รองเลขาฯเพื่อไทยแนะรัฐใช้พิโกไฟแนนซ์
https://www.innnews.co.th/politics/news_653246/
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลดผลกระทบของ COVID-19 ต่อประชาชนกลุ่มที่ “เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบธนาคาร” ว่า ผู้ประกอบอาชีพรายวันขนาดเล็ก เช่น ช่างตัดเย็บ พนักงานโรงงาน แม่ค้าในตลาด ลูกจ้างรายวัน คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ มีลักษณะสำคัญคือ
1. รายได้เป็นวันชนวัน หาเช้ากินค่ำ
และ 2.เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ เพราะกู้เงินไม่ผ่าน ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักทรัพย์
การขาดรายได้หรือการตกงานอย่างกระทันหันจาก COVID หนีไม่พ้นการหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมาตรการเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ก็มีปัญหามาก คนเดือดร้อนจำนวนมากที่ตกสำรวจ สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังทำได้ และมีเครื่องมืออยู่แล้ว คือการใช้ “สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด” หรือพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) เข้าช่วย เพื่อรองรับคนที่เดือดร้อน แต่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ โดยทำหน้าที่เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ให้ประชาชนกู้ยืมไปใช้จ่ายค่ายังชีพ ค่าเช่าห้อง ค่ารักษาพยาบาล หรือจ่ายคืนหนี้นอกระบบ ในวงเงินไม่เกินรายละ 50,000-100,000 บาท
ในภาวะวิกฤติ COVID นี้ รัฐบาลควรจะ “สนับสนุนค่าดอกเบี้ย” อย่างน้อย 50% ผ่านผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ เพื่อกดดอกเบี้ยต่ำลงมาที่อัตราครึ่งหนึ่งของที่เคยเรียกเก็บจริง กล่าวคือ “ประชาชนจ่ายดอกเบี้ยเพียงครึ่งหนึ่ง” รัฐบาลสมทบอีกครึ่งหนึ่งผ่านผู้ให้กู้ ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก แต่เข้าถึงกลุ่มคนที่เดือดร้อนด้านรายได้จริงๆ เพื่อให้สามารถประทังชีพต่อไปได้ และเมื่อรัฐบาลให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจได้ รับซื้อตราสารหนี้จากทุนใหญ่ได้ ประชาชนหาเช้ากินค่ำก็ไม่ควรถูกทอดทิ้งเช่นกัน
ชำแหละ พ.ร.ก.3 ฉบับ 1.9 ล้านล้าน-ฝ่ายค้านรอเปิดสภาตรวจสอบก่อนไฟเขียว
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านถึงรัฐบาลให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อใช้กลไกรัฐสภาร่วมกันแก้ไขปัญหาโรคระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการตราร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย หรือแม้แต่การออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อจัดสรรและจัดหางบประมาณมาเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างกว้างขวาง
โดยยึดตามวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้และทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอถึงกำหนดเปิดประชุมสภาสมัยสามัญประจำปีปีที่ 2 สมัยที่ 1 ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ พร้อมทั้งเสนอให้เกลี่ยก่อนกู้ โอนงบประมาณปี 2563 รายโครงการที่ไม่จำเป็นให้เสร็จสิ้นก่อนประเมินวงเงินกู้อย่างรอบคอบไม่ให้ภาระตกแก่ประชาชน
พ.ร.ก.ระดมเงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
ทว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รอช้าดำเนินการประกาศพ.ร.ก. 3 ฉบับ กำหนดวงเงินกู้และกรอบมาตรการการเยียวยาวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ออกมาทันที ในรายละเอียดของการช่วยเหลือประชาชนอยู่ใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
มีสาระสำคัญ คือก มาตรา 3 ให้อำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาล มูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
ส่วนมาตรา 5 กำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินกู้ ได้แก่
1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
และ 3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019
ทว่าในภาพรวมทั้งหมดไม่ได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนว่า จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างไร วงเงินเท่าไร เป็นไปอย่างถ้วนหน้าเสมอภาคหรือไม่
ทำให้ยังคงต้องติดตามสาระสำคัญข้อกำหนดของการเยียวยาต่อไปว่า ประชาชนทุกคนจะเข้าถึงการเยียวยานี้ได้อย่างไร จะซ้ำรอยเอไอเราไม่ทิ้งกัน เกิดข้อเรียกร้องทำไมไม่ได้ห้าพันหรือไม่
อุ้มตลาดทุน – สถานบันการเงิน
ขณะเดียวกันพ.ร.ก.เงินกู้อีก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาตลาดทุนและสถานบันทางการเงิน รวม 9 แสนล้านบาท กำหนดสาระสำคัญไว้อย่างชัดเจนว่า จะได้รับการช่วยเหลืออุ้มชูอย่างไรบ้าง ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมจะขาดทุนให้ภาคธุรกิจดังกล่าวในวงเงินเท่าไร ดังนี้
พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศพ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญ คือ มาตรา 7 ให้จัดตั้งกองทุนรวมขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตรา 8 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนภายในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาทภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด
ธนาคารแห่งประเทศไทย-แบงก์ชาติ-ธปท.
