บางบทของปราชญ์ผู้อาภัพ

บทความบางตอนของปราชญ์ผู้อาภัพ

 
     พระมหามนตรีมีชีวิตอยู่ท่ามกลางยุคสมัยของ “ความงามในอุดมคติ” และก็คงรู้สึกอึดอัด รำคาญ และ “หมั่นไส้” การเทิดทูนความงามอันเกินจริงนั้นเต็มสติกำลัง เขาจึงได้หยิบเอา “หญิงสามัญ” มาแสดงเป็นตัวเอก และมิได้พรรณนาความงามให้เกินความเป็นจริงเลย

     หากสะท้อนภาพของหญิงผู้นั้นคือนางประแดะ ออกมาตามที่เป็นอยู่จริง นางประแดะของพระมหามนตรีจึง

“สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด”

      และ

"พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา”

     คือสูงโย่งและดำปี๋เยี่ยงหญิงที่ทำงานทั่วไป นางประแดะนั้นคงเป็นฝีดาษหน้าเป็นปรุเป็นรู พระมหามนตรีจึงได้สะท้อนภาพไว้ตามจริงว่า

“ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ”

     ถ้าหากพระมหามนตรีจะกล่าวเท็จเยี่ยงกวีเก่าๆ พระมหามนตรีก็คงจะต้องกล่าวถึงนางประแดะไว้ทำนองว่า

“เอวบางร่างรัดกำดัดสวาท ผุดผาดสารพัดครัดเคร่ง”...

     หรือไม่ก็ต้องกล่าวถึงนมของนางประแดะไว้ว่า

“สองถันสันทัดสัตตบุษย์ พึ่งผุดพ้นท่าชลาสินธุ์” ....

     แต่พระมหามนตรีไม่นิยมกล่าวเท็จ จึงได้สะท้อนความจริงออกมาว่า 

“สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว  โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม”

     และ

“น้อยฤๅนมแต่ละข้างช่างเคร่งครัด  ปลั่งเปล่งใจหายคล้ายกล้วยปิ้ง”

     ใครจะพอใจหรือไม่ก็ตามที แต่นี้คือภาพของนางประแดะที่พระมหามนตรีสะท้อนออกมาตามที่เป็นจริง และแน่ละ ถ้อยคำเปรียบเทียบต่างๆที่พระมหามนตรีจงใจใช้ในที่นี้ จุดประสงค์ก็เพื่อจะ ล้อ หรือ เสียดสี ตามแบบฉบับการชมนางอันตายตัวของวรรณคดีศักดินานั้นโดยแท้

ที่มา : บทความวิจารณ์วรรณคดี บทละครเรื่อง "ระเด่นลันได" ของ พระมหามนตรี (ทรัพย์) ในยุคสมัยรัชกาลที่ ๓
คัดลอกจาก : บทบาททางวรรณคดีของพระมหามนตรี
หนังสือ : บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา
ทีปกร
ศิลปิน,นักรบประชาชน
หน้าที่ 39-40
จัดพิมพ์โดย ชมรมหนังสือแสงตะวัน ชุดประกอบการศึกษา

โดย ทีปกร เป็นนามปากกาหนึ่งของ 
จิตร ภูมิศักดิ์ 
(25 กันยายน พ.ศ. 2473 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509)
ปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโทวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร

   จิตรมีความสามารถในด้านภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์อย่างมาก และยังมีความสามารถระดับสูงในด้านอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญในภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร และภาษาละหุ (มูเซอ) ที่สำคัญมีผลงานการเขียนติด “หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน” ถึง ๓ เล่ม ถือว่าเป็นอัจฉริยะบุคคลผู้หนึ่งของไทย



ภาพเหมือนของ จิตร ภูมิศักดิ์
วาดโดย อุดม สีสุวรรณ
วาด ณ กองปราบปราม
ขังสอง ปทุมวัน
เมื่อวันที่ ๓ พ.ค. ๒๕๐๒


จิตรภูมิศักดิ์คือนักประวัติศาสตร์
คือนักปราชญ์นักเขียนควรเรียนรู้
กวีกลอนการเมืองเลื่องชั้นครู
คุกขังผู้เห็นต่างเรือนร้างเรียง
 
จับอาวุธต่อสู้อยู่กลางป่า
อดอยากหาเขียดอึ่งบึ้งลงเขียง
ลงจากดอยหิวต้องมามองเมียง
ได้ยินเสียงปืนส่องกองข้างทาง
 
นักต่อสู้นักคิดแลนักเขียน
คือสากเสี้ยนศัตรูผู้หมายหมาง
ก่อการร้ายล้มรัฐลอบจัดวาง
เลือดรินล้างชายป่าดับคาดินฯ



จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกยิงเสียชีวิตที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ 
ณ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร 
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509
 

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

แสงดาวแห่งศรัทธา เป็นบทเพลงที่ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งขณะถูกจำคุกด้วยคดีทางการเมือง

..

ดาวดวงเดียวดลแดดวงแดงดอก
เด่นเหนือหมอกชั้นฟ้ามหาสวรรค์
ส่องประกายแก้วเก็จราวเพชรพรรณ
จิตรยึดมั่นชีพสละเพื่อประชา
 
คือผู้ก่อการร้ายคือขายชาติ
ตายอนาถเลือดคาวอยู่ราวป่า
หลายสิบปีชาติรัฐร่วมพัฒนา
มองจิตรว่าคือปราชญ์ที่ชาติลืมฯ

..



หากมองอีกด้าน เหนือความขัดแย้งทางอุดมการณ์
จิตร ภูมิศักดิ์ ถือเป็นนักปราชญ์ท่านหนึ่งของไทย

..
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่