ถามเรื่องประวัติศาสตร์ไทยกับพม่า 3 คำถาม

1.จริงรึเปล่าที่พงศาวดารพม่าบอกว่า สมัยอยุธยายุคพระเพทราชา เราเคยไปตีอังวะ แถมได้ชัยชนะกลับมา(ไม่ใช่ยุคพระนารายณ์นะ) 2 ครั้ง แต่พงศาวดารไทยกลับไม่กล่าวถึงช่วงนี้(ไปอ่านเจอในกลุ่มนึงมา) และถามต่อว่าถ้าจริง ทำไมพงศาวดารไทยถึงไม่กล่าวถึงเลย

2.ถ้าพระเจ้ามังรอกพีาชายพระเจ้ามังระไม่สวรรคตไปก่อน คิดว่าจะได้เปิดศึกกับอยุธยาไหมครับ

3.ในศึกอะแซหวุ่นกี้ ถ้าพระเจ้ามังระไม่อายุสั้นสวรรคตไปก่อน ธนบุรีจะต้านทัพของอังวะได้ไหมครับ

ขอแก้จาก 2 เป็น 3 นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 6
1. อ้างอิงจากมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ระบุว่าใน พ.ศ. ๒๒๓๘ รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา  มีขุนนางอยุทธยาชื่อ "สารวัตร" นำคนมาสวามิภักดิ์พระเจ้าอังวะ

        ครั้น ณ วัน ๑ ฯ๑๓ ๖ จุลศักราช ๑๐๕๗ อำมาตย์ของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ชื่อสารวัตรถือพลทหาร ๑๐๐ เศษ กับช้าง ๕ เชือก เข้ามาถวายที่พระเจ้ากรุงอังวะ

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๒๔๒  พระเจ้าอังวะโปรดให้ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการที่สารวัตรและขุนนางอยุทธยามาสวามิภักดิ์เมื่อก่อนหน้าให้การสนับสนุนฝ่ายอังวะอยู่  โดยพระเจ้าอังวะให้ยกทัพไปสองทางคือทางเมืองเชียงใหม่และเมืองเมาะตะมะ แต่ถูกตีแตกพ่ายกลับมาทั้งสองทาง  พระเจ้าอังวะโปรดให้ยกทัพไปอีกรอบหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏผลว่าแพ้ชนะอย่างไร  

        ครั้น ณ วัน ๑ ฯ๖ ๗ จุลศักราช ๑๐๖๑ พระเจ้ากรุงอังวะพระองค์ทรงตรัสให้ทำกลองพิไชยฤกษ แลเขียนธงเปนรูปพระนเรศคู่ ๑ เปนราชสีห์คู่ ๑ ธง ๒ คู่นี้ทำด้วยยันต์แลเวทมนต์ ที่ทรงทำขึ้นนี้สำหรับไปตีกรุงศรีอยุทธยา

        ครั้น ณ วัน ๓ ๓ฯ ๑๑ จุลศักราช ๑๐๖๑ ครั้นได้มหาพิไชยฤกษ ให้ยกไปทางเมืองเชียงใหม่ไปตีกรุงศรีอยุทธยา พวกชื่อนายทัพนายกองนั้นคือ มางแรนะราสิหพล ๑ ไชยจอถิง ๑ ชอยระสังรัน ๑ รันตสูร ๑ แล๊ดยาไชยะสู ๑ ไป้สั่งรันนายทหารม้ากอง ๑ ใน ๖ กองนี้มีช้างม้าแลพลทหารเปนอันมาก แต่ ๖ กองนี้ให้ไปทางเชียงใหม่

        ทางมุตมะนั้นทรงตรัสให้นันทมิตจอถิงพล ๑ นันมิต ๑ ภยะนันทมิต ๑ ภยะไชย ๑ ภยะราชสูอามะคำ ๑ แรโยธานายทหารม้ากอง ๑ รวม ๖ ทัพนี้ให้ยกจากเมืองมุตมะในวันที่ ๔ ๒ฯ ๑ ปีนั้น แต่กองทัพที่ยกไปจากมุตมะนั้น ครั้งถึงตำบลอองสาก็ได้รบกันกับอยุทธยาก็เสียทีกองทัพอยุทธยาแตกถอยหนีมาที่เมืองมุตมะ

        กองทัพ ๖ กองที่ยกไปทางเชียงใหม่นั้น ก็เสียทีแก่อยุทธยาแตกหนีถอยมาเหมือนกัน

        ในปีนั้น ณ วันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ มีรับสั่งให้พันธุกาภยะให้ยกจากเมืองมุตมะไปตีกรุงศรีอยุทธยาอีก (แต่ไม่ปรากฏว่ารบกันอย่างไร)

