ประวัติศาสตร์การคลายร้อนของไทย

เราเดินทางมาถึงจุดที่ฤดูฝนคนยังตัวชุ่มเหงื่อ ฤดูหนาวยังร้อนอบอ้าวได้อย่างไร?

แม้จะรู้ดีว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน แต่ความร้อนก็ไม่เคยเป็นสิ่งที่คนไทยพิศมัยไม่ว่าจะสำหรับคนยุคใด และถึงประเทศไทยจะไม่ได้ร้อนระดับ feel like 40 แบบนี้มาตั้งแต่แรก แต่บรรพบุรุษของเราต่างสรรหาสารพัดวิธีมาแก้ร้อนกัน ตั้งแต่การปลูกเรือนโปรงโล่งให้ลมพัดผ่านได้ กินผักหรือผลไม้ฤทธิ์เย็นช่วยดับร้อน หรือวัฒนธรรมต่างๆ ที่ช่วยให้เย็นกายเย็นใจ อย่าง ประเพณีสงกรานต์, ไปจนข้าวของเครื่องใช้แก้ร้อนอย่างพัดมือหรือโอ่งดิน มาย้อนเวลาไปรู้กันว่าก่อนที่ไทยจะมีเครื่องไฟฟ้า เข้ามาช่วยคลายร้อน บ้านเราใช้วิธีอะไรคลายร้อนกันมาแล้วบ้าง

ปลูกเรือนทำเลดี มีชัยไปกว่าครึ่ง


เมื่อครั้งที่ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ เอกอัครราชฑูตของฝรั่งเศสได้มาเยือนกรุงสยาม สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้บันทึกไว้ว่า “บ้านเมืองสยามเป็นเมืองร้อนจัด พลเมืองจึงต้องอยู่จับขอบแต่ตามริมลำแม่น้ำ” และถ้าสังเกต จากวรรณกรรมหรือภาพเก่าต่างๆก็จะพบว่าในบริเวณบ้านของคนไทยมักมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาอยู่เสมอ
นอกจากปัจจัยรอบบ้าน ลักษณะโครงสร้างของบ้านก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะชี้ร้อนชี้เย็นได้เช่นกัน สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้อธิบายถึง ‘เรือน’ โดยขนบนิยมของของคนไทยในแต่ละภาคว่า “ปลูกเรือนยกพื้นสูง มีล่องถุนหรือใต้ถุน เพื่อให้พ้นน้ำท่วมเมื่อฤดูน้ำหลากกับให้ลมพัดโกรกใต้เรือนไป” เห็นได้ว่าชาวไทยใช้ชีวิตสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเพื่อคลายร้อนมาแต่โบราณ

ฤดูร้อนก่อนเก่า เรากินอะไร


กินเย็น-กินร้อน เป็นภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณ เป็นการเลือกกินอาหารที่มีสรรพคุณเหมาะสม กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละฤดู อย่างฤดูร้อนคนไทยก็จะเลือกกิน อาหารที่ช่วยปรับอุณหภูมิร่างกาย มีฤทธิ์เย็น ช่วยคลายร้อน และดีต่อระบบย่อยอาหาร เมนูเด่นที่หลายคนคิดถึงเป็นอย่างแรก เห็นจะเป็น‘ข้าวแช่’ อาหารชาววังที่ได้รับอิทธิพลมาจากมอญ ที่จะต้องทำกันทุกตรุษสงกรานต์เพื่อถวายเทวดา ถวายพระ ทั้งนี้โบราณจะใช้ข้าวเบา ที่เก็บเกี่ยวในเดือนสาม ด้วยเนื้อข้าวมีแป้งน้อยดีต่อการย่อยอาหาร มาทานกับน้ำเย็นตามธรรมชาติที่มีกลิ่นดอกไม้หอม ไม่ใส่น้ำแข็งเหมือนปัจจุบันนี้

ส.พลายน้อยได้เล่าไว้ในหนังสือร้อยแปดเรื่องไทยไว้ว่า จริงๆแล้วคนไทยมีของกินเล่นที่คล้ายคลึงกับข้าวแช่ ทว่าทำกินกันได้ทุกฤดูเรียกกันว่า ‘ข้าวจานน้ำ’ นิยมรับประทานกันเมื่อครั้งที่น้ำฝนยังสะอาด นำน้ำฝนมาใส่ในข้าว กินกับหัวไชโป๊ และปูเค็ม นอกจากนี้ยังมีเมนูโบราณคลายร้อนที่คุ้นชื่อกันอีกหลายจาน อาทิ ส้มฉุน, ขนมจีนซาวน้ำ, ม้าฮ่อ, ปลาแห้งแตงโม



‘ส้มฉุน’ ขนมหวานตำรับชาววัง ปรากฎอยู่ในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาว-หวาน บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 “ลิ้นจี่มีครุ่นครุ่น เรียกส้มฉุนใช้นามกร หวนถวิลลิ้นลมงอน ชะอ้อนถ้อยร้อยกระบวน” ส้มฉุนเป็นผลไม้ลอยแก้วอย่างหนึ่ง จะนำผลไม้รสเปรี้ยวหลายชนิดมาคว้านเม็ดออก โดยหนึ่งในนั้นที่ขาดไม่ได้คือลิ้นจี่ แล้วนำไปลอยแก้ว โดยน้ำเชื่อมที่ใช้จะผสมส้มซ่าเอาไว้ด้วย และมีมะม่วงเปรี้ยว ขิงอ่อน และหอมเจียวโรยด้านบน ใครได้กินต่างติดใจพร้อมๆ กับหอมชื่นใจ

