JJNY : 4in1 เช็ค5ปมจากทอล์คพล.อ.อภิรัชต์/อนค.โคราช จัดเสวนารำลึก/เทพไทมองหยุดทะเลาะยาก/15 ต.ค.เมืองคอนเดือด!

เช็คอย่างน้อย 5 ปม จากทอล์ค พล.อ.อภิรัชต์ ที่คุณต้องร้อง อิหยังวะ!
https://prachatai.com/journal/2019/10/84748

ทีมข่าวการเมือง

ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการบรรยายพิเศษของ พล.อ.อภิรัชต์ อย่างน้อย 5 ประเด็นที่ต้องบอกว่าไม่จริงหรือเข้าใจผิด ตั้งแต่ การเสียดินแดน 14 ครั้ง? เอาฝรั่งที่ไหนก็ไม่รู้ มาถ่ายรูปหน้าโรงพัก? ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนไปเรียบร้อยแล้ว? โจชัว หว่องมาเมืองไทยไม่รู้กี่รอบ? จนถึง Big Data Analytics?

จากกรณีเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2562 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) โดยมีข้าราชการกระทรวงกลาโหม นิสิตนักศึกษา สื่อมวลชนไทย และต่างประเทศร่วมฟังการฟังบรรยายร่วม 1 ชั่วโมงครึ่ง (อ่านรายละเอียดแบบคำต่อคำที่นี่) ซึ่งเปิดเผยทั้งความคิด ข้อมูล ทัศนคติทางการเมืองของ ผบ.ทบ. อย่างไรก็ตามในข้อมูลนั้นก็มีข้อโต้แย้งทั้งในเชิงข้อเท็จจริงและความคิดอยู่ ซึ่งประชาไทได้รวบรวมบางส่วนมานำเสนอดังนี้

   •  คำต่อคำ: ชาติไทยและภัยความมั่นคงในความนึกคิดของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ https://prachatai.com/journal/2019/10/84718
   •  ธงชัย วินิจจะกูล: "เสียดินแดน" เป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตายแทน https://prachatai.com/journal/2011/02/33012

ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน 14 ครั้ง?

พล.อ.อภิรัชต์ พูดตอนหนึ่งว่า “..เดิมนั้นอาณาจักรของไทยตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรีมีความกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหน ทิศเหนืออาณาจักรล้านนาเป็นของเรา ทิศใต้ตั้งแต่ดินแดนรัฐกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี เป็นของประเทศไทย ทิศตะวันออกตั้งแต่ลาว เขมร จบที่ญวณก็เป็นของประเทศไทย ส่วนทิศตะวันตกจรดดินแดนเมาะตะมะ ทวาย มะริด ตะนาวศรี ข้อมูลพวกนี้น้องๆ หาดูได้ ผมไม่รู้ว่าเดียวนี้โรงเรียนยังสอนวิชาประวัติศาสตร์เหล่านี้อยู่หรือเปล่า น้องๆ รู้ไหมว่าแต่ก่อนมันกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหน แล้วทำไมตอนนี้แผ่นดินจึงไม่มีรูปร่างอย่างนี้แล้ว มาดูกันว่ามันเกิดเห็นอะไรกันบ้าง เราเสียแผ่นดินทั้งหมด 14 ครั้ง ในรัชกาลที่ 1 เราเสียดินแดนสองครั้งคือ เกาะหมาก หรือปีนัง (มีเสียงการสู้รบด้วยการฟันดาบดังขึ้น) ใครไม่รู้จักปีนังบ้าง แต่ก่อนเป็นของเรา เราเสียให้อังกฤษ..”

จากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ไล่ประวัติการเสียดินแดน ซึ่งเป็นไปตามที่หลายคนเคยเห็นตามหนังสือแบบเรียนหรือคลิปในยูทูบ 14 ครั้ง จนครั้งล่าสุดคือ กรณี เขาพระวิหาร

ประเด็นนี้แม้ช่วงหลังจะมีการเสียพื้นที่ไปหลังจากมีเส้นเขตแดนช่วงรัชกาลที่ 5 แล้วก็ตาม แต่คำถามใหญ่ๆ ที่ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เคยอธิบายไว้ในบทความซึ่งเผยแพร่ทางประชาไท เมื่อปี 2554 (ดู) ว่า ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเรื่องการ “เสียดินแดน” มีองค์ประกอบทางปัญญาสำคัญ 2 ประการ คือ 
1. ต้องอ้างว่าเป็นเจ้าของดินแดนประเทศราชมาแต่โบราณซึ่งเป็นทัศนะประวัติศาสตร์ของเจ้ากรุงเทพฯ และต้องถือเอาความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯมาเป็นของตนด้วย 
และ 
2. ต้องอ้างว่าเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวแบบชาตินิยมของรัฐชาติสมัยใหม่ โดย ธงชัย ได้อธิบายถึงความรู้ประวัติศาสตร์เรื่อง “การเสียดินแดน” ว่าวางอยู่บนความเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ 4 ประการ โดยจะขอยกบางตอนของบทความธงชัย มานำเสนอ ดังนี้

