ภาระ ผลักให้ใครดี

เป็นบทความจากเพจ "ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป"

อ่านแล้ว ถูกจริต ก็เลยอยากนำมาเผยแพร่ในพันทิปบ้าง เผื่อมีคน จริต เดียวกัน พลาด..ไม่ได้อ่าน

.
เอาล่ะๆ กระแสเรื่องงดแจกถุงเร่ิมจางๆ ลงมาแล้ว คุยเรื่องนี้ได้
(กลัวดราม่ามากกบอกเลย 5555)

ตอนเริ่มนโยบายวันที่ 1 มกราคมหนะ หนึ่งในคำวิจารณ์ที่หนักที่สุด คือ
.
"ห้างผลักภาระให้ผู้บริโภค ในขณะที่ตัวเองลดต้นทุนได้มหาศาล"
.
มีคนมาถามลุงเยอะเลยว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
นี่ตอบอย่างไม่ต้องคิดเลย "จริงแท้และแน่นอน"
คนที่ได้รับผลกระทบเยอะที่สุดคือ ผู้บริโภคและประชาชน อยู่ดีๆ ก็ไปดึงความสะดวกสบายไปจากคนที่ต้องเสียเงิน มันใช่ไหม
.
แต่ๆๆ เราลองมาคิดดูดีๆ นะ ว่าก่อนหน้านี้ "ภาระ" ที่ว่ามันอยู่ที่ใคร
ทำไมผลักไปผลักมามันกลายมาตกกับประชาชนได้
.
1. ก่อนหน้านี้ "ภาระ" มันอยู่ในรูปของขยะถุงพลาสติกหูหิ้วที่เราใช้กันปีละ 45,000 ล้านใบต่อปี ถ้าใบละ 2 กรัม ก็ราวๆ 9 หมื่นตันต่อปี ซึ่งถุงพลาสติกส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล มันเลยจะไปจบลงสองที่คือ บ่อขยะ หรือ หลุดไปในส่ิงแวดล้อมซึ่งปลายทางก็คือทะเล
"ภาระ" ขยะที่ว่านี้ ส่วนหนึ่งจะอยู่ในรูปของงบประมาณ ที่ภาครัฐ จะต้องเสียในการจัดการ โดยที่เงินนั้นก็ไม่ใช่ของใคร ก็เอามาจากประชาชนอีกที
"ภาระ" อีกส่วนหนึ่งจะอยู่ในระบบนิเวศ ซึ่งคนที่รับไปก่อนคือบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ที่ได้รับผลกระทบทางตรง(กินเข้าไป) หรือทางอ้อม(แตกเป็นไมโครพลาสติก/ไหม้เป็น PM2.5) ซึ่งสุดท้ายภาระนี้ก็จะตกมาถึงมนุษย์
.
คำถามแรกให้ทุกคนตอบก่อน เราพอใจที่จะให้ "ภาระ" เป็นอยู่อย่างปัจจุบันไหม ถ้าตอบว่าไปใม่ เรามาผลักภาระไปในข้อ 2 กัน
.
2. ถ้าเราบอกว่า ถุงพลาสติกที่ว่าควรมีระบบจัดการที่ถูกต้อง ถ้าไม่เอาไปรีไซเคิลก็ให้เอาอย่างประเทศสิงค์โปร ที่ไม่ได้แบนถุงพลาสติกแต่เอาไปถมเป็นเกาะ หรือเอาอย่างสวีเดนหรือญี่ปุ่นที่นำไปเผาเป็นพลังงาน
.
"ภาระ" ก็ยังอยู่กับภาครัฐ แต่จำนวนเม็ดเงินจะต่างไปมาก ลำพังการขนไปทิ้งบ่อขยะเฉยๆ เราใช้เงินกันปีละ 2 หมื่นล้าน ถ้าทำอย่างถูกต้องจะต้องแพงกว่านี้หลายสิบเท่า และสุดท้ายเงินเหล่านี้ก็จะต้องกลับมาเก็บกับประชาชนที่ตอนนี้เสียค่าทิ้งขยะหลักสิบบาทต่อเดือน ถ้าจะต้องเพิ่มเป็นหลักร้อยหลักพันบาท ภาระเหล่านี้จะรับกันได้ไหม
.
"ภาระ" อีกส่วนจะอยู่ในรูปของการเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ต้องพึ่งพามือของประชาชนทุกคนในการแยกขยะอย่างถูกต้อง แต่เมื่อปัจจุบันคนไทยจำนวนมากยังขาดความใส่ใจในเรื่องนี้ ภาระที่ว่าก็จะอยู่กับหน่วยงานรณรงค์ องค์กรอิสระต่างๆ ที่พูดแล้วพูดอีกมาหลายสิบปี แต่ผลมันก็เหมือนๆ เดิม เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เหมือนเป็นภาระที่ทำไปก็เปลืองแรงเปล่า
.
คำถามที่สอง ถ้าเรายินดีจ่ายแพงขึ้น และเปลี่ยนแปลงตัวเอง ภาระก็จะจบอยู่แค่นี้ แต่ข้อจำกัดของเรื่องนี้คือ มีความซับซ้อนทางด้านกฎหมาย และใช้เวลานานกว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้ ถ้าอยากให้รวดเร็วทันใจกว่านั้น ก็ผลักต่อไปข้อที่ 3
.
