โหมโรง ยูโร2020 ! 5 เรื่องต้องรู้ก่อนการฟาดแข้งศึกยูโร 2020 & สมรภูมิยูโร2020! เจาะลึก 12 สังเวียนฟาดแข้งศึกชิงแชมป์ยุโร



1. ยูโร 2020 เตะเมื่อไหร่ ถ่ายทอดสดช่องไหน



ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร) 2020 รอบสุดท้ายจะฟาดแข้งกันระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน-12 กรกฎาคม โดยนัดเปิดสนามอย่างเป็นทางการคือคู่ระหว่าง ตุรกี พบ อิตาลี ที่ สตาดิโอ โอลิมปิโก กรุงโรม ประเทศอิตาลี และนัดชิงชนะเลิศจะเกิดขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคมที่ เวมบลีย์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ขณะที่โปรแกรมถ่ายทอดสดศึก ยูโร 2020 ของประเทศไทยยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2020) โดยมีชื่อของ บีอิน สปอตส์ (beIN Sports) สื่อยักษ์ใหญ่ที่คุ้นหูแฟนบอลไทยทำหน้าที่ถ่ายทอดสดในประเทศ นิวซีแลนด์ ขณะที่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมีสื่อท้องถิ่นกับเคเบิลทีวีรับหน้าเสื่อ (เวียดนาม-วีทีวี, มาเลเซีย-แอสโตร, สิงคโปร์-อีเลฟเวน สปอตส์ และ อินโดนีเซีย-ไอเอ็มจี, เอ็นเอ็นซี และ โมลา ทีวี)

โดยทั้ง 24 ชาติที่ผ่านเข้ารอบต้องส่งรายชื่อ 23 ผู้เล่นอย่างน้อย 10 วันก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ (2 มิถุนายน) โดย 3 คนในนั้นต้องเป็นผู้รักษาประตู

2. ยุโรป รวมใจ



นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ศึก ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป รอบสุดท้าย (ยูโร) ที่มีเจ้าภาพร่วมกันจัดการแข่งขัน โดยถือเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวจากการให้สัมภาษณ์ของอดีตประธาน ยูฟ่า อย่าง มิเชล พลาตินี 

โดย 12 ประเทศเจ้าภาพและ 12 สนามทั้งหมดที่จัดการแข่งขันมีดังนี้
สตาดิโอลิมปิโก, โรม, อิตาลี (นัดเปิดสนาม, รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ, และรอบ 8 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
โอลิมปิก สเตเดี้ยม, บากุ, อาเซอร์ไบจาน (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ และรอบ 8 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
เครตอฟสกี้ สเตเดี้ยม, เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก, รัสเซีย (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มบี และรอบ 8 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
พาร์เคน สเตเดี้ยม, โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มบี และรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
โยฮัน ครัฟฟ์ อารีนา, อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์ (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มซี และรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
อารีนา เนชันนาลา, บูคาเรสต์, โรมาเนีย (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มซี และรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
เวมบลีย์, ลอนดอน, อังกฤษ (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มดี, รอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด, รอบ 4 ทีมสุดท้าย 2 นัด และรอบชิงชนะเลิศ)
แฮมพ์เดน พาร์ค, กลาสโกว์, สกอตแลนด์ (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มดี และรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
ซาน มาเมส, บิลเบา, สเปน (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มอี และรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
อวิวา สเตเดี้ยม, ดับลิน, ไอร์แลนด์ (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มอี และรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
อัลลิแอนซ์ อารีนา, มิวนิค (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอฟ และรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด)
ปุสกัส อารีนา, บูดาเปสต์, ฮังการี (รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอฟ และรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1 นัด)

ทั้งนี้ เบลเยียม ถูกตัดสิทธิ์จากการเป็นเจ้าภาพเมื่อสนาม ยูโรสเตเดี้ยม ที่สร้างใหม่ของพวกเขาไม่สามารถสร้างเสร็จได้ทันตามกำหนดการ

