Top 5 ร้านอร่อยจานเด็ด ลำพูน 2020 เที่ยวหน้าหนาวปีนี้ แวะมาคราใด ต้องห้ามพลาด มาโซ้ยกันนะแจ๊ะ

1 ) เย็นตาโฟ นาย น. เจ้าเก่าแก่ หน้าตลาดโต้รุ่งหนองดอก ภาพจำยังชัดเจน เหมือนเดิมทุกอย่าง


 
เย็นตาโฟ นาย น. หน้าตลาดโต้รุ่งหนองดอก เป็นร้านเย็นตาโฟเก่าแก่อยู่เมืองลำพูนมาช้านาน ผู้เขียนในสมัยวัยเด็ก ก็เคยเป็นละอ่อนลำพูน มาอยู่ได้หลายปีดีดัก จึงได้อพยพตามครอบครัวย้ายมาอยู่ที่เมืองลำปาง ชื่อร้านนาย น. ยังติดตาตรึงใจผู้เขียน จนถึงทุกวันนี้ ด้วยความดีใจที่ยังมีร้านเก่าๆ เคยรับประทานสมัยยังเป็นเด็ก ยังคงเหลืออยู่ ถ้าจำไม่ผิดเจ้าของร้านจะย้ายมาจากนครสวรรค์กัน เป็นร้านเย็นตาโฟโต้รุ่งที่ขายดีมากๆ คนลำพูนรอซื้อกันคิวยาวเหยียดเลยในสมัยนั้น  ... กาดหนองดอก ถือว่าเป็นย่านการค้า ศูนย์รวมความเจริญทันสมัย อยากได้สินค้าอะไร ต้องมาที่ตลาดนี้เท่านั้น ร้านเซเว่นแห่งของลำพูน ก็อยู่หน้าตลาดนั่นเอง ผู้เขียนยังจำได้ดีถึงความตื่นเต้นตอนเข้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นครั้งแรก

กลับมาเที่ยวลำพูนบ้านเกิดเมื่อใด ผู้เขียนมักจะแวะเดินชมกาดบ้านทาดอยแก้ว อำเภอแม่ทา เป็นประจำอยู่เสมอ อยู่ริมถนนเชียงใหม่-ลำปาง เป็นตลาดสดที่ไม่มีใครเหมือน มีคนขนานนามว่าเป็น ภัตตาคารในผืนป่า เพราะว่ามีของป่าหายาก มาวางขายอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฏหมายใดๆทั้งสิ้นนะครับ ของป่าที่นำมาวางขาย เช่นผักพื้นบ้าน ผักหวานป่า เห็ดตามฤดูกาล ชาวบ้านเค้าหาเก็บกันได้ทั่วไปในเขตป่าชุมชน ส่วนเนื้อสัตว์ต่างๆเช่น นกกระทา ไก่บ้าน หมูป่า ชาวบ้านเดี๋ยวนี้เค้าเลี้ยงกันได้แล้ว ไม่ได้เป็นการเข้าไปล่าจากป่าแต่อย่างใด ก็อธิบายเพื่อให้นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจะได้เข้าใจตรงกัน  

นอกจากของป่าแล้วยังมีสินค้าของฝากมากมายเช่น หนอนรถด่วน แมงดาทอด ไส้อั่ว แคบหมู น้ำพริกลาบ สมุนไพรต่างๆ ปลาแห้งกรอบ ฯลฯ ในตัวเมืองอำเภอแม่ทา ยังมีผืนป่าที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ มีจุดเช็คอิน ที่บรรดานักท่องเที่ยวมาก็ต้องห้ามพลาด คือ สะพานทาชมภู แห่งบ้านทาปลาดุก อำเภอแม่ทา สะพานเก่าแก่อายุนับร้อยปี เป็นสะพานสำหรับเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากขุนตานไปยังเชียงใหม่ สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นแห่งแรกของไทยในยุคนั้น ตัวสะพานมีสีขาว ส่วนชื่อทาชมภู มาจากบริเวณนั้นมีต้นชมพู่ขึ้นเยอะ จึงกลายเป็นชื่อสะพานทาชมภู

