JJNY : 4in1 แฟลชม็อบนศ.ทวงปชต./กมธ.ศึกษาฯรับร้องเรียน/สหภาพฯบินไทยจ่อร้องตู่อีอีซีทำเดือดร้อน/ชี้แห่ปิดกิจการพุ่ง67%

แฟลชม็อบนักศึกษาทวงคืนปชต.
https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_3668457
 

 
แฟลชม็อบนักศึกษาทวงคืนปชต. - การยุบพรรคอนาคตใหม่นำมาสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ของนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ และขยายแนวรวมไปยังเด็กมัธยม
 
เป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อีกครั้ง นับแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19
 
ไม่ใช่แค่กรณียุบพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น หากเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังเรียกร้องประชาธิปไตย ความยุติธรรม และการเปลี่ยนแปลง
 
ณรุจน์ วศินปิยมงคล
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
  
เหตุผลที่นักศึกษาออกมาชุมนุมกันในขณะนี้ ผมมองอยู่หลายประเด็น ประเด็นแรก คิดว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เขามีความชื่นชอบและตั้งความหวังว่า อยากจะเห็นพรรคอนาคตใหม่ นำเสนอผลงานใหม่ๆ แต่กลับถูกยุบ อาจจะทำให้คนรุ่นใหม่ ที่เขาเคยฝากความหวังไว้หายไป จึงรู้สึกไม่พอใจ
 
ประเด็นที่สอง จริงๆ แล้ว นักวิชาการหลายคนโดยเฉพาะด้านนิติศาสตร์ ได้วิเคราะห์ค่อนข้างชัดเจนในประเด็นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายคนรู้สึกไม่เป็นธรรมและเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 คือการยุบพรรคฝั่งตรงกันข้ามกับฝ่ายผู้มีอำนาจ จึงทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นการกระทำต่อคนที่เห็นต่าง และไม่เป็นธรรม
 
การยุบพรรคอนาคตใหม่ เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และสะท้อนว่าการยุบพรรคในกระบวนการยุติธรรมนั้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งการยุบพรรคก่อนหน้านี้มีความรู้สึกอยู่แล้ว แต่รอบนี้ไปกระทบกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนทำให้เขารู้สึกทนไม่ไหว และยิ่งนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ ในมุมของคนรุ่นใหม่รู้สึกพอใจกับนโยบายพรรค เมื่อเกิดเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ขึ้น จึงมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจขึ้นมา
 
กลุ่มต่างๆ เขาจึงรู้สึกว่าการทำเช่นนี้ น่าจะเป็นช่องทางที่พวกเขาทำได้ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เราเห็นขึ้น
 
ผมมองว่า เป็นความอัดอั้นจริงๆ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เลยแสดงออกมาดังกล่าว
 
การออกมาชุมนุมในครั้งนี้ มันสะท้อนการใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดีย จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่จะใช้เครื่องมือคือ ทวิตเตอร์ เป็นช่องทาง ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะใช้กันจำนวนมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และความไม่พอใจที่มีการพูดคุยกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นก็มักเกิดขึ้นกับพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียว หรือรุ่นใกล้เคียงกัน จึงเกิดตรงนี้ขึ้นมา
 
ผมมองว่าหลายปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องการเมืองมาก่อน ก็เริ่มมาสนใจมากขึ้น และการเลือกตั้งที่ผ่านมาถูกอั้นเอาไว้ 5 ปี ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนอายุถึงแล้ว แต่ไม่ได้เลือกตั้งสักที จึงทำให้รู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเหมือนเป็นความปลดปล่อยและสนองความต้องการในการอยากเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการเมือง
 
แต่พอผ่านไปหนึ่งปี พรรคที่เขาเลือกมาถูกยุบ เลยทำให้ความรู้สึกตรงนั้นกลับมาระเบิดอีกครั้ง จึงทำให้คนรุ่นใหม่ออกมา
 
ผมไม่อยากคิดว่าการชุมนุมนี้ จะบานปลายหรือไม่ แต่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งสุดท้ายมันอาจจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ แต่ผมคิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ เช่น คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ออกมาในช่วงเวลานี้
 
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่ารัฐบาลคงนั่งคิดพอสมควรว่าจะจัดการอย่างไร กับเรื่องการชุมนุมนี้ ที่ไม่ให้ภาพออกมาดูว่าแย่ ซึ่งคงยากพอสมควร
 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
 
