นิโครธมิคชาดก...ชาดกว่าด้วย "การเลือกคบคน"

นิโครธมิคชาดก  

ชาดกว่าด้วย...การเลือกคบคน


สถานที่ตรัสชาดก
     เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี

สาเหตุที่ตรัสชาดก
     สมัยพุทธกาล ณ นครราชคฤห์ ธิดาเศรษฐีผู้หนึ่งเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม แต่กลับไม่ยินดีในความงามนั้น เฝ้าขอบิดามารดาบวชเป็นภิกษุณีเสมอแต่ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเจริญวัยบิดามารดาจึงให้แต่งงานกับบุตรเศรษฐี
     วันหนึ่งที่เมืองมีงานนักขัตกฤษ์ ชาวเมืองต่างแต่งกายสวยงาม แต่ธิดาเศรษฐีกลับแต่งกายเรียบๆ บอกเหตุกับสามีว่า เพราะมองเห็นความไม่งามของร่างกาย สามีจึงกล่าวว่า ทำไมเธอจึงไม่บวชเสียเล่า?
นางได้ฟังก็ยินดี สามีจึงพาไปบวชเป็นพระภิกษุณีในสำนักของพระเทวทัต เมื่อบวชแล้วนางได้บำเพ็ญกิจของภิกษุณีอย่างเคร่งครัด โดยไม่รู้ตัวว่านางมีครรภ์ก่อนที่จะบวช เมื่อครรภ์ของนางโตขึ้น พระเทวทัตเกรงว่าตนจะเสื่อมเสียชื่อเสียงจึงสั่งให้นางสึก
     นางคิดว่าตนบวชเพื่อถวายชีวิตแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิใช่มาบวชเพื่อพระเทวทัต จึงเดินทางไปยังเชตวันมหาวิหารเพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยญาณว่า นางเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ แต่เพื่อคนทั่วไปได้ประจักษ์ จึงโปรดให้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ตรวจร่างกายและสอบสวนวัน เดือน ปีที่นางออกบวช ได้ความจริงว่า นางตั้งครรภ์ก่อนออกบวช นางจึงพ้นความผิด
     ต่อมานางคลอดบุตรเป็นชายมีผิวพรรณผุดผ่อง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรับไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ให้ชื่อว่า พระกุมารกัสสปะ ครั้นอายุได้ ๗ ขวบ ทราบชาติกำเนิดของตนเกิดความสลดใจ จึงออกบวช ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศในการแสดงธรรมอันวิจิตร
     นางภิกษุณีผู้เป็นมารดา นับแต่ลูกจากไปก็ได้แต่ร้องให้คิดถึงลูกจนไม่มีใจปฏิบัติธรรม เช้าวันหนึ่งบังเอิญได้พบพระกุมารกัสสป จึงร้องเรียกชื่อพระลูกชาย พระกุมารกัสสปเถระทราบว่า ถ้าหากท่านพูดด้วยถ้อยคำอันไพเราะ มารดาจะตัดความอาลัยไม่ขาด จึงพูดให้สติว่า “ท่านเที่ยวทำอะไรอยู่นะ! เวลาผ่านมาตั้งนานแล้ว ความอาลัยอาวรณ์แค่นี้ก็ยังตัดไม่ได้” นางได้ยินก็เสียใจ คิดตัดอาลัย จึงตั้งใจปฏิบัติธรรม จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ … พระภิกษุได้สนทนาถึงเหตุนี้ พระบรมศาสดาทรงทราบจึงตรัสเรื่อง นิโครธมิคชาดก ดังนี้

เนื้อหาชาดก
      ณ ป่าใหญ่ มีกวาง ๒ ฝูง พญากวางฝูงหนึ่งชื่อ นิโครธ อีกฝูงพญากวางชื่อ สาขะ มีบริวารฝูงละ ๕๐๐ ตัว ในครั้งนั้น พระราชาจะเสด็จไปยิงกวางเสมอๆ วันหนึ่งทอดพระเนตรเห็นพญากวางทองทั้งสอง จึงมีพระทัยเมตตารับสั่งไม่ฆ่าพญากวางทั้งสองนี้ แต่ยังคงล่ากวางอื่นๆ พญากวางจึงปรึกษากันว่า เพื่อไม่ต้องระแวงภัย แต่ละฝูงจะผลัดกันส่งกวางให้ฆ่าวันละ ๑ ตัว อยู่มาวันหนึ่ง ถึงเวรของนางกวางท้องแก่ในฝูงของพญาสาขะ นางขอร้องพญาสาขะว่า ขอให้นางคลอดลูกก่อนแล้วจะเอาตัวเองไปให้ฆ่าแทน แต่พญาสาขะไม่ยอม นางกวางจึงไปหาพญานิโครธ เพื่อขอความช่วยเหลือ
     เมื่อพญานิโครธได้ฟังแล้ว ยอมเสียสละชีวิตตนเองแทน จึงเดินไปที่โรงครัว เอาหัววางบนเขียง เมื่อพ่อครัวมาเห็นจึงรีบกราบทูลพระราชา พระราชาทราบความจากพญานิโครธเกิดสลดพระทัย ดำริว่า แม้สัตว์เดรัจฉานยังมีความเมตตากรุณา จึงประกาศพระราชทานอภัยชีวิตแก่สัตว์ในป่าทั้งหลาย และตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงามนับแต่นั้นมา

ประชุมชาดก
     เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ชนทั้งหลายต่างบรรลุธรรมตามลำดับชั้น พระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่า
 
พญากวางสาขะ      ได้มาเป็น      พระเทวทัต
แม่กวาง                 ได้มาเป็น      ภิกษุณีรูปนี้
พระราชา                ได้มาเป็น      พระอานนท์
พญากวางนิโครธ    ได้มาเป็น       พระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก
๑. ผู้ที่มีบุญ ย่อมมีปัญญามองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มองเห็นโทษของวัฏสงสารว่าเป็นทุกข์ แล้วหาทางที่จะออกจากทุกข์นั้น
๒. ผู้ที่มีความตั้งใจจะสร้างบุญบารมี ควรจะตัดความห่วงใยอาลัยรักทั้งหลายให้ได้ ถ้าตัดไม่ได้ จิตใจจะกังวล ไม่อาจบรรลุธรรมขั้นสูงได้
๓. บุตรควรมีความกตัญญูกตเวที คือ รู้คุณ และตอบแทนคุณ บิดามารดา
๔. ผู้นำที่ควรแก่การเคารพสรรเสริญนั้น นอกจากจะต้องมีความสามารถแล้ว ยังต้องมีคุณธรรมอีกด้วย
๕. ผู้ที่ถูกกล่าวหาจะต้องทำใจให้หนักแน่น ยึดมั่นในคุณความดี และอดทนเพื่อรอโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ถือเสียว่า “มือไม่มีแผล ย่อมไม่กลัวพิษงู ทองบริสุทธิ์อยู่ ย่อมไม่กลัวไฟลน”

ข้อมูล - kalyanamitra.org
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่