คำว่า พุทธวจน ทำให้นึกฉงนใจและสงสัยพอควรว่า ควรอ่านออกเสียงว่าเช่นใด ขอนำไปเปรียบเทียบกับคำว่า อาหาร และคำว่า ชน

ชี้แจงเบื้องต้นเกี่ยวกับคำว่า พุทฺธวจน โดยสังเขป ดังนี้ ครับ 

พุทฺธวจน (อ่านว่า พุด ทะ วะ จะ นะ) เป็นภาษาบาลี(หรือมคธ) เมื่อนำมาเขียนเป็นภาษาไทย สะกดให้ถูกต้อง คือ พุทธวจนะ

คำนี้ เป็นศัพท์สมาส กล่าวคือ มีศัพท์ 2 ศัพท์มารวมกันเป็นศัพท์เดียว แยกตามหลักบาลีไวยากรณ์ได้ดังนี้ คือ 
1.พุทฺธ (อ่านว่า พุด ทะ)
2.วจน (อ่านว่า วะ จะ นะ)
รวมกันเป็น พุทฺธวจน และคำว่า พุทฺธวจน นี้ เป็นรูปศัพท์เดิมที่ยังไม่ถูกนำไปจำแนกในรูปของวิภัตติซึ่งมีมากถึง 14 วิภัตติด้วยกัน (ตามหลักบาลีไวยากรณ์) และเป็น "นปุงสกลิงค์" เมื่อนำไปใช้เป็นประธานในประโยค จะได้รูปศัพท์ว่า "พุทฺธวจนํ" ซึ่งสามารถวิเคราะห์ในรูปของสมาสได้ว่า "พุทฺธสฺส วจนํ = พุทฺธวจนํ" 

พุทฺธวจนํ แปลว่า พระดำรัสของพระพุทธเจ้า ดังนั้น เมื่อนำมาใช้ตามหลักภาษาไทย ต้องสะกดให้ถูกต้อง คือ พุทธวจนะ และหากต้องการสะกดเป็นภาษาบาลี(หรือมคธ) ต้องสะกดว่า พุทฺธวจน จึงจักถูกต้อง และไม่ว่าจะเป็น พุทฺธวจน หรือ พุทธวจนะ ต่างก็ออกเสียงเหมือนกัน คือ "พุด ทะ วะ จะ นะ"

ตัวอย่างของคำว่า พุทฺธวจนํ ที่ถูกนำไปใช้ในรูปของวิภัตติและทำหน้าที่เป็นประธานในประโยค ดังนี้

กตโม  ปริยตฺติปฏิภาณวา ฯ  อิเธกจฺจสฺส  พุทฺธวจนํ  ปริยาปุฏํ  โหติ  สุตฺตํ  เคยฺยํ  เวยฺยากรณํ  คาถา  อุทานํ อิติวุตฺตกํ ชาตกํ  อพฺภูตธมฺมํ เวทลฺลํ  ตสฺส ปริยตฺตึ นิสฺสาย ปฏิภาติ อยํ  ปริยตฺติปฏิภาณวา ฯ

แปลความว่า บุคคลผู้มีปฏิภาณในปริยัติเป็นไฉน? พระพุทธวจนะ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ อันบุคคลบางคนในศาสนานี้เล่าเรียนแล้ว.ปฏิภาณของบุคคลนั้นย่อมแจ่มแจ้งเพราะอาศัยปริยัติ. บุคคลนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีปฏิภาณในปริยัติ.

ส่วนคำว่า พุทธวจน
ทำให้นึกฉงนใจและสงสัยพอควรว่า ควรอ่านออกเสียงว่าเช่นใด ขอนำไปเปรียบเทียบกับคำว่า อาหาร แน่นอนคำนี้อ่านออกเสียงว่า อา-หาน ไม่มีทางออกเสียงว่า อา-หา-ระ ไม่..ไม่มีทางเป็นเช่นนั้นสำหรับภาษาไทย

อีกคำหนึ่งที่น่าจะใกล้เคียงที่สุด คือ คำว่า ชน คำนี้คนไทยไม่มีทางออกสำเนียงว่า ชะ-นะ แน่นอน ทุกคนต้องออกเสียงว่า ชน ดังนั้น คำว่า พุทธวจน จึงต้องอ่านออกเสียงว่า พุด ทะ วะ จน ถ้าต้องการออกเสียง นะ ที่ น.หนู ควรสะกดว่า พุทธวจนะ จึงถูกต้อง

ที่มาข่าว. https://www.facebook.com/BuddhaVajana-BuddhaDhamma-444879189005181/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่