บนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์

กระทู้คำถาม
ม้าป่าเปรวาสกี (Przewalski) 



ในปี 2019 มีม้าป่าเปรวาสกี (Przewalski) หรือ ม้าป่ามองโกล ซึ่งเป็นสายพันธุ์หายาก เกิดใหม่ทั้งหมด 47 ตัว ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นสถิติลูกม้าเกิดใหม่ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ม้าป่าเปรวาสกีได้รับการตั้งชื่อตามผู้คนพบชาวรัสเซีย เป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทุ่งหญ้าทะเลทรายแห่งเอเชียกลาง ปัจจุบันสายพันธุ์ดังกล่าวเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเป็นม้าป่าเพียงสายพันธุ์เดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ทุกวันนี้
หม่าซินผิง (Ma Xinping) ผู้อำนวยการศูนย์เพาะเลี้ยงและวิจัยม้าป่าซินเจียง (Xinjiang Wild Horse Breeding and Research Center) ระบุว่าลูกม้าเกิดใหม่ทั้ง 47 ตัวเกิดในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติข่าลาม่ายหลี่ (Kalamaili Nature Reserve) ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยหลักของม้าป่าในแอ่งจุงการ์ทางตอนเหนือของซินเจียง โดยในจำนวนดังกล่าวมี 7 ตัวเพาะเลี้ยงดูแบบปิด อีก 10 ตัวเลี้ยงแบบกึ่งปิดกึ่งธรรมชาติ และอีก 30 ตัวอยู่ในธรรมชาติ
 
ปัจจุบันม้าเปรวาสกีมีจำนวนราว 2,000 ตัวบนโลก อย่างไรก็ดี ม้าสายพันธุ์หายากนี้เคยสูญพันธุ์ไปจากซินเจียงเนื่องจากการล่าสัตว์อย่างโหดร้ายในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ก่อนที่ต่อมาจีนจะเริ่มโครงการเพาะเลี้ยงในปี 1986 โดยใช้ม้า 24 ตัวที่นำกลับมาจากสหราชอาณาจักรและเยอรมนีเพื่อฟื้นฟูจำนวนประชากรใหม่อีกครั้ง
ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์วิจัยฯ ระบุว่าประชากรม้าป่าขยายตัวแตะ 438 ตัว โดยมี 90 ตัวอยู่ในการเพาะเลี้ยงแบบปิด 240 ตัวอยู่ในธรรมชาติ และ 108 ตัวอยู่ในการเลี้ยงแบบกึ่งปิดกึ่งธรรมชาติ  เมื่อนับจำนวนประชากรม้าป่าภายในอุทยานสัตว์ป่าเทียนซาน (Tianshan Wildlife Park) แล้ว ซินเจียงจึงกลายเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรม้าป่ามากที่สุดในประเทศจีน
Cr.sanook.com/

คางคกจิ๋ว (Theloderma corticale) 


คางคกจิ๋วก็เป็นสัตว์ประหลาดตัวใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนที่ใดในโลก ด้วยรูปลักษณ์ที่ราวกับว่ารอดชีวิตมาจากยุคจูราสสิกเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว  คางคกชนิดนี้ที่มีขนาดเท่าๆ กับหัวนิ้วโป้งของผู้ใหญ่ มีเท้าเล็กๆ เหนียวหนึบคล้ายกับเท้าของตัวปาด ผิวหนังที่ขุขระและเต็มไปด้วยปุ่มของมันทำให้ดูราวเป็นเกราะแข็งแกร่ง คล้ายกับไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชชนิดหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์เวียดนามค้นพบคางคกจิ๋วในป่าสงวนแห่งชาติ จ.โด่งนาย ทางตอนเหนือของนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นป่าดิบผืนเดียวกับที่เคยมีแรดนอเดียวพันธุ์ชวาอาศัยอยู่และเชื่อกันว่า ตัวสุดท้ายถูกพรานป่ายิงตายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
       
