หุ้นกลุ่มบริหารสินทรัพย์ "ยังไหวอยู่มั๊ย"ยามเศรษฐกิจฟุบ?


หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวเป็นขาลงเต็มรูปแบบมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 63 เพราะกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงทั้งกระดาน ซึ่งรวมถึงหุ้น "กลุ่มบริหารสินทรัพย์" ด้วย แม้ลักษณะธุรกิจจะได้รับผลดีทั้งในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่และรุ่งเรือง แต่ราคาหุ้นกลับดิ่งแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆเสียด้วยซ้ำ หุ้นกลุ่มนี้ยังเป็นที่พึ่งยามเศรษฐกิจฟุบได้อยู่จริงหรือ? แล้วอะไรทำให้เป็นแบบนั้น ต้องติดตาม!
หุ้นที่ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์เป็นธุรกิจหลักมีอยู่เพียง 3 รายเท่านั้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ แบ่งเป็นจดทะเบียนใน SET 2 ราย ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM และ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT จดทะเบียนใน mai คือ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO

ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น บริษัทสามารถผลักดันผลประกอบการเติบโตได้จริงอย่างไม่ต้องสงสัย! โดยเฉพาะ JMT และ CHAYO ที่กำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดตลอดกาลต่อเนื่อง(All Time High)ได้ทุกปี ส่วน BAM แม้จะมีฐานที่กำไรสูงมากทำให้การเติบโตไม่โดดเด่นนัก แต่ก็ยังทำนิวไฮต่อเนื่องได้เช่นกัน 

ความลับของหุ้นบริหารสินทรัพย์ที่เอาตัวรอดได้ในทุกสภาพเศรษฐกิจ ก็คือ การเข้าซื้อหนี้เสียทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน หรือสินทรัพย์ที่ถูกยึดมาจากสถาบันการเงินด้วยจำนวนเงินไม่มาก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่  และในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวก็กลับมาเก็บเงินสดเต็มจำนวนจากลูกหนี้ที่ซื้อมา นำหลักประกันขายทอดตลาด ปรับปรุงสินทรัพย์เพื่อขายต่อในราคาที่แพงขึ้นนั่นเอง
ทุกอย่างดูดีไปหมด!
จนกระทั่งได้เห็นราคาหุ้นของกลุ่มนี้ ลดลงเกิน 50% จากจุดสูงสุดที่เคยทำได้! สวนทางฉายา "หุ้นดาวเด่นยามเศรษฐกิจแย่"  อย่างสิ้นเชิง

*** ราคาหุ้นปัจจุบัน ลดลงแรงแค่ไหน มีอัพไซด์เท่าไหร่?
ราคาหุ้น CHAYO เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 8.15 บาทไปเมื่อ 11 ก.พ. 63  และปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาแตะราคาปิดวานนี้ไปที่ 3.30 บาทคิดเป็นลดลงถึง -59.50% มาปิดตลาดเช้าวันนี้ไปที่ 3.44 บาท เพิ่มขึ้น 0.14 บาท หรือ +4.24%
JMT ขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 25.50 บาท ในวันที่ 14 ก.พ. 63 ปรับตัวลดลงมาปิดตลาดวานนี้ไปที่ 11.50 บาท คิดเป็นลดลง -54.90% มาปิดตลาดเช้าวันนี้ไปที่ 11.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท หรือ +2.61%
ส่วน BAM ขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 36.25 บาท วันที่ 14 ก.พ. 63 ปรับตัวลงมาปิดตลาดวานนี้ไปที่ 17.50 บาท คิดเป็นลดลง -51.72% และมาปิดตลาดเช้าวันนี้ไปที่ 18.50 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท หรือ +5.71%

หากเทียบกับราคาเหมาะสมของนักวิเคราะห์ (IAA Consensus)

*** เก็บหนี้ยากทำรายได้โตน้อย สาเหตุหลักฉุดหุ้นดิ่งแรง 
บล.โนมูระ พัฒนสิน อธิบายไว้ว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยถ่วงความสามารถในการชำระเงินคืนของลูกหนี้บริษัทฯ รวมไปถึงงานคดีของหนี้ที่มีหลักประกันอาจล่าช้าออกไป

