังเสียงหัวใจ ฟังปอด ดูรูม่านตา
ถามเรื่องสัญญาณชีพ พยาบาลรายงานว่า "ปกติค่ะยกเว้นหายใจเร็วมาก"
แพทย์สั่งตรวจเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ เอ็กเรย์ภาพทรวงอก และเจาะเลือดชุดใหญ่ จากนั้น จึงสั่งการรักษา และ รับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล
สองชั่วโมงต่อมา พ่อผู้ป่วยเดินทางมาถึง สอบถามอาการจากพยาบาล ได้รับคำตอบว่า หมอให้ยาฉีดแล้วขณะนี้นอนพักผ่อน อยู่ที่เตียงผู้ป่วยใน พบว่าผู้ป่วยหลับ ใบหน้าสวม หน้ากาก oxygen ครอบไว้ที่จมูกปาก
ไม่นานต่อมาหมอเชิญพ่อเข้าพบ แจ้งว่าผลการตรวจ ทั้งหมด เป็นปกติ
" ลูกคุณเป็น ไฮเปอร์เวนทิเลชั่น ไม่เป็นอะไรมากหรอกครับ พรุ่งนี้ก็กลับบ้านได้แล้ว "
พ่อมี สีหน้าโล่งใจแม้จะยังไม่เข้าใจว่า หมอหมายถึงอะไร ..ไอ้ชั่นๆ....เนี่ย
วันรุ่งขึ้น มีเพื่อนนักเรียนมาเยี่ยมหลายคน ผู้ป่วยแม้จะดูอิดโรย แต่ก็ยังฝืน พูดคุยหัวเราะได้ สักพัก หมอ มาตรวจเยี่ยมคนไข้ ตรวจเสร็จแล้ว บอกพ่อว่า "กลับบ้านได้ หยุดพักสักหนึ่งวันนะ "
.
............... วันรุ่งขึ้น ผู้ป่วยกลับมาอีกครั้ง ด้วย อาการเดิม
สีหน้าพ่อดูกังวลและหงุดหงิดเห็นได้ชัด ส่งเสียงดัง "ไหนว่าหายแล้ว ลูกผมเป็นอะไรกันแน่ หมอตรวจผิดหรือเปล่า"
คราวนี้ เจอหมอคนใหม่ ตรวจอาการเสร็จด้วยท่าทางสบายๆ แจ้งผลญาติว่า "ปกติดีนี่ครับ ลูกคุณมีเรื่องคิดมากรึเปล่าเนี่ย " แล้วหันไปบอก กับพยาบาล" เคสนี้ ไฮเปอ นะ ส่งไปพบจิตแพทย์ละกัน"
พ่อฟังหมอพูดแล้ว ก็ฮึดฮัด หน้าแดง ลูกผมเป็นเด็กดี เรียบร้อย เรียนเก่ง ไม่ได้เป็นโรคจิต อายุแค่นี้จะไปเครียดอะไร แต่ก็กัดฟันเดินตามเวรเปลเข็นเตียงผู้ป่วยขึ้นชั้นสองไปห้องตรวจจิตเวชแต่โดยดี ปากบ่นพึมพำ
"หมอสมัยนี้ตรวจไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็หาว่าเครียด แย่จริงๆ "
หน้าห้องจิตเวช มีคนป่วยรออยู่มากมาย บางคนตาลอย บางคนเซื่องซึม บ้างเดินไปเดินมา พูดพึมพำคนเดียว
... ส่วนมากดูปกติดี ...
นั่งรอสักพัก จึงได้คิวฉุกเฉินเข้าพบ พยาบาลหน้าห้องถามประวัติการเจ็บป่วย อย่างละเอียด จิตแพทย์ซักถามเพิ่มเติม ตรวจผู้ป่วยตรวจสอบประวัติ ผู้ป่วยอย่างละเอียดอีกครั้ง จากนั้น ถามพ่อว่า วันนี้มากันกี่คน พ่อบอกว่า เดี๋ยวแม่ ป้า น้า และครูใหญ่ ก็จะตามมาด้วย
หมอจึงนัดว่าถ้าญาติมาพร้อมกันเมื่อไร "ผมจะขออธิบายเรื่องโรคของเด็กกับญาติทั้งหมดอีกครั้งนะครับตอนนี้หมอจะให้ยาที่ทำให้ผู้ป่วยหลับก่อน แล้วพยาบาลจะพาไป ที่ห้องสังเกตอาการนะครับ"
พ่อมองหน้าหมอด้วยความงงๆ และสังเกตสีหน้าหมอที่ดูสงบๆแต่ดูเหนื่อยๆอะไรสักอย่าง บอกไม่ถูก ............
