เนื้อหามีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังเรื่อง Joker ผู้ที่ยังไม่ได้รับชม และไม่ต้องการอ่าน ก็สามารถปล่อยผ่านไปได้
บทความเป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนที่มีต่อตัวหนังเท่านั้น หากมีจุดไหนที่ไม่เหมาะสมหรือผิดพลาดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ท้ายที่สุด ขอให้ทุกท่านที่ยังไม่ได้ดูหนัง และกำลังจะไปดู ดูหนังอย่างมีวิจารณญาณในการรับชม
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้หลังจากที่ได้ไปรับชมหนังเรื่อง Joker ในโรงแล้ว รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีประเด็น แนวคิดที่ถูกนำมาเสนอได้มีสเน่ห์น่าสนใจ รวมถึงการที่ผู้เขียนเองยังไม่สามารถสลัดบรรยากาศในหนังออกไปจากหัวได้ เลยต้องการเขียนออกมาเพื่อเรียบเรียงความคิด และปลดตัวเองออกมาจากตัวหนัง
“You get what you deserve”
“คุณได้รับในสิ่งที่คุณสมควรได้แล้ว”
เป็นคำพูดที่สามารถสรุปหนังเรื่องนี้ได้ดีที่สุด
พื้นของหนังโดยรวม พยายามสื่อถึงในสภาพความสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทุกคนต่างต้องการความมั่นคง ความสุข เสถียรภาพในการใช้ชีวิต และในสภาวะที่เกิดการแย่งชิงทางสังคมเช่นนี้ กลุ่มคนที่มีทรัพยากรมากกว่า ย่อมต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง รวมถึงมีความคิดแบ่งแยก สร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ตัดสินคนที่มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่า ว่าสิ่งใดควรคิด สิ่งใดควรทำ รวมถึงยกอภิสิทธิ์ในการกระทำของตนเองโดยไม่สนใจความถูกผิด หรือความคิดเห็นของคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม เช่นเหตุการณ์ที่อาเธอร์ (โจ้กเกอร์) โดนกลุ่มเด็กขโมยป้าย และรุมกระทืบในช่วงต้นของหนัง จนไปถึงเหตุการณ์ลำดับต่อมาที่หัวหน้าก็ไม่สนใจสิ่งที่อาเธอร์เล่าว่า ตัวเองโดนขโมยป้าย ไม่แสดงความเห็นใจ หรือใช้เหตุและผลพิจารณาในสิ่งที่อาเธอร์เล่า รวมไปถึงเหตุการณ์หลังจากนั้น ที่โทมัส เวน (พ่อของแบทแมน) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกลุ่มคนที่ก่อจลาจลต่างๆ ในช่วงกลาง-ท้ายเรื่องอีกด้วย เหตุการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความมีอภิสิทธิ์ในการตัดสินคนอื่น ในบรรทัดฐาน และมุมมองความคิดของตนเอง ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งนี้ทำได้ สิ่งนี้ทำไม่ได้ รวมไปถึงการตัดสินคุณค่าของคนอื่นอีกด้วย
บรรยากาศในเรื่องทั้งหมด ถูกเล่าออกมาในมุมมองของอาเธอร์ ที่ถูกสังคมตัดสินตลอดเวลา ทั้งจากความเจ็บป่วยทางด้านสภาพจิตใจ สภาพร่างกาย ฐานะ ทำให้สัมผัสได้ถึงความกดดันที่รุนแรงชัดเจนตลอดทั้งเรื่อง ในความเป็นจริง มันเป็นกลไกทางธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเกิดการตัดสินทุกอย่างอย่างอัตโนมัติอยู่แล้ว หากแต่บางครั้งกระบวนการคิดเกิดขึ้นรวดเร็วจนเราไม่ทันได้สังเกต ยกตัวอย่างเช่นหากเดินสวนกับฝรั่งสวมเสื้อยืดกางเกงขาสั้นที่สยาม ชั่วแวบนึงเราอาจจะมีความคิดตัดสินเขาไปแล้วว่า “เขาเป็นนักท่องเที่ยว” ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเขาอาจจะทำงานอยู่กรุงเทพมาหลายปีแล้ว และมาเดินเล่นเฉยๆ ก็ได้
ความคิดในลักษณะนี้ส่วนมากจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างห้ามได้ยาก แต่หนังได้ทำให้โดดเด่นชัดเจนขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะต้องการจะสื่อว่า การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถูกตัดสินโดยสังคมโดยขาดความเข้าอกเข้าใจนั้น สามารถส่งผลกระทบได้อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับประโยคที่โจ้กเกอร์ (อาเธอร์ที่หลุดแล้ว) ได้กล่าวในหนังว่า
