[CR] เปิดกระเป๋าคนดูแลผู้ป่วยติดเตียง (อุปกรณ์ที่ต้องใช้+วิธีการดูแล)


          อยากจะมาแชร์ประสบการณ์ การดูแลผู้ป่วยติดเตียงค่ะ เผื่อจะมีประโยชน์กับคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงเหมือนกัน จะได้เอาข้อมูลตรงนี้ไปปรับใช้กันได้

          เรามีคุณยายที่อายุเยอะมากแล้ว ท่านป่วยเป็นโรคชรา ไม่ค่อยมีแรงขยับตัว เลยเอาแต่นอนอยู่บนเตียง เราก็พยายามขยับตัว พลิกตัวเพื่อไม่ให้ท่านอยู่ท่าเดิมอยู่ตลอด และดูแลอย่างอื่นเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ท่านมีแผลกดทับ 

          การดูแลจะมีตั้งแต่ทำความสะอาดหลังการขับถ่ายไปจนถึงการเช็ดตัวค่ะ สำคัญมากสำหรับผู้ป่วยติดเตียงคือเขาจะดูแลตัวเองไม่ได้ เราก็ต้องทำทุกอย่างให้อ่อนโยน เบามือที่สุด เลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการดูแล จะได้ไม่เป็นการทำร้ายผิวหนังค่ะ



          -  สำลีแผ่นใหญ่ หรือทิชชู่เปียกสำเร็จรูป ใช้เช็ดทำความสะอาดคร่าวๆ 

             สำลีแผ่นใหญ่ จะเป็นสำลียี่ห้อ baby Moby  แบบที่ทำมาจากฝ้ายบริสุทธิ์ อ่อนโยน ไม่เป็นขุย ใช้กับผิวที่บอบบางได้ ทุกครั้งหลังใช้ก็ต้องปิดปากถุงให้สนิทและมิดชิดด้วยค่ะ ส่วนทิชชู่เปียกสำเร็จรูป ใช้ของ Certainty เป็นทิชชู่ที่หนา ใกล้เคียงกับผ้า ไว้นำมาเช็ดตัว อ่อนโยนและไม่มีแอลกอฮอล์

          -  3M Cavilon No Rinse Skin Cleanser ผลิตภัณฑ์ล้างทำความสะอาดผิวหนัง แบบไม่ต้องล้างด้วยน้ำเปล่าซ้ำ 

             ตัวนี้เราได้รับการแนะนำมาจากพยาบาล เพราะแต่ก่อนเราใช้น้ำสบู่ แล้วก็ต้องใช้น้ำเปล่าเช็ดแล้วก็ล้างซ้ำอีกที มันก็จะทำให้เราต้องถูสัมผัสผิวหนังมากจนเกินไป เค้าก็เลยแนะนำให้ใช้ตัว 3M Cavilon No Rinse Skin Cleanser ตัวนี้ทำให้สะดวกขึ้นมากๆ เพราะจะเป็นตัวล้างทำความสะอาดที่ไม่ทำร้ายผิว คือ พ่นชำระล้างแทนสบู่และน้ำเปล่าได้เลย ใช้ง่ายด้วยเป็นหัวสเปรย์พ่นๆเอา 

          -  กระดาษทิชชู่ชนิดนุ่ม Cellox 
  
             กระดาษทิชชู่เหมาะแก่การซับผิวให้แห้งแต่เราก็ควรเลือกแบบที่นุ่ม จะได้อ่อนโยนและไม่ทำร้าย ไม่ทำให้ผิวระคายเคือง เวลาใช้ ให้ใช้การซับ ไม่ใช้การเช็ดถูเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้


          -  3M Cavilon Durable Barrier Cream ครีมทาเพิ่มความชุ่มชื้น และป้องกันไม่ให้เกิดแผลอึฉี่กัด แล้วกลายเป็นแผลกดทับ

             อันนี้เราได้มาพร้อมกันกับตัว 3M Cavilon No Rinse Skin Cleanser เลยค่ะ พยาบาลบอกว่าจะต้องใช้คู่ไปด้วยถึงดี ถ้าทาครีมตัวนี้จะช่วยให้ผิวบริเวณที่ขับถ่ายชุ่มชื้นแต่ไม่ทำให้ผิวอับชื้น ใช้แทนการโรยแป้งฝุ่นตอนใส่ผ้าอ้อม แล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับได้ด้วย กันน้ำได้ด้วยนะคะตัวนี้ ก็จะทนต่อการเช็ดล้างพอประมาณเลยค่ะ  


