ตามรอยหลวงปู่ทวดที่มาเลเซีย

เมื่อเอ่ยชื่อถึง หลวงปู่ทวด หรือสมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ พระอริยสงฆ์แห่งแดนสยาม เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศต้องรู้จักท่านหรืออย่างน้อยต้องเคยได้ยินนามของท่าน จขกท.เป็นคนหนึ่งที่เคารพและศรัทธาหลวงปู่ทวด และตั้งใจว่าเมื่อมีโอกาส จะไปสักการะสถานที่พักศพของท่านที่ประเทศมาเลเซียรวมถึงจุดพักศพในประเทศไทย และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ได้มีโอกาสไปตามรอยสถานที่มรณภาพและจุดพักศพต่างๆ ซึ่งจขกท. เองตั้งใจว่าเมื่อมีเวลาจะลงภาพและข้อมูลการเดินทางใน ppantip.com เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่สนใจจะเดินทางไปตามรอยท่านไม่มากก็น้อย พร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

มีการศึกษาเส้นทางเคลื่อนศพหลวงปู่ทวด โดย นายชัยวุฒิ พิยะกูล หัวหน้าโครงการ "สำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกัยหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดบริเวณตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย" ได้มีออกสำรวจสืบค้นประวัติศาสตร์ตั้งแต่รัฐเปรัคถึงวัดช้างให้ พบเส้นทางโบราณ อันเป็นเส้นทางการค้าสัญจรค้าขายในอดีต และจากการสำรวจพบเส้นทางไปมาหาสู่กัน อย่างน้อย 2 เส้นทาง คือ บริเวณช่องเขาบ้านประกอบ อำเภอนาทวี และ ช่องเขาบ้านสมแก่ อำเภอสะเดา โดยเดินทางไปตามลำห้วยต้นน้ำคลองอู่ตะเภา ไปสู่อำเภอหาดใหญ่ แต่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า หลวงปู่ทวด น่าจะมรณภาพที่ริมน้ำสุไหงเกอร์ รัฐเปรัค และมีการเคลื่อนขบวนศพ 18 จุดด้วยกัน โดยในยุคนั้นน่าจะใช้ช้างเป็นพาหนะ เพราะต้องผ่านป่าเขาที่อันตราย