1. เข้าใจผิดว่า รัฐสมัยเก่า (ก่อนศตวรรษที่ 20) ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องใหญ่

ความจริง – รัฐสมัยเก่าไม่ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าเป็นเรื่องของเจ้าที่มีอำนาจมากถืออำนาจบาตร ใหญ่เหนือเจ้าที่มีอำนาจน้อยกว่า ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นกันลงไป คือ เป็นความสัมพันธ์แบบเจ้าพ่อนั่นเอง เจ้าพ่อรายใหญ่ย่อมเรียก “ค่าคุ้มครอง” จากเจ้าพ่อรายเล็กกว่าในรูปของส่วยสาอากรผลประโยชน์ต่างๆและไพร่พล จากนั้นเจ้าพ่อทั้งรายใหญ่รายเล็กก็ไปขูดรีดเอากับไพร่ฟ้าข้าไทในเขตอิทธิพล ของตนอีกทอดหนึ่ง

อำนาจของเจ้าพ่อรายเล็กจึงอยู่ที่อำนาจเหนือไพร่ฟ้าข้าไทในเขต อิทธิพลของตน อำนาจของเจ้าพ่อรายใหญ่จึงอยู่ที่อำนาจเหนือเจ้าพ่อรายเล็กและไพร่ฟ้าข้าไท ในเขตอิทธิพลของตน อธิปไตยเหนือดินแดนแบบสมัยนี้ยังไม่มี อำนาจขององค์อธิปัตย์หมายถึงอำนาจเหนือคน คือ เหนือเจ้าพ่อรายเล็กและไพร่ฟ้าข้าไท ไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตชัดเจน บางทีก็มีบางทีก็ไม่มี ไพร่ฟ้าจะเดินทางไกลไปไหนต่อไหนก็ยังถือว่ายังอยู่ ใต้อำนาจของเจ้าองค์เดิม หรือที่เรียกว่า “ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” ของเจ้าองค์เดิม

ดินแดน” ที่รัฐสมัยเก่าหวงแหนสุดขีดคือ เมืองและวัง เพราะหมายถึงอำนาจของเจ้าพ่อ รัฐสมัยเก่าไม่หวงแหนชายแดน ยกให้เป็นของขวัญแก่ฝรั่งอังกฤษมาแล้วก็มี

2. เข้าใจผิดว่า เมืองขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยของรัฐเจ้าพ่อใหญ่

ความจริง – เจ้าพ่อรายเล็กที่ยอมเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชของรัฐเจ้าพ่อใหญ่ยังคงมี อำนาจเหนือเมือง วัง ไพร่ฟ้าข้าไทและเขตอิทธิพลของตน เพียงแต่ไม่ถือว่าเป็น “อิสระ” (คำว่า “อิสระ” แต่เดิมหมายถึงเป็นใหญ่สูงสุด ความหมายเพิ่งเปลี่ยนเป็น independence พร้อมๆกับรัฐสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 นี่เอง) จะถือว่าเป็น “อิสระ” ได้ยังไงในเมื่อยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐเจ้าพ่อใหญ่ แต่การสวามิภักดิ์มิได้หมายถึงตกเป็นสมบัติของรัฐเจ้าพ่อใหญ่แต่อย่างใด เพียงหมายถึงยอมอยู่ใต้อำนาจบาตรใหญ่ “ความคุ้มครอง” ของเจ้าพ่อรายใหญ่กว่าและยอมจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ตามที่เจ้าพ่อรายใหญ่เรียกมาเท่านั้นเอง “เขตอิทธิพล” หรือดินแดนที่ไม่มีขอบเขตชัดเจนของเมืองขึ้นหรือประเทศราชจึงไม่ใช่สมบัติ ของเจ้าพ่อรายใหญ่ แต่แน่นอนว่าเจ้าพ่อใหญ่อย่างเจ้ากรุงเทพฯย่อมถือว่า ประเทศราชเป็นสมบัติของ ตน

