ต้นพิศวง (Family Thismiaceae) พืชกินซากขนาดเล็กที่หายาก

ต้นพิศวง (Family Thismiaceae) เป็นพืชกินซากขนาดเล็ก ทางวิชาการจัดให้อยู่ในสกุล Thismia เป็นพืชมีดอกในกลุ่ม พืชใบเลี้ยงเดี่ยว อดีตเคยถูกจัดไว้ในวงศ์หญ้าข้าวก่ำ (Family Burmaniaceae) ทว่าปัจจุบันแยกออกมาเป็น วงศ์พิศวง (Family Thismiaceae) ซึ่งทุกชนิดในวงศ์นี้เป็นพืชกินซากขนาดเล็ก พืชในวงศ์นี้ทั่วโลกมีอยู่ 10 สกุล ราว 25 ชนิด

โดยส่วนใหญ่พบเฉพาะป่าฝนเขตร้อน ยกเว้นทวีปแอฟริกาและยุโรปที่ยังไม่มีรายงานการค้นพบ สำหรับประเทศไทยพบ 1 สกุล จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Thismia javanica (J.J. Smith) กับ Thismia mirabilis (K. Larsen) ชนิดนี้ค่อนข้างพบได้ยากกว่า เพราะมันเป็นพืชเฉพาะถิ่นของบ้านเรา

ชนิดแรก มีชื่อเรียกตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทยว่า พิศวงรยางค์ Thismia javanica (J.J. Smith) ดอกสีส้มอ่อน มีเส้นลายสีแดงพาดตามยาวโดยรอบ มีลักษณะงดงามแปลกตายิ่ง ซึ่งชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ต้นแบบ พบครั้งแรกบนเกาะชวา อินโดนีเซีย

สำหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบอยู่หลายพื้นที่ตั้งแต่ใต้สุดจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา–บาลา อุทยานฯ เขาสก เขตรักษาพันธุ์ฯ คลองนาคา อุทยานฯ ไทรโยค อุทยานฯ เขาใหญ่ และผมได้พบอีกหลายแหล่ง คือ อุทยานฯ ปางสีดา อุทยานฯ ศรีพังงา อุทยานฯ ภูจอง–นายอย เขตรักษาพันธุ์ฯ ยอดโดม
ส่วนพิศวงชนิด Thismia mirabilis (K. Larsen) เป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบได้ค่อนข้างยากกว่าชนิดแรก และมีลักษณะแปลกกว่าดอกไม้ทั่วไป ดอกมีสีดำแกมฟ้า รูปร่างคล้ายคนโท พบขึ้นอยู่ริมลำธารที่มีธาตุอาหารค่อนข้างสมบูรณ์ 

สำหรับชื่อของชนิดนี้ในภาษลาติน mirabilis แปลออกมาได้ว่า มหัศจรรย์ ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริงดั่งชื่อ ซึ่งมีรายงานการพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2506 ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ใช้เป็นพันธุ์ไม้ต้นแบบในการอธิบายลักษณะและตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ของพืชชนิดนี้ โดยพิศวงสีดำชนิดนี้มีรายงานการพบ 2 ที่เท่านั้น คืออุทยานฯ เขาใหญ่ และบนเกาะช้าง จ. ตราด  ส่วนที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ก็มีรายงานค้นพบต้นพิศวงทั้ง 2 ชนิด

พิศวง ( พิศวงรยางค์ ) Thismia javanica (J.J. Smith)
 
 'พิศวง' Thismia mirabilis (K. Larsen)

พิศวงชวา Thismia javanica J.J. Smith
(จากเขาคอหงส์ ม.สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ สงขลา  บันทึกภาพครั้งแรกเมื่อปี 2550)
 
พิศวงขาว (Thismia alba Holttum ex Jonker )

