นโยบายเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน 4Q2019


    

      ในปัจจุบัน เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากสงครามการค้าโลกที่ยังคงร้อนระอุอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละประเด็นยังคงวนเวียนกดดันตลาด ส่งผลให้นักลงทุนยังคงชะลอการลงทุน ทั้งในเชิง Real Sector รวมถึง Financial Sector เพื่อรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อวางแผนรับมือกับทิศทางการค้าในปี 2020 ที่มีแนวโน้มไม่ค่อยสดใสจากประเด็นต่างๆ ซึ่งปัจจัยหลักๆมีที่มาและความคืบหน้า ดังนี้

Trade War

     สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจระหว่าง สหรัฐ และ จีน มีจุดเริ่มต้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ดอนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งในช่วงต้นปี 2017 โดยชูนโยบาย “Make America Great Again” ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ และเริ่มตั้งกำแพงภาษีจากประเทศคู่ค้าซึ่งสหรัฐขาดดุลการค้า จีนจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักจากประเด็นดังกล่าว โดยนาย สี จิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกับทางสหรัฐเช่นกัน

     แม้ล่าสุดมีการแถลงว่าข้อตกลงในเฟสแรกน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่หลายฝ่ายยังมองว่าประเด็น Trade war น่าจะมีข้อตกลงที่ชัดเจน ก่อนการเลือกตั้ประธานาธิบดีงสหรัฐในช่วงกลางปี 2020

Brexit

     ในช่วงกลางปี 2016 ประชาชนชาวอังกฤษได้มีการลงมติ ให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ด้วยคะแนนเสียง 51.9 ต่อ 48.1 โดยเสียงส่วนใหญ่ที่ลงมติให้แยกตัว คือ อังกฤษและเวลส์ ขณะที่สกอตแลนด์และไอแลนด์เหนือ ต้องการให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ด้วยคะแนนเสียงที่ฉิวเฉียดจึงก่อให้เกิดปัญหาตามมาจากประเด็นดังกล่าวจนยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

     ล่าสุดนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ออกมากล่าวคำขอโทษ หลังจากประสบความล้มเหลวในการผลักดันให้อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ได้ตามกำหนดในวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา และมีการขยายเส้นตาย Brexit ออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 จากความเห็นพ้องของสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ 

สงครามการค้าญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

     ทั้ง 2 ประเทศ มีความขัดแย้งกันมายาวนานจากประวัติศาสตร์ และเริ่มลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจรวมถึงความมั่นคง เมื่อปลายปี 2018 ศาลในเกาหลีใต้สั่งให้ 3 บริษัทญี่ปุ่น คือ นิปปอน สตีล, นาจิ ฟูจิโกชิ คอร์ปอเรชั่น และ มิตซูบิชิ ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้ชายเกาหลีใต้ที่อ้างว่า โดนบริษัทเหล่าดังกล่าว ใช้แรงงานเป็นทาส ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

     เมื่อ 1 กรกฎาคม รัฐบาลญี่ปุ่นลดปริมาณการส่งออกสารเคมี 3 ชนิด ที่ใช้ในการผลิตชิป และ ผลิตหน้าจอโทรศัพท์ ซึ่งเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ขึ้นยู่กับการขายอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ ทำให้กระทบกระบวนการผลิตของเกาหลีใต้และเกิดปัญหา และยังไม่มีที่ท่าว่าจะเจรจากันได้

เหตุการประท้วงในฮ่องกง

     เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 62 มีชาวฮ่องกงออกมาออกมาประท้วง คัดค้านกฏหมายส่งผู้รายข้ามแดน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่เชื่อมั่นในจีน ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องมือของจีนในการใส่ร้ายคนฮ่องกงที่อพยพมาจากจีนได้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจของฮ่องกงชะงักโดยเฉพาะในภาคของการท่องเที่ยว และสถานการณ์ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

นโยบายเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

     จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องนำนโยบายผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ (Expansionary Monetary Policy) ออกมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายจากภาคเอกชน ทั้งในส่วนของนโยบายการเงิน ซึ่งถูกกำหนดโดย “ธนาคารกลาง” และนโยบายการคลัง ซึ่งถูกถูกกำหนดโดย “กระทรวงการคลัง”

     โดยทั้งนโยบายการเงินแลการคลังนั้นจะต้องดำเนินนโยบายสอดคล้องกัน ทั้งธนาคารกลางและกระทรวงการคลังจึงต้องประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบาย รวมถึงระดับของนโยบายที่แต่ละฝ่ายจะออกนโยบายออกมา ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละช่วงของเศรษฐกิจ โดยเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่นิยมใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในยามที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอย (Recession) มีดังนี้

     - การลดอัตราดอกเบี้ย แน่นอนว่าการลดภาระทางดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายจากภาคเอกชน แต่ประสิทธิภาพของการลดดอกเบี้ยจะส่งผลกับตลาดน้อยลง เมื่อดอกเบี้ยใกล้เคียง 0% มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่จูงใจให้เกิดการฝากเงิน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ยาก เรื่องจากมีเม็ดเงินในการปล่อยกู้จำกัด

     - เพิ่มการใช้จ่ายจากภาครัฐบาล หรือ นโยบายงบประมาณขาดดุลเป็นนโยบายที่รัฐบาลจะใช้เงินมากกว่าภาษีที่จัดเก็บได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาทางการคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน และจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น จากความต้องการแรงงานในการดำเนินโปรเจ็คต่างๆของรัฐบาล และเมื่อประชาชนมีงานทำมากขึ้นจะส่งผลให้มีเงินไปใช้จ่าย และกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีก

     - ลดอัตราเงินสดสำรองที่ต้องดำรง ของธนาคารพาณิชย์ จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินส่วนที่เหลือจากการต้องกันเงินสำรองดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงมีเงินไปปล่อยกู้แก่ภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากภาคเอกชนอีกทาง

     - การซื้อ “หลักทรัพย์” หรือ “พันธบัตร” ของธนาคารกลางกับภาคเอกชน จะเป็นการเพิ่มกระแสเงินสดกลับสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

     - นอกจากนี้ยังสามารถปรับลดอัตราซื้อ หรือการขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตาม ให้สอดคล้องกันนโยบายเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นได้

บทสรุป

     นโยบายผ่อนคลายทางเศรษฐกิจในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนั้น จะเป็นไปในเชิงกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ผ่านทางการอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงิน หรือสร้างอุปสงค์เทียมเข้าไปในตลาด เพื่อให้เกิดการลงทุน การใช้จ่ายจากภาคเอกชน รวมถึงผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

     เพราะการจ้างงานที่เต็มระบบจะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างเพียงพอ หรือเป็นการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ที่สำคัญเมื่อแรงงานมีเงินในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็จะส่งผลให้มีความต้องการสินค้าหรือบริการมากขึ้นตาม อีกทั้งยังเป็นการลดภาระรัฐบาลในการจ่ายเงินชดเชย ให้แก่แรงงานที่ว่างงานในระบบได้ด้วย

แหล่งที่มา :: https://www.coolontop.com/recession-q4-2019/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่