ออกงานกลางคัน Provident Fund เอาไงดี

          เมื่อเดือนที่ผ่านมามีรุ่นพี่สจ๊วตของผมท่านหนึ่ง โทรมาหาผมและสอบถามว่า ถ้าลาออกจากงานตอนนี้ควรทำอย่างไรดีกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund “PVD” ก้อนที่มีอยู่ดี นี่เลยเป็นแรงบันดาลในการเขียนกระทู้ในครั้งนี้ สำหรับ คนที่กำลังจะเปลี่ยนงาน หรือ บางคนลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัว ว่าเงิน PVD ที่เคยทำไว้กับที่ทำงานเก่าเราควร ทำอย่างไรกับเงินก้อนนี้ดี

          ก่อนเข้าประเด็น ทาง K-Expert ขอพาไปซื้อกระเบื้องอีกรอบหรือการ “ปูพื้น” นั่นเอง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ “PVD” จากชื่อ ก็พอน่าจะเดาได้ว่าจุดประสงค์หลักคือสร้างเงินก้อนขึ้นมาเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเอาภาษาบ้านๆ ก็คือเงินที่เก็บไว้ใช้ตอนแก่นั้นเอง โดยมีการกำหนดอายุที่เรียกว่า “แก่” ไว้ ที่ 55ปี โดยเงินกองทุนนี้เกิดจากความสมัครใจของลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันสะสม เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นขอแบ่งกองทุนนี้เป็น 4 ส่วนดังรูป

1 ส่วนของลูกจ้าง เงินส่วนนี้เป็นเงินที่เราสมัครใจให้หักจากบัญชีเงินเดือนของเรา 2%-15% ของเงินเดือนแล้วแต่ว่าเราอยากมีเงินไว้ใช้มากน้อยเพียงไหนยามแก่นั่นเอง (ขึ้นกับเงื่อนไขนายจ้างด้วยนะครับ)
 
2 ส่วนของนายจ้าง เงินส่วนนี้เป็นเงินสมทบของนายจ้าง ว่าจะสมทบให้เพิ่มเท่าไหร่ ถือเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งของลูกจ้าง บางนายจ้างอาจจ่ายเป็นอัตราคงที่ตลอดการทำงาน หรือบางนายจ้างอาจจ่ายเป็นอัตราขั้นบันได เช่น เข้าทำงานใหม่ให้ 3%ของเงินเดือน อายุงานเกิน 5 ปี ให้เพิ่มเป็น 6%ของเงินเดือน เป็นต้น
 
3 ส่วนกำไรจากเงินส่วนลูกจ้าง เงินส่วนนี้คือผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับ จะคิดแยกเฉพาะส่วนที่เป็นเงินของลูกจ้าง
 
4 ส่วนกำไรจากเงินส่วนนายจ้าง เงินส่วนนี้คือผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับ จะคิดแยกเฉพาะส่วนที่เป็นเงินของนายจ้าง
 
**ส่วนกำไรนี้ เขียนให้เข้าใจง่าย แต่การลงทุนใน PVD อาจจะมีกำไรหรือขาดทุนก็ได้แล้วแต่กองทุนครับ
 
          กลับมาที่ประเด็นของเรา ถ้าออกจากงานมา เราควรทำอย่างไรกับ PVD ดี ก่อนอื่น สิ่งที่เราควรตอบตัวเองให้ได้นั้นคือ “เราร้อนไหม?” ร้อนในที่นี้คือ “ร้อนเงินไหม?” ภาษาทางการคือมีความจำเป็นต้องใช้เงินไหม?

          กรณีแรกคำตอบคือ ร้อน “จำเป็นต้องใช้เงิน” 

          ทางเลือกมีเพียง ทางเลือกเดียวเท่านั้น คือก็เอาเงินก้อนนี้ออกมาดับความร้อนสิครับ แต่การนำเงินออกมา เนื่องจากเงินก้อนนี้วัตถุประสงค์ไว้ใช้ตอนแก่ แต่เรายังไม่ทันแก่เอาเงินออกมาก่อน สิ่งที่เราต้องรับเพิ่มเติม นั้นคือภาระภาษีที่เกิดขึ้น โดยภาษีจะถูกคิดจากเงิน 3 ใน 4 ส่วนของเงิน PVD จำนวนนี้ คือ ส่วนที่2 “ส่วนของนายจ้าง” , ส่วนที่3 “ส่วนกำไรจากเงินส่วนลูกจ้าง” และ ส่วนที่4 “ส่วนกำไรจากเงินส่วนนายจ้าง” ครับ 

