สารานุกรมปืนตอนที่ 322 ประวัติศาสตร์ของปืนกลมือ MP18

 

ปืนกลมือ MP18

ในระหว่างคริสตศักราช 1915-1916 เป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพเยอรมันมีความต้องการอาวุธอัตโนมัติที่เหมาะสำหรับใช้กวาดล้างข้าศึกในสนามเพลาะสำหรับหน่วยกองพันพายุ Stormtrooper  (เยอรมัน: Stoßtruppen) กองทหารที่ถูกฝึกมาเป็นพิเศษสำหรับกลยุทธ์ในการเข้าตีแนวสนามเพลาะของข้าศึกในระยะประชิดภายใต้แนวคิด "ยิงและเคลื่อนที่" โดยสถานที่ที่ใช้ในการทดลองสร้างอาวุธชนิดนี้อยู่ในเมือง Spandau เริ่มแรกพวกเขาทำการดัดแปลงปืนพก Luger P08 Artillery Model บรรจุกระสุนด้วยซองกระสุนแบบก้นหอยความจุ 32 นัดและติดตั้งพานท้ายเสริมสำหรับใช้เป็นปืนกลขนาดเล็กที่ต่อมาจะมีการบัญญัติศัพท์เรียกปืนที่มีลักษณะนี้ว่า "ปืนกลมือ" หมายถึงอาวุธปืนยิงในโหมดอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติใช้กระสุนชนิดขนาดเดียวกับปืนพก แต่การดัดแปลงครั้งนี้ล้มเหลวเพราะว่าเมื่อทำการยิงแล้วจะมีอัตราการยิงที่สูงมากจนไม่สามารถคุมปืนได้เป็นผลมาจากน้ำหนักที่เบาเกินไปของตัวปืน (ประมาณการไว้ว่าอัตราการยิงสูงถึง 1,200 นัดต่อนาที) ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะยิงอย่างแม่นยำ


Luger P08 Artillery Model

นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะทำแบบเดียวกันกับปืนพก Mauser C96 แต่ก็ล้มเหลวเหมือนกัน 

เมื่อความทดลองครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จพวกเขาจึงหันไปหา Theodor Bergmann นักอุตสาหกรรมที่เป็นเจ้าของกิจการทั้งการผลิตรถยนต์ (ที่ต่อมาเขาขายไปและกลายเป็น Mercedes Benz) และผลิตอาวุธโดยก่อนหน้านี้ Bergmann ได้ออกแบบปืนกลเบา 2 ชนิดให้กับกองทัพเยอรมัน ( ออกแบบร่วมกับ Louis Schmeisser ) จึงทำให้เขาเป็นที่ไว้วางใจในการเข้ามาดูแลการสร้างอาวุธอัตโนมัติสำหรับกองพันพายุ โดย Bergmann ได้มอบหมายหน้าที่ในการออกแบบให้แก่ Hugo Schmeisser บุตรชายของ Louis Schmeisser ซึ่งเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวังการออกแบบของ Hugo Schmeisser ได้ให้กำเนิดอาวุธอัตโนมัติใช้ระบบปฏิบัติการ blowback open bolt มีอัตราการยิง 350-500 นัดต่อนาทีบรรจุกระสุน 9×19 mm. Parabellum 20 นัดด้วยซองกระสุนแบบแท่งตรง



แต่ต่อมาคณะกรรมการในโครงการนี้ได้สั่งให้แก้ไขการออกแบบให้ใช้ซองกระสุนแบบก้นหอยความจุ 32 นัดแบบเดียวกับที่ใช้ในปืนพก Luger



เมื่อทำการแก้ไขการออกแบบเสร็จแล้วก็เข้าสายการผลิตในปีคริสต์ศักราช 1918 เข้าประจำการในกองทัพเยอรมันในรหัส Maschinenpistole 18/I.