ในท้องถิ่นเรียกมันว่า คางคกตะไคร่น้ำ พวกนี้จะพรางตัวด้วยสีสันที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และมักจะซุกตัวจิ๋วๆ ของมันอยู่ในต้นกาฝาก หรือพวกตะไคร่ หรือหญ้าที่ปกคลุมตามง่ามไม้ที่มีความชุ่มชื้น หลายคนจึงเรียกมันว่า “คางคกต้นไม้” และดูจะไม่มีวิธีป้องกันตัวเองอย่างอื่น
       เวียดนามจัดให้คางคกจิ๋ว (Theloderma corticale) ตัวนี้เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และเป็น 1 ใน 10 ชนิดสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งศึกษาการพฤติกรรม การสืบพันธุ์ รวมทั้งการดำรงชีวิตของพวกมัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะพบเพียงไม่กี่ตัวในเขตป่าสงวนแห่งชาติก๊าตเตียน แต่ราษฎรในพื้นที่รู้จักคางคกชนิดนี้มานานแล้ว และในปัจจุบัน ได้กลายเป็นสินค้าที่มีราคาแพง จะมีพ่อค้าออกรับซื้อในราคาดีมาก คือ ตัวละ 45-75 ดอลลาร์เพื่อส่งออก  คางคกจิ๋วออกไข่ตามโพรงไม้ที่มีน้ำขัง กินแมลงตัวเล็กๆ เป็นอาหาร และนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ายังไม่เคบพบ “กบ” พวกนี้บนพื้นดินทั่วไป ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับพวกมัน
       อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับนี้รายงานว่า มีพ่อค้าสัตว์ป่านำคางคกประหลาดพันธุ์นี้ไปเลี้ยง และสามารถเพาะพันธุ์ได้ด้วยวิธีเดียวกับพวกตัวปาดต้นไม้ทั่วไป และสามารถเลี้ยงขุนให้มีตัวโตกว่าญาติๆ ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติได้
ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์
Cr.bloggang.com/

'ยีราฟ' ใกล้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์


ที่การประชุมสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Conference) หรือที่รู้จักกันในชื่อ CITES มีการลงมติเพื่อให้ปกป้องสายพันธุ์ 'ยีราฟ' ในฐานะสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นครั้งแรก
การลงมติของ CITES ครั้งนี้ จะนำไปสู่การคุ้มครองยีราฟทั่วโลก รวมทั้งการห้ามซื้อขายชิ้นส่วนของยีราฟ เช่น กระดูก หนัง และเนื้อยีราฟ
ซูซาน ลีเบอร์แมน แห่งองค์กร Wildlife Conservation Society กล่าวว่า คนทั่วไปคิดว่ายีราฟมีอยู่มากมายในอาฟริกา 

แต่ในความเป็นจริง สัตว์สายพันธุ์นี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงซึ่งเกิดจากจำนวนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ถิ่นที่อยู่อาศัยน้อยลง ปัญหาความแห้งแล้งและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการถูกฆ่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำชิ้นส่วนไปขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่บางส่วนทางตะวันออกและตะวันตกของอาฟริกา
ที่ประชุม CITES ชี้ด้วยว่า ปัจจุบัน จำนวนยีราฟในธรรมชาตินั้นมีอยู่ไม่กี่หมื่นตัว ซึ่งน้อยกว่าจำนวนช้างแอฟริกันเสียอีก
ขณะเดียวกัน รายงานด้านสัตว์ป่าโลกระบุว่า อเมริกาคือตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าชิ้นส่วนผิดกฎหมายของยีราฟ
Cr.voathai.com/

“กระจงเวียดนาม” ถูกค้นพบอีกครั้ง


ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อช่วงปี 1990 สัตว์ตัวเล็กๆ ที่มีรูปร่างคล้ายกวางผสมหนูอย่าง “กระจงหลังเงิน” หรือ “กระจงเวียดนาม” (Tragulus versicolor) ได้มีปริมาณลดลงไปเป็นอย่างมาก จนนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเริ่มจะกังวลกันว่ากระจงเหล่านี้อาจจะสูญพันธุ์ไปจริงๆ แล้วก็เป็นได้
 
