สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ให้สัมภาษณ์มติชนรายวัน



เหตุการณ์ที่ทำให้หันมาสนใจธรรมะอย่างจริงจัง?

พอคุณได้ยินคำว่าสอนธรรมะ รู้สึกอย่างไร สนใจไหม อย่างคนชอบเลี้ยงสัตว์ พอเห็นสัตว์ก็ชอบ เพราะฉะนั้น พอดิฉันได้ยินคำว่ามีการสอนพุทธธรรมครั้งแรกจากหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ก็สนใจ เท่านั้นเองค่ะ

ประสบการณ์การเป็นอาจารย์ มีส่วนช่วยถ่ายทอดความรู้มากน้อยแค่ไหน?

ดิฉันเข้าใจธรรมะแล้วสนทนาให้คนอื่นเข้าใจด้วยเท่านั้น ไม่มีคำว่าอาจารย์หรือวิทยากร เพราะมุ่งให้คนเข้าใจธรรมะ เป็นอะไรก็ไม่ต่างกัน

ทำไมบรรยายใช้คำศัพท์ภาษาบาลีค่อนข้างเยอะ?

เราต้องให้คนเข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่เผินๆ เหมือนมาฟังธรรมะแต่ก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไร ทุกคำต้องละเอียดลึกซึ้ง เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เราจะไปรู้ตามท่านง่ายๆ อย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องฟังด้วยความเคารพและจริงใจที่จะเข้าใจคำนั้น เช่น คำว่าอารมณ์ คุณคิดว่าอารมณ์เป็นอะไร อารมณ์ดีไหม บางวันก็อารมณ์ไม่ดีใช่ไหมคะ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่มากระทบเรา เพราะฉะนั้นอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ จิตเป็นสภาพรู้ พระธรรม ไม่ว่าภาษาอะไรก็ลึกซึ้ง ไม่ใช่ยากที่คำ แต่ยากที่ลักษณะของสภาพคำนั้น

เมื่อคนฟังตั้งคำถาม ทำไมไม่ตอบ แต่มักถามกลับ?

เพื่อให้คนที่ถูกถามคิดไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตัวเอง ไม่ใช่ไปจำเขามา ตราบใดที่ยังไม่คิดไตร่ตรองจะเป็นความเข้าใจไม่ได้ คำถามของดิฉันมีประโยชน์สำหรับคนถาม ถ้าต้องการคำตอบ จะรู้ได้อย่างไรว่าคำตอบนั้นถูกหรือผิด เพื่อให้เขาคิด คิดที่จะตอบด้วยตัวเอง

หมายความว่าต้องเข้าใจด้วยตัวเอง?

แน่นอน นี่เป็นเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม เพื่อแต่ละคนจะได้มีปัญญาเกิดขึ้น รู้ความจริงซึ่งรู้เองไม่ได้ พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นหนึ่งไม่เป็นสอง เปรียบสภาพธรรมะที่ตรัสรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทรงแสดงธรรมะด้วยการตรัสรู้ความจริงของทุกสิ่ง หลังจากที่ตรัสรู้แล้วก็ให้คนอื่นได้รู้ตาม

เวลาถามกลับ แล้วมีคนมาถามกลับอีกทอดหนึ่งรู้สึกอย่างไร?

เชิญเลยค่ะ ไม่หงุดหงิดเลย ไม่ว่าคำถามนั้นจะถามเรื่องอะไร เพราะเขาไม่รู้แล้วเขาอยากรู้ใช่ไหม หรือถึงแม้ว่าเขาแกล้งถามก็เพราะว่าเขาแกล้งถาม แต่คำตอบก็จะให้ความจริงกับเขา

จุดประสงค์ที่สอนทุกวันนี้เพื่ออะไร?

ไม่ได้ต้องการอะไรทั้งสิ้น แต่เพื่อให้คนเข้าใจอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เราเกิดมาเราเข้าใจอะไร ต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน ไม่ใช่อาจารย์ แต่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กาลามสูตรระบุว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะครูบาอาจารย์บอก แล้วอาจารย์บอกให้เชื่อพระพุทธเจ้า จะเชื่อได้อย่างไร?

