ทิพยญาณพระแม่สุรัสวดีมหาเทวี

ทิพยญาณพระแม่สุรัสวดีมหาเทวี

๑. ภูมิธรรม คือ อักษร ศิลปะศาสตร์ต่างๆ ภูมิปัญญา

๒. ทิพยพลัง คือ ปัญญาในการสร้างคัมภีร์ บันทึกศาสตร์ต่างๆ ขุมความรู้

๓. การบูชา
  ๓.๑ พิธีกรรม การปฏิบัติ คือ ผลไม้
  ๓.๒ จิตวิญญาณ คือ เมตตา กรุณา

  พระแม่สุรัสวดีจะเน้นไปทางศิลป์และศาสตร์ ศิลป์ คือ ศิลปะและลีลา พูดง่ายๆ ศิลป์ของธรรมชาติ ลีลาของธรรมชาติ ก็จะเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง ศาสตร์คือความรู้ วิถี(เส้นทาง) และยุทธวิธีเป็นไปต่างๆ ศิลป์และศาสตร์ไม่ใช่อย่างเดียวกัน เป็นอย่างละแบบกันไม่นำผสมกัน แต่เมื่อถึงคราวใช้จะนำมาผสมกัน นักเขียนหนังสือเขาเขียนลวดลายให้สวย เป็นศิลป์แต่ในความหมายคือศาสตร์ ที่เขียนเป็นศาสตร์ แต่ถ้าเขียนให้สวยเป็นศิลป์ ฉะนั้น ศิลป์และศาสตร์จะรวมกันเป็นหนึ่ง คนที่มีแต่ศิลป์ไม่มีศาสตร์ก็ไม่มีเนื้อหา และหลักการ คนที่มีศาสตร์ไม่มีศิลป์ก็ไม่มีความสวยงาม ไม่มีลีลา ไม่มีกุศโลบาย ไม่มีเทคนิค และแข็งกระด้าง ถ้า ๒ อย่างรวมกันก็จะดี พร้อมกว่า นี่คือความสมดุล ชีวิตคนเราต้องมีพร้อมทั้งสองด้าน

  ทำไมพระแม่สุรัสวดีถือพิณ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงต้องอาศัยพิณ คือ เสียงพิณที่ทำให้พระพุทธเจ้าได้คิด ตึงไปก็ไม่ดี หย่อนไปก็ไม่ดี คนเขาบอกว่าพิณมาจากพระอินทร์ พระอินทร์ท่านก็เรียนมาจากพระแม่สุรัสวดี พระแม่สุรัสวดีท่านจะสร้างความสมดุลถึงต้องถือพิณ นี่เป็นปริศนาธรรมสื่อให้คนเข้าใจว่าพิณ มีเสียงตึงไปก็ไม่ดี หย่อนไปก็ไม่ดี ต้องกลางๆ พอดี ถึงได้เรียกว่าสมดุล และสายกลาง ที่จริงพระแม่ไม่ได้ถือพิณมาดีดให้ฟังอยู่ตลอด แต่เป็นความหมายแห่งปริศนาธรรม พิณนี้เป็นรูปให้เราดู พิณนี้เป็นทุกอย่างในการดำเนินชีวิต การศึกษาศาสตร์ การที่จะรู้ธรรมหรือจักรวาลก็ต้องอาศัยพิณทั้งนั้น ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่เข้าใจถึงจุดสมดุล

  อีกมือหนึ่งของพระแม่สุรัสวดีจะถือพระคัมภีร์ สมุด หรือหนังสือ ซึ่งหมายถึง เป็นผู้รจนา เป็นผู้ดูแล เป็นทั้งศิลป์และศาสตร์อยู่ในคัมภีร์นี้ คัมภีร์ก็คือ ให้เป็นที่รวบรวมทั้งศิลป์และศาสตร์ และความรู้ด้านต่างๆ สรรพสิ่งของโลกรวบรวมอยู่ในคัมภีร์นี้

  อีกพระหัตถ์หนึ่งถือลูกประคำ คือ แสดงถึงความเป็นสมาธิและการสืบเนื่อง และต่อเนื่องของการปัญญา ที่จะเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง อย่างหนึ่ง สรรพสิ่งใดๆ ทั้งปวงหากไม่มีการสืบต่อเนื่อง มันไม่สามารถบรรลุ ถึงผล เราเอาลูกประคำมาทำไม เราเอาลูกประคำมาเพื่อให้เป็นปริศนาธรรมให้กับเราให้เป็นตัวอย่าง ให้สติต่อเนื่อง ให้สมาธิต่อเนื่อง เพราะสิ่งนี้ทำให้ต่อเนื่อง จึงก่อให้เกิดการต่อเนื่อง อาศัยรูปต่อเนื่องจึงส่งผลให้นามและจิตต่อเนื่อง ไม่หลุด จึงทำให้เหตุดำเนินไปถึงผลได้สำเร็จ (สมาธิที่เคลื่อนไหว)

  จิตของเรานับลูกประคำมันน่าจะไม่ต่อเนื่อง เพราะบางทีนับแล้วหลุดหรือความห่างของลูกประคำไม่เท่ากันทำให้เกิดการคลุกคละระหว่างนับลูกประคำ และบางทีต้องส่งจิตมาแก้ไขต่อนับลูกประคำมันติดขัด

  นี่แหละเป็นการตรวจสอบว่าจิตของเราหนีหรือเปล่า ถ้าไม่มีตัวนี้เราจะรู้ไหม ก็ไม่รู้ ถ้าเรามีการติดขัดแล้วจิตของเราจะเข้ามาเร็วไหม แน่นอนต้องเข้ามาเร็ว ก็ต้องอาศัยลูกประคำ เราเอาไว้ตรวจสอบ ถ้าเราไม่มีลูกประคำเราตรวจสอบจิตของเราไม่ออก จิตหนีไปตั้งไกลยังไม่รู้เลย อย่างนี้เก็กเดียวผิดก็รู้แล้ว ถึงทำให้จิตเกิดการต่อเนื่องได้ ไม่ออกไปไกล จึงเป็นวิถีแห่งการฝึกฝนที่จะให้เกิดสมาธิที่ต่อเนื่อง จึงจะเอาสมาธินี้ไปใช้ในการทำงานได้

^_^  ..._/\_...  ^_^ 
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่