ความจริง – ความลวงใน “ปักหมุดรักฉุกเฉิน” Crash Landing on You (CLOY)

“ละครก็คือละครอย่าไปเอาอะไรมาก” แต่เดี๋ยวก่อน ซีรีส์เรื่องนี้มีอะไรมากกว่าที่คิด แม้จะเป็นซีรีส์แนวรอมคอม (romcom) Crash Landing on You (CLOY) หรือในชื่อไทยว่า “ปักหมุดรักฉุกเฉิน” ก็ได้จำลองวิถีชีวิตในประเทศเกาหลีเหนือซึ่งเป็นเมืองลับแลในสายตาชาวโลกไว้อย่างค่อนข้างสมจริง การเสพซีรีส์เรื่องนี้จึงได้ทั้งความสนุกและความรู้ไปพร้อม ๆ กัน เราจะมาดูกันว่า อะไรคือความจริง – ความลวง ในซีรีส์เรื่องนี้บ้าง

ความจริง
1.      “แม่หญิงคนนี้กำลังใช้เล่ห์กลเพื่อทำให้คนของเราหลงเสน่ห์ครับ เธอกำลังหลอกลวงและเผยแพร่ค่านิยมเกี่ยวกับการกินเนื้อสัตว์สองมื้อต่อวัน จะบ้าตาย นี่โกหกชวนเชื่อหน้าด้าน ๆ เลยเหรอ” - ค่านิยมการกินเนื้อ
     คัง นารา (@kang_naraa) Youtuber ผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือ ยืนยันว่าเนื้อในเกาหลีเหนือราคาแพงมากเมื่อเทียบกับข้าวสาร ข้าวมีราคาสี่พันห้าร้อยวอนต่อกิโล (กิโลละประมาณ 120) ในขณะที่เนื้อราคาหนึ่งหมื่นแปดพันถึงสองหมื่นวอน (ราว ๆ กิโลละ 500 บาท) เลยทีเดียว ( 1 won = 0.03 BHT) ดังนั้นชาวเกาหลีเหนือจะทานเนื้อในโอกาสพิเศษ ๆ เท่านั้น

2.    “ก่อนที่ฉันจะแต่งงานนะ แค่บ้านฉันบ้านเดียวก็ทำกิมจิหนึ่งตันแล้ว” – วัฒนธรรมการกิน, เนื้อในไหเกลือ และถ้ำกิมจิ
     นี่ไม่ใช่คำพูดที่เกินเลยแต่อย่างใด คัง นาราเล่าว่า ในเกาหลีเหนือชาวบ้านทำกิมจิกินกันเอง และจะทำปริมาณมาก ๆ เพื่อใช้กินกันตลอดทั้งปี โดยครอบครัวขนาดสี่คนบริโภคกิมจิมากถึงครึ่งตัน นอกจากนี้เมนูหอยเผากับโซจูของแก๊งผู้กองยอดรักก็เป็นเมนูเด็ดที่เธอกับเพื่อน ๆ เคยกินกันที่ชายทะเลด้วย
     ส่วนการหมักเนื้อในไหเกลือกกับถ้ำกิมจิก็เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ถนอมอาหารเพราะไม่มีตู้เย็น
     อย่างไรก็ดี มีเสียงวิจารณ์ว่า CLOY นำเสนอภาพเกาหลีเหนือดีเกินจริง เช่น ชาวบ้านดูเหมือนจะมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ทั้งที่ความเป็นจริงเกาหลีเหนือมักเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารอยู่เสมอ

3.      “ที่ผ่านมามีหลายคนที่หลบหนีการตามล่าของตำรวจสากลและเกาหลีใต้ มาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของเรา และกลับไปหลังคดีหมดอายุความอย่างปลอดภัย” – สวรรค์ของพวกนอกกฎหมาย
     น่าจะเป็นฉายาที่ใกล้เคียงกับคำให้สัมภาษณ์ของกวัก มุน วอน อดีตบอดี้การ์ดของสมาชิกตระกูลคิม ผู้แปรพักตร์และกลายเป็นที่ปรึกษาภาพยนตร์หลายเรื่องที่เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ  "เกาหลีเหนือเป็นที่เดียวที่ตำรวจสากลไปไม่ถึง" เขากล่าว เมื่อบีบีซีซักต่อว่า เป็นเรื่องจริงหรือที่เกาหลีเหนือให้ความคุ้มครองอาชญากรโดยแลกกับเงินก้อนโต ? "มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง" กวักตอบเพียงสั้น ๆ 

4.      “พ่ออูพิล ไฟดับค่ะ เตรียมตะเกียงหน่อย”  “พ่อแกแอบเอาแบตเตอรี่มาเพื่อให้ไฟสว่าง” “ดูสหายอ๊กกึมสิ เธอบอกว่าจะปั่นไฟให้ เพื่อให้ฉันดูโทรทัศน์ก็เลยปั่นไฟอยู่ตรงนั้น” – ความไม่เสถียรของไฟฟ้าหรือการประหยัดพลังงาน
     ประเด็นนี้ ดร. ทรงจิต พูลลาภ’ กูรูด้านเกาหลีเหนือของไทย ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง “ไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้า เพียงแต่เขาประหยัด” นอกจากนี้ ดร.ทรงจิต ยังยืนยันว่า ความเจริญไปทั่วถึงทั้งประเทศแล้ว อย่างไรก็ดี คำให้การของผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือดูจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม พวกเขาต่างแบ่งปันประสบการณ์ตรงกันว่า ไฟดับในเกาหลีเหนือนั้นเป็นเรื่องปกติ บางครั้งก็ต้องใช้ชีวิตโดยปราศจากไฟฟ้าเป็นเดือน และทางการจะจ่ายไฟให้สองสามเดือนต่อครั้ง แม้แต่ในกรุงเปียงยาง ไฟฟ้ายังติด ๆ ดับ ๆ  ความไม่จริงของหนังจึงอยู่ตรงชาวเกาหลีเหนือไม่ได้ใช้เทียนหรือตะเกียงถ่านหินเป็นไฟสำรอง แต่เป็นแผงโซล่าเซลล์ต่างหาก 
     ประชาชนชาวเกาหลีเหนือสามารถหาซื้อแผงโซล่าเซลล์นำเข้าจากจีนได้ในราคาถูก และยังมีการผลิตภายในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล” ยังอนุญาตให้ประชาชนมีไฟส่วนตัวได้ อันเป็นการลดภาระของรัฐที่ต้องจัดหาพลังงานให้ประชาชนไปในตัว

          (ประชาชนในกรุงเปียงยางพักผ่อนในยามเย็น) 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่