=============================================
>>> Somatoform autonomic dysfunction <<<
มีคำแปลเป็นไทยที่ยาวมาก อธิบายง่ายๆคือ เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ หรือ รวน นั่นเอง โดยที่ต้องไม่มีความผิดปกติหรือพยาธิสภาพของร่างกาย
มีสาเหตุจาก ภาวะทางจิตเวช ที่ไม่ใช่การเสแสร้งแกล้งทำ และผู้เป็นจะควบคุมอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้
Hyperventilation syndrome ตามตัวอย่างข้างบนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการนี้
โดยมักจะมีอาการเริ่มต้นคือรู้สึกแน่นหน้าอกจนต้องพยายามหายใจให้เร็วจนเหมือนกับหอบ และเป็นนานจนมีการเปลี่ยนแปลงของค่าสารเคมีในเลือดทำให้เกิดอาการซ่าตามตัวจนมีอาการเกร็งและมือจีบ บางครั้งอาจสับสนแต่สติสัมปชัญญะจะยังดี (ต่างจากอาการของลมชักที่จะหมดสติ) ทำให้ทรมานมาก จนบางครั้งดิ้นทุรนทุรายเหมือนผู้ป่วยหนักที่กำลังจะเสียชีวิตทำให้ผู้ป่วยและญาติกังวลทำให้เกิดวัฏจักรความกลัว ทำให้มีอาการเป็นๆหายๆ
ภาวะนี้ต้องได้รับการตรวจแยกโรคจากภาวะอื่นๆที่มีอันตราย เช่น โรคลมชัก โรคหัวใจ โรคหืด ทัยรอยด์เป็นพิษ และภาวะน้ำตาลสูงผิดปกติออกไปเสียก่อน
ภาวะนี้ไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่จะเป็นซ้ำๆและรักษายากจนรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติ ความผิดปกติชนิดนี้ เกิดจากภาวt chronic stress
โดยที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่เข้าใจ / ไม่ทราบว่าตัวเองมี stress
เนื่องจากอาจมีบุคลิกภาพ ที่ชอบเก็บงำความรู้สึกไม่แสดงออก เติบโตหรือถูกเลี้ยงดูมาให้เป็นคนเข้มแข็ง มีความอดทนต่อ stress โดยไม่สามารถแสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็นได้ มักเป็นคนที่มีระเบียบวินัยในตัวเองสูง เก็บความรู้สึกความโกรธความไม่พอใจไว้ในจิตสำนึกหรือจิตใต้สำนึกไว้ได้มากกว่าคนทั่วไป แสดงความรู้สึกน้อยหรือทำได้ยาก ปฏิเสธคนไม่เป็น
ปัญหาของภาวะนี้ คือการแปลคำว่า stress เป็น ไทย มักแปลว่า ความเครียด
เมื่อถามผู้ป่วยว่าเครียด หรือไม่ จึงตอบว่าไม่มี เพราะเข้าใจว่าเครียดคืออาการคนที่คิดมาก มีเรื่องกลุ้มใจ มีปัญหารุมเร้า
แต่อันที่จริง stress มีความหมายกว้างกว่าคำว่าเครียด มาก
stress เกิดจากสภาวะกดดัน และการเปลี่ยนแปลงในชีวิต( life change ) สภาวะกดดันอาจเกิดจากการทำอะไรซ้ำๆนานทั้งๆที่ดูเหมือนสบายแต่ก็ทำให้ stressได้ เช่นพนักงานเก็บเงินทางด่วน ที่ทั้งวันยื่นรับเงิน ทอนเงิน ยามที่เปิดปิดประตูอย่างเดียว ภรรยาที่สามีให้ลาออกจากงานมาอยู่บ้าน ต้องทำงานบ้านดูแลลูก ทำกิจวัตร ที่ซ้ำๆกันทุกวัน หลายปี(แต่มีเงินใช้ไม่เดือดร้อน)
การเปลี่ยนแปลงในชีวิต ทั้งในด้านบวกและลบ ล้วนทำให้เกิด stress ได้ทั้งนั้นเช่น ถูกล๊อตเตอรี่ ๓๐ ล้านบาทก็เป็นstress แต่งงาน มีบุตร ย้ายบ้าน ทำงานบ้านซ้ำๆ ได้รับการเลื่อนขั้น ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่น ล้วนเป็นstressทั้งสิ้น
