สารานุกรมปืนตอนที่ 323 รุ่นทดลองหายากของปืนไรเฟิล Mosin-Nagant



ในตอนนี้จะนำเสนอเรื่องราวของสองรุ่นทดลองหายากของปืนไรเฟิลลูกเลื่อนที่มีชื่อเสียงที่สุดของรัสเซียนั่นก็คือปืน Mosin-Nagant ออกแบบโดยร้อยเอก Sergei Ivanovich Mosin และ Léon Nagant ( ผู้ออกแบบปืนลูกโม่ Nagant M1895 ซึ่งกลายเป็นปืนพกมาตรฐานสำหรับกองทัพจักรวรรดิรัสเซียและกองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียตก่อนจะถูกแทนที่ด้วยปืนพกโตกาเรฟ) ปืนไรเฟิล Mosin-Nagant ประจำการในกองทัพจักรวรรดิรัสเซียในปี ค.ศ. 1891 และต่อมาในปี ค. ศ. 1917 เกิดการปฏิวัติทำให้จักรวรรดิรัสเซีย กลายเป็นสหภาพโซเวียตแต่ปืนไรเฟิล Mosin-Nagant ก็ยังคงประจำการต่อไปในฐานะปืนเล็กยาวหลักของกองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียตจนถูกแทนที่ด้วยปืนไรเฟิลที่ทันสมัยกว่าคือ SKS ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาก็คือตำนานของปืนไรเฟิลจู่โจม AK47 ในยุคสงครามเย็นในบทนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับรุ่นทดลอง 2 รุ่นที่หายากและไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักของปืนไรเฟิลชนิดนี้



ร้อยเอก Sergei Ivanovich Mosin 



Léon Nagant 

MK-74 Mosin-Nagant ที่ใช้กระสุนขนาด 7.62x39 มม.





SKS - 7.62x39 มม.

การออกแบบของ MK-74

MK-74 มีพื้นฐานมาจากปืนเล็กสั้นของ Mosin-Nagant รุ่น M44 



Mosin Nagant Model 1944 Carbine
MK-74 มีความยาวโดยรวม 103 เซนติเมตร (ประมาณ 40.5″) มีความยาวลำกล้อง 56 ซม. (22″) น้ำหนักปืนเปล่าคือ 3.6 กิโลกรัม (ประมาณ 8 ปอนด์) ซองกระสุนแบบสองแถวบรรจุ 10 นัดด้วย stripper clip ติดตั้งมีดปลายปืนสามแฉกแบบ folding spike bayonet (ชื่อเล่นคือ "pig sticker")

ปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังที่พัฒนาจาก Mosin-Nagant



ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 กองทัพโซเวียตมีความต้องการอาวุธต่อต้านรถถังน้ำหนักเบาวิศวกรของ Izhevsk Mechanical Plant จึงตอบโจทย์นั้นด้วยการพัฒนาปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังขึ้นมาจาก Mosin-Nagant ซึ่งเป็นปืนเล็กยาวมาตรฐานของกองทัพโซเวียตอยู่แล้วแต่ก่อนจะทำความรู้จักกับปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังชนิดนี้ต้องขอเท้าความย้อนไปถึงต้นกำเนิดของปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังเสียก่อน



ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากต้องพบกับความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาลในทุกครั้งที่มีการบุกตีสนามเพลาะของเยอรมันที่มีการตั้งรับอย่างดีด้วยลวดหนามปืนกลระเบิดมือและปืนใหญ่ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสต่างสร้างเทคโนโลยีใหม่สำหรับการฝ่าดงกระสุนปืนกลของฝ่ายเยอรมันได้สิ่งนั้นคือ รถถัง เครื่องจักรที่จะทำให้สงครามสนามเพลาะล้าสมัยไปในชั่วพริบตา



รถถังหนัก Mark IV ของอังกฤษ (บน) และ รถถังเบา Renault FT ของฝรั่งเศส

การตอบโต้ของเยอรมัน



ในระยะแรกของการใช้อาวุธต่อต้านรถถังของทหารราบเยอรมันพวกเขานำกระสุนของปืนไรเฟิล Gewehr 98 มาตรฐานของพวกเขามาถอดหัวกระสุนออกแล้วสลับด้านเอาด้านท้ายของหัวกระสุนหันออกไปด้านหน้าแทนช่วยให้สามารถเจาะเกราะของรถถังได้แต่การทำแบบนี้ไม่มีความปลอดภัยต่อทหารที่ใช้งานและมีความแม่นยำต่ำต่อมาจึงได้ออกแบบหัวกระสุนที่ทำจากโลหะแข็งและตั้งชื่อว่า K bullet ซึ่งสามารถใช้ในการต่อสู้กับรถถังได้ในระดับหนึ่งแต่ว่าเพื่อจะให้สามารถต่อสู้กับรถถังของอังกฤษและฝรั่งเศสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดพวกเขาจึงได้ออกแบบอาวุธชนิดใหม่ขึ้นมานั่นก็คือปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังแบบ Mauser Mod. 1918 13.2 mm. Tankgewehr (T-Gewehr) บรรจุเดี่ยวใช้กระสุนขนาด 13.2 mm. TuF ซึ่งสามารถเจาะเกราะได้ถึง 26 มม. (1 นิ้ว) ในระยะ 100 เมตร (110 หลา) 23.5 มม. (0.93 นิ้ว) ในระยะ 200 เมตร (220 หลา) 21.5 มม. (0.85 นิ้ว) ในระยะ 400 เมตร (440 หลา)  และ 18 มม. (0.71 นิ้ว) ในระยะ 500 เมตร (550 หลา) การสร้าง T-Gewehr ขึ้นมาเป็นการเปิดเส้นทางของอาวุธปืนชนิดใหม่อาวุธปืนที่มีเป้าหมายจำเพาะนั่นคือรถถังหรือยานยนต์ทางทหารแบบต่างๆ นั่นคือปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังที่ต่อมาหลายชาติจะนำไปผลิตในแบบของตัวเองและถูกใช้งานในสนามรบ



