กลองบะโด๊ะ เอกลักษณ์ของโลกมลายูที่ค่อยๆ หายไป

กลอง และ ฆ้อง เป็น 1 ในวัฒนธรรมเอกลักษณ์เฉพาะของชาวอาเซียนตั้งแต่ยุคโบราณเลยก็ว่าได้ พิธีกรรมใดๆ จารีตประเพณีใดๆ ก็ขาดกลองไปไม่ได้
ไมว่าไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้แต่ในโลกมลายู ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลองคือส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและวิถีชีวิต เคร่งขรึมเฮฮาก็ต้องมีกลองไว้
ในวัฒนธรรมของโลกมลายู มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากมุสลิมที่อื่นมากมาย 1 ในนั้นก็คงไม่พ้นกลองบะโด๊ะ (Beduk) หรือในภาษาชวาว่า บะดุก (Bedhug)
กลองบะโด๊ะ มีลักษณะคล้ายกับกลองเพล แต่แน่นอนว่าศาสนาอิสลาม ไม่ได้มีนักบวช ดังนั้นงานที่ใช้ที่คู่ควรที่สุดก็คือ การตีบอกเวลาละหมาดนั้นเอง
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของอิสลามแบบ Modernist ทำให้การตีกลองบอกเวลาละหมาด ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกศาสนา และแทนที่ด้วยการอาซาน

เชื่อกันว่าบะโด๊ะแต่เดิมเป็นกลองไว้ใช้ในวงกะมะลัน ซึ่งยังมีใช้กันอยู่บ้างในพิธีกรรมงานสำคัญจนถึงทุกวันนี้และเป็นส่วนหนึ่งมานานตั้งแต่ยุคฮินดู-พุทธ
มีเรื่องเล่าตำนานว่า เจิ้งเหอ นายพลกองทัพเรือราชวงศ์หมิง ได้เดินทางมายังเมืองสะมารังและถูกต้อนรับโดยกษัตริย์สะมารังและพำนักอยู่หลายวัน
เมื่อตอนที่เจิ้งเหอจะจากไป เจิ้งเหอได้ทูลขอให้สิ่งของที่ระลึก กษัตริย์สะมารัง ขอเพียงแค่กลองประดับไว้ที่มัสยิด ทำให้กลองเป็นวัฒนธรรมร่วมแต่นั้น
ในแหลมมลายู ไม่แน่ใจว่าวัฒนธรรมตีกลองบอกเวลาละหมาดเผยแพร่ไปได้อย่างไร แต่ในชวามีมานานในช่วงที่อิสลามเริ่มเข้ามาเผยแพร่กันเลย
การตีกลอง นอกจากจะตีบอกเวลาละหมาดใน 5 เวลาแล้ว ยังมักตีให้มารวมกันละหมาดวันศุกร์ และตีบอกตะก์บิลันก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอนอีกด้วย

ปัจจุบัน การตีกลองบอกเวลาละหมาด มีน้อยลง โดยเฉพาะในชุมชนชาวมลายู โดยมีการอาซานเข้ามาแทนที่ แน่นอนว่ากลองในหลายที่ก็เริ่มชำรุดตาม
ขณะที่การตีกลอง ถูกมองว่าอยู่นอกเหนือซุนนะห์บ้าง อยู่นอกเหนือศาสนาบ้าง ทำให้มีความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มสายเคร่งและกลุ่มอนุรักษ์ของเก่า
กลุ่มสายเคร่ง กล่าวว่า การอาซานถูกหลักศาสนามากกว่า ขณะที่การตีกลองนั้นไม่ได้อยู่ในบทบัญญัติของศาสนา และอาจจะมาจากศาสนาอื่นด้วยซ้ำ
โดยกลองบะโด๊ะ นอกจากการใช้ในทางศาสนาแล้ว ยังมีการใช้ในการตีรวมพลในหมู่บ้านเพื่อบอกข่าว หรือตีกลองยามมีอันตรายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน
กลองที่ยังใช้ได้อยู่ (และไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยสายเคร่ง) ยังถูกใช้ตีอยู่ในทางศาสนาหรือในพิธีกรรมต่างๆ ในเกาะชวาของอินโดนีเซียจนทุกวันนี้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่