ทัศนะที่ถือว่าประเทศราชและดินแดนชายขอบอำนาจเป็นของประเทศไทยมา แต่โบราณ เช่น สุโขทัยเป็นเจ้าของทั้งแหลมมลายู จึงเป็นทัศนะประวัติศาสตร์แบบเจ้าพ่อใหญ่ เช่น เจ้ากรุงเทพฯ เจ้าอังวะ หงสา ฯลฯ แต่ทว่าไทย/สยามที่เป็นรัฐแบบชาติสมัยใหม่กลับรักษาทัศนะประวัติศาสตร์ของ เจ้ากรุงเทพฯและยกให้เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติอีกด้วย ประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็น “ราชาชาตินิยม” คือไม่ใช่แค่ชาตินิยมอย่างประเทศอื่น แต่เป็นชาตินิยมที่คิดแบบเจ้ากรุงเทพฯ เช่น ถือว่าประเทศราชและดินแดนชายขอบอำนาจเป็นของประเทศไทยมาแต่โบราณ

3. เข้าใจผิดว่า เมืองขึ้นหรือประเทศราชหนึ่งย่อมขึ้นต่อเจ้าพ่อรายใหญ่เพียงรายเดียว เมือง ขึ้นของสยามย่อมขึ้นต่อสยามเท่านั้น ดังนั้นดินแดนประเทศราชย่อมเป็นของประเทศสยามแต่ผู้เดียว

ความจริง – ประเทศราชของอยุธยาและกรุงเทพฯแทบทั้งหมดในประวัติศาสตร์เป็นเมืองขึ้นของ เจ้าพ่อใหญ่รายอื่นด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น พม่า (อังวะ หงสาวดี) และเวียดนาม (เว้ ตังเกี๋ย) เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าแบบเจ้าพ่อนั้น รัฐเล็กๆ ถือว่ายอม อ่อนน้อมต่อเจ้าพ่อใหญ่ดีกว่าโดนเจ้าพ่อลงโทษ ครั้นเจ้าพ่อใหญ่หลายรายมาเรียก “ค่าคุ้มครอง” ก็ยอมซะเท่าที่ยังพอทนไหว (หากทนไม่ไหวค่อยฟ้องเจ้าพ่อ ก. ให้มาจัดการกับเจ้าพ่อ ข.) ประเทศราชของอยุธยาและกรุงเทพฯ เป็นประเทศราชของ 2-3 เจ้าพ่อใหญ่ในเวลาเดียวกัน เจ้ากรุงเทพฯมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 รู้ข้อนี้ดีว่าประเทศราชไม่เคยขึ้นต่อสยามแต่ผู้เดียว

ดังนั้น ขอบข่ายอำนาจของเจ้าพ่อใหญ่อย่าง สยาม พม่า เวียดนามจึงซ้อนทับกันเป็นแถบเบ้อเริ่ม เพราะต่างมี่ประเทศราชร่วมกัน อำนาจซ้อนทับแบบนี้ไม่เป็นปัญหาต้องแบ่งปันกันหรือรบราฆ่ากันเพราะทุกรัฐ สมัยเก่าขอแค่ประเทศราชยอมสวามิภักดิ์และจ่ายค่าคุ้มครองสม่ำเสมอเป็นใช้ได้

แต่ครั้นทุกรัฐรับธรรมเนียมสมัยใหม่จากฝรั่งในปลายศตวรรษที่ 19 ที่ไม่ยอมรับอำนาจเหนือดินแดนแบบซ้อนทับอีกต่อไป และถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องแย่งชิงกันว่าดินแดนของประเทศราชเป็นของใครกันแน่แต่ผู้เดียว ความขัดแย้งระหว่างสยามกับอังกฤษ ฝรั่งเศสสมัยรัชกาลที่ 5 คือ การพยายามแข่งขันกันช่วงชิงดินแดนประเทศราชมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว กรณี “เสียดินแดน” คือผลของการแย่งชิงกันแล้วสยามแพ้ สยาม “ไม่ได้ดินแดนมาเป็นของสยามแต่ผู้เดียว” ฝรั่งชนะจึงได้ไป

ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมของรัฐไทยสมัยใหม่จึงแย่ยิ่งกว่าเจ้ากรุงเทพฯ แบบก่อนศตวรรษที่ 20 เสียอีก คือ หลงคิดว่าประเทศราชเป็นของตนแต่ผู้เดียวมาแต่โบราณ ครั้นแย่งดินแดนประเทศราชกันแล้วแพ้เขา จึงเรียกว่า “ไทยเสียดินแดน

4. เข้าใจผิดว่า ดินแดนของรัฐสมัยเก่ากำหนดชัดเจนแน่นอนว่าตรงไหนของใคร จึงสามารถพูดได้ว่า ไทยเสียดินแดนไปกี่ครั้งกี่ตารางกิโลเมตร