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำที่ตรัสเป็นจริง ตรัสแต่สิ่งที่มีจริงทั้งนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกอย่างทุกสิ่งในโลกตามความเป็นจริง เมื่อศึกษาแล้วจะรู้จักพระองค์มากขึ้น ความจริงนั้นใครก็รู้ไม่ได้ ถ้าไม่สำนึกพระธรรม ทุกอย่างมีจริงๆ แต่ไม่รู้ความจริง และจะรู้ได้ต่อเมื่อฟังพระธรรม คำทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวาจาสัจจะ ทำให้คนที่ฟังเข้าใจจากการที่ไม่รู้อะไรเลยตั้งแต่เกิด

มีผู้ฟังบอกไหมว่าค่อนข้างยากที่จะเข้าใจ?

ต้องยากที่สุด ไม่ว่าใครจะเรียนวิชาใดๆ ในโลกจะเก่งสักแค่ไหนก็ตาม พอมาเจอธรรมะ ทุกคนเอ่ยปากว่าไม่มีอะไรจะยากอย่างนี้ ถ้าใครบอกว่าง่ายนะคะ รู้เลยว่าเขาไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมของพระองค์จะง่ายหรือ แต่ใครก็ไม่รู้ จนกว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ตรัสรู้สิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี

ความยากจะทำให้คนถอยห่างจากพุทธศาสนาหรือไม่?

เขาต้องการเข้าใจหรือเปล่าล่ะ ถ้าถอยห่าง แสดงว่าเขาไม่ต้องการเข้าใจ

หากคำพูดของพระพุทธเจ้าคือ”ที่สุด”แล้วศาสนาอื่น?

ศาสนาคืออะไร คือคำสอน คำสอนหลากหลายมากจึงมีศาสนาต่างๆ เพราะฉะนั้น คำใดก็ตามที่ทำให้กระจ่าง ไม่ต้องเรียกว่าพุทธศาสนาก็ได้ เรียกอะไรก็ตาม แต่พุทธะคือความรู้ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จะใช้ชื่ออะไรสำหรับศาสนานี้ ก็ต้องใช้คำว่าพุทธศาสนา เพราะว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ เพราะฉะนั้น ให้คนอื่นได้รู้ตามด้วยพระมหากรุณาว่า ถ้าเขาฟังเขาได้ประโยชน์แน่ แต่ถ้าเขาไม่ฟัง พระองค์ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ คำสอนของพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่พูดถึงสิ่งที่มีจริง และความจริงถึงที่สุดของสิ่งที่มีจริง ทรงแสดงความจริงถึงที่สุดทุกอย่าง

ซับซ้อนมากเลย?

ต้องเข้าใจและต้องคิดค่ะ ไม่งั้นเหมือนว่าเรารู้จักพระพุทธศาสนาแต่เผินๆ

ทำให้ง่ายได้ไหม คนจะได้เข้าถึง?

ทำให้ง่ายผิดทั้งนั้นค่ะ จำไว้เลยนะคะ ใครก็ตามที่ต้องการทำให้สิ่งที่ลึกซึ้งง่าย นั่นต้องผิด เพราะลึกซึ้งแล้วจะง่ายได้อย่างไร พระพุทธศาสนาลึกซึ้งแล้วใครจะสามารถทำให้ง่าย

ถ้ายากมาก จะเป็นที่พึ่งของคนได้จริงหรือ?

ที่พึ่งของคนที่เข้าใจและเห็นคุณค่าของพระรัตนตรัย ซึ่งประเสริฐที่สุดที่ไม่มีใครเทียบได้เลย ยิ่งยากแสดงว่าควรศึกษาอย่างยิ่ง

มักกล่าวกันว่าการมีความทุกข์ที่ไม่สามารถก้าวออกจากมันได้ เพราะวนเวียนย้ำคิด?

ไม่ใช่ค่ะ เพราะทุกข์มีจริง แต่ไม่รู้ว่าทุกข์คืออะไร เพราะฉะนั้น หมดทุกข์ไม่ได้ ความจริงแล้วทุกข์เกิดแล้วดับเร็วมาก เพียงแค่ปรากฏในขณะนั้น ทันทีที่ปรากฏก็ดับแล้ว

ถ้าในหลักการ รู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร แต่หยุดทุกข์ไม่ได้ เช่น ปัญหาอมตะอย่างรักเขา แต่เขาไม่รักเราแล้ว?

วันนี้และวันหน้าเราไม่รักเขาได้ไหม

แต่วันนี้ยังรักอยู่?

ถูกต้อง แต่วันหน้ามี พรุ่งนี้ก็ไม่ใช่วันนี้แล้ว ต้องเข้าใจธรรมะจริงๆ ถึงความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง

มองหนังสือเรียนวิชาพุทธศาสนาอย่างไร เน้นให้ท่องจำอย่างเดียวหรือไม่?