 
พืชล้มลุกกินซาก ลำต้นสั้น บางครั้งแตกแขนง ใบรูปใบหอก ยาว 3-4 มม บางใส มี 1-3 ดอก ใบประดับ 3 อัน หลอดกลีบรูประฆังสีขาว ยาวประมาณ 1 ซม. มีริ้ว 6 ริ้ว ระหว่างริ้วเป็นเส้นแถบเหลือง กลีบรวมสีเหลือง รูปสามเหลี่ยม ยาว 3-4 มม. ทั้ง 6 กลีบมีรยางค์สีขาวรูปเส้นด้าย ยาวได้ถึง 1.5 ซม. วงสันนูนหนาสีเหลือง ก้านชูอับเรณูหนา ปลายมีรยางค์ แกนอับเรณูแผ่กว้างคล้ายปีกรูปสี่เหลี่ยม ที่โคนมีต่อมน้ำต้อย 2 ต่อม ผลสดรูปถ้วยสีน้ำตาล ยาวประมาณ 6 มม.
พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทยที่สงขลา พังงา ขึ้นกระจายห่าง ๆ ในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร
Cr.http://www.dnp.go.th/botany/mindexdictdetail.aspx?runno=4044

  
พิศวงระยางค์​ 𝘛𝘩𝘪𝘴𝘮𝘪𝘢 𝘣𝘰𝘬𝘰𝘳𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 Suetsugu & Tsukaya วงศ์ : Burmanniaceae

พิศวงระยางค์​ พรรณไม้หายากจากป่าตะวันออก​ เป็นพืชล้มลุกอาศัยราขนาดเล็กไม่มีคลอโรฟิลด์ จึงไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงเหมือนพืชสีเขียวอื่น ๆ​ ได้ ใบลดรูปเป็นเกล็ดเล็ก ๆ สีขาว ในป่าตะวันออก พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวและอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี พบขึ้นในป่าดิบใกล้ลำธารหรือน้ำตก ที่มีความชื้นสูง ออกดอกช่วงฤดูฝน ค้นพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติโบกอร์ จังหวัดกัมพต กัมพูชา โดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น

พรรณไม้สกุล 𝘛𝘩𝘪𝘴𝘮𝘪𝘢 จะถูกย้ายจากวงศ์​ Burmanniaceae ไปอยู่วงศ์ Thismiaceae ในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากเมื่อศึกษาสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการระดับชีวโมเลกุลแล้วพบว่าอยู่คนละเคลด (clade) กับสกุลอื่นในวงศ์ Burmanniaceae
ที่มา​ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช​
Cr.https://www.facebook.com/956078261099817/posts/3909668245740789/
 

 
พิศวง Thismia gardneriana Hook. f. ex Thwaites 
 
 
พืชล้มลุกกินซาก สูงได้ถึง 8 ซม. ใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 1.5-3 มม. มี 1-5 ดอก ใบประดับคล้ายใบรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 5 มม. หลอดกลีบสีเหลืองอมส้ม รูปถ้วย ยาว 0.7-1.2 ซม. กลีบรวมสีเหลือง กลีบวงนอกรูปรีเกือบกลม ยาว 1.5-2 มม. กลีบวงในเรียวแคบเป็นรยางค์รูปเส้นด้าย ยาว 1.4-2.2 ซม. วงสันนูนหนา ก้านเกสรเพศผู้แผ่กว้าง แกนอับเรณูแบนกว้างรูปสี่เหลี่ยม มีรยางค์คล้ายปีก ขอบที่โคนจัก 2 พู
พบที่ศรีลังกา และภาคใต้ของไทยที่ระนอง และพังงา ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบชื้นความสูงระดับต่ำ ๆ
Cr.http://www.dnp.go.th/botany/mindexdictdetail.aspx?runno=4043
 
 

พิศวงตานกฮูก Thismia sp. 

พืชอาศัยราชนิดใหม่ของโลกจากอุ้มผาง รอการตั้งชื่อจากผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลนี้ของไทยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่
ต่อมาได้ชื่อแล้วคือ พิศวงตานกฮูกหรือพิศวงไทยทอง Thismia thaithongiana Chantanaorr. & Suddee ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotaxa 333 (2): 287–292. 2018. คำระบุชนิดตั้งให้เป็นเกียรติแก่ รศ.ดร.อบฉันท์ ไทยทอง
Cr.https://pt-br.facebook.com/ForestHerbarium/photos/พิศวงตานกฮูก-thismia-sp-พืชอาศัยราชนิดใหม่ของโลกจากอุ้มผาง-รอการตั้งชื่อจากผู้เช/979445472081140/


 
พิศวงรยางค์ Thismia javanica J. J. Sm. 
 
