มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยขอให้กรมปศุสัตว์ทบทวนกรณี “ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง”

          เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562  มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีแผนการที่จะให้ประชาชนลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงและฝังไมโครชิพทุกตัวเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการระบุตัวตนสัตว์ ถึงข้อควรกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและอาจเป็นวิธิควบคุมสัตว์จรจัดที่ไม่ยั่งยืน      
          นางสาวลูอีซ โรส ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยกล่าวว่า  ถึงแม้การลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงจะเป็นประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย  เพราะหากการลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงต้องมีค่าใช้จ่าย ผู้ที่เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการรับเลี้ยงสุนัขและแมวจรมีแนวโน้มที่จะทิ้งสัตว์เหล่านั้นมากกว่าที่จะจ่ายเงินเพื่อลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง  กล่าวคือกระบวนการนี้จะทำให้มีสัตว์ถูกทอดทิ้งมากขึ้น และเพิ่มจำนวนสัตว์จรจัดในประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  เพราะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เลี้ยงมีความรับผิดชอบมากขึ้น  แต่สุนัขจรจัดที่มีแต่เดิมอยู่แล้วนั้นมีแต่จะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ  

          กรมปศุสัตว์ได้บันทึกสถิติของจำนวนสุนัขและแมวจรจัดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2560 อยู่ที่ประมาณ 860,000 ตัว ซึ่งมูลนิธิเชื่ออย่างยิ่งว่าจำนวนในขณะนี้น่าจะมากถึง 10 เท่า หรือราวๆ 8,600,000 ตัว โดยวิธิที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการควบคุมประชากรสัตว์จรจัดเหล่านี้ในระยะยาว คือการทำโครงการ CNVR ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนได้แก่  จับ  ทำหมัน  ฉีดวัคซีน และปล่อยกลับสู่ถิ่นเดิม ซึ่งมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยได้ยึดถือหลักการนี้และปฏิบัติมาต่อเนื่อง 16 ปี 
          นายสัตวแพทย์ ตันติกร รุ่งพัฒนะ  ผู้อำนวยการสวัสดิภาพสัตว์มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยกรุงเทพฯ กล่าวว่า มูลนิธิได้ดูแลทำหมันและฉีดวัคซีนสุนัขและแมวจรจัดมากว่า 350,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นสุนัข  กว่า 150,000 ตัวเป็นจำนวนแค่ในกรุงเทพที่เดียว สัตว์พวกนี้จะไม่สามารถขยายพันธุ์อีกได้ พร้อมฉีดยาป้องกันโรคติดต่อต่างๆในสุนัขและแมว เช่น โรคพิษสุนัขบ้า จึงสามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้   ซึ่งมูลนิธิได้พิสูจน์แล้วว่า CNVR เป็นวิธิที่ได้ผล เช่นจังหวัดภูเก็ตเมื่อปีพ.ศ. 2548  มีสุนัขจรจัดประมาณ 80,000 ตัวรอบเกาะ ในปัจจุบันนี้มีจำนวนน้อยลงกว่า 10 เท่า และพบว่าสุนัขมีสุขภาพดี สมบูรณ์

          การลดจำนวนของสุนัขจรจัดลงอย่างมหาศาลนี้เป็นผลมาจากการที่สุนัขได้รับการทำหมัน  การแพร่พันธุ์จึงลดลงตามลำดับ  ซึ่งมีปศุสัตว์จังหวัดในหลายพื้นที่เห็นด้วยและให้การสนับสนุนกับกระบวนการ CNVR  ถึงเวลาที่ต้องผลักดันให้ CNVR  นี้เป็นวาระสำคัญระดับชาติ และรัฐบาลควรเล็งเห็นถึงความสำคัญ ดังนั้น มูลนิธิจึงร้องขอให้กรมปศุสัตว์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทบทวนการวางแผนขับเคลื่อนการลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง และพิจารณางบประมาณในการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในระยะยาวซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ ด้วยวิธิการ CNVR  
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่