JJNY : ไม่ใช่ไอโอ ทำได้แค่ปจว.!/ผู้ค้าระบาย โดนรัฐคุมรง./จาตุรนต์แนะขอแบ่งหน้ากาก/วีระเปิดศึกองค์กรต้านคอร์รัปชั่นฯ

“ไม่ใช่ไอโอ ทำได้แค่ปจว.!” โดย สุรชาติ บำรุงสุข
https://www.matichon.co.th/article/news_2038108

 
ผู้เขียน  สุรชาติ บำรุงสุข

มรดกสงครามคอมมิวนิสต์
 
สงครามคอมมิวนิสต์ในสังคมไทยยุติไปนานแล้ว แต่มรดกทางทหารชุดหนึ่งที่ตกทอดอยู่ในกองทัพก็คือ แนวคิดในเรื่องของ “สงครามจิตวิทยา” (psychological warfare) แม้ในปัจจุบันภาวะสงครามดังกล่าวจะสิ้นสุดลง แต่แนวคิดในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามด้วยการใช้ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ไม่ได้หายไปจากแนวคิดทางทหารแต่อย่างใด
 
หลักสงครามจิตวิทยาถูกปรับให้รองรับงานในสนามด้วยการเป็น “ปฎิบัติการจิตวิทยา” (ปจว.) หรือแนวคิดทางทหารเรื่อง “PSYOP” (psychological operations) ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของสงครามเย็น เช่น ปจว. ของกองทัพสหรัฐในสงครามเวียดนาม หรือ ปจว. ของกองทัพบกกับสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย เป็นต้น ปฎิบัติการนี้มุ่งหวังที่จะสร้าง “อิทธิพลเหนือจิตใจ” ของผู้รับสาร ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการชี้นำทางความคิด หรือการข่มขู่ผ่านข่าวสารที่ถูกส่งออกไปก็ตาม
 
ไอโอคืออะไร?
 
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใน “สงครามการเมือง” ที่ทหารไทยเข้ามามีบทบาทอย่างมากนับจากรัฐประหาร 2549 และเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 แล้ว ปฎิบัติการจิตวิทยากลายเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่ทหารใช้ต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย และยิ่งเมื่อเงื่อนไขเทคโนโลยีสารสนเทศได้รับการพัฒนามากขึ้น จนกลายเป็น “โลกไซเบอร์” เช่นที่เห็นในปัจจุบัน การ ปจว. ของทหารในบริบททางการเมืองจึงถูกผลักให้มาอยู่ในพื้นที่ไซเบอร์ จนกลายเป็น “สนามรบไซเบอร์” ที่กองทัพดำเนินการในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นกับผู้ที่กองทัพมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามในโลกออนไลน์
 
ในปฎิบัติการเช่นนี้ของฝ่ายทหาร มีการปรับภาษาให้สอดรับกับยุคสมัยตามแบบของสหรัฐ ดังจะเห็นได้ว่าในระหว่างปี 2553 จนถึงปี 2557 คำว่า “ปฎิบัติการจิตวิทยา” (PSYOP) ในกองทัพสหรัฐได้ถูกปรับใหม่และเรียกว่า “ปฎิบัติการสนับสนุนทางทหารด้านข่าวสาร” (Military Information  Support Operations- MISO) แต่ในปี 2560 จนปัจจุบัน กองทัพสหรัฐได้หันกลับมาใช้คำว่า ปจว. อีกครั้ง
 
แต่สำหรับในบริบทของไทยแล้ว ปจว. (PSYOP หรือในภาษาของกองทัพสหรัฐคือ MISO) มักจะถูกเรียกว่าเป็น “ปฎิบัติการด้านข่าวสาร” หรือที่ถูกเรียกโดยทั่วไปว่า “ไอโอ” (IO- Information Operations) ทั้งที่ในความเป็นจริงของไทยแล้ว สิ่งที่ถูกเรียกว่า ไอโอเป็นเพียงงาน ปจว. เท่านั้น ถ้าคิดแบบเข้มงวดในวิทยาการทหารแล้ว ไอโอที่แท้จริงไม่ใช่เป็นในแบบที่สังคมไทยหรือทหารไทยบางส่วนเข้าใจแต่อย่างใด
 