ไม่ใช่ค่ะ แต่เป็นการเอาคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสูงลึกซึ้งมาเป็นของง่าย ซึ่งผิด ไม่ได้มีคำอธิบายอะไรเลย แต่จะพูดถึงสมาธิ พูดถึงปัญญา โดยที่ไม่มีคำอธิบายว่าคืออะไร

พุทธศาสนาควรปรับตัวเข้ากับสังคมปัจจุบันไหม?

คำถามนี้ไม่ถูกนะคะ ใครควรปรับ สังคมควรปรับหรือพระพุทธศาสนาควรปรับ อย่างผู้ถ่ายทอดคำสอน เช่น พระภิกษุ ปรับไม่ได้เพราะต้องพูดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ

ต้องยึดตามพระไตรปิฎกทุกอย่างเลยหรือ?

ยึดน่ะ เข้าใจรึเปล่า แล้วเราจะพูดว่าเราจะยึดตามพระไตรปิฎกได้ยังไงคะถ้าไม่เข้าใจ ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ไปยึดโดยไม่รู้เรื่อง

แต่สังคมปัจจุบันแตกต่างจาก 2,500 ปีที่แล้ว?

เหมือนกันหมดค่ะ 2,500 ปีนี้ มีเห็นใช่ไหม มีได้ยินใช่ไหม มีคิดไหม มีโกรธไหม มีชอบไหม แล้วต่างกันอย่างไร

พระไตรปิฎกได้รับการสังคายนาหลายครั้ง แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าคำกล่าวทั้งหมดเป็นคำของพระพุทธเจ้าจริงๆ?

ศึกษาสิคะ ดูว่าแต่ละคำถูกต้องตามแต่ทุกยุคทุกสมัยหรือเปล่า ไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้ รู้ไหมคะว่าเดี๋ยวนี้เห็นเป็นอะไร เห็นคือเห็น เห็นเกิดหรือเปล่า เห็นดับหรือเปล่า นี่คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มเห็นคุณ สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ สิ่งที่คนอื่นไม่รู้

อาจารย์บอกว่า “ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินทอง” ถ้ามีผู้ถวาย ปฏิเสธได้หรือ?

พระภิกษุจะอยู่ได้ด้วยปัจจัยไม่ใช่เงินนะคะ ปัจจัยคือสิ่งที่อาศัยให้ชีวิตดำเนินไป ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า คือจีวร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค อยู่ได้แล้ว ไม่ต้องมีเงิน ตามพระวินัยว่า พระรับเงินรับทองไม่ได้ ถ้าเงินของภิกษุทั้งประเทศเป็นเงินกองกลาง เป็นศาสนสมบัติ พระก็เบาสบาย ไม่ต้องมีเงินทอง แต่มีชีวิตอยู่ มีอาหาร

ถ้ามีคนถวายเงินสร้างถาวรวัตถุ พระสงฆ์ไม่ต้องรับ?

ต้องละเอียดลออว่า พระรับอะไรได้ เพื่ออะไร ไม่ใช่ว่าคิดว่าเราจะทำอะไรก็ได้ในวัด วัดเป็นของเรา และวัดก็ไม่ใช่ของภิกษุบุคคลด้วย เป็นของส่วนเรา ถ้าท่านคิดว่าวัดเป็นของท่าน แล้วท่านทำอะไร? พระสร้างถาวรวัตถุไม่ได้ ทราบไหมว่าทำไมคนถึงบวชเป็นพระภิกษุ ก่อนอื่นเลยต้องเริ่มต้นว่าพระภิกษุคือใคร แล้วถึงจะรู้ว่าทำไมจึงมีพระบัญญัติมากมายสำหรับพระภิกษุ ซึ่งต่างจากชีวิตของคฤหัสถ์ พระภิกษุคือใคร ภิกษุคือผู้สละ สละหมดไหม ถ้าสละไม่หมดก็ไม่ใช่ภิกษุ ภิกษุต้องบวชตามที่ได้ทรงบัญญัติไว้ แล้วบวชทำไม? เพราะเป็นคฤหัสถ์ก็ฟังธรรมได้ ศึกษาธรรมได้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ถ้าไม่ได้มีตามที่อาจารย์พูดแล้วไปบวชผิดไหม?