ติดตามกระทู้อื่นๆ น่าสนใจได้ทาง
https://lampangfood.blogspot.com



แกงขี้เหล็ก จัดว่าเป็นอาหารของชาวลำพูนมาเนิ่นนาน ตั้งแต่เริ่มสร้างหริภุญชัยกันเลยทีเดียว สังเกตุได้ว่าจะมีชื่อหมู่บ้านเก่าแก่มีคำว่า ขี้เหล็ก บอน อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งต้นขี้เหล็ก และ ต้นบอน เป็นอาหารที่ชาวมอญรู้จักนำมาปรุงเป็นอาหารกันมาตั้งยุคทวารวดี ต้นกำเนิดแท้จริงของขี้เหล็กมาจากอินโดนีเซีย มีรสขม คาดว่าเริ่มถูกนำปลูกในทางภาคใต้ของไทย เพราะต้องการใช้สรรพคุณทางยา ที่ช่วยขับพิษและมีฤทธิ์กล่อมประสาท ทำให้นอนหลับได้ง่าย แกงขี้เหล็กของหริภุญชัยโบราณ เรียกว่าแกงขี้เหล็กล่วง ไม่มีกะทิเป็นส่วนผสม มีเพียงใบขี้เหล็ก หนังควายจี่ ข่า ตะไคร้ พริกไทย มะเขือพวง  ต้นขี้เหล็กจึงนิยมปลูกไปทั่วดินแดนหริภุญชัย เพื่อเป็นอาหารและยารักษาโรค

2 ) ไส้อั่วยายปี๋  ร้านเก่าแก่ ข้างคูเมืองโบราณลำพูน จะเอาเก่ากว่านี้ ต้องนั่งไทม์แมชชีน ไปกินเองละมั้ง



ไส้อั่วยายปี๋ เป็นตำนานของฝากจากเมืองลำพูน มาหลายสิบปีแล้ว ร้านจะอยู่ใกล้กับโรงพักตำรวจเก่า ผู้เขียนตอนเป็นเด็ก  เคยนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปซื้อไส้อั่วกับแม่ เมื่อก่อนยายปี๋ เจ้าของสูตรตัวจริง ยังย่างไส้อั่วขายควันโขมง อยู่ตรงริมคูน้ำ ใกล้กับกำแพงเมืองโบราณ ไม่ได้เปิดขายหน้าร้านเหมือนในรุ่นลูกรุ่นหลานที่ในปัจจุบันนี้ ยายปี๋จะขายทั้งไส้อั่ว หมูย่าง ตับย่าง และมีคั่วตับหมูใส่ผงฮังเลด้วย ด้วยรสชาติมีเครื่องเทศไม่ฉุนมาก และมีเนื้อหมูบดแบบละเอียดมาก จึงทำให้ไส้อั่วยายปี๋ มีรสชาติถูกใจคนกรุงเทพในสมัยนั้นมาก เรียกว่าซื้อกลับกรุงเทพเป็นของฝากกัน เป็นจำนวนหลายกิโลกรัม

ลำพูนเคยเป็นเมืองของชาวมอญโบราณมาก่อน พบว่าชาวมอญมีการอพยพเข้า มาสู่หริภุญชัยมาหลายเจเรเนชั่น กลุ่มแรกเริ่มก็ย้อนไปตั้งแต่สมัยเวียงเจ็ดลิน หลายหมื่นปีมาแล้ว เข้ารบแย่งดินแถบลุ่มแม่น้ำปิง ตีนเขาเชิงดอยสุเทพ แย่งกัน3กลุ่มได้แก่ ลัวะ มอญ ขอม ...ชาวลัวะจะได้ดินแดนส่วนใหญในภาคเหนือและอีสานของไทย ลาวตอนเหนือ ส่วนชาวมอญจะมีดินแดนในครอบครอง คือบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงภาคใต้ของไทย รวมถึงพม่าตอนใต้ทั้งหมด และพวกขอมดำเป็นกลุ่มที่เก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดในดินแดนสุวรรณภูมิ ครอบครองแผ่นดินแถบภาคกลางบางส่วนไปจนถึงภาคตะวันออก อีสานใต้ เขมร เวียดนามตอนใต้