3. เพลย์ออฟ ชี้ชะตาอีก 4 ที่นั่งเดือนมีนาคม



ศึก ยูโร 2020 ได้ทีมทั้งหมด 20 ทีมจากทั้งหมด 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีมเรียบร้อยแต่ยังคงเหลือโควต้าเพลย์ออฟทั้งหมด 4 ทีมจากการชิงชัยของ 16 ชาติซึ่งจะฟาดแข้งพร้อมกันทั้งหมดในวันที่ 26 มีนาคม และ 31 มีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งจะแข่งขันแบบแพ้คัดออกและเอาเพียงทีมแชมป์ของแต่ละสายผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย ได้แก่

สายเอ
บัลแกเรีย พบ ฮังการี
ไอซ์แลนด์ พบ โรมาเนีย

สายบี
บอสเนีย แอนด์ เฮอร์เซโกเวเนีย พบ ไอร์แลนด์เหนือ
สโลวาเกีย พบ สาธารณรัฐไอร์แลนด์

สายซี
นอร์เวย์ พบ เซอร์เบีย
สกอตแลนด์ พบ อิสราเอล

สายดี
จอร์เจีย พบ เบลารุส
มาซิโดเนียเหนือ พบ โคโซโว

ทั้งนี้หากทีมอย่าง บอสเนีย แอนด์ เฮอร์เซโกเวเนีย, อิสราเอล, จอร์เจีย, เบลารุส, มาซิโดเนียเหนือ หรือ โคโซโว ทะลุผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายได้จะเป็นการร่วมโม่แข้งครั้งแรกใน ยูโร ของพวกเขา

4. รู้จัก สกิลซี มาสคอต ยูโร 2020



ศึก ยูโร 2020 มีมาสคอตประจำทัวร์นาเมนต์ที่ชื่อว่า สกิลซี (Skilzy) เป็นตัวการ์ตูนชายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฟุตบอลฟรีสไตล์, สตรีทฟุตบอล และวัฒนธรรมการเตะลอดหว่างขาคู่ต่อสู้ โดย ยูฟ่า ยังมีการจัดประกวดฟุตบอลฟรีสไตล์เพื่อเฟ้นหาแข้งเจ๋งเป็นตัวแทนของแต่ละเมืองเจ้าภาพเพื่อเป็นตัวแทนร่วมกับมาสคอตดังกล่าวอีกด้วย

5. ล้างตาตัดเชือกฟุตบอลโลก 2018 และกลุ่มแห่งความตาย



เรียกได้ว่าดวงสมพงษ์กันสุดๆ สำหรับ ทีมชาติอังกฤษ กับ ทีมชาติโครเอเชีย เมื่อพวกเขาถูกจับสลากให้ต้องโคจรมาพบกันตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มดี โดยมี สาธารณรัฐเช็ก ร่วมสายกับผู้ชนะของการเพลย์ออฟสายซี (นอร์เวย์, เซอร์เบีย, สกอตแลนด์ หรือ อิสราเอล)

โดยที่ทัพ สิงโตคำราม กับ ทีมตราหมากรุก เคยฟาดแข้งในนัดชี้ชะตาทัวร์นาเมนต์สำคัญมาแล้วในรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2018 (โครเอเชีย เอาชนะ อังกฤษ 2-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ) รวมทั้งยังอยู่ร่วมกลุ่มในศึก ยูฟ่า เนชันส์ลีก อีกด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มเอฟ ยังเป็นการอยู่ร่วมสายของเหล่ายักษ์ใหญ่อย่าง โปรตุเกส, ฝรั่งเศส และ เยอรมนี โดยมีอีก 1 ทีมเป็นผู้ชนะในรอบเพลย์ออฟสายเอ (บัลแกเรีย, ฮังการี, ไอซ์แลนด์ หรือ โรมาเนีย) หรือ สายดี (จอร์เจีย, เบลารุส, มาซิโดเนียเหนือ หรือ โคโซโว)

cr : www.90min.com/th

สมรภูมิยูโร 2020 ! เจาะลึก 12 สังเวียนฟาดแข้งศึกชิงแชมป์ยุโรป



12. สตาดิโอ โอลิมปิโก



ความจุ: 72,698 ที่นั่ง
เมือง: โรม
ประเทศ: อิตาลี

รังเหย้าของ ลาซิโอ และ โรมา ในศึก กัลโช เซเรีย อา โดยมีเจ้าของเป็นคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติของ อิตาลี หนึ่งในโปรเจ็กต์ของ โฟโร อิตาลิโก้ สปอตส์คอมเพล็กซ์ ของ มุสโสลินี อดีตนายกรัฐมนตรี อิตาลี สังกัดพรรคฟาสซิสต์แห่งชาติ ที่เริ่มต้นก่อสร้างในปี 1928 และมาเสร็จเอาในปี 1937 เพื่อผลักดันการเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิกเกมส์ 1940 ที่กรุงโรม