เสียหายห้ามเกิน 3.6 แสนล้าน ไร้เงื่อนไข
และมาตรา 20 ในการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยตามพระราชกำหนดนี้ถ้ามีกำไรเกิดขึ้น ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กระทรวงการคลังชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท
ด้วยสาระสำคัญดังกล่าว ก็หนีไม่พ้นการตั้งคำถามอย่างง่ายๆว่า หากกองทุนดังกล่าวที่มีวงเงินซื้อหน่วยลงทุน 4 แสนล้านบาท และหากเสียหายกำหนดให้กระทรวงการคลังจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 4 หมื่นล้าน หมายความว่า กองทุนฯนี้ สามารถเสียหายได้ไม่เกิน 3.6 แสนล้านบาท ในการอุ้มตลาดทุน ใช่หรือไม่
กัน 5 แสนล้าน หนุนแบงก์ปล่อยกู้ เว้นค่าธรรมเนียม จำนอง-จดทะเบียน
ส่วน พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญ คือ
มาตรา 6 ธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ตามที่กำหนดในพระราชกำหนดนี้ อัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี
มาตรา 9 การให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ สถาบันการเงินต้อง ดำเนินการตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1) วงเงินที่ให้กู้ยืมต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้ คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 แต่ไม่รวมถึงยอดหนี้คงค้างของวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับ วงเงินสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ และวงเงินสินเชื่อ บัตรเครดิต ทั้งนี้ วงเงินที่ให้กู้ยืมดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบต่อวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่เดิม
2) คิดอัตราดอกเบี้ยในส่วนสินเชื่อเพิ่มเติมตาม (1) สำหรับระยะเวลา 2 ปีแรก ในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นระยะเวลา 6 เดือนแรกนับแต่วันที่ ผู้ประกอบวิสาหกิจได้รับสินเชื่อเพิ่มเติม ดอกเบี้ยที่ไม่เรียกเก็บตาม (2) ให้สถาบันการเงินได้รับการชดเชยพร้อมกับกำหนดการจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย ให้สถาบันการเงินได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด และการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ อันเนื่องมาจาก การให้กู้ยืมเงินตามมาตรการในพระราชกำหนดนี้
ฝ่ายค้าน เพื่อไทย พลังประชารัฐ วิป-วิปฝ่ายรัฐบาล-ประชุมสภา-การเมือง-วิรัช
จับตาฝ่ายค้านใช้สภาตีแผ่ ก่อนรับรองพ.ร.ก.
ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินของการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่คนไทยทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน คงไม่มีใครขัดขวางการกู้เงินเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่การกู้เงินที่จะทำให้คนไทยทั้ง 70 ล้านคนเป็นหนี้ร่วมกันนั้น ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้และมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ไทยทุกคนถ้วนหน้า ต้องไม่ใช่เพียงนายทุน หรือนายธนาคาร ที่ได้ผลประโยชน์
ขั้นตอนนับจากนี้ คงต้องร่วมกันจับตาและฟังการอภิปรายจากส.ส.ฝ่ายค้านในสภาที่จะตีแผ่ข้อมูลข้อเท็จจริงได้รับรู้รับทราบก่อนลงอนุมัติรับรองพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับต่อไปเมื่อถึงคราวเปิดประชุมรัฐสภาในสมัยหน้า
JJNY : พท.แนะรัฐใช้พิโกไฟแนนซ์/ชำแหละพ.ร.ก.3ฉบับ1.9ล.ล./ไต้หวันบริจาคหน้ากากและชุดPPEให้ไทย/ติดเชื้อทั่วโลกพุ่ง2.47ล้าน
https://www.innnews.co.th/politics/news_653246/