CAT มอบเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ระบบการเกษตรอัจฉริยะ ช่วยให้เกษตรกรรมเป็นเรื่องง่าย และทันสมัยมากยิ่งขึ้น

กระทู้ข่าว
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ส่งมอบเทคโนโลยีสำหรับการทำเกษตรอัจฉริยะให้แก่ โรงเรียนบ้านปรือวายใหญ่ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 โดยมี นายชาตรี เชื้อสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริการลูกค้า กสท เขตตะวันออก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT พร้อมด้วย นางสาวโชติกา ไพจ์ศรี ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ส่งมอบอุปกรณ์เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) สำหรับการทำเกษตรยุคดิจิทัล  โดยมี นางรัตนาภรณ์ ศรีสรวย รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต 1 และนางสุดา พันธ์ธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปรือวายใหญ่เป็นผู้รับมอบ

โดย CAT ได้จัดทำโรงเรือนและระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ ระบบเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิความชื้นในดินและอากาศ สำหรับใช้ควบคุมคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิตให้กับโรงเรือนแปลงผัก แปลงเห็ดในโรงเพาะชำ และสวนมะนาวของโรงเรียน ซึ่งช่วยส่งเสริมโครงการอาหารกลางวัน โดยมีนักเรียนและคณะอาจารย์ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
                    
การควบคุมระบบเปิด-ปิดน้ำ
“น้ำ” คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรสวยงามและอุดมสมบูรณ์ได้ตามต้องการ CAT จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมระบบการเปิด-ปิดน้ำของสปริงเกอร์ ที่ถูกติดตั้งไว้ที่แปลงผัก สั่งการด้วยปลายนิ้วจากโทรศัพท์มือถือ เพียง 1 คลิกจากที่ใดก็ได้ สามารถควบคุมการทำงานได้อย่างเรียลไทม์ การให้น้ำแก่พืชได้ทันเวลาตามที่พืชต้องการ จะช่วยลดความเสียหายจากการขาดน้ำของพืชได้ อีกทั้งยังสร้างความแม่นยำ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

ระบบเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิความชื้นในดินและอากาศ
“ความชื้น” คือตัวควบคุมความเจริญเติบโตของพืชผลในแปลงผัก เพราะน้ำในดินจะละลายธาตุอาหารของพืชออกมาให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ ถ้าพืชขาดน้ำจะทำให้การเจริญเติบโตลดลง ส่งผลให้ผลผลิตของพืชลดลง ซึ่งกำหนดเวลาให้น้ำก็สามารถพิจารณาได้จากปริมาณความชื้นในดินได้ ทาง CAT มีเทคโนโลยีที่สามารถวัดอุณหภูมิความชื้นในดินและอากาศ ที่ส่งสัญญาณเตือนทางแอปพลิเคชัน ทำให้น้องๆ นักเรียนได้เรียนรู้การแก้ปัญหา เลือกชนิดของพืชผักที่สามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ในดินแต่ละแบบ ด้วยความแม่นยำและรวดเร็วผ่านเทคโนโลยี จึงทำให้การทำแปลงเกษตรอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องยาก ใครๆ ก็สามารถพัฒนาผลิตผลและคุณภาพของแปลงเกษตรพืชผักสวนครัวของโรงเรียนได้

นอกจากนี้ทีมวิศวกร CAT และอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันจัดอบรมให้ความรู้แก่คณะครู นักเรียน ผู้ปกครองและคนในชุมชน เรื่องระบบน้ำกับฟาร์มเกษตรและความรู้เกี่ยวกับเซ็นเซอร์ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ IoT และ Big Data กับ Smart Farm เพื่อให้บุคลากรของโรงเรียนฯ มีความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากการทำงานของ Smart Farm ได้อย่างเต็มที่  ซึ่งคณะครูและนักเรียนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการอบรม และทางทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังให้น้องๆ รักเทคโนโลยีทางการเกษตร ทำให้เป็นเรื่องที่ง่ายและสนุก รวมทั้งเป็นช่องทางในการหารายได้เสริมให้กับโรงเรียน

โครงการ “CAT Digital Come Together” โครงการ CSR ที่มุ่งมั่นส่งเสริมให้เด็กไทยเห็นคุณค่าของอาชีพเกษตรกรรมพร้อมให้การสนับสนุนระบบเทคโนโลยี IoT เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเชื่อว่าจะสามารถเป็นต้นแบบการทำเกษตรอัจฉริยะให้โรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจได้อีกด้วย ติดตามกิจกรรมดีๆ จาก CAT ได้ที่ www.catcsr.com
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่