การชุมนุมแฟลชม็อบหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ อย่าไปมองว่าเด็กหรือคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เป็นศัตรูหรือสิ่งแปลกปลอมในสังคมไทย ต้องมองในฐานะที่เขาต้องการจะเห็นการเปลี่ยน แปลงบ้านเมืองในทางที่ดี
 
ที่เชื่อมั่นอย่างนี้ เพราะนับตั้งแต่ยึดอำนาจเดือนพ.ค.2557 หลายเรื่องมีความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เอื้อไปในทางที่ดี คนรุ่นใหม่และนักศึกษา เด็กมัธยมจึงแสดงออก เพราะรู้สึกว่าอนาคตของเขาถูกขโมย ถูกทรยศ ไม่เห็นโอกาสต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค มีความยุติธรรม
 
สิ่งที่เราเห็นขณะนี้คือ ความคับข้องใจที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงของสังคมอนาคตในแบบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่แค่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบอย่างเดียว
 
การเลือกตั้งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าพรรคที่มีอายุเพียงปีเศษถูกเลือกเข้ามาเพื่อเป็นตัวแทนความหวัง และคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ก็ไม่มีเฉพาะเด็ก แต่เมื่อพรรคโดนยุบ ความคับข้องใจว่าคนที่เลือกเข้ามาและรัฐบาลที่อยากได้ ไม่ใช่แบบนี้ อีกทั้งยังรู้ว่ากลไกของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีสิ่งที่อยู่นอกเหนือการตัดสินใจ นั่นคือเสียงของวุฒิสภา 250 เสียง ดังนั้น จะไม่เรียกว่าสืบทอดอำนาจได้อย่างไร
 
อยากให้รัฐบาลและทุกฝ่ายมองแบบนี้ จึงจะเข้าใจและอยากให้ฟังเขาว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่คนรุ่นใหม่พูดถึงนั้น ไม่ใช่แค่การยุบพรรคแต่คสช.ก็มีส่วนทำให้เกิดความคับข้องใจ เพราะพยายามบอกว่าเราจะคืนอำนาจ เราจะทำตามสัญญา แต่สิ่งที่เขาเห็น ไม่ได้สะท้อนในทิศทางที่ควรจะเป็น
 
จึงกลายมาเป็นความไม่พอใจในการบริหารราชการแผ่นดิน เห็นได้จากคำปราศรัยของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางบวก และทวงถามคำสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้ เช่น รถไฟความเร็วสูง การจัดการศึกษาที่จะรองรับในอนาคต ที่รู้สึกว่าถูกขโมยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร หากฟังคำปราศรัยของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในแต่ละสถาบันจะพบในประเด็นเหล่านี้
 
ต้องยอมรับว่าเด็กเหล่านี้ยุคเจเนอเรชั่น ซี หรือมิลเลนเนียม โตมากับเทคโนโลยี ใช้ทวิตเตอร์สื่อสาร แต่กลับบอกว่าเป็นพวกนักเลงคีย์บอร์ดไม่ลงถนน วันนี้จึงได้เห็นปรากฏการณ์ในรูปแบบของมติมหาชนที่ไม่ได้อยู่แพลตฟอร์มหรือเวทีที่คุ้นเคยเช่นสมัยก่อน ที่ให้ทำประชามติไปหย่อนบัตรโหวตเสียงกัน ต้องมีขั้นตอนต่างๆ มีการรณรงค์ตั้งคำถาม
 
แต่สมัยนี้ไม่ใช่ เป็นการแสดงมติมหาชนผ่านทวิตเตอร์ สามารถนับจำนวนให้เห็นทันที หากจะพูดให้ลึกลงไปก็คือ มติที่สะท้อนให้เห็นว่า คนที่เห็นในทิศทางเดียวกันมีจำนวนมากนับล้านคน
 
นับตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงต้นปีนี้ มีการพูดถึง แฮชแท็ก ซึ่งเป็นเครื่องหมายเฉพาะเวลาที่ต้องการดูว่าทิศทางไปทางไหน โดยเราจะรู้ทันทีว่ามีกี่คนที่ใช้แฮชแท็ก สื่อความเห็นทางการเมืองหรือความนิยมในเรื่องต่างๆ และคนที่แสดงความเห็นผ่านทางทวิตเตอร์ต่างๆ จะรู้สึกว่าเขามีตัวตน ก่อนหน้านั้นไม่เคยได้รับการตอบสนอง เช่น คำพูดไม่เห็นหัวเขาบ้างเลย
 