ทุกวันนี้ยังไม่เป็นที่กระจ่างว่าการลงเลข I (1) ไว้ที่ท้ายรหัสของปืนนั้นมีความหมายว่าอย่างไรแต่การออกแบบ Generation ที่ 2 ของปืนกลมือชนิดนี้คือรุ่น MP28 ก็มีการลงเลขท้ายรหัสไว้ว่า /II เช่นกันแต่ MP18 และ MP28 ก็ต่างเป็นการออกแบบของ Hugo Schmeisser เหมือนกันทั้ง 2 รุ่นอาจจะหมายถึงลำดับการออกแบบจากวิศวกรคนเดียวกันก็ได้
ปืนกลมือ MP18 จำนวนห้าพันกระบอกถูกผลิตขึ้น (แต่เป็นที่โต้แย้งจากการดู Serial number ของตัวปืนที่ทหารฝ่ายพันธมิตรได้เป็นไปได้ว่าจะมีการผลิตมากถึงหนึ่งหมื่นกระบอก) เพื่อส่งให้กองพันพายุสำหรับการรุก Kaiserschlacht การบุกครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของกองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากที่ภายในจักรวรรดิรัสเซียเกิดการปฏิวัติและถอนตัวจากสงครามทำให้กองทัพเยอรมันสามารถโยกย้ายกองกำลังทั้งหมดในแนวหน้าตะวันออกมายังแนวรบตะวันตกได้เมื่อมีกองทัพที่มากพอจะทำการบุกครั้งใหญ่แล้วแผนการนี้จึงเป็นความหวังสุดท้ายที่จะคว้าชัยชนะในสงครามครั้งนี้ แต่ดูเหมือนชะตาจะไม่เข้าข้างจักรวรรดิเยอรมันเสียแล้วความพ่ายแพ้ของการบุกนี้นำไปสู่การแพ้สงครามและการล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมันนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายสนธิสัญญาที่นอกจากจะเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลแล้วยังครอบคลุมไปถึงการกระทำที่เปรียบดังจะหมันอำนาจทางทหารของเยอรมันไม่ให้สามารถทำสงครามได้อีกด้วยการกำหนดขีดจำกัดของการสะสมกำลังทางทหารให้สาธารณรัฐไวมาร์ (ชื่อของประเทศเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1) ดังนี้

ตามที่ได้ระบุไว้ในส่วนที่ห้าของสนธิสัญญาแวร์ซายว่า "ในความพยายามที่จะเริ่มต้นการจำกัดอาวุธของนานาประเทศนั้น เยอรมนีจำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ซึ่งปริมาณของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศจะต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้"
แคว้นไรน์แลนด์เป็นเขตปลอดทหารซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส
กองทัพเยอรมันถูกจำกัดทหารเหลือเพียง 100,000 นาย การประกาศระดมพลถูกล้มเลิกตำแหน่งทหารชั้นประทวนจะได้ต้องยกเลิกไปเป็นเวลา 12 ปี และตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตรจะต้องได้รับการยกเลิกไปเป็นเวลา 25 ปี

ห้ามทำการผลิตอาวุธในเยอรมนี และ ห้ามทำการครอบครองรถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ เครื่องบินรบ และ ปืนใหญ่ทั้งสิ้น

ห้ามเยอรมนีนำเข้าและส่งออกอาวุธรวมไปถึงการผลิตและการครอบครองแก๊สพิษ

กำลังพลกองทัพเรือถูกจำกัดลงเหลือ 15,000 นาย เรือรบ 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 10,000 เมตริกตัน) เรือลาดตระเวน 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 6,000 เมตริกตัน) เรือพิฆาตตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 800 เมตริกตัน) และเรือยิงตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 200 เมตริกตัน) เยอรมนีห้ามมีเรือดำน้ำในครอบครอง

การปิดล้อมทางทะเลต่อเรือถูกสั่งห้าม

แต่ข้อห้ามทางทหารในสนธิสัญญาแวร์ซายก็มิอาจจะหยุดกลุ่มอุตสาหกรรมเยอรมันให้พัฒนาและผลิตอาวุธปืนออกมาได้และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของปืนกลมือเยอรมันที่ไปผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ขอเชิญให้ทำความรู้จักกับปืนกลมือ SIG MP20



MP20 ที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็น  "Brevet Bergmann" ( สิทธิบัตรของ Bergmann ) ปืนกลมือผลิตโดย Schweizerische Industrie Gesellschaft (SIG) หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเยอรมนีถูกสั่งห้ามไม่ให้มีการผลิตและส่งออกอาวุธตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาแวร์ซาย บริษัท Bergmann จึงหาผู้ผลิตในต่างประเทศในปี ค.ศ. 1920 โดยขายสิทธิบัตรของ MP18 ให้แก่ SIG (ก่อนหน้านี้ Bergmann ได้กลับมาผลิต MP18 อีกโดยย้อนกลับไปใช้การออกแบบเดิมคือบรรจุกระสุน 20 นัดด้วยซองกระสุนแบบแท่งตรงเพื่อขายให้แก่หน่วยงานตำรวจของเยอรมันแต่ก็ถูกสั่งห้ามอีกเช่นกัน)

ความแตกต่างของ Bergmann MP18 กับ SIG MP20

1. ศูนย์หลังของ SIG MP20 เป็นแบบปรับระยะได้ในขณะที่ของ Bergmann MP18 เป็นแบบตายตัว

2. SIG MP20 ใช้ซองกระสุนแบบแท่งตรงความจุ 50 นัดในขณะที่ของ Bergmann MP18 ใช้ซองกระสุนแบบแท่งตรงความจุ 20 นัดกับแบบก้นหอยความจุ 32 นัด

SIG MP20 มีรุ่นที่ใช้กระสุนดังนี้

1. 9×19 mm. Parabellum
2. 7.65×21 mm. Parabellum
3. 9×25 mm. Mauser
4. 7.63×25 mm. Mauser
 
