[CR] [รีวิว] Portrait of a Lady on Fire ภาพฝันของฉันคือเธอ (9.5/10) ...เมื่อภาพวาดเป็นดั่งตัวแทนย้อนความหลังและความรัก

Portrait of a Lady on Fire (2019)
กำกับโดย Céline Sciamma (Girlhood, Tomboy)
9.5/10



ณ เกาะอันโดดเดี่ยวแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสช่วงปลายยุคศตวรรษที่สิบแปด จิตรกรหญิง มารียาน (โนเอมี แมร์ลองต์) ถูกว่าจ้างให้เดินทางมาแอบวาดภาพ เอลูอิส (อาเดล อีเนล) เพื่อให้แม่ของเธอเตรียมเป็นข้อเสนอ ส่งให้ว่าที่เจ้าบ่าวในอิตาลีดูตัว

ดูเป็นเนื้อเรื่องสำหรับหนังรักที่เรียบง่าย แต่ผู้กำกับเขียนบท เซลีน เซียมมา ใช้ความน้อยและโทนเยือกเย็นช่วงต้นหนัง ปรับโฟกัสคนดูมาจดจ่อยังรายละเอียดและสีหน้าท่าทางในความสัมพันธ์ตรงๆอย่างไม่ปรุงแต่ง (จนไม่มีดนตรีประกอบที่ไม่ได้เกิดจากคนเล่นในหนังเลย) การกำกับเองยังจัดวางภาพงดงามหมดจด แทบพาเราเข้าไปสู่มุมมองจิตรกรอย่างมารียานด้วยกันเอง  ความรักครั้งนี้เล่าผ่านรายละเอียดค่อยๆสั่งสม จากสายตาชำเหลืองหยั่งเชิงมองและท่าทางการแตะต้องระหว่างสองคน ซึ่งทั้งโนเอมีกับอาเดลรับส่งได้ลุ่มลึกชวนเข้าภวังค์ต้องมนต์ตามมาก จนแม้จังหวะเหมือนจะเนิบช่วงองค์แรกของหนัง ก็ให้ความรู้สึกว่าหนังกำลังปล่อยพื้นที่ให้ไฟของสองคนนี้ค่อยๆสุมตัวก่อขึ้นต่างหาก ก่อนจะจุดติดกลางเรื่องลุกโชติช่วง ให้หลังจากนั้นเรารู้สึกหายใจแทบไม่ทันไปกับความรู้สึกอันแรงกล้าของสองตัวละครเลยทีเดียว



เนื่องจากผมดูมาแล้วสองรอบ (และอินเพิ่มจนคะแนนกระโดดจาก 8.5 มา 9.5 เลย) จึงทำให้ได้เห็นรายละเอียดในบทตัวละครและการแสดงของสองคนนี้มากขึ้น รอบแรกอาจอดไม่ได้ที่จะดูเพื่อซึมซับเนื้อเรื่องก่อน (แม้แต่กับหนังที่พล๊อตน้อยอย่างนี้) จึงไม่แปลกหากสายตาเราจะจับจ้องไปที่เอลูอิสเป็นส่วนใหญ่ เพราะเธอเป็นจุดรวมความสนใจใคร่รู้ของทุกตัวละคร ซึ่งรวมไปถึงตัวผู้กำกับเองอีกด้วย (พอรู้ว่า ผกก.เซลีน กับนักแสดงอาเดล เคยมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งจบลงอย่างเป็นมิตรก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำ Portrait ไม่นาน ช่วยเพิ่มเลเยอร์อันทรงพลังให้กับ บทเอลูอิสของอาเดล มาก ว่าอาจเป็นบุคคลแห่งห้วงความทรงจำครั้งหนึ่ง ทั้งในเนื้อเรื่องและภายนอกหนังเลยทีเดียว)