จุดที่ 1 สถานที่มรณภาพริมฝั่งแม่น้ำสุไหงเปรัค และสุไหงเกอร์นาริง รัฐเปรัค พบสถูปหลวงปู่ทวดอยู่บริเวณริมน้ำ
จุดที่ 2 สถานที่พักศพบ้านพกั๊วะลั๊วะ หรือวัดโกร๊ะใน ตำบลกั๊วะลั๊วะ อำเภอเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค วัดร้างอายุกว่า 300 ปี เชื่อว่าหลวงปู่ทวดเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้
จุดที่ 3 สถานที่พักศพวัดจะดาบ (ร้าง) ตำบลลูการ์สือมัง อำเภอโกร๊ะห์ รัฐเปรัค
จุดที่ 4 สถานที่พักศพโคกเมรุ อำเภอบาลิง รัฐเคดาห์ เชื่อว่ามีการหยุดพักศพบริเวณโคกสูงแห่งนี้
จุดที่ 5 สถานที่พักศพบุกิตสามี หรือควนพระ รัฐเคดาห์
จุดที่ 6 สถานที่พักศพบ้านควนเจดีย์หรือบ้านหลังไกว้ รัฐเคดาห์ อดีตตามคำบอกเล่า เคยมีการสร้างเจดีย์เพื่อเป็นที่ระลึก แต่ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอย เพราะปัจจุบันเป็นดินแดนมุสลิม
จุดที่ 7 สถานที่พักศพบ้านปาดังเปรียง หรือปาดังแปลง รัฐเคดาห์ เชื่อว่ามีร่องรอยพักศพหลงเหลืออยู่ มีลักษณะเป็นเนินจอมปลวก ตั้งอยู่หลังวัดเทพสุวรรณาราม ชาวบ้านเชื่อว่า สมัยก่อนพักศพจุดใด หากมีน้ำเหลืองและน้ำเน่าไหลจากศพตกสู่พื้นดิน ชาวบ้านจะช่วยกันนำหลักไม้มาปัก เพื่อเคารพกราบไหว้บูชา เรียกว่า "หลักไม้แก่น"
จุดที่ 8 สถานที่พักศพบ้านทุ่งควาย หรือกำปงจีนา รัฐเคดาห์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีเจดีย์ที่เชื่อว่าสร้างครอบจุดพักศพหลวงปู่ อีกทั้งยังเชื่อว่ามีอัทธิหลวงปู่บรรจุอยู่ภายในเจดีย์
จุดที่ 9 สถานที่พักศพวัดลำปำ ตำบลรำไม อำเภอเปิ้นดัง รัฐเคดาห์ ในอดีตมีเขื่อนหลวงพ่อทวดตั้งอยู่กลางวัด แต่มีสภาพทรุดโทรมจึงรื้อถอนไป มีการขุดพบหม้อทองแดง 1 ใบ ภายในมีแผ่นจารึกระบุว่า "สถานที่ตั้งศพหลวงพ่อทวด"
จุดที่ 10 สถานที่พักศพบ้านปง ตำบลเตอกเยร์คีรี อ.ปาดังเตอรัป รัฐเคดาห์
จุดที่ 11 สถานที่พักศพบ้านปลักคล้า ตำบลนาคา อำเภอปาดังเตอรัป รัฐเคดาห์ พบหลักไม้แก่นรูปบัวตูม
จุดที่ 12 สถานที่พักศพบ้านนาข่า ตำบลนาคา อำเภอปาดังเตอรัป รัฐเคดาห์ พบหลักไม้แก่นรูปบัวตูม
จุดที่ 13 สถานที่พักศพบ้านบาวฉมัก รัฐเคดาห์ พบหลักไม้แก่นในสวนยางพาราของชาวบ้าน
จุดที่ 14 สถานที่พักศพบ้านดินแดง รัฐเคดาห์ พบหลักไม้แก่นถูกจอมปลวกคลุม
จุดที่ 15 สถานที่พักศพบ้านปาดังสะไหน อำเภอปาดังเตอรัป รัฐเคดาห์ หลักไม้แก่นเดิมทรุดโทรม ได้บูรณะใหม่เป็นเป็นหลักหินทรงบัวตูม ที่นี่เป็นจุดสุดท้ายในมาเลเซียก่อนเข้าไทย
จุดที่ 16 สถานที่พักศพบ้านถ้ำตลอด ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เคยมีศาลาหลวงพ่อทวดปรากฏอยู่ในประวัติวัดแห่งนี้
จุดที่ 17 สถานที่พักศพบ้านช้างให้ตก วัดบันลือคชาวาส ตำบลช้างให้ตก อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
จุดที่ 18 สถานที่ฌาปนกิจศพวัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

Cr. https://www.hatyaifocus.com/บทความ/806-เรื่องราวหาดใหญ่-ปริศนา%2B%3F%3F%2Bเส้นทางเคลื่อนศพ...หลวงปู่ทวด/

หากดูตามข้อมูลทั้ง 18 จุดข้างต้น เมื่อเทียบออกมาเป็นเส้นทางในแผนที่ปัจจุบันจะเป็นตามนี้