Mauser Mod. 1918 13.2 mm. Tankgewehr

การออกแบบของปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังที่พัฒนาจาก Mosin-Nagant



ปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังชนิดนี้ใช้กระสุนที่พัฒนาจากกระสุนขนาด 7.62x54 มม. ที่ใช้อยู่ใน Mosin-Nagant ทั่วไปด้วยการนำปลอกกระสุนของกระสุนขนาด 7.62x54 มม. มาทำให้ยาวขึ้นเพื่อเพิ่มดินขับกระสุนในปริมาณ 185-230 เกรน ทำให้กลายเป็นกระสุนขนาด 7.62x155 มม. แบบมีขอบที่ท้ายกระสุนและต่อมาเปลี่ยนเป็นขนาด 7.62x122 มม. แบบไม่มีขอบที่ท้ายกระสุน ความเร็วปากลำกล้องจากกระสุนทั้งสองแบบที่วัดได้อยู่ที่หนึ่งพันเมตร (ประมาณสามพันสามร้อยฟุตต่อวินาที) 



ปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังชนิดนี้ติดตั้ง Muzzle brake ปลายลำกล้องเพื่อระบายแก๊สออกด้านข้างช่วยลดแรงรีคอยล์ที่มีมากในปืนที่ใช้กระสุนขนาดใหญ่นอกจากนี้ปืนชนิดนี้ยังใช้ซองกระสุนแบบแถวคู่ที่คล้ายคลึงกับของปืนไรเฟิล Mauser ส่วนของ Mosin-Nagant ดั้งเดิมจะเป็นแบบแถวเดี่ยวและมีศูนย์หลังที่ปรับระยะได้ถึงสองพันเมตร ถึงแม้ว่าจะมีการออกแบบที่ดีและรองรับต่อวัตถุประสงค์ในการต่อต้านรถถังเพียงใดแต่ประสิทธิภาพในการเจาะเกราะที่แท้จริงของปืนชนิดนี้มีเพียงแค่ 15-20 มิลลิเมตรเท่านั้นซึ่งในเวลานั้น ถือว่าน้อยและไม่เพียงพอที่จะรับมือกับรถถังที่มีอยู่ในสมัยนั้นซึ่งเกาะจะหนาอยู่ระหว่าง 40 ถึง 50 และ 60 มิลลิเมตรขึ้นไปแล้ว ทำให้ปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังชนิดนี้ไม่ได้รับการพัฒนาต่อและภายหลังก็กลายเป็นว่าบทบาทในฐานะของปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังของกองทัพสหภาพโซเวียตตกเป็นของ PTRD-41 และ PTRS-41 ซึ่งใช้กระสุนขนาด 14.5x114 มม. ซึ่งก็อยู่ได้เพียงไม่นานเพราะภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกราะของรถถังถูกพัฒนาขึ้นอย่างมากจนในที่สุดแล้วปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังกลายเป็นสิ่งล้าสมัยและไม่สามารถจะต่อสู้กับรถถังได้อีกต่อไป ทำให้การพัฒนาจรวดและระเบิดต่อต้านรถถังเป็นทางออกที่ดีกว่าและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

โดยรวมแล้วรุ่นทดลองของปืนไรเฟิล Mosin-Nagant ทั้ง 2 รุ่นนี้ล้วนมาและไปด้วยความที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในเวลาที่พวกมันมาได้ MK-74 ไม่ได้เข้าประจำการเพราะมันมาถึงในช่วงเวลาที่กองทัพสหภาพโซเวียตต้องการจะละทิ้งปืนไรเฟิลลูกเลื่อนในฐานะของอาวุธหลักของกองทัพไปเสียแล้วส่วนปืนไรเฟิลต่อต้านรถถังชนิดนี้ก็มาถึงด้วยความต้องการมันอย่างที่สุดแต่ก็ไม่สามารถจะเจาะเกราะของรถถังในสมัยนั้นได้จึงทำให้มันนั้นไม่ได้ไปต่อเช่นกันสรุปแล้วปืนทั้งสองรุ่นนี้ล้วนพ่ายแพ้ต่อการเวลาที่พวกมันไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการและทำหน้าที่ของมันได้ในเวลาที่พวกมันมาจึงทำให้ถูกลืมไปในที่สุด.



แหล่งอ้างอิง

https://www.thefirearmblog.com/blog/2017/12/11/experimental-mosin-nagant-rifle-chambered-7-62x39mm/

https://www.thefirearmblog.com/blog/2018/03/02/experimental-scaled-up-anti-tank-mosin-nagant-rifle/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่