พืชล้มลุกกินซาก สูงได้ถึง 12 ซม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก มี 1-3 ดอก ใบประดับคล้ายใบมี 3 อัน หลอดกลีบรูปคนโท สีขาว มีริ้วสีส้ม ด้านในเป็นแถบยาวเชื่อมกับแนวขวางหลายแนว กลีบวงนอกขนาดเล็ก ปลายมน กลีบวงในมีรยางค์รูปเส้นด้ายสีขาวอมน้ำตาล ยาว 2-3 ซม. ปลายเกสรเพศผู้จัก 3 พู ปลายมีขน แกนอับเรณูแบนกว้างรูปสี่เหลี่ยม ผลสดรูปถ้วยสีส้มอมน้ำตาล ยาวประมาณ 6 มม.

พบในภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคใต้ ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร อนึ่ง ข้อมูลและภาพประกอบในหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยน่าจะเป็น พิศวง T. gardneriana Hook. F. ex Thwaites
Cr.http://www.dnp.go.th/botany/mindexdictdetail.aspx?runno=4045


 
พิศวงภูวัว Thismia angustimitra Chantanaorr. (Burmanniaceae) จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ 

เป็นพืชอาศัยรา (holomycotrophic หรือ mycoheterotrophic) มักพบตามใต้กอไผ่ที่ชื้น เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย (endemic) มีรายงานพบเฉพาะที่ภูวัวและภูลังกา
ขอขอบคุณ ผศ. ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ แห่งภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลพิศวงของไทย สำหรับชื่อพฤกษศาสตร์
ทีมสำรวจพรรณไม้ภูวัว-ภูลังกา
Cr. https://www.facebook.com/ForestHerbarium/posts/2740049242687412/



 
ม่วงพิศวง (Exacum paucisquamum (C. B. Clarke) Klack. )
 
ไม้ล้มลุกกินซาก สูง 5-15 ซม. ลำต้นตั้งตรง ใบเป็นเกล็ดขนาดเล็ก 3-6 คู่ แผ่นใบบาง ยาว 2-4 มม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกที่ยอด มีดอกเดียว ก้านดอกยาว 0.6-1.5 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ แยกเกือบจรดโคน รูปสามเหลี่ยม บาง ยาว 4-6 มม. ปลายแหลม ดอกสีขาวอมม่วง รูปกงล้อ มี 4 กลีบ กลีบแฉกลึก รูปใบหอก ยาว 1-1.4 ซม. ปลายมน ขอบเรียบ บานออก เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดบนปากหลอดระหว่างกลีบดอก ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย ยาว 3-4 มม. อับเรณูเรียวแคบ รูปลูกศร ยาว 4-6 มม. ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 5-8 มม. ผลขนาดเล็ก (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ หญ้าเหลี่ยม, สกุล)
พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ในไทยพบทางภาคเหนือที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน ขึ้นตามพื้นที่มีซากใบไม้ทับถมหนาแน่นในป่าดิบเขา ความสูง 1500-1600 เมตร เดิมอยู่ภายใต้สกุล Cotylanthera ซึ่งทั้งหมดเป็นพืชกินซาก มี 4 ชนิด ซึ่งในไทยเคยมีรายงานชนิดเดียว คือ C. caerulea Lace พบทางภาคตะวันตกที่กาญจนบุรี ปัจจุบันเป็นชื่อพ้องของ E. nanum Klack.
ชื่อพ้อง: Cotylanthera paucisquama C. B. Clarke, C. yunnanensis W. W. Sm.
Cr. http://www.dnp.go.th/botany/mindexdictdetail.aspx?runno=4289 

ที่มา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
Cr.https://www.facebook.com/prhotnews02/posts/2162816213863853?comment_id=2164291293716345
Cr. ข้อมูลจากเวปบอร์ด กลุ่มเรารักษ์ป่า
Cr.http://teerasang.blogspot.com/2019/09/blog-post.html / โดย ธีระ แสงสุรเดช สมาคมรักษ์ปางสีดา
Cr.https://th-th.facebook.com/psunhm/photos/พิศวงชวา-thismia-javanica-jj-smith-จากเขาคอหงส์-มสงขลานครินทร์-อหาดใหญ่-สงขลา-บั/269051649794308/

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่