โดยจุดที่ 2 ถึง 6 นั้น จขกท. ไม่ได้เดินทางไป ด้วยเหตุที่จุดดังกล่าวไม่ปรากฏสถานที่ในแผนที่ หรือเป็นเขตหวงห้าม เช่นจุดที่ 2 (สถานที่พักศพบ้านพกั๊วะลั๊วะ หรือวัดโกร๊ะใน ตำบลกั๊วะลั๊วะ อำเภอเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค) พระมหาธนพล กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดหลวงปู่ทวดอาเยียกาลา ได้ให้ข้อมูลกับจขกท. ว่าปัจจุบันเป็นเขตทหารของมาเลเซีย ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไป จุดที่ 3 (สถานที่พักศพวัดจะดาบ (ร้าง) ตำบลลูการ์สือมัง อำเภอโกร๊ะห์ รัฐเปรัค) ต้องเดินเท้าเข้าไปในป่าลึก ซึ่งท่านเองก็ไม่ทราบตำแหน่งที่แน่ชัด จุดที่ 4 และ 5 ไม่ปรากฏสถานที่ในแผนที่ ส่วนจุดที่ 6 ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอย ทั้งนี้ต้องย้ำว่าข้อมูลของจุดที่ 2 ถึง 6 เป็นข้อมูลที่เกิดจากการสอบถามของจขกท. รวมกับการเดินทางเสาะหาสถานที่จริงจากข้อมูลที่มีอยู่ แต่ไม่พบสถานที่ หากท่านใดที่ได้เดินทางไปแล้วบังเอิญพบสถานที่ที่เป็นจุดดังกล่าว สามารถแชร์ให้จขกท. รวมถึงผู้ที่สนใจท่านอื่นๆ ได้ครับ จขกท. จักขอบพระคุณและยินดีมากครับ

วันแรกเริ่มต้นการเดินทางตามรอยจากกรุงเทพฯ นั่งเครื่องไปลงที่ปีนัง มาเลเซีย สาเหตุที่จขกท. เลือกไปลงที่ปีนังเพราะสามารถเช่ารถขับจากปีนังไปยังสถานที่มรณภาพจุดที่ 1 ที่เมืองกริค (Gerik) รัฐเปรัคได้สะดวก อีกทั้งปีนังเป็นเมืองใหญ่ที่มีที่พักสะดวกสบายและของกินให้เลือกมากมาย 

หลังจากลงจากเครื่องแล้วก็ไปรับรถเช่าที่ได้ทำการจองไว้ และเช็คอินเข้าโรงแรมย่าน Georgetown

วันที่ 2 ออกเดินทางจากปีนังไปกริค โดยจุดหมายแรกคือวัดหลวงปู่ทวดอาเยียกาลา ใช้เส้นทางหมายเลข E36 ข้ามสะพานปีนังแล้วเข้าเส้นทางหมายเลข AH2 และ A6 และ 76 ตามลำดับ สำหรับผู้ที่ขับรถในมาเลเซีย จขกท.แนะนำให้ซื้อ Touch & Go ซึ่งเป็น tag ประเภท RFID ที่เอาไว้แตะผ่านด่านเวลาใช้ทางหลวงในมาเลเซีย (คล้ายๆ กับ Easy Pass บ้านเรา) ซึ่งต้องใช้เกือบตลอดเวลาเดินทาง และสามารถเติมเงินใส่ในร้านสะดวกซื้อทุกแห่ง



อันที่จริง จขกท. ตั้งใจว่าจะตรงไปยังจุดที่ 1 คือสถานที่มรณภาพของท่านเลยแต่เนื่องจากหาไม่พบในตอนแรก จึงได้สอบถามจากชาวมาเลย์แถวเมืองกริค (Gerik) จนสุดท้ายก็ได้มาพบจุดที่เป็นวัดหลวงปู่ทวดอาเยียกาลา


บริเวณทางเข้าวัดจากถนนหลัก Jalan Lenggong-Gerik ซึ่งมีป้ายบอก 


ขับเข้ามาจากปากทางประมาณ 400 เมตร วัดจะอยู่ทางด้านขวามือ


บริเวณด้านหน้าวัด

 


บริเวณภายในวัด




ป้ายบอกเส้นทางการเคลื่อนศพหลวงปู่ทวดเป็นภาษาจีน



เมื่อขับเลยจากวัดมาอีกประมาณ 450 เมตร จะมีวัดหลวงพ่อทวดอาบน้ำ ลักษณะเป็นศาลาหลังเล็ก




ภายในมีบ่อน้ำ ที่มีความเชื่อว่าหลวงปู่ทวดท่านมาสรงน้ำที่นี่ คนมาเลเซียนิยมนำน้ำในบ่อมาสาดที่รถ เข้าใจว่าเพื่อให้แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุเวลาขับรถ



วัดหลวงปู่ทวดอาเยียกาลาและวัดหลวงพ่อทวดอาบน้ำตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่ากำปงซาว่า (Kampung Sawa) ซึ่งในอดีตหมู่บ้านกำปงซาว่าเป็นบริเวณที่พำนักครั้งสุดท้ายของหลวงปู่ทวดเมื่อตอนที่ท่านเดินทางไปร่วมงานสมโภชพุทธสถานตามคำนิมนต์ของเจ้าเมืองไทรบุรี (รัฐเคดาห์และส่วนหนึ่งของรัฐเปรัคในปัจจุบัน) แต่ท่านเกิดอาพาธระหว่างการประกอบกิจนิมนต์ คณะลูกศิษย์จึงได้นำท่านเดินทางกลับประเทศไทย จากกำปงซาว่า คณะลูกศิษย์ได้นำท่านเดินทางต่อโดยการใช้เสลี่ยงที่มีคนแบกแทนการขี่ช้าง เมื่อมาถึงจุดแม่น้ำใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณที่บรรจบการของแม่น้ำเกอร์นาริงและแม่น้ำเปรัค หากจากกำปงซาว่าราว 2 กม. คณะเดินทางได้หยุดพักและรอข้ามฟาก ทว่าในคืนหนึ่งหลังจากที่ท่านเทศนาสั่งสอนลูกศิษย์ และสั่งเสียเรื่องการจัดการศพหลังมรณภาพแล้ว ท่านก็ละสังขารไปอย่างสงบ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "ซามิมาติ" (Sami Mati) แปลว่า "ที่พระสงฆ์มรณภาพ"

จากการมาแวะที่วัดหลวงปู่ทวดอาเยียกาลา จขกท.ได้สอบถามถึงจุดที่เป็นสถานที่มรณภาพของหลวงปู่ทวดริมแม่น้ำสุไหงเกอร์นาริงตามที่ได้หาข้อมูลมาก่อนเดินทางกับทางพระมหาธนพล กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดหลวงปู่ทวดอาเยียกาลา ซึ่งท่านได้เมตตาบอกเส้นทางตามแผนที่ด้านล่าง



เมื่อขับจากทางหลักหมายเลข 76 ก่อนที่จะถึงทางแยกย่อยไปยังสถานที่มรณภาพ จะมีป้าย Kampung K. Kenering



เมื่อเจอป้ายให้เลี้ยวซ้ายลงไป จะพบทางย่อย 2 เส้น ให้ไปเส้นในที่ไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำ จุดสังเกตคือจะมีรถโรงเรียนจอดอยู่



มีรถโรงเรียนจอดอยู่ด้านหน้า



ส่วนอีกเส้นจะมีสะพานข้ามแม่น้ำ ซึ่งไม่ใช่



เมื่อผ่านรถโรงเรียนไปแล้ว จะมีป้ายบอกชื่อถนน Jalan Paklong Hashim



ไปตามทางจะผ่านหมู่บ้านของชาวมุสลิม




จนกระทั่งมาถึงบริเวณที่แม่น้ำสองสายคือสุไหงเปรัคและสุไหงเกอร์นาริงมาบรรจบกัน (ย้อนกลับไปดูแผนที่ข้างต้น จะเป็นบริเวณหมุดสีแดงที่ปักไว้) จะพบสถูปหลวงปู่ทวดอยู่ริมแม่น้ำ บริเวณด้านซ้ายจะเป็นต้นไผ่ขนาดใหญ่ ส่วนด้านขวาจะเป็นลักษณะตลิ่งสูงขึ้นไปเล็กน้อยเป็นบ้านอยู่อาศัยของชาวบ้านแถบนั้นซึ่งมีรั้วกั้นอยู่



สถานที่มรณภาพของท่านตรงนี้เป็นจุดที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกันพอดี ด้านซ้ายคือแม่น้ำสุไหงเกอร์นาริง ส่วนด้านขวาคือแม่น้ำสุไหงเปรัค

 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่