ย้อนอดีต “โรคซาร์ส” สู่ “ไวรัสโคโรนา 2019” ความรุนแรงมากหรือน้อย..

เกิดคำถามว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะแตกต่างจากโรคซาร์สที่เคยระบาดในจีนมาราว 17 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้มาหาคำตอบกัน...

ข้อมูลการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สถานการณ์ในประเทศจีน ณ วันที่ 24 ม.ค.2563 มีผู้ป่วย 894 ราย เสียชีวิต 26 ราย และยังพบผู้ป่วยที่เดินทางจากจีนไปประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย จนเกิดข้อกังวลว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน  

โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงกับโรคซาร์ส (Sars)   เนื่องจากทั้ง “ซาร์ส” และ “โคโรนา 2019” ล้วนเป็นเชื้อไวรัส ที่มาจากตระกูลเดียวกัน และมีต้นตอมาจากประเทศจีน
 
สำหรับ “โรคซาร์ส”  เกิดการระบาดครั้งแรกในมณฑลกวางตุ้ง ของประเทศจีน ประมาณปลายปีพ.ศ. 2545โดยพบเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส (Coronavirus) จนทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS)   เดิมพบการติดเชื้อนี้ได้เฉพาะในสัตว์ที่มีขนาดเล็ก แต่ต่อมาพบการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้น และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือมีอาการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินหายใจ เช่น ไอแห้ง หรือหายใจลำบาก เป็นต้น
 
 
ทั้งนี้ โรคซาร์ส ที่ระบาดในจีนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 349 ราย   ขณะที่ทั่วโลกประมาณ 29 ประเทศพบผู้ป่วย 8,098 ราย เสียชีวิต 774 ราย แต่สำหรับประเทศไทย ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคซาร์สภายในประเทศ ยกเว้นเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกที่ป่วยด้วยโรคซาร์ส และเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทย โดยไม่มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม ประเทศไทยจึงไม่ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคซาร์ส
 
ส่วน “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019”  เป็นโรคใหม่ที่พบการติดเชื้อ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร 
 
ผู้เชี่ยวชาญโดย   รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ข้อมูล ว่า  โรคไวรัสโคโรนา อยู่ในตระกูลเดียวกันกับโรคซาร์ส ( Sars) และ เมอร์ส (MERS)  เรียกว่ามีต้นตอกลุ่มเดียวกัน ทำให้อาการของโรคคล้ายกัน  คือ ระบบทางเดินหายใจ
 
 
 
ส่วนความรุนแรงนั้น ต้องดูข้อมูลย้อนหลัง ซึ่งขณะนี้มีเฉพาะโรคซาร์ส และโรคเมอร์ส   อย่างโรคซาร์ส เกิดขึ้นประมาณ 17 ปีก่อนพบว่ามีความรุนแรงจนทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 10%   ส่วนโรคเมอร์ส มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 30 % ขณะที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 เป็นชนิดใหม่ที่พบในจีน ยังไม่มีข้อมูลมากนัก แต่จากข้อมูลทางการจีนเบื้องต้นที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต พบอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2 % แต่ก็ยังเป็นข้อมูลที่ยืนยันทางการไม่ได้
 
“ทุกวันนี้ข้อมูลทุกอย่างต้องมาจากทางการจีนที่ส่งให้ทางองค์การอนามัยโลก  แต่จากข้อมูลการระบาดของโรคในอดีต อย่างโรคซาร์ส กว่าจะทราบก็หลายเดือนจนมีผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น  แต่กรณีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ขณะนี้หลายประเทศเตรียมพร้อมกันอยู่ รวมทั้งประเทศไทย” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
 
 
  
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแพร่กระจายเชื้อจะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ด้วยหรือไม่ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า อาการก็จะคล้ายกัน เพราะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ประเด็นคือ หากเราดูแลตัวเอง เริ่มป่วยไอ จาม ให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ พร้อมทั้งไปพบแพทย์ก็จะเป็นการป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งการทำเช่นนี้จะป้องกันโรคทางเดินระบบหายใจได้หลายโรค
 
“ที่กังวลคือ เด็กนักเรียน ยิ่งช่วงนี้ใกล้สอบ พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์บางคนไม่ค่อยอยากให้เด็กขาดเรียน กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน สอบไม่ทันเพื่อน ซึ่งตรงนี้เสี่ยง เพราะเด็กๆ อาจแพร่กระจายเชื้อต่อกัน และนำเชื้อไปแพร่ต่อยังครอบครัว พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดหากเริ่มป่วย ไอ จาม ก็ควรหยุดเรียนพบแพทย์เพื่อรักษาก่อนจะดีที่สุด ไม่ใช่ว่าป้องกันโรคโคโรนาไวรัส แต่เป็นการป้องกันโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจทั้งหมด”   รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

สถานการณ์จะเป็นอย่างไร นอกจากต้องติดตามข้อมูลทางภาครัฐแล้ว สิ่งสำคัญต้องดูแลตัวเอง ใส่ใจสุขภาพ ป่วยไข้ ไอ จาม สวมหน้ากากอนามัย และพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที

ข้อมูลจาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/118307
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่