เกมฟุตบอลระดับเมเจอร์สำคัญที่เคยจัดการแข่งขันในสนามแห่งนี้ได้แก่
ยูโร 1968 นัดชิงชนะเลิศ อิตาลี เอาชนะ ยูโกสลาเวีย 2-0
ยูโรเปี้ยนคัพ 1977 นัดชิงชนะเลิศ ลิเวอร์พูล เอาชนะ โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค 3-1
ยูโร 1980 นัดชิงชนะเลิศ เยอรมนี ชนะ เบลเยียม 2-1
ยูโรเปี้ยนคัพ 1984 นัดชิงชนะเลิศ ลิเวอร์พูล เอาชนะ โรมา ในการดวลลูกจุดโทษหลังเสมอกันในเวลาปกติ 1-1
ฟุตบอลโลก 1990 นัดชิงชนะเลิศ เยอรมนีตะวันตก เอาชนะ อาร์เจนตินา 1-0
ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 1996 นัดชิงชนะเลิศ ยูเวนตุส เอาชนะ อาแจ็กซ์ ในการดวลลูกจุดโทษหลังเสมอกันในเวลาปกติ 1-1
ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 2009 นัดชิงชนะเลิศ บาร์เซโลนา เอาชนะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2-0

11. โอลิมปิก สเตเดี้ยม



ความจุ: 68,700 ที่นั่ง
เมือง: บากุ
ประเทศ: อาเซอร์ไบจาน

สนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ อาเซอร์ไบจาน ฉลองวาระครบรอบ 100 ปีวงการฟุตบอลของพวกเขาที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จสิ้นเมื่อปี 2015 หลังจากใช้เวลา 4 ปีโดยมีเจ้าของเป็นสหพันธ์ฟุตบอลแห่งประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นรังเหย้าของสโมสรฟุตบอล คาราบัค ในเกมการแข่งขันฟุตบอลยุโรป ก่อนหน้านี้เคยจัดการแข่งขันแมตช์ที่สำคัญอย่าง ยูฟ่า ยูโรปาลีก นัดชิงชนะเลิศ 2019 ที่ เชลซี เอาชนะ อาร์เซนอล 4-1

10. เครตอฟสกี้ สเตเดี้ยม



ความจุ: 68,134 ที่นั่ง
เมือง: เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก
ประเทศ: รัสเซีย

เครตอฟสกี้ สเตเดี้ยม หรือ แก๊ซพร็อม อารีนา รังเหย้าของ เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ที่มีเจ้าของเป็นสภาเมือง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ออกแบบโดย คิโช คุโรคาวา (1973-2007, 73 ปี) สถาปนิกชาว ญี่ปุ่น ที่มี โตโยต้า สเตเดี้ยม ในกรุง โตเกียว หนึ่งในผลงานของ คุโรคาวา เองเป็นต้นแบบ

ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือปรมาจารย์ คุโรคาวา ยังมีผลงานเลื่องชื่ออย่าง สนามแห่งชาติกัวลา ลัมเปอร์ของประเทศ มาเลเซีย, สถานีรถไฟ เคแอล เซ็นทรัล, สิงคโปร์ ฟลายเออร์ และสนาม โออิตะ สเตเดี้ยม

สนามแห่งนี้เคยเป็นเจ้าภาพจัดศึก คอนเฟเดเรชันส์คัพ 2017 4 นัดรวมเกมรอบชิงชนะเลิศ และฟุตบอลโลก 2018 อีก 7 นัดโดยหนึ่งในนั้นเป็นเกมนัดชิงที่ 3 โดย เบลเยียม เอาชนะ อังกฤษ ไปได้ด้วยสกอร์ 2-0