“คุณก็ตัดสินว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด เหมือนกับที่คุณตัดสินว่ามุกนี้มันตลกหรือไม่ตลกนั่นแหละ”
นอกจากประเด็นเรื่องการตัดสินคนแล้ว หนังยังได้ชูประเด็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจแก่เพื่อนร่วมสังคมอีกด้วย ด้วยสภาพสังคมที่แต่ละคนต้องการจะดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความเห็นอกเห็นใจในสังคมก็ถดถอยลงไป ประเด็นนี้ถูกนำเสนออย่างชัดเจนในฉากที่โรงพยาบาลจะถูกปิดเพื่อลดงบประมาณ หนังให้เราได้เสพบทสนทนา ระหว่างผู้ดูแล กับอาเธอร์ ที่ตัวอาเธอร์ได้พยายามระบาย เล่าเรื่องราวต่างๆ หากแต่ตัวผู้ดูแลก็ไม่ได้มีกะจิตกะใจจะรับฟังสิ่งที่อาเธอร์ตั้งการจะสื่อ เพราะตัวผู้ดูแลเองที่ต้องเจอกับสภาวะตกงาน ก็เรียกได้ว่ายังเอาตัวไม่รอด และมีความกังวลกับความไม่แน่นอนในอนาคตของตัวเอง จนไม่มีแม้แต่พลังงานเพียงน้อยนิดที่จะไปเยียวยา หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่น
ยิ่งไปกว่านั้น หนังก็ยังสามารถกลับไปสื่อสารถึงประเด็นที่เอ่ยไว้ข้างต้นอย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครสนใจลงมาช่วยเหลือคนอย่างอาเธอร์ หรือผู้ดูแลหรอก เพราะสังคมตัดสินมาแล้วว่า การที่ไม่มีใครรับฟัง หรือการตกงานนี้ คือสิ่งที่อาเธอร์ และผู้ดูแลสมควรได้รับแล้ว โดยที่ไม่ได้สนใจว่า ผู้ถูกกระทำจะรู้สึกเช่นไร
ตัวตนของอาเธอร์ที่หนังพยายามแสดงให้เราเห็น แม้จะเป็นการทำให้ดูเกินจริง (Over-exaggerated) ไปบ้าง แต่หากมองดูดีๆ แล้ว อาเธอร์ก็เป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวของทุกคน เช่นความต้องการคำชื่นชมจากการทำความดี (อาเธอร์คิดถึงการได้รับเสียงปรบมือจากการดูแลแม่ที่ป่วยตอนต้นเรื่อง) การได้ทำงานที่ตัวเองรัก และการได้รับโอกาสเมื่อทำพลาด (เมื่อตอนอาเธอร์โดนไล่ออกจากงาน เพราะทำปืนหล่น) การเป็นจุดสนใจ (ได้มีโอกาสขึ้นแสดงบนเวที) การได้มีความรักที่ดี (จินตนาการว่าตัวเองได้มีความรักกับเพื่อนบ้าน) การได้มีครอบครัวที่ดีและเพียบพร้อม (เชื่อว่าโทมัส เวนเป็นพ่อของตนเอง) และการได้รับความเข้าอกเข้าใจ ความอ่อนโยนจากคนรอบข้าง ฯลฯ
ทั้งหมด ที่หนังแสดงให้เห็น เป็นความต้องการทั่วๆ ไปของมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแค่แต่ละคนล้วนมีระดับความต้องการในเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป เช่นบางคนแม้จะไม่มีเพื่อนที่ดี เคยถูกรังแก แต่ก็ยังมีพ่อแม่คอยรับฟังและเข้าใจ ทำให้แม้จะไม่ได้สมหวังทุกเรื่อง หากแต่ชีวิตก็ยังตอบแทนสิ่งที่ดีงามกลับมาให้บ้างตามธรรมชาติของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง
จากการที่ตัวของอาเธอร์ได้ถูกซ้ำเติมทางสังคมอยู่หลายครั้งตั้งแต่ต้นเรื่อง หนังได้พยายามผลักตัวตนของอาเธอร์ไปในจุดที่สิ้นหวังที่สุดเท่าที่คนๆ นึงจะลงไปได้ (ซึ่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง) จนในที่สุด เมื่อไม่สามารถรับแรงกดดันที่เกิดขึ้นได้ “การปลดแอก” จึงเกิดขึ้น ทำให้ “อาเธอร์” ได้กลายเป็น “โจ้กเกอร์”
แนวคิดของการเป็นโจ้กเกอร์ อาจจะสรุปได้ง่ายๆ ว่า “สิ่งใดที่บีบเรา เราก็ทำลายมันซะ”
การที่อาเธอร์ได้ยิงปืนใส่ชายสามคนที่มารุมทำร้ายในรถไฟ ถึงขนาดไล่ตามคนที่กำลังจะหนีเพื่อจะยิงให้ตายนั้นเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ทำยังไงก็ได้ ให้สิ่งที่ทำร้ายเราหายไป เช่นเดียวกับตอนที่อาเธอร์เอากรรไกรแทงอดีตเพื่อนร่วมงาน หรือตอนที่ฆ่าแม่ของตัวเอง หรือตอนท้ายที่สุด ยิงนักจัดรายการตลกที่ตัวเองเคยชื่นชม ทั้งหมดเป็นการปลดแอกจากสิ่งที่ทำให้ตัวเองทุกข์ระทม และให้อิสระกับตัวเองอย่างแท้จริง เพราะในเมื่อเป็นฝ่ายถูกสังคมตัดสินอย่างเลือดเย็นมาตลอด ก็คงจะไม่ผิดอะไรที่เราจะตัดสินคนอื่นในลักษณะเดียวกันบ้าง
