หมอแนน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แห่ง รพ.แม่ทะ

ผมรู้จักกับหมอแนน พญ.ณัฐกานต์ ตาบุตรวงศ์ แห่ง รพ.แม่ทะ จังหวัดลำปางมาประมาณสองปีกว่า ผมเคยถามหมอแนนว่า หมอแนนเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านไหน หมอแนนตอบผมว่า เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งผมก็ทำหน้างงๆ และไม่ว่าหมอแนนจะพยายามอธิบายเท่าไร ผมก็ไม่เข้าใจ และไม่ใส่ใจที่จะสนใจค้นหาว่าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคืออะไร แต่ที่ทราบคือช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หมอแนนตะเวนออกหน่วยไปตาม รพ.สต.ที่อยู่ในความดูแลของหมอแนนอย่างต่อเนื่อง โดยหมอแนนบอกกับผมว่า หมอเวชศาสตร์ครอบครัวต้องลงพื้นที่ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไม แต่ที่รับรู้ได้ก็คือ หมอแนนบอกว่าการได้ลงพื้นที่แบบนี้ทำให้หมอแนนได้ทำหน้าที่หมอที่ทำมากกว่าการรักษา และเป็นงานที่หมอแนนมีความสุขที่ได้ทำ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 หลังจากมาแม่ทะได้หนึ่งวัน หมอแนนชวนผมไปลงพื้นที่ด้วย โดยไปที่ รพ.สต.บ้านหัวเสือ ซึ่งเป็นตำบลชายแดนระหว่างอำเภอแม่ทะกับอำเภอแม่เมาะ พอไปถึง ก็พบคนไข้มารอหมอแนนอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าประเมินด้วยตาก็น่าจะประมาณ 50 คน มีนักศึกษาพยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาลในตัวจังหวัดที่มาฝึกงานประมาณ 8 คนมาช่วยซักประวัติและตรวจร่างกายขั้นต้นของคนไข้ก่อนพบหมอ เนื่องจากมีคนไข้รออยู่จำนวนมาก เมื่อมาถึงหมอแนนก็เข้าห้องตรวจทันที จากนั้นเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ก็ทยอยส่งคนไข้เข้าไปให้หมอตรวจอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความสงสัยว่าทำไมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต้องลงพื้นที่ ระหว่างที่นั่งรอหมอแนนตรวจคนไข้ ซึ่งกว่าจะเสร็จก็คงบ่าย ผมจึงเริ่มหาความรู้เพื่อตอบข้อสงสัยให้กับตัวเองว่าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคืออะไร ผมได้คำตอบจำนวนมากจากอินเตอร์เน็ต แต่มีอยู่เพจนึงที่ทำให้ผมเริ่มเข้าใจและรู้จักหมอแนนมากขึ้น ที่จริงเพจนี้เขียนไว้มากพอสมควร แต่หลายส่วนเป็นเรื่องทักษะด้านการแพทย์ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่คนเป็นแพทย์ทุกคนต้องมีทักษะนี้อยู่แล้ว แต่มีอยู่ส่วนนึงที่ทำให้ผมเข้าใจว่าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคืออะไร และเริ่มเข้าใจว่าทำไมหมอแนนต้องลงพื้นที่ ทำไมหมอแนนต้องไปบ้านคนไข้ และทำไมหมอแนนต้องกลับมาทำการบ้านก่อนออกตรวจแล้วเอาการบ้านนั้นมาคุยกับ อสม หลังตรวจเสร็จ ส่วนที่ทำให้ผมคลายสงสัยและเข้าใจหมอแนน กล่าวไว้ดังนี้ครับ
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นแพทย์ที่ดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ (primary care) แก่บุคคล ครอบครัว และชุมชน ที่เน้นความรับผิดชอบทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพอย่างต่อเนื่อง (continuity) ผสมผสาน (integrated) ด้วยแนวคิดแบบองค์รวม (holistic) ที่พิจารณาทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ควบคู่กับสภาพเศรษฐกิจ สังคมของบุคคล ครอบครัว และชุมชน จากนั้น เพจนี้ก็บอกว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ประมาณ 9 ข้อ แต่ถ้าตัดข้อที่ผมบอกว่าเป็นทักษะของแพทย์ทุกคนออกไป สิ่งที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต้องเชี่ยวชาญต่างจากแพทย์สาขาอื่น หรือมีมากกว่าแพทย์สาขาอื่นคือ
1. เป็นผู้เชื่อมต่อความรู้ทางการแพทย์ให้เข้ากับองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ คือ สุขภาพกาย สุขภาพใจ จิตวิญญาณ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกคนในชุมชนถูกดูแลอย่างรอบด้านแบบองค์รวม
2. มีทักษะในการติดต่อสื่อสารกับผู้รับบริการสุขภาพและครอบครัว ผู้ร่วมงานในวิชาชีพเดียวกัน และต่างสาขาวิชาชีพ เพื่อการประสานงานในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

จากนิยามของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และคุณสมบัติทั้งสองข้อข้างต้นที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต้องมีมากกว่าแพทย์สาขาอื่น ทำให้ผมตระหนักได้เลยว่า แม้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อาจจะไม่ใช่แพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือที่เรียกว่าแพทย์เฉพาะทาง เช่นหมอตา หมอหู คอ จมูก หมอกระดูก หมอหัวใจ หมอศัลย์ ซึ่งยิ่งเก่ง ชื่อเสียงยิ่งมาก และเมื่อชื่อเสียงมาก ค่าตัวก็มากตาม เงินทองก็ไหลมาเทมา แต่หากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทุกคนทำได้ตามนิยามและคุณสมบัติทั้งสองข้อ เชื่อได้เลยว่า จะมีคนไข้ไหลเข้าโรงพยาบาลลดลงอย่างมาก เพราะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี การป่วยไข้ลดลง ถึงแม้จะต้องเจ็บป่วย แต่อาการก็จะไม่รุนแรงและภาระของหมอที่ตั้งรับรักษาคนไข้อยู่ที่โรงพยาบาลตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน (รพ.ประจำอำเภอ) โรงพยาบาลทั่วไป (รพ.ประจำจังหวัด ส่วนใหญ่) ไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ ก็จะลดลง สำหรับผม แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจึงเป็นผู้ปิดทองหลังพระ เพราะถ้าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทำงานได้ดี อัตราการเจ็บป่วยจะน้อยลง ความรุนแรงของการเจ็บป่วยจะน้อยลง ผลงานที่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันเรื่องการรักษาก็จะไม่เกิด เปรียบเสมือน ถ้าบ้านเมืองไม่มีโจรผู้ร้าย ตำรวจก็ไม่มีงานทำ ก็กลายเป็นว่า ตำรวจไม่มีผลงาน ในทำนองเดียวกัน ผลงานของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้งานของแพทย์อื่นลดลงไป และก็ยากที่จะพิสูจน์ได้ รวมถึงไม่มีใครสนใจว่า ที่ประชาชนสุขภาพดี คืองานที่ออกมาจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว การจะได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากและไม่มีใครสนใจจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเช่นกัน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจึงต้องทำงานโดยไม่มุ่งหวังเรื่องผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน

ผมนั่งรอถึงประมาณ 13.30 น. หมอแนนก็ออกมาจากห้องตรวจ ความหิวเริ่มถามหา ที่จริงก่อนมาถึง รพ.สต. บ้านหัวเสือ หมอแนนแวะร้านในหมู่บ้านให้ผมซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งและถั่วเน่า 1 ห่อ มากินเป็นอาหารเช้า แต่ตัวหมอแนนเองไม่กินข้าวเช้า พอหมอแนนออกมาจากห้อง ผมจึงคาดหวังว่าจะได้ยินหมอแนนรีบชวนกินข้าว เพราะแม่บ้าน รพ.สต.เตรียมข้าวเหนียวพร้อมกับข้าวหลายอย่างไว้ให้บนโต๊ะอาหารเรียบร้อยแล้ว แต่ละอย่างน่ากินทั้งนั้น แต่ผมคาดผิด เพราะหมอแนนเดินไปที่โต๊ะตัวนึงแล้วเชิญ อสม ประมาณ 8 คนมานั่งล้อมรอบ เพื่อมอบการบ้านที่หมอแนนเตรียมมาให้กับ อสม แต่ละคนกลับไปดูแลคนไข้ในหมู่บ้านของตัวเอง โดยกระดาษที่หมอแนนเตรียมมาจะมีตารางรายชื่อคนไข้ทุกคนของแต่ละหมู่บ้านซึ่งในตำบลหัวเสือมี 8 หมู่ ก็จะมีรายชื่อคนไข้ 8 ชุด แต่ละรายชื่อคนไข้ หมอแนนทำสัญลักษณ์เป็นสีเขียว เหลือง ส้ม แดง ไว้ในตารางสำหรับโรค NCD แต่ละโรค และอธิบายให้ อสม แต่ละคนฟังว่าต้องไปทำอย่างไรกับคนไข้ตามรายชื่อที่มีปัญหาบ้างด้วยภาษาง่ายๆ ที่ผมเองแม้ไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์เลยก็ยังเข้าใจ ทำให้ผมรับรู้ได้ถึงคุณสมบัติข้อที่สองที่หมอเวชศาสตร์ครอบครัวต้องมี และรับรู้ได้ถึงความพยายามในการทำหน้าที่ตามนิยามของหมอเวชศาสตร์ครอบครัวของหมอแนน และเข้าใจแล้วว่า ความสุขจากการทำงานเพื่อชุมชนของหมอเวชศาสตร์ครอบครัวคืออะไร

ประมาณ 14.30 น. ผมได้กินข้าวแล้ว ช่างเป็นมื้อที่อร่อยมากๆ เพราะพอรู้ตัวอีกที ท้องร้องเป็นฟ้าลั่นเลย ไม่ว่าอะไรจะเข้าท้อง ก็อร่อยแน่นอน แต่แม่บ้านทำอร่อยจริงๆ ครับ

ขอบคุณหมอแนนที่ทำให้ผมได้มีโอกาสสัมผัสงานของหมอชุมชน ซึ่งเป็นงานที่ยากมากๆ เพราะงานนี้ไม่ได้ใช้ความรู้ทางการแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องใช้ความพยายามในการที่จะเชื่อมหลายองค์ประกอบให้เข้ามาร่วมกันสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน งานนี้จึงไม่มีทางบรรลุวัตถุประสงค์ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือและความเข้าใจจากทั้งผู้ร่วมงานในวิชาชีพเดียวกัน ได้แก่ หมอในโรงพยาบาลเดียวกัน (ซึ่งภาระงานในช่วงแรกจะเพิ่มขึ้นเพราะหมอหายไปจาก รพ 1 คน) เจ้าหน้าที่ใน รพ.สต. (ซึ่งต้องทำงานเพิ่มจากงานในภารกิจตามปกติที่ได้รับจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ลงไปถึง อสม.(ที่ต้องมีการบ้านกลับไปทำทุกครั้ง และต้องเตรียมงานกับคนไข้มากขึ้นก่อนคนไข้จะมาพบหมอครั้งต่อไป) และจากผู้เกี่ยวข้องต่างวิชาชีพที่กล่าวไว้ในข้อ 2 ซึ่งได้แก่ ผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ซึ่งต้องเข้ามาช่วยในการสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ ไปจนถึงการฟื้นฟู เข้ามาช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชน และการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวรายได้น้อยเพื่อให้อุปสรรคในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ลดน้อยลงไป) รวมไปถึงตัวคนไข้ ครอบครัวของคนไข้ และสังคมของคนไข้ แต่ถ้าทำสำเร็จ งานด้านการรักษาตั้งแต่ รพ.สต.ขึ้นไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ก็คงจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ขอเป็นกำลังใจให้หมอแนนและหมอเวชศาสตร์ครอบครัวทุกท่านครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่