เมื่อคนอยู่ในสภาวะกดดันนานๆหรือมี life change หลายๆอย่างสะสมไว้มากๆโดยไม่สามารถระบายออกได้ก็สามารถทำให้ระบบต่างๆในร่างกายแปรปรวนได้ ระบบที่มีผลมากและคนไม่สามารถควบคุมได้คือ ระบบประสาทอัตโนมัตินั่นเอง
ตัวอย่างระบบประสาทอัตโนมัติเช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจ การหลั่งเหงื่อ การเคลื่อนไหวของลำไส้ การสร้างกรดน้ำย่อย การบีบตัวของลำไส้ การคลื่นไส้อาเจียน และประสาทการรับรู้ เมื่อระบบนี้รวน ก็จะเกิดอาการขึ้นเมื่อไรก็ได้เหมือนเครื่องจักรที่เสีย นาฬิกาเดินๆหยุดๆนั่นเอง
ภาวะเครียดลงกระเพาะก็จะปวดท้อง แน่นท้อง จุกคอ เครียดลงลำไส้ก็จะถ่ายท้องหลังกินอาหารเรื้อรัง บางคนเครียดแล้วออกอาการที่หัวใจ ก็จะใจสั่น เหนื่อยง่าย เป็นพักๆ หรือแน่นหน้าอกเจ็บหน้าอก เหงื่อออกง่าย ทางระบบหายใจก็จะรู้สึกหายใจไม่อิ่ม ถอนใจบ่อย เครียดลงกระเพาะปัสสาวะ ก็จะปัสสาวะทั้งวัน เป็นต้น ทั้งนี้อาการมักจะเกิดกับระบบใดระบบหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นอวัยวะใดเป็นจุดอ่อนของคนๆนั้น
=============================================
ภาวะอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกับโรคกลุ่มนี้ คือ Somatization disorder
ที่ผู้ป่วยมีอาการทุกชนิดที่สอบถาม มีอาการแทบทุกระบบของร่างกาย ผู้ป่วยใช้อาการ ทางร่างกายสนทนา กับ คนอื่น ( ญาติและแพทย์ ) แทนคำพูดนั่นเอง
และ กลุ่มอาการปวดเรื้อรังเป็นหลายๆปี ในที่ต่างๆของร่างกาย ที่ไม่ใช่ ภาวะซึมเศร้าแอบแฝง (masked depression) ซึ่งไม่ว่าจะตรวจด้วยวิธีใดล้วนไม่พบ สาเหตุของโรค ( somatoform pain disorder ) ก็มี สาเหตุของโรค ใกล้เคียงกัน
=============================================
ความยากของการรักษา ที่จิตแพทย์หนักใจ คือ การทำให้ผู้ป่วยเข้าใจความหมายของ stress ว่าไม่ใช่ คิดมาก เครียดแบบที่คนอื่นเป็น แต่เป็นความกดดันและlife change ที่สะสมมานานโดยไม่มีทางระบายออก
และ อาการที่เกิดมิใช่เกิดจากเหตุการณ์ในวันนั้น ช่วงนั้นแต่อาจเกิดจากเมื่อ ๓-๖ เดือนที่ผ่านมาก็ได้ จนบางครั้งต้องให้ผู้ป่วยบันทึกเหตุการณ์ในชีวิต มาหลายๆเดือนแล้วมาดูว่าอันใดคือstress ที่สะสมในตัวเอง
ผู้ป่วยใช้ชีวิตมา ๒๐/๓๐ปีโดยไม่ทราบว่าตัวเอง stress จะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจนานมากจึงจะเข้าใจได้ บางคนไม่เชื่อก็หยุดรักษาไปรักษาที่อื่น หรือ ค้นหาโรคต่อไปอีกยาวนานก็มี
เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยสามารถเชื่อมโยงเหตุและผลและเรียนรู้วิธีระบาย
ความเครียดของตนเองออกมาได้เอง อาการจะทุเลาลง และค่อยๆหายไปในที่สุด ระหว่างนี้ อาจมีการฝึกการผ่อนคลายความเครียดด้วยตัวเอง และบางช่วงอาการมาก อาจใช้ยาช่วยก็จะทำให้อาการทุเลาลงได้ในที่สุด