กระจงเวียดนามถูกบันทึกว่ามีการค้นพบเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อราวๆ 25 ปีก่อน โดยทีมนักวิจัยชาวเวียดนามและรัสเซีย ซึ่งได้รับซากกระจงเวียดนามมาจากนายพรานในพื้นที่อีกที
“เราไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่ามันสูญพันธุ์ แต่ในเวลาเดียวกันเราไม่รู้ว่ามันยังไม่สูญพันธุ์จริงๆ หรือไม่” คุณ Andrew Tilker เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาสัตว์สายพันธุ์เอเชียขององค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (Global Wildlife Conservation) กล่าวเกี่ยวกับสถานะของกระจงเวียดนามในอดีต

ดังนั้นนี่จึงนับว่าเป็นข่าวที่ค่อนข้างดีของเจ้ากระจงหายากสายพันธุ์นี้เลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก ได้ออกมาเปิดเผยในรายงานชิ้นใหม่ว่าพวกเขาได้ค้นพบกระจงเวียดนามที่หายไปอีกครั้งแล้ว
การค้นพบในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งโครงการตามหาสัตว์หายากที่หายไปขององค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก ที่นำทีมโดยคุณ An Nguyen ผู้ซึ่งเดินทางไปทั่วเวียดนามเพื่อสอบถามคนในพื้นที่ว่ามีการพบเห็นสัตว์ที่คล้ายกระจงเวียดนามหรือไม่
ที่มา nature, livescience และ cnn
Cr.catdumb.tv/

ลีเมอร์เกือบทั้งหมด อาจจะกำลังสูญพันธุ์ไปจากโลก


(EDWARD E. LOUIS  ลีเมอร์นอร์เทิร์นสปอร์ตีฟ (Northern sportive lemur) กำลังอยู่ภาวะวิกฤต)

ลีเมอร์ สัตว์ประจำถิ่นมาดากัสการ์ แทบทุกชนิดกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้
กลุ่มนักอนุรักษ์นานาชาติ ซึ่งนำโดย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ตระกูลไพรเมต (Primate Specialist Group) เปรียบเทียบจำนวนประชากรของลีเมอร์ที่หลงเหลืออยู่ กับภัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและถิ่นอาศัยของพวกมัน และได้ข้อสรุปว่า เหล่าลีเมอร์เป็นสัตว์ตระกูลไพรเมตที่เสี่ยงสูญพันธุ์ที่สุดในโลก

ในแถลงการณ์ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ตระกูลไพรเมต นายรัสเซลล์ มิตเทอร์ไมเออร์ จากองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (Global Wildlife Conservation) กล่าวว่า ข้อสรุปนี้ทำให้เห็นว่า "มีความเสี่ยงสูงมาก ที่บรรดาลีเมอร์อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวประจำมาดากัสการ์จะสูญพันธุ์" และเป็นสัญญาณเตือนถึงภัยคุกคามต่อทั้งระบบนิเวศบนเกาะแห่งนี้อีกด้วย

สัตว์เหล่านี้ กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากมนุษย์ที่ทำลายที่อยู่อาศัยของพวกมัน โดยเฉพาะการเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ลักลอบตัดต้นไม้ และผลิตเหมืองถ่านหิน  นอกจากนี้ การล่าลีเมอร์เพื่อเป็นอาหารหรือซื้อ-ขาย เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามใหม่ที่ทำให้พวกมันใกล้สูญพันธุ์
มีลีเมอร์ทั้งหมด 111 ชนิดที่นักวิทยาศาสตร์รู้จัก ซึ่งทั้งหมดเป็นสัตว์ประจำถิ่นในมาดากัสการ์ และกลุ่มอนุรักษ์พบว่า 105 สปีชีส์จากทั้งหมดกำลังถูกคุกคาม
Cr.bbc.com/