3. เมื่อแก้ปัญหาที่ปลายทางมันยาก ผลักมาที่ต้นทางดีกว่า ถุงกว่า 45,000 ล้านใบ เป็นของห้างร้านบริษัทขนาดใหญ่ 13,500 ล้านใบ ซึ่งส่วนนี้รัฐสามารถทำข้อตกลงร่วมได้ง่ายๆ เพราะทำกับไม่กี่บริษัท ทำอย่างไรให้ถุงเหล่านี้หายไปได้
.
"ภาระ" นี้จะตกอยู่ในมือของเอกชนที่จะต้องหาสิ่งของทดแทน ที่อยู่ในรูปของถุงชนิดอื่น หรือ โปรโมชั่น หรือ การตลาดต่างๆ ถ้าใครสังเกต การรณรงค์เรื่องงดแจกถุง ทำกันมาหลายปีแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมก็น้อยนิด อีกทั้งยังเกิดความไม่เท่าเทียมกันของแต่ละบริษัท บางที่จริงจัง ก็เสียตังค์มากกว่า โดนลูกค้าด่าก่อน ในขณะที่บางแห่งลอยตัว ยึดถือความพอใจของลูกค้าเป็นหลัก เข้าร่วมเอาหน้าเฉยๆ ก็สบายไป
.
"ภาระ" ส่วนนี้ถ้าจะไม่ให้ส่งต่อไปที่ผู้บริโภค จำเป็นจะต้องใช้กฎหมายบังคับ ซึ่งพอนึกได้ว่าต้องวุ่นวายมากแน่ๆ เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ แบบนี้ไม่น่าจะจบใน ปีหรือสองปี จึงเป็นที่มาของการผลักต่อไป
.
4. เมื่อ"ภาระ" ที่ว่าตกมาถึงประชาชน ให้ลดการใช้ถุงกันแบบทันทีทันได ข้อดีคือ ขยะจะลดไปได้ทันทีวันละ 70 ตัน คิดเป็น ผลประโยชน์ต่อเอกชนคือประหยัดเงินไปได้ 3.5 ล้านบาทต่อวัน(คิดที่ 10 สตางค์ต่อใบ) ในขณะที่รัฐประหยัดได้ 1.2แสนบาทต่อวัน (คิดที่ 1.7บาทต่อกิโลกรัม) เมื่อเห็นตัวเลขอย่างนี้ก็ไม่น่าแปลกที่ ประชาชนจะมองว่าโดนเอาเปรียบ
.
ในประเด็นนี้เรื่องที่เราสามารถกล่าวโทษได้เต็มปากเลยคือ การบริหารความรู้สึกของประชาชนยังไม่ดีพอ การงดแจกถุงสร้างความลำบากเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ แต่จะไม่มีเสียงบ่นเลยถ้าสามารถทำให้ประชาชนรู้สึกดีกับการมีส่วนร่วมครั้งนี้ ซึ่งมีตัวอย่างดีๆ จากหลายๆประเทศ เช่นการนำเงินส่วนเหลือของการงดแจกถุง หรือ ขายถุง ไปทำประโยชน์อย่างอื่น
.
แต่กลับกัน กลายเป็นว่าตอนนี้แต่ละห้างจะต้องลองผิดลองถูกกันเอง บางห้างแจกถุงกระดาษ บางห้างให้ยืมถุง บางห้างขายถุงถูกๆ บางห้างแอบแจกเนียนๆ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าแบบไหนจะทำให้ผู้บริโภคพอใจที่สุด แต่ที่แน่ๆ คือประชาชนไม่สามารถผลักต่อไปไหนได้อีกแล้ว จึงเป็นที่มาของความไม่พอใจที่เกิดขึ้น
.
.
"ภาระ" เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากได้
วิธีการลดภาระที่ง่ายที่สุดคือการ ผลักออกจากตัว และสุดท้ายปลายทางของภาระจะไปตกอยู่กับคนที่ไม่สามารถผลักไปไหนได้อีกเสมอ นั่นคือ สิ่งแวดล้อม
.
แต่อีกวิธีที่คนจะลืมนึกไป
คือการเปลี่ยน "ภาระ" ให้เป็น "ความรับผิดชอบ"
ความรับผิดชอบ เป็นเรื่องที่ทุกคนเต็มใจรับเข้ามา ด้วยสำนึกที่ดี
จะไม่มีเสียงบ่นใดๆ จะไม่มีการผลักใดๆ ถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของตน
.
เมื่อหน้าที่การแก้ปัญหาขยะเป็นความรับผิดชอบของรัฐ
เมื่อการตอบแทนสังคมและดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นความรับผิดชอบของเอกชน
เมื่อการลดการสร้างขยะ เป็นความรับผิดชอบของประชาชน
เมื่อนั้น "ภาระ" ก็จะไม่มีอีกต่อไป
เพี้ยนเย้

หากใครอ่านจบถึงตรงนี้   เรามาช่วยกันเปลี่ยน ภาระ ให้เป็น ความรับผิดชอบ กันเถอะ!!!!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่