        ครั้นแล้วมีรับสั่งให้สังแคตื่นเปนแม่ทัพยกจากเมืองมุตมะไปที่เมืองเชียงใหม่อีก (แลไม่ปรากฏว่ารบพุ่งกันอย่างไร มีแต่ว่ายกไปเท่านั้น)



สงครามครั้งนี้ไม่ปรากฏในหลักฐานฝ่ายไทย แต่เอกสารฝ่ายไทยจะบันทึกตกหล่นไปก็ได้ เพราะบันทึกประวัติศาสตร์สมัยอยุทธยาสูญหายไปมากในช่วงเสียกรุง  พงศาวดารที่มีเนื้อหากล่าวถึงเหตุการณ์สมัยอยุทธยาตอนปลายก็ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเนื้อหาไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ บ่อยครั้งที่เมื่อตรวจสอบหลักฐานอื่นๆ แล้วพบเรื่องราวสำคัญจำนวนมากที่ไม่ปรากฏในพงศาวดารครับ

พิจารณาแล้วสงครามครั้งนี้คงรบกันอยู่บริเวณชายแดนเท่านั้น และกองทัพอังวะคงไม่ได้ใหญ่โตเท่าไหร่


มหราชวงษ์พงศาวดารพม่ายังระบุว่าในรัชกาลพระเจ้าเสือมีชาวอยุทธยามาสวามิภักดิ์อีกสองครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๒๔๖ ปีที่พระเจ้าเสือครองราชย์  ครั้งที่สองใน พ.ศ. ๒๒๔๘  

       ครั้น ณ วัน ๕ ๑๐ฯ ๖ จุลศักราช ๑๐๖๕ ชาวชาติอยุทธยาเข้ามาสวามิภักดิ์ที่พระเจ้ากรุงอังวะ

        ครั้น ณ วัน ๔ ๗ฯ ๙ จุลศักราช ๑๐๖๗ พวกอยุทธยาเข้าสวามิภักดิ์แล้วเจ้าเมืองมุตมะส่งขึ้นมาถวายยังใต้ฝ่าพระบาทพระเจ้ากรุงอังวะ


ชาวอยุทธยาเหล่านี้อาจเป็นกลุ่มการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของพระเจ้าเสือ และต้องลี้ภัยในช่วงผลัดแผ่นดินก็เป็นได้   ทั้งนี้ปรากฏในหลักฐานชั้นต้นของดัตช์ว่าเมื่อพระเจ้าเสือครองราชย์ทรงปราบปรามขั้วอำนาจที่สนับสนุนเจ้าพระขวัญซึ่งนำโดยออกญาสมบัติบาลอย่างรุนแรง ต่อมาก็ทรงสำเร็จโทษเจ้าพระขวัญด้วย

มีข้อมูลที่น่าสนใจในพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ที่เชื่อว่าชำระสมัยอยุทธยาตอนปลาย และเนื้อหาหลายตอนไม่ปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับอื่น ระบุว่าใน พ.ศ. ๒๒๔๙ พระเจ้าเสือมีพระราชโองการให้เตรียมยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี

        "ศุภมัศดุ ศักราช ๑๐๖๘ ปีจอ อัฐศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปล้อมช้างตำบลยางคลองทอง ได้ช้างพลาย ๖ ศอก ๕๐ ช้าง ได้ช้าง ๕ ศอกคืบ ๗๐ ช้าง ได้ช้างพัง ๓๒๐ ช้าง แล้วเสด็จกลับลงมาพระนคร มีพระโองการโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกปรือทแกล้วทหาร จะเสด็จไปเอาเมืองหงษา"

เมื่อดูจากช่วงเวลาแล้วใกล้เคียงกับหลักฐานพม่าที่ระบุว่ามีชาวอยุทธยาหลบหนีไปในช่วงเวลาเดียวกัน จึงเป็นไปได้ที่พระเจ้าเสือต้องการขยายอำนาจไปยังหัวเมืองมอญพม่าเพื่อกำจัดภัยคุกคามจากกบฏเหล่านี้  อย่างไรก็ตามในปีเดียวกันเกิดกบฏที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงไม่ปรากฏว่าทัพกรุงศรีอยุทธยาได้ยกไปเมืองหงสาวดีแต่อย่างใด


2. ในรัชกาลพระเจ้ามังลอกมีกบฏหลายครั้ง ทั้งพระเจ้ามังระที่พยายามจะชิงราชสมบัติ กบฏมังของนรธาที่ยึดเมืองอังวะไว้  กบฏเมืองตองอูโดยพระเจ้าอาสะโตสิงขสู กบฏล้านนาและเมืองเมาะตะมะ และยังมีมณีปุระเป็นภัยคุกคามอยู่ใกล้ๆ อีก  คงไม่มีเวลาขยายอำนาจไปยังอยุทธยาได้ถ้าไม่ปราบกบฏเหล่านี้ลงก่อน  พอปราบกบฏหมดแล้วก็ทรงหันไปสนพระทัยการศาสนาเป็นหลัก  