บ้านหนองดู่ ในอำเภอป่าซาง เป็นหมู่บ้านโบราณเพียงแห่งเดียว ที่หลงเหลืออัตลักษณ์ชาวมอญมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี อาหารการกิน สำเนียงการพูด โดยไม่ถูกวัฒนธรรมของชาวยอง ชาวโยนก ชาวไทใหญ่ กลืนกินอัตลักษณ์จนสูญหายไป

ติดตามกระทู้อื่นๆ น่าสนใจได้ทาง
https://lampangfood.blogspot.com



หน่อโอ่ เป็นอาหารขบเคี้ยวกินเล่น ของชาวยองลำพูนอย่างไม่น่าเชื่อ นิยมนำมาเสิร์ฟต้อนรับแขกผู้มาเยือน โดยหน่อโอ่จะถูกซอยบั้งตรงปลายให้เป็นเส้นๆ ไว้จิ้มกินคู่กับพริกข่าป่น เรียกว่าอร่อยเด็ดไม่แพ้เฟรนส์ฟรายกันเลยทีเดียว ... ชาวลำพูนในปัจจุบัน สืบเชื้อสายมาจากคนยองเกือบ 80เปอร์เซนต์ ด้วยเหตุหลังจากสิ้นสุดสงครามขับไล่พม่าออกจากลำพูนแล้ว พระเจ้ากาวิละนำล้านนากลับไปสู่การเป็นหัวเมืองประเทศราชของสยาม มีการอพยพเทครัวชาวยอง เข้ามาสู่ลำพูน เพื่อสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ เนื่องจากชาวเมืองเดิมได้อพยพหนีภัยสงคราม ไปอยู่เมืองใกล้เคียงกันหมด ด้วยนโยบายเก็บผักใส่ส้า เก็บข้าใส่เมือง ชาวยองจึงเข้ามาเป็นพลเมืองหลักของลำพูนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกลบวัฒนธรรมของชาวลัวะ ชาวมอญ ไปเกือบหมดสิ้น

ผลไม้ประจำจังหวัดลำพูน ก็คือ ลำไย ในที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้สาวขาเลาะ นักร้องสาวหุ่นเพรียวคนนั้น เพียงแต่ชื่อมาพ้องกันเฉยๆ  ลำไยต้นแรกของลำพูน เชื่อว่ามีการนำเม็ดมาปลูกที่บ้านหนองช้างคืน โดยนายข่วง ผู้ติดตามเจ้าเมืองทางเหนือไปติดต่อราชการที่กรุงเทพ จึงได้ไปพบลำไยจากจีนซึ่งตอนนั่นก็มีขายกันในพระนครแล้วแต่ก็ไม่แพร่หลายเท่าใดนัก ด้วยราคาคงจะแพง นายข่วงได้ลำไยจากเจ้านาย ให้มาทดลองชิม 1ลูก ปรากฏว่าอร่อยถูกใจ จึงแอบเก็บเมล็ดไว้ เมื่อเดินทางกลับมาบ้านที่ลำพูน ก็เอาเมล็ดมาปลูกลงดิน จนต้นลำไยเติบใหญ่ออกผลได้ดี จึงมีการขยายพันธุ์ปลูกไปทั่วจังหวัดลำพูน ปัจจุบันลำไยกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของลำพูนไปแล้ว

ติดตามกระทู้อื่นๆ น่าสนใจได้ทาง
https://lampangfood.blogspot.com

3 ) ร้านดาวคะนอง อาหารพื้นเมืองลำพูน สาขาใกล้ รร.จักรคำคณาทร ชอบแบบนี้ จะเอาที่เป็นแบบนี้