          -  3M Cavilon No Sting Barrier Film 

             ตัวนี้จะใช้คล้ายๆ กับตัว 3M Cavilon Durable Barrier Cream ค่ะ แต่เป็นแบบพ่นเคลือบเป็นฟิล์มกันน้ำ เรานำมาใช้กับผิวที่แดงมากหรือช่วงที่ถ่ายบ่อยๆ เอาไว้ใช้เคลือบผิวตรงนั้นไว้ พอเคลือบผิวเอาไว้แล้ว เวลาเจอน้ำหรือความชื้น ก็จะไม่โดนผิวโดยตรง ผิวเลยจะโดนป้องกันมากกว่าปกติ พอผิวไม่ลอก ถลอกจนผิวแดงเพิ่ม ก็จะทำให้เกิดแผลกดทับได้ยากขึ้นค่ะ ตัวนี้จะกันน้ำได้มากกว่าตัวครีมนะคะ 


          -  ถุงมือยาง (ใช้แล้วทิ้ง) 

             จริงๆ ถุงมือยางจะคล้ายกันหมดค่ะ แต่ที่เราเลือกมาเป็นถุงมือยางยี่ห้อ Poly Bright ใช้มาแล้วรู้สึกว่ายี่ห้อนี้ถุงมือเหนียวแน่น ยืดหยุ่น กระชับกับมือดี ไม่ขาดง่าย แต่มันมาเป็นกล่อง เวลาที่จะเก็บ ก็ควรหาถุงหรือกล่องอะไรอีกสักชั้นแล้วเอากล่องถุงมือมาใส่เก็บไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้โดนเชื้อโรค เก็บไว้ให้ห่างจากแสงแดดก็ดีค่ะ


          -  ถุงใส่ขยะ 

             ถุงที่เลือกจะเป็นถุงขยะสีดำค่ะ ใช้ยี่ห้อ Smarter เพราะว่าเป็นถุงขยะที่เหนียวและหนา เวลาที่นำขยะใส่ จะได้เก็บได้มิดชิด ไม่มีหลุดออกมาจากถุงให้เลอะเทอะเวลาขนย้าย


          -  ผ้าอ้อมสำเร็จรูป

             ผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะมีทั้งแบบกางเกงและแบบเทป เราเลือกแบบเทปของยี่ห้อ Certainty นะคะ เพราะว่าจะใส่และแกะเปลี่ยนง่ายกว่าเวลาใช้แบบกางเกง ไม่ค่อยรั้งบริเวณต้นขา จะได้ไม่บาดผิวค่ะ


          -  ผ้าอ้อมสาลู อย่างน้อย 3 ผืน 
  
             ที่เลือกผ้าอ้อมสาลู หรือจะใช้ผ้าอ้อมสำลีก็ได้เหมือนกันค่ะ ต่างกันแค่เรื่องความซึมซับน้ำเฉยๆ สำหรับผ้าสองชนิดนี้ เราคิดว่าดีกว่าผ้าขนหนูหรือผ้าทั่วๆไปค่ะ เพราะจะมีความอ่อนโยนกว่า เหมาะกับใช้ทำความสะอาดผิวของผู้สูงอายุ


          -  ผ้าซับเช็ดตัว
  
             แนะนำให้ใช้เป็นผ้าฝ้าย เพราะจะนุ่มและอ่อนโยน เช็ดผิวได้โดยไม่ทำร้ายผิว เลือกแบบไม่ต้องผืนใหญ่มาก จะได้เช็ดทำความสะอาดได้ทั่วถึงและสะดวกกว่า


          -  โลชั่นทาตัว Cetaphil
  
              เพื่อป้องกันผิวแห้งทั่วทั้งร่างกาย ส่วนไหนที่ไม่ใช่ผิวบริเวณขับถ่าย ก็ใช้โลชั่นทาตัว Cetaphil ทาลงไปบนผิวได้ โลชั่นตัวนี้จะไม่ทำให้ผิวระคายเคือง เพิ่มความชุ่มชื้น เหมาะกับผิวของผู้สูงอายุค่ะ

ขั้นตอนในการทำความสะอาดหลังการขับถ่าย 

ตอนขับถ่ายปัสสาวะ

             ใส่ถุงมือทั้งสองข้างให้เรียบร้อย แล้วใช้ 3M Cavilon No Rinse Skin Cleanser ฉีดให้ทั่วผิวที่โดนปัสสาวะ เสร็จแล้วก็ใช้กระดาษทิชชู่ซับเบาๆ บริเวณผิวให้แห้ง ใช้การซับไม่ใช้การถูนะคะ หลังจากนั้นก็ทา 3M Cavilon Durable Barrier Cream เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ป้องกันผิวไม่ให้เป็นแผลกดทับ ปิดท้ายด้วยการเปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่ นำผ้าอ้อมเก่าและถุงมือใส่ถุงขยะไปทิ้ง