 อุปกรณ์คลายร้อนสามัญประจำเรือน


พัด คือของจำเป็นอย่างหนึ่งที่คนโบราณต้องมีติดบ้านไว้ เพื่อจะหยิบออกมาโบกในวันที่อากาศร้อนจัด พัดให้เหงื่อแห้ง (บางบ้านมีครบสำหรับทุกคน รวมเผื่อไปถึงแขกผู้มาเยือนด้วย) พัดทำขึ้นจากใบไม้, ขนสัตว์, กระดาษ ฯลฯ พัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาได้แก่ พัดโตนด ทำจากใบตาลอ่อนมาคลี่จับขอบให้สวยงาม มีพัดสานที่ทำจากเส้นตอกเป็นลวดลายต่างๆและหลายรูปทรง อาทิ รูปไข่ รูปใบโพธิ์ รูปเพชร ส่วนพัดที่คุ้นเคยกันทุกวันนี้ ที่เป็นพัดคลี่พับได้ขนาดพกพา เมืองไทยนิยมใช้กันมากในสมัยรัชกาลที่ 3 มีทั้งทำจากกระดาษ ผ้า และไม้จันทน์

พัดนับว่าเป็นเครื่องมือทำความเย็นให้แก่ร่างกายของคนเรามาก่อนเครื่องทำความเย็นชนิดอื่น ๆ ทุกชาติทุกภาษาต่างก็มีพัดของตนเอง
ขึ้นมาใช้ทั้งนั้น แต่ชาติที่สันนิษฐานว่าเป็นชาติแรกที่รู้จักคิดประดิษฐ์พัดขึ้นมาใช้อย่างจริงจังหรือเป็นล่ำเป็นสันก็คือ จีน



โอ่งหรือตุ่มน้ำ เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะคู่บ้านเรือนไทย ภาชนะสำรองน้ำสมัยก่อนที่ทุกบ้านจะต้องมี ไว้ใส่น้ำฝนเพื่อใช้อุปโภคบริโภค ยิ่งถ้าเป็นบ้านเจ้านายหรือเศรษฐีจะต้องมีมากกว่า 10 ใบ อนุภาคของดินที่เป็นรูพรุนทำให้น้ำสามารถระเหยได้ ช่วยถ่ายเทความร้อนจากโอ่ง ช่วยรักษาให้อุณหภูมิของน้ำเย็นอยู่เสมอ และยังไม่เกิดกลิ่นหรือเปลี่ยนรสชาติด้วย

ดินสอพอง ดินสีขาวเหมือนไข่ที่ได้มาจากดินมาร์ล ของคู่บ้านและเมืองไทยมานมนาน ยามหน้าร้อนเมื่อรู้สึกคันเนื้อคันตัวก็ใช้ดินสอพองผสมน้ำทาตัว รู้สึกเย็นสบาย ครั้งถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็จะนำไปผสมกับน้ำอบไทย เอามาปะเล่นกันและยังเป็นตำรับยาสมุนไพร มาตั้งแต่สมัยพระรารายณ์ ดังที่ปรากฎในคัมภีร์ตำรายาพระโอสถพพระนารายณ์ตำรับที่ 36 ยาแก้ไข้ ร้อนกระหายน้ำ “ถ้ามิถอยให้เอา ชานอ้อย กำยาน แก่นปูน กรักชีถาก รมหม้อใหม่ใส่น้ำไว้ จึงเอาดินสอพองเผาให้สุกใส่ลงในหม้อน้ำนั้นให้คนไข้กินเนืองๆ แก้ร้อน แก้กระหายน้ำหยุดแลฯ”

การมาถึงของพัดลมกระป๋อง


ประเทศไทยเริ่มมีไฟฟ้าใช้กันในสมัยรัชกาลที่ 5 และผู้ที่นำไฟฟ้าเข้ามาก็คือจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาจากประเทศอังกฤษ และได้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2427 และเริ่มมีโรงไฟฟ้าเมื่อปี 2441

สำหรับช่วงเวลาที่ประเทศไทยเริ่มมีพัดลมใช้กันนั้น ไม่ได้ปรากฎอย่างแน่นอน แต่คาดว่าน่าจะเริ่มใช้กันหลังจากที่ประเทศไทยเริ่มมีไฟฟ้าได้ไม่นาน ทั้งนี้หนึ่งในหลักฐานที่อ้างอิงได้คือ ในแฟนเพจของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6 ได้โพสต์ไว้ในหัวข้อคลายร้อนว่า พระมหาธีรราชเจ้ารับสั่งเรียกลมจากพัดลมไฟฟ้าว่า ‘ลมกระป๋อง’ ภายหลังจึงมีการนำพัดลมไฟฟ้าเข้ามาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยมากขึ้นจนเป็นที่นิยม นับตั้งแต่นั้นมาคนไทยและทั่วโลกก็มีตัวช่วยคลายร้อน แก้ร้อน ดับร้อนได้อย่างง่ายๆเพียงแค่กดปุ่ม

ถึงแม้ว่าพัดลมจะช่วยคลายร้อนได้ก็นับว่าเพียงพอแล้ว แต่กระนั้นก็ยังคงถูกพัฒนาและคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเข้าไป เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น จนมีพัดลมหลากหลายแบรนด์ หลายรุ่น หลายราคา ออกมาให้เลือกซื้อกัน แต่การเลือกซื้อพัดลมต้องคำนึงถึงคุณภาพ ความทนทาน ความปลอดภัยและมาตรฐานของสินค้าเป็นสำคัญ เพราะหากตัดสินใจซื้อแค่เพียงราคา สินค้าอาจจะมีอายุสั้น ใช้งานได้ไม่ทนทาน หรือไม่ปลอดภัยได้

Cr.http://www.culturedcreatures.co
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่