ไอโอ” คือ การบูรณาการการใช้เครื่องมือปฎิบัติการทางทหารใน 5 ส่วนคือ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ (EW) ปฎิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (CNO) ปฎิบัติการจิตวิทยา (PSYOP) การลวงทางทหาร (MILDEC) และปฎิบัติการความมั่นคง (OPSEC) และปฎิบัติการที่เกิดขึ้นเช่นนี้มีวัตถุประสงค์โดยตรงที่ใช้ในสงคราม ซึ่งปฎิบัติการของกองทัพสหรัฐนั้น ยังมีนัยถึงการใช้อากาศยานอิเล็กทรอนิกส์ (electronic aircraft) เข้ามาสนับสนุนอีกด้วย
 
หากมองจากสิ่งที่กองทัพไทยใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว ปฎิบัติการดังกล่าวเป็นเพียง “ปฎิบัติการสนับสนุนทางทหารด้านข่าวสาร” ซึ่งหากเรียกในภาษาเดิมก็คือ งาน ปจว. เท่านั้น ไม่ใช่ไอโอในวิชาทหาร อันอาจกล่าวได้ว่าทหารไทยทำได้เพียงในระดับของ PSYOP/MISO ไม่มีความสามารถจนถึงระดับที่จะทำ IO ได้จริงในความหมายแบบสหรัฐ
 
ประเด็นปัญหา
 
งาน ปจว. ที่ทหารดำเนินการในการเมืองไทยแล้ว มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
 
1) จากประสบการณ์ในยุคสงครามเย็น สร้างให้กองทัพมีทักษะในงานด้านจิตวิทยา ประกอบกับกองทัพยังมีทั้งบุคลากรและงบประมาณที่ใช้สนับสนุนปฎิบัติการนี้
 
2) ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องมือที่กองทัพใช้ในงาน ปจว. ต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย ต้องถือว่าเครื่องมือดังกล่าวมีไว้เพื่อรองรับต่อภารกิจทางทหาร แต่กลับถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเพื่อต่อต้านฝ่ายที่เห็นต่าง โดยเฉพาะใช้ต่อต้านฝ่ายประชาธิปไตย หรือพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
 
3) ในสถานการณ์สงคราม เครื่องมือนี้ใช้เพื่อทำ “สงครามแย่งชิงมวลชน” ดังเช่นในยุคสงครามเย็น ที่งาน ปจว. คือ ความพยายามในการชิงมวลชนให้เป็นฝ่ายเรา และวันนี้ปฎิบัติการเช่นนี้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งใน “สงครามการเมือง” ที่ผู้นำทหารเข้ามาต่อสู้โดยตรง
 
4) ในการดึงมวลชนให้เป็นฝ่ายเรา จึงจำเป็นต้องสร้างภาพของข้าศึก หรืออาจเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ให้มีภาพลักษณ์ในทางลบ อันอาจมีนัยถึงการ “ใส่ร้ายป้ายสี” เพราะจะต้องทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ได้ อันเป็นผลจากกระบวนการสร้างความเป็นข้าศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทหารบางส่วนมีทัศนะที่มองว่า ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่กองทัพให้การสนับสนุนอยู่ จึงต้องทำลายทางการเมือง ซึ่งในกรณีนี้ผู้นำทหารอาจจะต้องคิดใหม่ว่า ผู้เห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่ข้าศึกในทางทหาร
 
5) ถ้าฝ่ายทหารตัดสินใจทำงาน ปจว. บนพื้นฐานของการสร้างข่าวปลอม หรือใช้การป้ายสีทางการเมืองด้วยข้อมูลเท็จแล้ว หากประชาชนที่เป็นผู้รับสารพบว่า ข่าวสารที่ถูกสร้างขึ้นนั้น เป็นเรื่องเท็จ … ข่าวปลอมแล้ว ประชาชนอาจจะหันหลังให้กับการนำเสนอข้อมูลของฝ่ายทหาร
 
6) หากประชาชนไม่เชื่อถือในข้อมูลข่าวสารทางฝ่ายทหารที่ผลิตออกมาแล้ว ในที่สุดการกระทำเช่นนี้อาจจะเป็นผลกระทบเชิงลบ และทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันกองทัพเองในอนาคต
 
7) หากงาน ปจว. กลายเป็นกระบวนการสร้างข่าวปลอมโดยฝ่ายทหารแล้ว หน่วยงานภาครัฐในระดับต่างๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับข่าวปลอม (fake news) จะดำเนินการอย่างไรในกรณีนี้ เช่น ตำรวจที่จับกุมบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในการนำเอาข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ตำรวจหน่วยนี้จะดำเนินการอย่างไรกับฝ่ายทหาร
 