ส่วนตัวแล้วสันนิษฐานว่าพระเจ้ามังลอกอาจจะไม่ทรงยกทัพไปตีอยุทธยา  หรือถ้าจะทรงยกไปก็น่าจะทรงเว้นช่วงให้บ้านเมืองสงบลงไปก่อนหลังจากผ่านความวุ่นวายมาหลายระลอก  แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากพระเจ้ามังลอกสวรรคต พระเจ้ามังระย่อมได้ราชสมบัติสืบต่อตามพระราชโองการของพระเจ้าอลองพญา ดังนั้นสงครามตีอยุทธยาก็คงเกิดขึ้นในที่สุดไม่ช้าก็เร็วครับ


3. เรื่องนี้เป็นกรณีสมมติ ก็คงได้แต่ลองวิเคราะห์ดูครับ

ส่วนตัวผมว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีก็คงไม่ยอมให้พม่ายกทัพไปถึงกรุงธนบุรีได้ครับ ดังที่ปรากฏว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากสมัยกรุงเก่าด้วยการยกทัพหลวงมารับศึกที่หัวเมืองแทน  แต่ว่าฝ่ายไทยจะยันทัพอะแซหวุ่นกี้ได้เท่าไหร่ก็คงต้องพิจารณากันต่อไปครับ

หลังจากพิษณุโลกแตกแล้ว ทัพเจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ต้องถอยไปอยู่ที่เพชรบูรณ์ซึ่งมีเสบียงอาหารบริบูรณ์ แตกต่างจากตอนถูกล้อมที่เมืองพิษณุโลกซึ่งขาดเสบียงอย่างหนัก ส่วนทัพหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งอยู่ในแขวงเมืองพิจิตรยังสามารถควบคุมเส้นทางลำเลียงเสบียงจากทางใต้ไว้ได้ ทำให้ฝั่งไทยได้เปรียบในเรื่องเสบียงมากกว่า ในขณะที่พม่าซึ่งยึดเมืองพิษณุโลกได้ก็ได้แต่เมืองเปล่าและขาดเสบียงเช่นเดียวกัน กองทัพพม่ายังมีปัญหาคือขาดเส้นทางลำเลียงเสบียงจากทางเหนือเนื่องจากล้านนาซึ่งเคยถูกใช้เป็นฐานที่มั่นถูกไทยยึดไปได้แล้ว

ด้วยเหตุนี้อะแซหวุ่นกี้จึงให้มังแยยางูยกทัพไปทางเพชรบูรณ์เพื่อรวบรวมเอาเสบียงอาหารที่เมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสัก และคงจะให้ไปตามทัพที่แตกไปจากพิษณุโลกด้วย ให้กะละโบ่ยกทัพไปทางเมืองกำแพงเพชรเพื่อหาเสบียงเช่นเดียวกัน (ส่วนพงศาวดารพม่าระบุคล้ายกันว่าพม่าให้ยกทัพย่อย ๓ ทัพ ไล่ตีทัพไทยที่ถอยไป) แต่จุดพลิกผันคือพระเจ้ามังระสวรรคตทำให้พม่าต้องรีบถอยกลับ ซึ่งพงศาวดารพม่าระบุว่าการสั่งการถอยทัพของพม่าเป็นไปอย่างไร้ระบบมากจนทำถูกฝ่ายไทยไล่โจมตีระหว่างถอยทัพจนแพ้ยับเยิน ทัพพม่าบางทัพไม่ได้รับคำสั่งให้ถอยทัพกลับด้วย

ทั้งนี้น่าคิดว่าถ้าพม่าไม่ต้องรีบถอย แต่ยังคงรุกมาเรื่อยๆ โดยมีทัพใหญ่ของอะแซหวุ่นกี้สนับสนุน พม่าน่าจะมีการบัญชาการที่เป็นระบบมากกว่านี้ แต่ก็ยังมีปัญหาสำคัญคือเรื่องเสบียงซึ่งส่งผลต่อการทำศึกระยะยาว ดังนั้นก็กล่าวได้ยากว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไรครับ ถ้ามีทัพใหญ่ของอะแซหวุ่นกี้หนุนมาด้วย ผลอาจจะเปลี่ยนไป เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์อาจจะไม่สามารถเอาชนะที่เพชรบูรณ์ได้โดยง่ายก็เป็นได้ แต่ถ้าทัพย่อยของอะแซหวุ่นกี้ไม่สามารถเอาชนะทัพไทยและแย่งชิงเสบียงมาได้ก็อาจจะต้องถอยไม่ต่างจากเดิมครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่