ประเทศที่ซื้อ SIG MP20 ไปใช้

SIG MP20 ถูกผลิตขึ้นมารองรับกระสุนหลายขนาดและถูกขายให้หลายประเทศและประเทศที่มีประวัติการใช้งานอย่างโดดเด่นมีดังนี้

1. ฟินแลนด์ซื้อรุ่นที่ใช้กระสุนขนาด 7.65×21 mm. Parabellum ไปประจำการในกองทัพและผลิตเองในประเทศด้วย

2. จักรวรรดิญี่ปุ่นซื้อรุ่นที่ใช้กระสุนขนาด 7.63×25 mm. Mauser ไปประจำการในกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นถูกใช้งานในหน่วยนาวิกโยธินและหน่วยยกพลขึ้นบกพิเศษของกองทัพเรือญี่ปุ่นในการรุกรานประเทศจีนในช่วงสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่ 2 รุ่นที่ญี่ปุ่นซื้อไปใช้นั้นแตกต่างจากรุ่นอื่นๆตรงที่ว่ามันสามารถติดตั้งปลายปืนได้รหัสของปืนกลมือชนิดนี้ในกองทัพญี่ปุ่นคือ Type Be  (ญี่ปุ่น: ベ式機関短銃, Be-shiki kikan tanjū )  "Be" เป็นการออกเสียงคำแรกใน "Bergmann" (ญี่ปุ่น: ベルグマ Ber , Beruguman )




3. สาธารณรัฐจีนในช่วงทศวรรษที่ 1920 ก็ซื้อ SIG MP20 เช่นกันและมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปืนกลมือ MP28/II ด้วยรูปร่างลักษณะที่คล้ายกับปืนกลมือ MP28/II ซึ่งไม่มีใช้ในจีนในช่วงเวลานั้นนอกจากนี้แล้วในเมืองชิงเต่าคลังแสงที่ใช้ชื่อว่า Tsingdao Iron Work ได้ผลิตปืนเลียนแบบ SIG MP20 ขึ้นมาโดยความแตกต่างคือช่องใส่ซองบรรจุกระสุนไม่ได้อยู่ที่ด้านซ้ายของตัวปืนแต่ลงมาอยู่ข้างล่างแทน



การผลิตปืนเลียนแบบ SIG MP20 ของประเทศเอสโตเนีย



Tallinn Arsenal Model 1923 ขนาดกระสุน 9×20 mm. Browning ซองบรรจุกระสุนแบบแท่งตรงความจุ 40 นัด ถูกผลิตขึ้นมาเพียง 600 กระบอกประจำการในกองทัพเอสโตเนียก่อนจะถูกแทนที่ด้วยปืนกลมือ Suomi KP/-31 ของฟินแลนด์ Model 1923 หลังจากถูกปลดประจำการก็ถูกส่งไปขายต่อให้กับฝ่ายสาธารณรัฐในสงครามกลางเมืองสเปน.

SIG MP30



ออกแบบและผลิตในปี 1930 มีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบคือย้ายช่องใส่ซองกระสุนมาอยู่ทางด้านขวาของตัวปืนและเพิ่มด้ามจับเข้าไปแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการขายนอกจากขายได้ในจำนวนน้อยให้กับเขตปกครองตนเองเหมิ่งเจียงในมองโกเลียซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิดของญี่ปุ่นในสมัยสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่ 2-สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2.

ปืนกลมือ SIG MP20 ถูกผลิตอยู่ในระหว่างปีคริสต์ศักราช 1920 ถึง 1927 ต่อไปขอแนะนำให้รู้จักกับ Generation ที่ 2 ของปืนกลมือ MP18  ปืนกลมือ MP28/II

Haenel-Schmeisser MP28/II



การออกแบบ Generation ที่ 2 ของปืนกลมือ MP18 โดย Hugo Schmeisser แต่ไม่สามารถผลิตในประเทศเยอรมนีได้ตามสนธิสัญญาแวร์ซายฐานการผลิตจึงไม่ใช่ในเยอรมันแต่เป็นบริษัท Anciens Etablissements Pieper ประเทศเบลเยี่ยม MP28 นั้นได้รับการปรับปรุงจาก MP18 ในเรื่องของซองกระสุนที่ใช้แบบแท่งตรงความจุ 20 และ 32 นัด ศูนย์หลังแบบปรับระยะได้และมีปุ่มปรับโหมดการยิงทั้งในแบบกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติเต็มรูปแบบเพื่อการตลาดต่างประเทศจึงออกแบบให้มีหลายรุ่นที่ใช้กระสุนหลายแบบโดยมีดังนี้คือ 9×19 mm. Parabellum 7.65×21 mm. Parabellum 7.63×25 mm. Mauser 9×25 mm. Mauser และ .45 ACP (รุ่นที่ใช้กระสุนขนาด .45 ACP ใช้ซองกระสุนแบบแท่งตรงความจุ 25 นัด)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่