ดาวคะนอง ร้านอาหารพื้นเมืองลำพูน โดยสาขาดั้งเดิมอยู่ใกล้กับโรงเรียนจักรคำคณาทร ซึ่งผู้เขียนเคยนั่งรถเมล์ขาวผ่านร้านนี้แทบทุกวันเวลาไปเรียนหนังสือ เป็นร้านอาหารไว้รองรับแขกผู้มาเยือน ด้วยความที่มีอาหารอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวเหนือ เช่น แอ็บหมู แกงแคไก่ แกงผักหวานป่า พริกหนุ่มยัดไส้ทอด แกงฮังเล แกงโฮ๊ะ ลาบหมูคั่ว แกงอ่อม เป็นต้น แม่ของผู้เขียนมักจะสั่งซื้อเมนูเหล่านี้กลับบ้านอยู่เป็นประจำ ในตอนที่ออฟฟิศเค้ามีงานเลี้ยงต้อนรับนายใหม่ หรือ เลี้ยงส่งนายเก่า  ปัจจุบันนี้ทางร้านได้ขยายเพิ่มไปอีกสาขา อยู่ติดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง แถวดอยติ เพื่อไว้รองรับนักท่องเที่ยวและผู้มาติดต่องานในนิคมอุตสาหกรรม

พระรอด เป็นพระคู่บ้านคู่ชาวลำพูน พบประวัติสร้างโดยพระสงฆ์ชาวมอญ ที่พระนางจามเทวีได้นิมนต์มาจำวัดในนครหริภุญชัย  ยุคนั้นมีการสร้างประตูเมืองและวัดประจำทิศทั้งสี่ จึงมีการสร้างเครื่องรางของขลัง บรรจุไว้ในเจดีย์ของวัดต่างๆ พระสกุลลำพูนโบราณมีมากมาย เริ่มมีการขุดเจอพระเครื่องตามเจดีย์วัดต่างๆเรื่อยมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนมาถึงยุคกรุแตก พ.ศ.2435 มีการบูรณะเจดีย์ในวัดมหาวันซึ่งเก่าแก่ทรุดโทรมมานาน ช่างก่อสร้างไปไปขุดเจอวัตถุบางอย่าง คล้ายรูปปั้นพระมีขนาดเล็ก นับจำนวนได้อยู่หลายร้อยองค์ จึงมีตั้งชื่อว่าพระรอด กรุมหาวัน ตามชื่อพระเครื่องสกุลลำพูนตามประวัติศาสตร์ ที่ชาวมอญได้จดบันทึกในอิฐศิลาแลงมา พระเครื่องส่วนใหญ่ชาวบ้านก็เก็บไว้บูชากันเอง

จนเวลาผ่านไป60ปี ในสมัยนักเลงครองเมือง พ.ศ.2495 สมัยนั้นในกรุงเทพมหานคร เริ่มมีวงการซื้อขายพระเครื่องเกิดขึ้นแล้ว มีเซียนพระชื่อดังอย่าง ตรียัมปวาย จัดชุดพระเครื่องเบญจภาคี อันประกอบด้วย พระเครื่องเก่าแก่จาก 5 อาณาจักรโบราณ เพื่อเอาใจนักเลงและผู้มีอิทธิพลในยุคนั้น ด้วยการตลาดที่ดี พุทธคุณฟังแล้วเข้าใจง่าย การรวมชุดเบญจภาคี จึงฮ็อตฮิตติดตลาดในทันที พระรอด จึงกลายพระเครื่องที่มีมูลค่าสูงนับตังแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันมีการซื้อขายองค์ที่แพงที่สุด ราคา 30ล้านบาท กันเลยทีเดียว เชื่อว่าปัจจุบันเปลี่ยนมือไปอยู่ในการครอบครอง ของคนระดับเจ้าสัวไปแล้ว

ติดตาม Top 5 ร้านอาหารเด็ดของแต่ละจังหวัดภาคเหนือ ตามลิงค์นี้ได้เลย

จังหวัดแม่ฮ่องสอน  

https://ppantip.com/topic/39287466

จังหวัดเชียงใหม่

https://ppantip.com/topic/39310784
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่