สำหรับ CHAYO ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 63 และ 64 ลง -23% / -18% ตามลำดับ สู่ระดับ 110.5 ล้านบาท / 151.3 ล้านบาท จากการปรับลดรายได้ลง -16% / -17% สะท้อนการจัดเก็บกระแสเงินสดที่มีแนวโน้มลดลง กระทบอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากเดิม 66% / 65.2% เป็น 64% / 64% และปรับ %OPEX/Sales จาก 21.5% / 22.5% เป็น 22.5% / 23% จากการติดตามหนี้ที่มีแนวโน้มทำได้ยากขึ้น โดยรวมอัตรากำไรสุทธิใหม่อยู่ที่ 27.2% / 28.1% ลดลงจากเดิมที่ 29.6% / 28.4% ตามลำดับ จึงได้มูลค่าเหมาะสมปี 63 ใหม่อยู่ที่ 4.52 บาท/หุ้น

ทั้งนี้แม้ราคาหุ้นจะยังมี Upside สูง +37% แต่ด้วยแนวโน้มผลประกอบการครึ่งแรกปี 63 ที่ยังไม่สดใส จึงแนะนำนักลงทุน หาจังหวะเข้าลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีแทน หรือเมื่อเริ่มเห็นการระบาดของไวรัสคลี่คลายไปในทางบวก

*** ผู้บริหารยืนยันยังเก็บหนี้ได้ตามปกติ ขณะที่ธุรกิจเสริมรุ่ง!
จากการสำรวจความเห็นผู้บริหาร ต่างยืนยันว่าการเก็บหนี้ในปัจจุบันยังคงเป็นไปตามเป้าหมายอยู่ แม้จะมีประเด็นโควิด-19 ก็ตาม

โดย JMT นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออกมายืนยันว่าแม้จะมีการะบาดของโควิด-19 แต่ไม่ได้กระทบกับผลประกอบการของบริษัทโดยตรง ดังนั้นภาพรวมการจัดเก็บหนี้ในช่วง 2 เดือนแรกยังเป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งประเด็นนี้จะยิ่งเร่งแนวโน้ม NPL ของสถาบันการเงินอีกด้วยซึ่งเป็นผลดีกับบริษัท และธุรกิจประกันยังได้รับผลดีจากการขายประกันภัยโควิด-19 ด้วย

ด้าน CHAYO นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า ผลประกอบการในปี 63 ยังคงป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทอยู่คือมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% และการซื้อหนี้เข้ามาเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีพอร์ตหนี้แล้ว 5.05 หมื่นล้านบาท ส่วนธุรกิจปล่อยสินเชื่อปัจจุบันมีลูกค้าขอสินเชื่อเป็นจำนวนมาก คาดจะปล่อยได้ราว 200 - 250 ล้านบาทในปีนี้

ขณะที่ BAM นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ ยอมรับว่า รายได้และกำไรจะชะลอลงจากปีก่อน ที่มีรายได้ 12,256 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,549 ล้านบาท เป็นผลจากในปีนี้จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เก็บอยู่ในอัตรา 20% เต็มปี ซึ่งในปีที่ผ่านมา BAM ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวเนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และภัยแล้งด้วย

หากนักลงทุนคำนึงถึงแต่ประสิทธิภาพในการเก็บหนี้เพียงอย่างเดียว...ก็คงไม่เหมาะกับการลงทุนหุ้นกลุ่มนี้! เพราะอาจจะพลาดอะไรไปหลายอย่างสำหรับธุรกิจที่เน้นสายป่านยาวๆ ดังนั้นช่วงนี้จึงต้องจับตาไปที่ความสามารถในการกวาดซื้อหนี้ราคาถูกต่างหาก ก่อนจะกลับมาผงาดพร้อมมูลหนี้มหาศาลยามเศรษฐกิจฟื่น!
--------------------------
สำนักข่าว efinanceThai ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุนหุ้นได้ที่นี่ 
Website : https://www.efinancethai.com
Facebook : https://www.facebook.com/efinanceThaiTV/
Facebook : https://www.facebook.com/efinanceThai/
lTwitter : @eFinanceThai 
IG : @efinancethai_official 
line : @efin

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่