ตอนถ่ายอุจจาระ
   
             ใส่ถุงมือทั้งสองข้างให้เรียบร้อย แล้วใช้ทิชชู่เปียกสำเร็จรูป เช็ดลูบคราบอุจจาระหนักออกจากผิวเบาๆ แล้วพ่นตัวล้าง 3M Cavilon No Rinse Skin Cleanser ให้ทั่วๆ (หรือจะใช้ 3M Cavilon No Rinse Skin Cleanser ฉีดใส่สำลีแผ่นให้ชุ่ม เช็ดลูบอุจจาระหนักออกและลูบทำความสะอาดผิวจนหมดคราบอุจจาระ) ซับผิวให้แห้งด้วยทิชชู่ ทาป้องกันด้วย 3M Cavilon Durable Barrier Cream เพื่อป้องกันให้ผิวไม่ให้แช่ซ้ำ ไม่งั้นจะเป็นแผลอักเสบและแผลกดทับ หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นผ้าอ้อมผืนใหม่ ทิ้งผ้าอ้อมและถุงมือใส่ลงถุงขยะ

ชุดเช็ดตัวแบบรวดเร็ว 

             ปกติผู้สูงอายุจะมีผิวแห้งแล้วก็มีไขมันในชั้นผิวน้อย เลยจะไม่ค่อยทนต่อความเย็นตอนที่เช็ดตัวด้วยน้ำ เวลาที่เช็ดตัว แล้วถ้าเราถูสบู่ก็จะยิ่งทำให้ผิวแห้งง่ายขึ้นอีก เราเลยเลือกใช้เป็น 3M Cavilon No Rinse Skin Cleanser แทนการใช้สบู่และน้ำเลย อันนี้ทำได้สะดวกกว่า แล้วก็ไม่ทำลายไขมันในเซลล์ผิว จะทำให้สบายผิวมากกว่า 


ขั้นตอนในการเช็ดตัวและเช็ดก้น

เช็ดตัว
             ฉีด 3M Cavilon No Rinse Skin Cleanser ใส่ผ้าอ้อมสำลีให้เปียกหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดผิวให้ทั่ว แล้วค่อยซับผิวให้แห้งด้วยผ้าซับเช็ดตัว หลังจากนั้นก็ทาโลชั่นทั่วลำตัว ทุกครั้งที่เช็ดตัว เราจะเปลี่ยนผ้าผืนใหม่ในแต่ละส่วนที่เช็ดตัว จะแบ่งแบบนี้ 
  
             เช็ดหน้าและลำตัวส่วนหน้า 1 ผืน
             เช็ดแขนและรักแร้ทั้ง 2 ข้าง  1 ผืน
             เช็ดหลังและขา 2 ข้าง 1-2  ผืนก็ได้ ตามสะดวก
      
เช็ดก้น
             ฉีด 3M Cavilon No Rinse Skin Cleanser ให้ทั่วตรงขาหนีบและก้น แล้วค่อยซับให้แห้งด้วยผ้าซับเช็ดตัว แล้วทา 3M Cavilon Durable Barrier Cream หรือถ้ามีผิวตรงไหนที่แดงและเริ่มลอกก็ใช้ 3M Cavilon No Sting Barrier Film ฉีดลงไปรอบๆ บริเวณนั้น เพื่อป้องกันผิวไม่ให้เป็นแผลกดทับ แล้วค่อยเปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่ 

             การดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องดูแลให้ดีและสม่ำเสมอทุกวัน เพราะผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือและดูแลตัวเองแบบเต็มที่ได้ เพราะฉะนั้นใครที่จะดูแลผู้ป่วยติดเตียงควรที่จะศึกษาและเรียนรู้วิธีการ จะได้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้ถูกต้องค่ะ หวังว่าทั้งหมดจะเป็นประโยชน์กับคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้นะคะ ของเราทำขั้นตอนแบบนี้ แรกๆก็มีพลาดบ้าง แต่ตอนนี้ทำได้สะดวกขึ้นเยอะแล้วค่ะ เราก็ปรับๆเอาจากวิธีของคนอื่นเนี่ยแหละ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะค้า
ชื่อสินค้า:   อุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่