แต่พอรอบสองหลังรู้เนื้อเรื่องแล้ว ผมกลับมองเห็นแง่มุมในตัวมารียานมากขึ้น ว่าเปี่ยมไปด้วยช็อตสีหน้าและอารมณ์ที่เก็บซ่อน จนกลายเป็นเหมือนเหรียญอีกด้านของเอลูอิสในภาวะสังคมชายเป็นใหญ่กดทับเช่นกัน แม้พวกเธอจะอยู่ในสภาพแวดล้อมของเกาะที่ห่างไกลผู้ชายเหลือเกินแล้วก็ตาม มารียานอาจไม่ต้องถูกบังคับเรื่องอิสระชีวิตความรัก แต่หน้าที่การงานจิตรกรของเธอในยุคสมัยนั้นยังถูกกำหนดในกรอบกฏที่ผู้ชายตั้งเป็นส่วนใหญ่อยู่ดี ซึ่งฉากที่เธอต้องแหวกผ่านกลุ่มผู้ชายในงานแสดงภาพวาด ชวนให้คิดถึงฉาก โจดี้ ฟอสเตอร์ ขึ้นลิฟต์ FBI ท่ามกลางกลุ่มผู้ชายสูงรายล้อมใน The Silence of the Lambs ไม่น้อย



นอกจากฝีมือนักแสดงและงานกำกับงามงด เรื่องราวความรักในเกาะแห่งนี้ยังละเมียดละไมชวนสะเทือนอารมณ์ขึ้นไปอีก จากการเชิดชูพลังของศิลปะอันถักทอผ่านความสัมพันธ์ระหว่างโนเอมีกับเอลูอิสตลอดทั้งเรื่อง -- ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดที่นำทั้งสองมาพาพบกัน, ดนตรีที่พูดแทนหลายอารมณ์ ณ ขณะนั้น, และตำนานวรรณคดีที่เป็นตัวแทนความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง -- จนเมื่อเนื้อเรื่องขมวดเข้าช่วงปลาย สิ่งเหล่านั้นยิ่งสำคัญในการเป็นตัวแทนมองย้อนแห่งความรัก ว่าต่อให้ไร้คำพูดและระยะทางจะขวางกั้น ศิลปะอันแทนค่าความทรงจำสว่างโชติช่วงครั้งหนึ่งนั้นจะยังคงอยู่กับพวกเธอเสมอไป

.
.
.

<< -- ต่อจากนี้เป็นการตีความและสปอยล์รายละเอียดตอนจบของหนังครับ -- >>

.
.
.


 
-- ว่าด้วยตำนานโศกนาฏกรรมกรีก และฉากจบอันงดงามเปี่ยมพลังทำลายล้างของหนัง --
 
ฉากสำคัญฉากหนึ่งคือ มารียาน, เอลูอิส, และหญิงรับใช้โซฟี ถกเรื่องตำนานโศกนาฏกรรมกรีกโบราณของ ออฟีอุส กับหญิงคนรัก ยูรีไดซ์ ที่ได้ตายจากไป ออฟีอุสสามารถอ้อนวอนจนทวยเทพยอมคืนชีพหญิงรักให้ โดยมีข้อแม้ว่าออฟีอุสห้ามหันไปมองยูรีไดซ์ขณะเธอเดินตามหลังเขาขึ้นสู่โลกคนเป็น แต่แล้ว ขณะใกล้สู่ผืนดินโลกมนุษย์ ออฟีอุสกลับหันไปมอง จนวิญญาณของยูรีไดซ์ถูกดึงกลับโลกเบื้องล่างอีกครั้ง เมื่ออ่านจบ ทั้งสามคุยถึงเหตุผลที่ทำให้ออฟีอุสกลับไปมอง มารียานให้ความเห็นว่า ที่ออฟีอุสหัน อาจเพราะการตัดสินใจเลือกของเขา ไม่ใช่ lover’s choice หรือในฐานะคนรัก (เลือกไม่หัน เพื่อจะรออยู่ด้วยกันข้างบน) แต่เป็น poet’s choice หรือในฐานะนักกวีต่างหาก (หันเพื่อเลือกความทรงจำล่าสุดของยูรีไดซ์ไว้แทน) เอลูอิสอ่านตอนจบของตำนานต่อว่า มีคำลาที่ไม่อาจได้ยินจากยูรีไดซ์ถึงออฟีอุสอีกด้วย แล้วเธอก็คำนึงว่าบางทีอาจเป็นยูรีไดซ์ก็ได้ที่บอกให้ออฟีอุส “หันกลับมาเถิด” (“Turn around”)
 
