เจาะลึกความรู้เกี่ยวกับผื่นเซ็บเดิร์ม

กระทู้สนทนา


ถ้าผื่นเซ็บเดิร์มบนหน้าคือปัญหากวนใจ

Seborrheic dermatitis 
อ่านว่า ซี-บอร์-ริค-เดอ-มา-ไท-ทิส หรือ เซ็บ-บอร์-ริค-เดอ-มา-ไท-ทิส
ตอนนี้ยังไม่มีชื่อเรียกภาษาไทยจริงๆ
แต่หลายคนอาจจะคุ้นหูกับชื่อทับศัพท์ว่า ผื่นเซ็บเดิร์ม 
หรือบางครั้งอาจจะพยายามแปลเป็นภาษาไทยให้ใกล้เคียง 
คือ ผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน หรือ รังแคบนใบหน้า

เป็นโรคที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง 
อาการจะเห็นเป็นผื่นแดงขอบไม่ชัดเจน 
มีขุยๆ หรือสะเก็ดสีเหลือง/ขาว คล้ายรังแค

ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ ตรงบริเวณผิวที่มีต่อมไขมันอยู่มาก
เช่น ใบหน้า หัวคิ้ว ร่องแก้ม ซอกจมูก, หลังหู, หน้าอก, แผ่นหลังส่วนบน และหนังศีรษะ

พบได้ในหลายช่วงอายุ 
เช่น เด็กแรกเกิดจนถึงทารกอายุ 2 ถึง 3 เดือน, วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ

อย่าเพิ่งกังวลใจไปนะคะ 
ถึงแม้ว่า เจ้าโรคเซ็บเดิร์ม จะจัดว่าเป็นโรคเรื้อรัง ที่เป็นๆหายๆ
แต่ว่าไม่อันตราย ไม่ใช่โรคติดต่อ 
และที่สำคัญเลยคือสามารถรักษาได้

หมอยุ้ยขอสรุปสาเหตุคร่าวๆ ดังนี้
สาเหตุ แบ่งเป็นจากภายในและภายนอก

สาเหตุจากภายใน
1. การเพิ่มจำนวนของเชื้อยีสต์ ที่ชื่อว่า มาลาสซิเซีย (Malassezia) ซึ่งเป็นยีสต์ที่พบได้ปกติบนผิวหนังของเราอยู่แล้ว
 เพียงแต่ถ้าเพิ่มจำนวนมากเกินไป จะทำให้เกิดเซ็บเดิมได้
2. ฮอร์โมนเพศ ชนิด แอนโดรเจน (androgen) เปลี่ยนแปลง ซึ่งฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไขมัน
3. ภาวะ stress เช่น การอดนอน พักผ่อนน้อย หรือ ความเครียด
4. อาการอาจจะสัมพันธ์กับโรคอื่น เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson disease) เพราะเกี่ยวข้องกับระบบประสาท 
มีส่วนกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น หรือในภาวะที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น ผู้ป่วย HIV/AIDS
 ผื่นเซ็บเดิมมักเป็นมากหรือรุนแรงกว่าในคนที่ภูมิคุ้มกันปกติ

สาเหตุจากภายนอก
การเปลี่ยนแปลงของอากาศ หรือ การเปลี่ยนฤดูกาล
เช่น ช่วงที่อากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป อาจทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้

เป้าหมายของการรักษา 
จึงเน้นที่การควบคุมไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำบ่อยๆ
การรักษาเบื้องต้น ถ้าเป็นครั้งแรกและไม่แน่ใจว่าจะใช่เซ็บเดิร์มจริงมั้ย
หมอยังไม่แนะนำให้ซื้อยาทาเองนะคะ เพราะอาจจะไม่ใช่ผื่นเซ็บเดิร์ม
แต่หมอแนะนำว่าให้ไปปรึกษาคุณหมอเพื่อช่วยดูผื่นและรักษา

กรณีคนไข้เคยเป็นแล้ว การรักษาเบื้องต้น ได้แก่
1. ทายา มีหลายกลุ่ม เช่น ยาทาฆ่าเชื้อรา (ketoconazole cream), สเตียรอยด์ชนิดอ่อนหรือปานกลาง 
โดยให้ทายาเฉพาะช่วงที่มีผื่นเท่านั้น เพื่อลดผลข้างเคียง เช่น หน้าติดสเตียรอยด์หากทายาต่อเนื่องนานเกินไป
2. ถ้าผื่นเป็นบ่อยมาก แพทย์อาจจะพิจารณาให้ยาในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 
เช่น pimecolimus cream หรือ tacrolimus ointment แต่เนื่องจากยามีราคาสูง 
และยานี้ควรใช้โดยได้รับคำแนะนำจากแพทย์ 
3. กรณีที่เป็นที่หนังศีรษะ สามารถใช้ยาสระผมกลุ่มที่เป็นแชมพูขจัดรังแค 
เช่น ketoconazole, zinc pyrithione, selenium sulfide, tar shampoo 
โดยเคล็ดลับ คือ ให้สระผมด้วยแชมพูยา และทิ้งไว้ 5-10 นาทีแล้วจึงล้างออก 
สำคัญตรงการหมักแชมพูทิ้งไว้บนหนังศีรษะ 5-10 นาที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

การป้องกันและการดูแลผิวระยะยาวที่คนไข้สามารถทำเองได้
1. หลีกเลี่ยง ความเครียด มลภาวะ อากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป 
2. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก
3. ช่วงไม่มีผื่น ควรดูแลผิว โดยทาครีมบำรุงผิว วันละ 1-2 ครั้ง 
หรือครีมที่ขายในท้องตลาดบางยี่ห้อจะมีสารที่ช่วยลดอาการอักเสบของผิวได้ เช่น physiogel AI, sebclair cream เป็นต้น
แม้ เซ็บเดิร์มจะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ถ้าหากรักษาอย่างถูกวิธีและเลี่ยงสาเหตุได้ 
จะทำให้อาการค่อยๆลดลงและไม่ค่อยเป็นซ้ำ....จนหายได้ในที่สุดค่ะ

หมอยุ้ย เพจ Dr. Yui คุยทุกเรื่องผิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่