นี่คือปรากฏการณ์ที่น่าจะตอบคำถามได้ว่า ทำไมถึงมีคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษาออกมาเยอะ
 
การปรามาสว่าเป็นพวกนักเลงคีย์บอร์ด เมื่อเขารู้สึกว่าถ้าแสดงพลังผ่านทวิตเตอร์อย่างเดียว จะไม่มีใครเห็น ไม่มีใครฟัง จึงออกมารวมตัวกัน เป็นรูปแบบมติมหาชน ทำให้ความเห็นของเขาไม่โดดเดี่ยว และสะท้อนถึงแรงสะสมของความคับข้องใจในรอบหลายปีที่ผ่านมา
 
เด็กรุ่นใหม่ที่ออกมา ไม่ใช่เด็กที่ไม่มีการศึกษา แต่ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี หรือเป็นอีลิตของสังคมไทยในอนาคต ดังนั้น การจะบอกว่าเด็กพวกนี้ถูกชักจูง ถูกล่อลวงอย่าไปปรามาสอย่างนั้น คิดว่ายุบพรรคอนาคตใหม่แล้วถึงออกมานั้นไม่ใช่ แต่มีมากกว่านั้น เป็นการเคลื่อนไหวที่ปราศจากการชี้นำ
 
การทำลายพรรคการเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของความหวังพวกเขา มีการรวบรัดตัดตอน การมีรัฐบาลที่ไม่ตอบโจทย์ในอนาคต รวมถึงการยุบพรรคก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตัดสินคดีที่มีคณาจารย์มาให้ความเห็นว่าการตัดสินในลักษณะนี้อาจจะมีปัญหาโดยรวม สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กๆ เห็นว่าไม่เป็นธรรมต่ออนาคตของพวกเขา และไม่มีความหวังในชีวิต
 
ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่ใช่แค่ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
 
โคทม อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล
 
ผมดีใจที่เยาวชนออกมาแสดงความคิดเห็น แต่ภายใต้เงื่อนไขจำกัดเพราะทางการเขาพูดอยู่เรื่อยว่า อย่าให้ผิดกฎหมายเพราะเขาเป็นคนถือกฎหมาย และเมื่อเราไปประท้วงเขาก็ไม่ชอบใจและต้องบอกว่าผิดกฎหมาย แต่เยาวชนก็ระมัดระวังและได้แสดงออก ซึ่งการชุมนุมแต่ละครั้ง บางทีบางคำก็มีอารมณ์ขัน เช่น ไม่อินเผด็จการ
 
การชุมนุมดังกล่าว สะท้อนถึงปัญหาของรัฐบาลมาตั้งแต่คสช.เพราะต่อเนื่องกันมา และที่ประท้วงกันนั้นคือ ประท้วง 5 ปีรัฐประหาร และ 1 ปีรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเท่านี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว
 
อย่างไรก็ตาม บ้านเราเคยมีรัฐบาลที่เป็นทหารมาตั้งแต่ปี 2500 ถึง 2516 และหลังจากนั้นก็มีรัฐประหารอีกในปี 2519, 2520, 2534, 2549 และพ.ศ. 2557 ซึ่งผมเองก็พยายามท่องไว้เพื่อเตือนความจำตัวเอง
 
นิสิต นักศึกษา เขารู้สึกว่าวาทกรรมของผู้มีอำนาจไม่เข้ากับยุคของเขาแล้ว และเขาคงไม่อยากรับแล้ว ถ้าพูดภาษาธรรมดาก็คือรับไม่ไหวแล้ว เหลืออดเหลือทนแล้ว เพราะส่งวาทกรรมมาเรื่อยโน่นนี่นั่น นักศึกษา เยาวชนก็ยังขอพื้นที่ บอกว่าที่คุณระบุว่ายุติธรรมที่บอกว่าเป็นหลักกฎหมายนั้นมันใช่หรือเปล่า อย่างนี้ เป็นต้น
 