แน่นอนว่าฐานะ “นักกวี” กับ “คนรัก” ในตำนานนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวความรักระหว่าง มารียาน (จิตรกร) กับ เอลูอิส (ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ความรักมาก่อน) โดยตรง โดยหลังฉากนี้ หลายแง่มุมจากตำนานจะสะท้อนในหนังไปจนจบเรื่อง มารียานเริ่มเห็นภาพของเอลูอิสในชุดขาวลอยขึ้นมาตามทางเดิน ก่อนความมืดจะปกคลุมมิดไป หนังมาเผยช่วงปลายว่ามารียานเหมือนจะได้เห็นภาพนิมิตของการพบกันครั้งสุดท้ายระหว่างพวกเธอสองคนนั่นเอง ที่ซึ่งมารียานเสร็จงานวาดแล้วจำต้องฝืนลาจาก แต่เอลูอิสในชุดขาวที่แม่เพิ่งซื้อให้เดินตามเธอมาที่ประตูแล้วเรียกให้มารียาน “Turn around” ซึ่งมารียานทำตามแต่โดยดี ก่อนที่จะเดินออกไปแล้วปิดประตูลงให้ความมืดปกคลุมเอลูอิสในบ้าน เติมเต็มทั้งภาพนิมิตที่เธอเคยเห็น และตำนานที่พวกเธอสองคนเคยอ่านกัน
 

 
ซึ่งนำผมมาสู่ฉากจบ หลายปีผ่านไป มารียานเห็นเอลูอิสไกลๆอีกครั้งในงานคอนเสิร์ตออเคสตร้าแห่งหนึ่ง แต่เอลูอิสไม่เห็นเธอจากที่นั่งคนละฝั่งโถง หนังจบด้วยช็อตแช่ไว้ที่หน้าเอลูอิส อันเปี่ยมล้นด้วยน้ำตาขณะฟัง “Summer” เวอชั่นออเคสตร้าของวิวัลดี ซึ่งเป็นเพลงที่มารียานเคยเคาะบนเปียโนให้เธอฟังขณะเพิ่งรู้จักกันใหม่ๆ ผมรู้สึกพลังทำลายล้างของฉากนี้รุนแรงทวีขึ้นไปอีกในรอบสอง เมื่อคลำเส้นเชื่อมระหว่างตำนานกับความรักสองคนชัดแล้ว เพราะรอบแรกคิดเพียงว่ามันคือเอลูอิสรำลึกความทรงจำอันมีค่าครั้งแรกไว้ขึ้นใจ ซึ่งแค่นั้นก็บาดลึกแล้ว
 
แต่เรื่องราวของออฟีอุสและยูรีไดซ์ที่ดังก้องตลอดช่วงหลังของหนัง สื่อว่าบางทีมันอาจไม่ใช่ว่า เอลูอิสไม่รู้ว่ามารียานนั่งอยู่ด้วย แต่เป็น choice ของเอลูอิสเองต่างหาก ที่เลือกจะจดจ่อกับดนตรีและไม่หันมา เพราะในขณะที่จิตวิญญาณจิตรกรของมารียานย่อมเลือกเส้นทาง poet’s choice ที่จะ “หันกลับมา” มองเอลูอิสอยู่เสมอ แต่เอลูอิส -- ผู้ได้รู้จักความรักครั้งแรกอันสว่างโชติช่วงจากมารียาน -- เลือกหนทางของ lover’s choice ตรงข้ามกับออฟีอุส คือไม่ยอมหัน แต่มองตรงไปข้างหน้า โดยยึดจับภาพจำของมารียานบนเกาะแห่งนั้นไว้ข้างหลังเธอเสมอ ให้เสมือนเป็นดั่งวิญญาณยูรีไดซ์ในแบบของเธอเอง ที่จะคอยเก็บติดในใจไว้ตามหลังไปจนปลายทางชีวิต เพื่อรอพบกันอีกครั้งบนผืนดินใหม่เบื้องบนที่จะไม่มีกฏอะไรมาขวางกั้นอีกต่อไป



ติดตามรีวิวหนังและข่าวน่าสนใจในโลกภาพยนตร์อื่นๆของผมได้ที่ www.facebook.com/themoviemood ครับ
ชื่อสินค้า:   Portrait of a Lady on Fire
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่