ชะมดแผงสันหางดำ สัตว์ลึกลับใกล้สูญพันธุ์


ชะมดแผงสันหางดำ (Large-spotted Civet)
หมอบุญส่ง เลขะกุล บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของไทย รายงานไว้ในอดีตว่า ชะมดแผงสันหางดำเป็นสัตว์หาง่ายของไทย พบได้ทั่วไป
เมื่อปี 1996 ชะมดแผงสันหางดำ ยังมีสถานภาพ “ไม่ถูกคุกคาม” หรือ Least Concern แต่พอปี 2008 จำนวนของมันลดลงอย่างฮวบฮาบ เลื่อนชั้นมาเป็นสัตว์ระดับโลกแบบก้าวกระโดด สถานภาพกลายเป็น “เสี่ยงสูญพันธุ์” หรือ Vulnerable แล้วพอปี 2015 ก็ Endangered

สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดนี้ถูกเชื่อว่ามันหมดสิ้นไปแล้วจากจีนและเวียดนาม แทบไม่เหลือในลาว ส่วนในไทยเองก็หมดจากภาคเหนือและอีสานตอนบน

ในประเทศไทย การสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายก็พบชะมดแผงสันหางดำเหลืออยู่ในป่าไม่กี่แห่ง มากที่สุดน่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา รองลงมาอาจเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสลักพระ จ.กาญจนบุรี

ในเอกสารของ IUCN Red List สันนิษฐานสาเหตุการล้มหายตายจากอย่างรวดเร็วของชะมดแผงสันหางดำ เกิดจากป่าถิ่นอาศัยถูกทำลายกลายเป็นแหล่งเพาะปลูก และก็การล่าด้วยแร้ว ความเป็นสัตว์หายากและออกหากินกลางคืน จึงไม่ค่อยมีใครได้เห็นตัวจริงของมัน
ทั้งนี้ มีข้อยกเว้น เช่น ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชะมดแผงสันหางดำติดกล้องดักถ่ายนักวิจัยที่ความสูง 780 เมตร 
Cr.igreenstory.co/

สร้างรั้วกั้นปกป้องสัตว์ท้องถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


มีการสร้างรั้วยาว 44 กิโลเมตร  เพื่อเป็นพื้นที่ป่าที่ปลอดจากเเมวป่าที่ใหญ่ที่สุดของเกาะออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่ของสัตว์ท้องถิ่นของออสเตรเลียที่ถูกคุกคาม ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอลิซ สปริงส์ (Alice Springs)

รั้วนี้ไม่ได้เป็นเพียงรั้วกันแมวป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงการกำจัดแมวป่าที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย โครงการกำจัดแมวป่านี้จะใช้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาวเผ่าพื้นเมืองอะบอริจินในการจับแมวป่าออกจากพื้นที่ภายในรั้วออกให้หมดภายในปลายปีนี้ ก่อนที่จะปล่อยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีถุงหน้าท้องซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เข้าไปอาศัยในพื้นที่ ซึ่งรวมทั้งตัววัลลาบี้กระต่ายสีน้ำตาลแดง (rufous hare-wallaby) หนูบิลบี้ (bibly) หนูพันธุ์พื้นเมืองออสเตรเลีย และหนูพุกขนสีทอง (golden bandicoot)

โครงการนี้เป็นโครงการปล่อยสัตว์ป่าพื้นเมืองที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เข้าไปอยู่ในป่าอีกครั้ง โดยมุ่งกำจัดสัตว์ที่กินสัตว์เหล่านี้เป็นอาหาร เช่น แมวป่าเเละสุนัขจิ้งจอก โดยร่วมมือกับชุมชนชาวพื้นเมืองในพื้นที่ ก่อนที่จะปล่อยสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์นี้
แมวป่าเเละสุนัขจิ้งจอก เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญหลายอย่างที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมท้องถิ่นของออสเตรเลียมีอัตราเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดในโลก  ก่อนหน้านี้ ก็มีการสร้างรั้วหลายแห่งเพื่อป้องกันกระต่ายเเละหมาป่าในหลายๆ ส่วนของประเทศ  
Cr.voathai.com/

พบกับเรื่องราวความสนุกสนานของ “คิง จูเลียน” ลีเมอร์แห่งมาดากัสการ์ 
Cr.mono29.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่