ผู้เขียนมีความตกใจอย่างมากในการพยายามตามความรู้สึกของตัวเองระหว่างดูหนัง และค่อยๆ เห็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านของอาเธอร์ เพราะนอกจากที่เราจะสามารถเชื่อมโยง และเข้าใจความรู้สึกของอาเธอร์ได้ในระดับนึงแล้ว มันมีความรู้สึกแวบนึงที่เกิดขึ้นว่าการที่อาเธอร์เปลี่ยนไปเป็นโจ้กเกอร์นั้น “เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” “เป็นเรื่องสมเหตุสมผล” “นี่แหละคือสิ่งที่อาเธอร์ควรทำ” จนไปถึง “เขาทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว” และ มีความโล่งใจยินดีที่อาเธอร์สามารถหลุดจากสิ่งที่กดทับตนเองออกมาได้ เหมือนความรู้สึกของเด็กที่ถูกรังแกมาตลอด แล้วได้แก้แค้นคืนในภายหลัง มันเป็นความสาสมใจ สะใจ และเป็นความเต็มอิ่มในอารมณ์อย่างน่าบันเทิง และอันตราย
ด้วยตัวผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้เจอกับการกลั่นแกล้งที่โรงเรียน และต้องทำเหมือนตัวเองสบายดี ยิ้มแย้ม และหัวเราะอยู่ตลอดเวลาเพื่อปกปิดความรู้สึกเอาไว้ ทำให้เข้าใจว่าบาดแผลที่เกิดขึ้น แม้จะผ่านมานานแล้ว หากแต่เมื่อนึกย้อนไปเมื่อไหร่ก็ยังเป็นแผลสดใหม่ทุกครั้ง และคำขอโทษเพียงคำเดียวจากปากผู้รังแก ย่อมไม่สามารถเยียวยาความรู้สึกที่เสียไปนับหลายเดือนได้ และไม่มีวันได้ มันคือความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในความรู้สึก และความอยากแก้แค้นเอาคืน รวมถึงอยากให้เขาได้รับความเจ็บปวดแบบเดียวกันย่อมเกิดขึ้นบ้างอย่างช่วยไม่ได้ แม้จะไม่ได้ทำในความเป็นจริงก็ตาม
ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่ยกมาเป็นเพียงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และอาจจะดูไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หากแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยาที่สมน้ำสมเนื้อนั้นมีอยู่จริงให้เห็นได้ทั่วไป นั่นคือการแสดงให้เห็นถึงการตัดสินจากผู้ถืออภิสิทธิ์ในการตัดสินคนอื่นว่าสิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่ผู้ถูกกระทำควรได้รับแล้วเช่นนั้น
เรียกได้ว่าการเล่าเรื่องของหนังทำได้อย่างแยบยล และมีศิลปะ จนสามารถทำให้คนดูคล้อยตามได้อย่างลื่นไหล ทำให้เข้าใจเลยว่าทำไมถึงมีคำเตือนมากมายเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ว่าให้มีความระมัดระวังในการเสพ เพราะนอกจากจะสะท้อนเหตุการณ์ทางสังคมแล้ว มันคือการปลดแอกของคนๆ หนึ่ง ที่เราสามารถเชื่อมโยงถึงได้ในระดับปัจเจกบุคคล และมีโอกาสอย่างมากที่จะเห็นดีเห็นงามกับการกระทำโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ
หลังจากที่ผู้เขียนได้อยู่ในโรงจนเครดิตจบ จนเดินออกมาอยู่นอกโรงแล้ว ก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความหดหู่ ที่หลงเหลือ ความรู้สึกอยากเป็นอิสระจากแรงกดทับเหมือนโจ้กเกอร์ที่เกิดขึ้นในหนังเกิดขึ้นอย่างห้ามได้ยาก จนจำเป็นต้องสนทนากับเพื่อนเพื่อเรียบเรียงความคิด และอารมณ์ จนกระทั่งมาเขียนเรียบเรียงความคิดของตัวเอง
ท้ายที่สุดแต่ละคนอาจจะมีมุมมองต่อหนังเรื่องนี้แตกต่างกันไป นี่เป็นเป็นการระบายความคิด และความรู้สึกของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ได้เป้นการตัดสินว่าบทความนี้เป็นความถูกต้อง เพราะเป็นประเด็นปลายเปิดที่สามารถสนทนากันได้อย่างไม่มีผิดถูก และผู้เขียนมองว่ามันเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การทำความเข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างทางความคิดของคนอื่น
หวังว่าบทความนี้จะให้มุมมองต่อหนังที่เป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ขอบคุณที่อ่านบทความยาวๆ นี้จนจบ
[CR] [Spoil] ระบายความคิดหลังดู Joker
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้