“วิกฤตหนี้” ทั่วโลก พุ่งสูงรอบ 50 ปี ส่ออาการน่าห่วง

กระทู้ข่าว



“เวิลด์แบงก์” ออกโรงเตือนเอง โลกกำลังเสี่ยง วิกฤตหนี้ ครั้งใหม่ หลังตัวเลขการกู้ยืมพุ่งสูงสุดในรอบ 50 ปี  โดยตัวเลขหนี้จีนนำโด่ง

ธนาคารโลก (World Bank) เพิ่งจะเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ Global Economic Prospects ซึ่งจัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง  โดยรายงานครั้งล่าสุดของเวิลด์แบงก์  ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเจอความเสี่ยงจาก วิกฤตหนี้ ครั้งใหม่

ซึ่งรายงานของเวิลด์แบงก์ ระบุว่าการก่อหนี้ทั่วโลกในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมาสามารถแบ่งได้เป็น 4 ช่วง  โดยในช่วงปัจจุบันเริ่มตั้งแต่ปี 2553  จัดว่าเป็นช่วงที่มีการกู้ยืมทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากที่สุด  และเป็นลักษณะที่ตัวเลขการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดอีกด้วย

การกู้ยืมทั่วโลกเกิดขึ้นเป็นวงกว้างนับตั้งแต่ปี 2513  โดยมีสาเหตุมาจากอัตราดอกเบี้นที่อยู่ระดับต่ำ  และกำลังเป็นความเสี่ยงวิกฤติทางการเงินในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศตลาดเกิดใหม่

โดยตัวเลขหนี้สินในปี 2561 เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ประมาณ 230% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขณะที่หนี้สินทั้งหมดมากจากประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับเกือบ 170% ของ GDP หรือเพิ่มขึ้นถึง 54% ในรอบ 10 ปี (นับตั้งแต่ปี 2553)  โดยเฉพาะ “จีน” ที่มีสัดส่วนในการก่อหนี้มากที่สุด เนื่องจากมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่

รายงานของ “เวิลด์แบงก์” สอดคล้องกับ รายงานของ “สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance) หรือ IIF” ที่ระบุว่า  ปริมาณหนี้สินทั่วโลกในครึ่งปีแรกของปี 2019 เพิ่มขึ้น 7.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทำให้ตัวเลขระดับหนี้สินแตะที่ 250.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่จบทั้งปี 2019 IIF คาดว่าตัวเลขหนี้สินทั้งโลกจะแตะที่ 255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  นั่นเท่ากับว่าคนทั้งโลกมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 32,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 975,000 บาท  ซึ่งตัวเลขนี้มากกว่า GDP โลกถึง 3 เท่า

โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสหรัฐและจีน  โดยทั้ง 2 ประเทศมีสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นถึง 60%  โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การก่อหนี้เพิ่มขึ้น  มาจากการลดหรือการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางหลายประเทศ  ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมลดลงและส่งผลให้ภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐกู้ยืมเงินมากขึ้น

ซึ่งปัญหาหนี้สะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนี้ อาจจะเป็นชนวนจาก วิกฤตหนี้ ให้กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ได้ในอนาคต

ที่มา : https://businesstoday.co/featured/13/01/2020/%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%a4%e0%b8%95%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b5%e0%b9%89/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่