9. พาร์เคน สเตเดี้ยม



ความจุ: 38,065 ที่นั่ง
เมือง: โคเปนเฮเกน
ประเทศ: เดนมาร์ก

รังเหย้าของ เอฟซี โคเปนเฮเกน และทีมชาติ เดนมาร์ก ที่เปิดใช้เมื่อปี 1992 ซึ่งก่อสร้างทับสนามเก่าที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี 1911

เกมฟุตบอลระดับเมเจอร์สำคัญที่เคยจัดการแข่งขันในสนามแห่งนี้ได้แก่
ยูโรเปี้ยน คัพวินเนอร์สคัพ นัดชิงชนะเลิศ 1994 อาร์เซนอล เอาชนะ ปาร์มา 1-0
ยูฟ่า คัพ นัดชิงชนะเลิศ 200 กาลาตาซาราย เอาชนะ อาร์เซนอล ในการดวลลูกจุดโทษหลังเสมอในเวลาปกติ 0-0

8. โยฮัน ครัฟฟ์ อารีนา



ความจุ: 54,990 ที่นั่ง
เมือง: อัมสเตอร์ดัม
ประเทศ: เนเธอร์แลนด์

อดีตสนามที่มีชื่อว่า อัมสเตอร์ดัม อารีนา (1996-2018) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ตำนานลูกหนังชาวดัตช์ที่จากไปเมื่อปี 2016

สนามแห่งนี้เคยเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์บิดเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 1992 ของ เนเธอร์แลนด์ ในแผนการสร้างสนามแห่งนี้ก่อนที่พวกเขาจะอกหักให้กับเมือง บาร์เซโลนา ของ สเปน ทำให้แผนการสร้างสนามฟุตบอลพร้อมกับลู่วิ่งถูกพับลงและกลายเป็นสนามฟุตบอลอย่างในปัจจุบันในที่สุด โดยนับเป็นหนึ่งในผลงานออกแบบของ ร็อบ ชูร์แมน สถาปนิกชาว ดัตช์ ที่มี โอลิมปิก สเตเดี้ยม ของ ตูนิเซีย อยู่ในพอร์ตโฟลิโอของเขาด้วยเช่นกัน

 เกมฟุตบอลระดับเมเจอร์สำคัญที่เคยจัดการแข่งขันในสนามแห่งนี้ได้แก่
ยูโร 2000 รอบสุดท้ายจำนวน 5 นัด หนึ่งในนั้นเป็นแมตช์รอบรองชนะเลิศที่ อิตาลี เอาชนะ เนเธอร์แลนด์ ในการดวลลูกจุดโทษหลังเสมอกันในเวลา 0-0
ยูฟ่า ยูโรปาลีก นัดชิงชนะเลิศ 2013 เชลซี เอาชนะ เบนฟิก้า 2-1

7. อารีนา เนชันนาลา



ความจุ: 55,600 ที่นั่ง
เมือง: บูคาเรสต์
ประเทศ: โรมาเนีย

สนามใหม่ของ โรมาเนีย ที่เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2011 สร้างทับสนามกีฬาแห่งชาติเดิมอย่าง สตาดิโอนุล เนชันแนล (1953-2007) โดยผู้ออกแบบบริษัท เกอร์คัน, มาร์ก แอนด์พาร์ทเนอร์ส ใน เยอรมนี  ที่มีผลงานอย่าง โมเสส มาบิดา สเตเดี้ยม ใน แอฟริกาใต้ ซึ่งเคยจัดฟุตบอลโลก 2010 มาแล้ว, สนามกีฬาแห่งชาติโปแลนด์, สนามกีฬาแห่งชาติลักเซมเบิร์ก และเป็นเจ้าที่รับหน้าเสื่อปรับปรุงสนามซานติเอโก้ เบอร์นาเบว ของ เรอัล มาดริด เมื่อปี 2014 อีกด้วย

โดยสนามแห่งนี้ถูกใช้เป็นรังเหย้าของทีมชาติ โรมาเนีย ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา รวมทั้งเป็นรังเหย้าของ สเตอัว บูคาเรสต์, ดินาโม บูคาเรสต์ แะ ราปิด บูคาเรสต์ (เฉพาะเกมยุโรป)

(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่