8) งาน ปจว. อีกด้านหนึ่งมักมาพร้อมกับ “การประนามและการด่าทอ” ฝ่ายตรงข้าม หรือในบางกรณีอาจอยู่ในรูปแบบของ “การใส่ร้ายป้ายสี” ดังตัวอย่างในเหตุการณ์ตุลาคม 2519 ซึ่งจะต้องระมัดระวังว่า การกระทำเช่นนั้น มักจะมีการใช้ “ประทุษวาจา” (hate speech) เพื่อสร้างความเกลียดชัง จนเกิดเป็นขั้วทางการเมือง หรือนำไปสู่ความแตกแยกทางการเมือง ที่โอกาสของการสร้างความปรองดองในชาติจะยิ่งประสบปัญหามากขึ้น
 
9) การดำเนินงาน ปจว. เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงการใช้เครื่องมือทางทหารในการสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งทำให้สถาบันทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น หรือในอีกด้านงาน ปจว. คือคำยืนยันว่า ทหารจะไม่ถอนตัวออกจากการเมือง
 
10) ในกรณีของการใช้งาน ปจว. ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กองทัพอาจจะต้องตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของปัญหา และหากประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่า ข้อมูลข่าวสารจากการ ปจว. เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือมองว่าเป็นเพียงการสร้างข่าวปลอมแล้ว จะทำให้สถานะความน่าเชื่อถือของฝ่ายทหารในพื้นที่ดังกล่าวตกต่ำลง และผู้นำทหารควรต้องตระหนักอีกด้วยว่า การพ่ายแพ้ทางด้านข่าวสาร อาจจะหมายถึงการพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ได้ในอนาคต
 
11) วันนี้งาน ปจว. ที่ถูกเรียกว่า “ไอโอ” กำลังเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสาระที่มีลักษณะของการใส่ร้าย หรือสร้างความแตกแยก และแม้กระทั่งค่าตอบแทนในปฎิบัติการดังกล่าวก็มีลักษณะของการกินหัวคิว ผู้นำกองทัพอาจต้องยอมรับว่า การกระทำดังกล่าวกำลังกลายเป็นผลลบทางการเมืองต่อสถาบันทหาร
 
12) ผู้นำทหารควรต้องตระหนักเสมอว่า ไอโอหรือ ปจว. ที่ดำเนินการอยู่นั้น ต้องไม่ใช่กระบวนการสร้างข่าวปลอม เพราะข่าวปลอมในที่สุดอาจไม่สามารถทำหน้าที่ในการ “ชิงมวลชน” ได้ และปฎิบัติการข่าวในลักษณะเช่นนี้อาจทำให้กองทัพตกเป็น “จำเลยทางการเมือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
13) ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างสำคัญจากกรณีนี้คือ เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ และรวมถึงการปฏิรูป กอ. รมน. ดังมากขึ้น และสอดรับกับความรู้สึกของคนในสังคมมากขึ้น
 
14) การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยในอนาคต อาจจะต้องคิดถึงเรื่องบทบาทของทหารในปฎิบัติการเช่นนี้ เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอาจถูกบ่อนเซาะจากการดำเนินการจากงาน ปจว. ของทหารฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้!
 


ผู้ค้าหน้ากากระบาย โดนรัฐคุมโรงงานติดเครดิตหลายล้าน ทำไมของโผล่ส่งออก!
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3718206
 
จากสถานการณ์หน้ากากขาดแคลนจนทำให้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประกาศควบคุม โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปคุมโรงงานผลิตแล้วนำส่งตัวเลขการผลิตให้ศูนย์หน้ากากอนามัย ที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข บริหารจัดสรรปันส่วน โดย 700,000 ชิ้นแรก จัดให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกแห่ง ทั้งรัฐ เอกชน และผู้มีหน้าที่ให้เพียงพอ
 
โดยพบว่าโลกออนไลน์มีการแชร์ข้อความจากผู้ผลิตรายหนึ่ง ระบุถึงสถานการณ์ควบคุมสินค้าดังกล่าว ว่า 
 
"กรมมาโรงงานไม่หนำใจ ทหารมาอีก เราต้องช่วยกันทำเพื่อชาติ และที่เอาไปท่านคะ เงินยังไม่จ่ายเลย ของไปเงินก็ต้องมา ท่านว่ามั้ยคะ" และยังโพสต์อีกหลายข้อความ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการผลิตหน้ากากพร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดหน้ากากจึงไม่ถึงหมอพยาบาล!

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่