เมื่อลุกลามไปถึงระดับนักเรียนมัธยมสะท้อนถึงสังคมไทยอย่างไรบ้างนั้น ขอเรียนว่าเรื่องถึงระดับมัธยมมีมาตั้งแต่ปี 2516 ดังนั้น ก็ดีเพราะเดี๋ยวนี้สื่อสังคมออนไลน์ เข้าถึงและอธิบายอย่างเข้าใจในหมู่เยาวชนด้วยกันได้อย่างดี พวกเขาคงอยากมีส่วนร่วม เป็นการช่วยรุ่นพี่ พูดได้ง่ายๆ อย่างนี้
 
ส่วนเหตุการณ์จะบานปลายหรือไม่ผมไม่ทราบ จะจุดติดหรือไม่ติดไม่ใช่ประเด็น ก็จุดไปเรื่อยๆ จะติดก็ติด จะไม่ติดก็ไม่ติดไม่ต้องเป็นห่วง อย่าไปตั้งใจว่าจะจุดให้ติด เหมือนกับเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน มีตัวละครเยอะแยะ มีเหตุปัจจัยมากมาย
 
เหตุปัจจัยตอนนี้ไม่ค่อยจะเอื้อต่อรัฐบาลนัก เพราะมีทั้งโควิด-19 หุ้นตก เอสเอ็มอียากลำบาก ปัญหาเศรษฐกิจกำลังจะเข้ามาบวกกับความแห้งแล้ง ฝุ่นพิษ มีประเด็นอีกมากที่เป็นประเด็นแวดล้อม และประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคม อีกหลายเรื่อง หรือการรวมศูนย์ เรื่องข่าวสาร และยังเกิดเรื่องอื้อฉาวไอโอ ขึ้นมาอีกว่ามีการใช้ข่าวสารเพื่อค้ำจุนรัฐบาล
 
ทางการเมืองผู้ใหญ่ก็ไปรังแกเด็ก จึงทำให้มีหลายเหตุปัจจัย ส่วนรัฐบาลก็พยายามบอกว่ารัฐบาลทำดีแล้ว ใครเชื่อก็เชื่อไป แต่ไม่สามารถสร้างความเข้าใจกันได้ เพราะตอนนี้เข้าใจกันยาก มีช่องว่างทางความคิดมีช่องว่างทางศรัทธา เยอะไปหมดทั้งทางการเมืองและทางสังคม ดังนั้น จึงไม่มีใครทำนายได้
 
เมื่อรัฐบาลไม่มีท่าทีใดๆ ทุกคนก็ดูว่าหัวหน้ารัฐบาลจะว่าอย่างไร ซึ่งหัวหน้ารัฐบาลก็คงไม่อยากไปกดดันเยาวชน แต่ก็เห็นพูดในสภาว่า เยาวชนอย่าหลงไปเป็นเครื่องมือเขานะ อย่าทำผิดกฎหมายนะ เป็นห่วงนะ นี่คือท่าที ทุกคนกำลังดูว่าจะเอาอย่างไร ตอนนี้ยังอยู่ในลักษณะที่ดูกันไปก่อน
 
รัฐบาลจะไปแอ๊กชั่นอะไร จะปราบปราม ผมไม่เชียร์อยู่แล้ว จะไปตั้งข้อหาจับคนเข้าคุกก็ยิ่งจะไปกันใหญ่ รัฐบาลไม่มีแอ๊กชั่น ก็อยู่ในระดับหนึ่งที่เรารับทราบว่าโอเค อย่าไปตำหนิว่าไม่มีแอ๊กชั่น เพราะไม่มีก็ดี ปล่อยให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพกันบ้าง ถ้ารัฐบาลอยากมีแอ๊กชั่น ที่ดี ก็ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะปลดล็อกการเมืองได้ในระดับหนึ่ง
 
สุดท้ายนี้ผมคิดว่าการต่อสู้ของเยาวชน นิสิตนักศึกษาเป็นเรื่องที่ปกติ และผมขอให้กำลังใจ แต่เยาวชนก็ต้องเคลื่อนไหวด้วยความรอบคอบ เพราะถ้ามีเหตุปะทะหรือมีความรุนแรง จะเป็นความเสียใจของสังคม เมื่อเยาวชนทำดีก็ต้องทำต่อไป แล้วถ้ามีใจรักความเป็นธรรม ทำไปเรื่อยๆ ทำไปอย่างต่อเนื่อง อย่างอดทน ไม่ย่อท้อ เพราะเยาวชนตอนนี้ก็มีไฟแรงต่อสังคม สร้างสังคมที่น่าอยู่ ขอให้ตั้งใจต่อเนื่องไปโดยตลอด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่