ความจริง – จากที่อธิบายมาข้างต้นคงเห็นแล้วว่า อำนาจดินแดนของรัฐสมัยเก่ามีทั้งซ้อนทับกันและโดยมากไม่กำหนดขอบเขตดินแดน ชัดเจน ดินแดนของรัฐสยามสมัยใหม่ที่ชัดเจนมีเส้นเขตแบ่งปันเพิ่งเกิดขึ้นมาก็ต่อ เมื่อแย่งชิงกันจบด้วยกำลังทหาร (ซึ่งสยามสู้ฝรั่งไม่ไหว) สยามจึงไม่เคยเสียดินแดนที่ไม่เคยเป็นของตน

ในเมื่อไม่เคยเป็นเจ้าของดินแดนประเทศราช ไม่เคยเป็นเจ้าพ่อใหญ่แต่ผู้เดียวด้วยซ้ำไป แถมอำนาจเหนือดินแดนไม่มีขอบเขตชัดเจน การ “เสีย ดินแดน” แท้ที่จริงแล้วจึงเป็นการเสียอำนาจแบบเจ้าพ่อแบบโบราณ คือ ไม่สามารถอวดอ้างความเป็นอธิราชได้อีกต่อไป เรียกให้เขาอ่อนน้อมไม่ได้แล้ว เรียกเก็บผลประโยชน์ก็ไม่ได้เช่นกัน ในจารีตแบบรัฐราชาธิราชหรือรัฐเจ้าพ่อแบบสมัยเก่านั้น นี่เป็นการเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่สุดประเภทหนึ่ง ความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯจึงเป็นเรื่องของการที่พระองค์เสียพระเกียรติยศ อย่างสาหัส ไม่ใช่การ “เสียดินแดน” ในแบบที่เราวัดกันออกมาได้เป็นตารางกิโลเมตร

เอาฝรั่งที่ไหนก็ไม่รู้ มาร่วมถ่ายรูปหน้าโรงพัก?

พล.อ.อภิรัชต์ พูดถึงเรื่อง Hybrid Warfare โดยประเด็นหนึ่งคือสงครามการทูตว่าเป็น เรื่องละเอียดอ่อนแต่สำคัญ พร้อมกล่าวว่า “มีการใช้องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรอิสระต่างๆ เพื่อยกระดับเหตุการณ์ และความสำคัญของกลุ่มเองขึ้นมา การไปเอาฝรั่งที่ไหนก็ไม่รู้ มาร่วมถ่ายรูปหน้าโรงพักบ้าง มายืนกับกลุ่มชุมนุมบ้าง เพื่อให้เห็นว่านี่มันอินเตอร์ นี่มันเป็นสากล มันรุนแรงเหลือเกินจนชาวต่างชาติต้องเข้ามา ภาพต่างๆ เหล่านี้อยู่ในวงของสงครามลูกผสม”

ปรากฎการณ์ที่ พล.อ.อภิรัชต์ พูดถึง การ “เอาฝรั่งที่ไหนก็ไม่รู้ มาร่วมถ่ายรูปหน้าโรงพักบ้าง มายืนกับกลุ่มชุมนุมบ้าง” เพิ่งเป็นข้อถกเถียงเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานี้เอง โดยในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2562 ปรากฎภาพชาวต่างประเทศถ่ายรูปร่วมกับ ธนาธร ในวันที่เขาเข้ารับทราบข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิคความวุ่นวาย  ตามมาตรา 116 และช่วยเหลือให้ที่พักพิงผู้ต้องหาตามมาตรา 189 ที่ สน.ปทุมวัน (ดู) ต่อมาภาพนี้ถูกโซเชียลเน็ตเวิร์คนำไปตั้งประเด็นว่ามีการจ้างชาวต่างชาติที่ไหนมาไม่ทราบ เพื่อมาถ่ายรูปกับ ธนาธร ให้ดูเป็นปัญหาใหญ่ระดับสากล

ประเด็นการโจมตีว่าเอาชาวต่างชาติไม่ทราบที่มามาถ่ายรูปนั้น ตกไป หลังกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาแถลงว่า ธนาธรเป็นผู้เชิญ 12 ตัวแทนทูตและตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ มาติดตามการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ก็ดูเหมือนมีข้อมูลที่เข้าใจผิดอยู่ ทำให้ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคฯ ชี้แจงต่อสาธารณะว่า เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติหรือยูเอ็น ติดต่อมายังพรรคอนาคตใหม่ ทนายความของ ธนาธร และสน.ปทุมวันด้วยตนเอง ว่า จะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 โฆษกพรรคฯ ยืนยันว่า เรื่องนี้สามารถสอบถามไปยังสน.ปทุมวันเองได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่