แม่น้ำเพชร เส้นทางสายธารแห่งศรัทธา


บางตะบูน
จุดเริ่มต้นจากปลายทาง
 
          “พ่อพายเรือเป็นมั้ย”
          “ไม่เป็น”
          “ปลายปีนี้เราไปพายเรือแม่น้ำเพชรกันมั้ย”
          พ่อไม่ตอบ แต่มีท่าทีสนใจ
          จากวันนี้ผมมีเวลาเตรียมตัวเกือบ 9 เดือน สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ถ้าทุกอย่างพร้อม เราจะเริ่มต้นการเดินทางโดยทันที!
 
          ลมทะเลพัดผ่านเย็นสบายยามอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า แผ่นน้ำพลิ้วไหวไปตามแรงลมเป็นประกาย บัดนี้จากประกายสีขาวได้กลายเป็นสีทองอร่ามฉาบผิวน้ำ พระอาทิตย์ดวงโตกำลังคล้อยต่ำลงอย่างช้าๆ โดยมีบ้านเรือนริมน้ำเรียงรายสองฝั่งรับแสงอาทิตย์ยามเย็น กับภาพฉากหลังเป็นทิวเขาทอดยาวตลอดแนว ขนาดผมเป็นคนเพชรบุรีแท้ๆ ก็เพิ่งเคยเห็นความสวยงามของบางตะบูนครั้งแรกนี่แหล่ะ ส่วนทิวเขาสุดลูกหูลูตาทอดยาวด้านหลังยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่รู้เลยว่าเป็นทิวเขาอะไร เดาเอาว่าน่าจะเป็นทิวเขาบริเวณอุทยานแก่งกระจานและพรมแดนประเทศเมียนมาก็เป็นได้ 
          ผมรู้เรื่องราวของบ้านเกิดตัวเองน้อยเสียเหลือเกิน 
 
          ผมตั้งกล้องรอถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกอย่างใจจดใจจ่ออยู่กลางสะพายเฉลิมพระเกียรติ หรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า สะพานข้ามอ่าวบางตะบูน แล้วทุกอย่างก็เป็นไปอย่างที่คิดเอาไว้ โชคไม่เข้าข้างเอาเสียเลย เมฆขนาดมหึมาเคลื่อนคล้อยเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์จนหมดสิ้น ช่างน่าเสียดายจริงๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์ยามเย็น แต่บรรยากาศโดยรอบอ่าวบางตะบูนก็ยังคงมีเสน่ห์และสวยงาม บ้านเรือนริมน้ำสีสันสดใส กับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำ ที่สงบเงียบเรียบง่าย บัดนี้หลายคนออกมานั่งทอดกายสบายอารมณ์สูดอากาศสดชื่นอยู่ริมน้ำ ช่างน่าอิจฉาวิถีชีวิตของคนที่นี่จังเลย
          ผมข้ามถนนบริเวณกลางสะพานมาอีกด้านที่เป็นทางปากอ่าว ทิวทัศน์ด้านนี้ก็สวยไม่แพ้กัน ภาพทิวทัศน์ของปากอ่าวบางตะบูนกว้างใหญ่จากแม่น้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทย ริมฝั่งสองข้างไม่มีบ้านเรือนให้เห็นอีกแล้ว มีเพียงป่าชายเลนไม้โกงกางเขียวชอุ่มเป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติปกป้องคลื่นลมชายฝั่ง อีกทั้งยังเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้อยใหญ่อีกด้วย นอกจากนั้นยังมีภาพของกระเตง (บ้านหลังเล็กกลางอ่าว) กระจายอยู่บริเวณปากอ่าว กับไม้หลักปักเรียงรายเป็นแนวแถว สวยงามไม่ต่างกับภาพเขียน

          ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยมาเที่ยวบางตะบูนในวันหยุดสุดสัปดาห์ ด้วยชื่อเสียงทางด้านความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหอย ปู ปลา สดๆ กับโฮมสเตย์มีเสน่ห์ริมน้ำบรรยากาศยอดเยี่ยม เดินเล่นชมนกชมทะเล หรือขับรถเที่ยวชมวิถีชีวิตการทำนาเกลือที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของบางตะบูนที่หาดูได้ยากเต็มที ในอดีตบางตะบูนถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางเป็นเมืองปากอ่าวสำคัญของเมืองเพชรบุรี อันเนื่องมาจากการคมนาคมไม่สะดวกสบายเหมือนดังปัจจุบัน การเดินทางที่ถือว่าสะดวกที่สุดก็คงจะเป็นการเดินทางทางเรือ จากปากแม่น้ำบางตะบูนล่องเรือเอื่อยเฉื่อยลัดเลาะคดเคี้ยวชื่นชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำจนถึงเมืองเพชรบุรี ดังเรื่องราวที่สุนทรภู่ได้เคยประพันธ์เอาไว้ในกวีนิพนธ์ “นิราศเมืองเพชร” เมื่อครั้นรัชกาลที่ 3 ในราวปี พ.ศ. 2388 สะท้อนให้เห็นการเดินทางในอดีตเริ่มตั้งแต่ล่องเรือเข้ามาทางแม่น้ำบางตะบูนและแม่น้ำเพชรบุรี เข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรีอย่างน่าจดจำ
          สำหรับผมแล้วอ่าวบางตะบูน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปลายทาง เนื่องจากผมได้ใช้แม่น้ำบางตะบูนนี้เป็นการเริ่มต้นสำรวจเส้นทางพายเรือแม่น้ำเพชรบุรี เพราะเมื่อเห็นจุดหมายปลายทางแล้ว ทำให้เกิดความฮึกเหิมว่าปลายทางนั้นไม่ไกลอย่างที่คิด ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ และผมเชื่อว่าผมสามารถทำได้
          หากจะถือว่าปากอ่าวของแม่น้ำบางตะบูน เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเพชรบุรีก็ย่อมได้ ซึ่งผมได้ปักหมุดเอาไว้เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทาง เป็นกิโลเมตรที่ 210 ตามความยาวทั้งหมดของแม่น้ำเพชรบุรี พลางนึกถึงภาพตนเองและพ่อพายเรือมาถึงปากอ่าวที่ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการเดินทางอันยาวไกลตลอดหลายวัน ดังเช่นสายธารจากต้นแม่น้ำเวียนไหลหล่อเลี้ยงทุกชีวิตสองฝั่งแม่น้ำของจังหวัดเพชรบุรีผ่านกาลเวลาวันแล้ววันเล่าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจวบจนปัจจุบัน 
          โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการวางแผนการเดินทางครั้งนี้จะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ด้วยดี เกิดกระแสให้คนเพชรบุรีตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แม่น้ำเพชรบุรีอย่างจริงจัง 
          ให้คงเป็นสายธารแห่งศรัทธาคู่เมืองเพชรบุรียาวนานตลอดไป

by
กบในกะลาแก้ว

จากแม่น้ำเพชรที่ลัดเลาะคดเคี้ยวมาจากต้นน้ำจนถึงทางแยกบริเวณวัดคุ้งตำหนัก แม่น้ำเพชรได้แยกออกเป็นคลองสองสาย ที่ดูขนาดแล้วก็ไม่ต่างจากแม่น้ำเพชรเลย สายหนึ่งไหลย้อนกลับมาทางตะวันตกเรียกว่าคลองบางสามแพรก ส่วนอีกหนึ่งไหลไปทางตะวันออกมุ่งหน้าสู่อ่าวไทย เรียกว่า คลองไหหลำ ล่องตามแม่น้ำมาเรื่อยๆ ก็จะเป็นทางแยกปากแม่น้ำอีกแห่งเรียกว่า แม่น้ำบางตะบูน ถือว่าบริเวณนี้เป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำบางตะบูน บริเวณคุ้มน้ำวัดเกาะแก้ว





แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่