จะบวชทำไม ในเมื่อดำรงชีวิตเหมือนเดิม การบวชต้องสละเพศด้วยความจริงใจที่จะดำเนินชีวิตในเพศบรรพชิตเพื่อที่จะเป็นพระภิกษุ เพื่อขัดเกลากิเลส นั่นคือภิกษุในธรรมวินัย ต้องเป็นจุดประสงค์นี้ประการเดียว ถ้าไม่สามารถเป็นภิกษุได้ ก็เป็นคฤหัสถ์ฟังธรรมะ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แล้วสามารถที่จะทำดีได้มากด้วย พ่อแม่เจ็บไข้ก็รักษาพยาบาลได้ ถ้าเป็นภิกษุต้องละวงศาคณาญาติ ทรัพย์สินเงินทองทุกอย่าง เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส

เคยคิดออกบวชไหม?

บวชคืออะไร พุทธบริษัทมี 4 นะคะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะให้บวชเป็นอะไร แม่ชีไม่ต้องบวช เป็นคฤหัสถ์ธรรมดา ส่วนภิกษุณี ไม่มีทาง บวชไม่ได้ เพราะเหตุว่าตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้พระมหาปชาบดีโคตมีบวช เพราะผู้หญิงในยุคนั้นสามารถถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าวางระเบียบวินัยที่จะให้ภิกษุณีค่อยๆ หมดสิ้นไป เพราะฉะนั้น ไม่มีพระภิกษุณีนานมาแล้ว

ไม่เห็นด้วยกับการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ?

ถ้าชาวพุทธไม่เข้าใจธรรมะ แต่บอกว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็ไม่มีประโยชน์

คิดอย่างไรกับกลุ่มปกป้องศาสนา เพราะกลัวพุทธศาสนาเสื่อม?

ตราบใดที่ยังมีคนเข้าใจ พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ ไม่ต้องเสียเวลาไปคิดเรื่องปกป้อง

อายุ 90 แล้ว ยังแข็งแรงมาก ดูแลตัวเองอย่างไร?

เหมือนคนอื่นทั่วๆ ไปนะคะ ออกกำลังกาย แต่ไม่มากมาย แค่ยืดแขนยืดขาบนเตียงเวลาตื่น ชอบอะไรที่ตามสมควร ก็ถ้าเมื่อยก็ยืด ตื่นก็ยืด เพราะมีประโยชน์ที่จะทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว อาหารก็กินได้ทุกอย่าง เว้นที่ไม่ชอบจริงๆ อย่างลูกเนียง ขมสุดฝาดสุดที่จะประมาณได้ (ยิ้ม)

มองสถานการณ์ของผู้นับถือพุทธศาสนาในไทยอย่างไร ปัญหาใดน่าห่วงที่สุด?

เขาเข้าใจธรรมะหรือเปล่า ถ้าทุกคนไม่เข้าใจธรรมะแล้ว

พุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องห่วงนั้น ถามว่าห่วงอะไรคะ ถ้าพูดถึงพุทธศาสนา ควรศึกษาไหม แล้วห่วงไหม บังคับคนอื่นได้ไหม เข้าใจความจริงแล้วห่วงทำไม

วางแผนบรรยายถึงเมื่อไหร่?

ตลอดชีวิต

วางตัวผู้สานต่อไว้หรือเปล่า?

วางได้ไหม ธรรมะเป็นธรรมะ ใครจะไปวางอะไรได้ ทุกคนเป็นเอง ตามการสะสม ทุกคนตายตามกันไป ก็อยู่กันไปเรื่อยๆ คนที่อยู่ก็อยู่ไป

เชื่อเรื่องชาติภพ การเวียนว่ายตายเกิดไหม?

ถ้าถามให้ตอบ ดิฉันไม่ตอบหรอกค่ะ นอกจากให้เข้าใจว่าภพคืออะไร ชาติคืออะไร สิ่งที่ไม่รู้ก็พูดกันไป แล้วจะมีประโยชน์อะไร

คนที่จะเข้าใจธรรมะ ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเลยไหม?

ถ้าเห็นประโยชน์นะคะ จะมีชีวิตอยู่ทำไม ถ้าไม่เข้าใจอะไรเลยตั้งแต่เกิดจนตาย

ปัจจุบันมีแนวโน้มที่คนจะระบุว่า “ไม่มีศาสนา” มากขึ้นเรื่อยๆ?

เป็นเรื่องของเขา ทุกคนมีสิทธิจะคิดอะไรก็ได้

ที่มา มติชนรายวัน
ผู้เขียน พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_206940
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่