ตัวอย่างผู้ป่วยจริง ข้างบน ( ดัดแปลงบางอย่างเพื่อความกระชับ) เป็นเด็กนักเรียน เรียนเก่งเรียนดี ตั้งแต่เด็ก เรียบร้อยขยันช่วยพ่อแม่ทำงานแต่เด็ก มีความอดทน ไม่เคยร้องไห้ให้ใครเห็น นิสัยประหยัด เป็นผู้ใหญ่เกินตัวไม่ชอบเที่ยวเตร่ เป็นเด็กดีของพ่อแม่ ได้รับความไว้วางใจของครู ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าชั้น ทุกชั้นปี สอบได้ที่ ๑ เป็นตัวแทนประกวดแข่งขันเกือบทุกที่ ไม่เคยบ่นไม่เคยปฏิเสธงานที่พ่อแม่ครูมอบหมาย ได้รับคำชม ตลอด พ่อแม่ครูญาติผู้ใหญ่รักทุกคน
ดูภายนอกจึงน่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนเครียดแต่อย่างใด เมื่อเกิดอาการข้างต้น จึงไม่สามารถเข้าใจ สิ่งท่ีเกิดขึ้นกับตัวเองได้
หมอใช้เวลาทำความเข้าใจกับ ญาติและผู้เกี่ยวข้อง ๒-๓ อาทิตย์
ทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ๓ เดือน ปรับชีวิตให้รับผิดชอบน้อยลง ขอลาออกจากการเป็นตัวแทนประกวดแข่งขัน และหัวหน้าชั้น แนะนำให้เปิดใจคุยกับคนอื่นถึงความอึดอัด ไม่สบายใจ ถ้าไม่ไหวร้องไห้ได้ โดยต้องไม่รู้สึกว่าเป็นความผิด หัดทักษะการปฏิเสธคน ถ้าทำไม่ไหว
เมื่อเวลาผ่านไป อาการยังคง เป็นอีกเป็นพักๆแต่ห่างขึ้น
ครบ ๖ เดือน อาการดีขึ้นชัดเจน
เมื่อครบปี อาการสงบ ผู้ป่วยแวะมาขอบคุณและขอลาไป เรียนต่อต่างประเทศ
คำพูดที่ ยังคงจำได้ทุกวันนี้ คือ "ขอบคุณ คุณหมอมากที่สอนวิธีให้หนูสร้างกระจกของตัวเอง ทำให้หนูสามารถมองเห็น และรู้จักตัวตนของตัวเอง ขอบคุณที่หมอสอนให้หนูร้องไห้เป็น รู้จักอ่อนแอบ้าง และ รู้จักการปรับตัวผ่อนคลายให้ตัวเอง จนหนูหายจากโรคนี้ "
บทเรียนของผมเรื่องนี้ สอนว่า งานของจิตแพทย์ มิใช่การช่วยให้ผู้มาขอความช่วยเหลือ อดทนเข้มแข็งเสมอไป บางครั้งเราต้องสอนให้เขารู้จักแสดงความอ่อนแอในบางสถานการณ์ด้วยเช่นกัน ดังกรณีนี้ เราไม่ใช่และไม่จำเป็นต้องเป็น superman ตลอดเวลา กันทุกคน
เราจึงควรทำความเข้าใจ กับ นิยามของ ความเครียด ที่หมายถึง stress แบบกว้างขึ้น เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม เข้าใจถึง การสะสมของความเครียดเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของชีวิตหรือใช้ชีวิตท่ามกลางการกดดันนานเกินไปโดยไม่มีทางระบายออก เปรียบเหมือนเราค่อยๆสูบลมเข้าลูกโป่งชีวิตของเราตลอดเวลา เมื่อผิวลูกโปร่งเริ่มปริและบางลง ลูกโป่งก็จะระเบิดและแตกออกได้ในที่สุด
เราควร ใช้ชีวิตในทางสายกลาง ไม่เคร่งครัด หมกมุ่น กับความสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมากเกินไป
เรียนรู้ที่จะ ร้องไห้ เสียใจ และยอมรับข้อจำกัดของเราว่า อดทนได้เพียงไร เรียนรู้ที่จะปฏิเสธเมื่อไม่ไหวแล้ว
เราก็จะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมาน กับ S.A.D หรือ โรคทางกายทางใจ อีกต่อไป
#หมอปันเฌอ
๑๑ มกราคม ๒๕๕๙
เครดิตภาพ : http://www.thrivehealth.co.uk/…/anxiety/breathing-pattern-…/
กอปจาก https://www.facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation/posts/773328122771206/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่