          ส่วนการคิดภาษีถ้าอายุงาน หรืออายุสมาชิกกองทุนน้อยกว่า 5 ปี เงินส่วนนี้นำไปคิดรวมเป็นรายได้ปกติเลยครับ ใครฐานภาษีสูง ก็จ่ายเยอะหน่อย ส่วนคนที่มีอายุงาน หรืออายุสมาชิกกองทุนเกิน 5 ปี เวลายื่นภาษีจะเลือกยื่นแบบ “ใบแนบ” (ใบแนบ คือ รูปแบบการยื่นภาษี ที่แยกออกมาจากการยื่นภาษีปกติ เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีเมื่อออกจากงานประจำ)  ก็ได้ครับ โดยปกติการยื่นแบบใบแนบจะเสียภาษีถูกกว่า แต่อย่างไรต้องลองคำนวณภาษีอย่างละเอียดดูอีกทีนะครับ มีบางกรณีที่ยื่นใบแนบอาจเสียภาษีแพงกว่าก็เป็นไปได้ แต่โอกาสน้อยหน่อยเท่านั้นเองครับ

          อีกกรณีถ้าคำตอบคือ ไม่ร้อน “ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน”

          กรณีนี้หมายความว่าเรารอเงินก้อนนี้ได้ สามารถใช้เงินได้เร็วสุดอีกทีคือตอนอายุ 55 ปีนะครับ ทางเลือกสำหรับคนที่รอเงินก้อนนี้ มีอยู่ 2 ทางเลือกครับ
          ทางเลือกแรก คือ คงเงิน PVD ไว้ที่เดิม โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย คือ “ค่ารักษาสถานะสมาชิกกองทุน” ซึ่งมีค่ารักษาสถานะที่ต่างกันตามแต่ละ บลจ. “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน” กำหนด ซึ่งเราลองโทรหา บลจ. ที่ดูแล PVD ของเราดูครับ ว่าคิดค่ารักษาสถานะเท่าไร วิธีนี้เหมาะมากกับการเปลี่ยนงานใหม่ ถ้าทางนายจ้างที่ใหม่มี PVD ให้ โดย ส่วนใหญ่เราสามารถย้าย PVD มาที่ใหม่ได้ แต่ส่วนมากมักต้องรอให้ผ่านช่วงทดลองงานก่อน ซึ่งประมาณ 3 ถึง 6 เดือนแล้วแต่บริษัท เราสามารถจ่ายค่ารักษาสถานะสมาชิกกองทุนกับที่เดิม จนเราผ่านทดลองงานกับที่ใหม่แล้ว เราค่อยย้าย PVD มาที่ใหม่ได้ครับ โดยไม่มีเรื่องภาษีมากวนใจครับ

          ทางเลือกที่สอง คือ RMF for PVD ย้ายจากกองทุน PVD สู่กองทุน RMF วิธีนี้เหมาะแก่ผู้ที่อาจลาออกจากงานเก่าและไปทำธุรกิจเอง หรืออีกกรณีเช่นย้ายไปทำงานที่ใหม่ที่ไม่มีสวัสดิการ PVD ให้ หรือมีให้แต่เราไม่อยากย้ายไปเราสามารถเลือกใช้ทางเลือกนี้ได้ครับ นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสเลือกลงทุนได้หลากหลายมากขึ้นผ่านการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF เพราะ RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายครับ หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าแบบนี้เราต้อง ซื้อ RMF ต่อเนื่องเพิ่มอีกทุกปีหรือเปล่า คำตอบคือ RMF for PVD นี้จะถูกนับแยกออกจาก RMF ปกติครับ ดังนั้น RMF for PVD ย้ายมาแล้วไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ต้องถือครองจนอายุ 55 ปี โดยนับระยะเวลารวมกับการถือครอง PVD แล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับรวมอายุต่อจากที่โอนเงินจาก PVD มา RMF ด้วย) จึงสามารถขายคืนได้ตอนอายุ 55 ปีและเป็นไปตามเงื่อนไขภาษีของกรมสรรพากร (ไม่โดนภาษีตอนนำเงินออกนั่นเอง) และข้อดีอีกอย่าง หลังย้ายมาแล้วเราสามารถสับเปลี่ยนไปยัง RMF for PVD อื่นๆ ภายใต้ บลจ. เดียวกันโดยไม่มีค่าธรรมเนียม เช่น ย้าย PVD ครั้งแรกมาที่ RMF for PVD กองที่ลงทุนในหุ้น หลังจากนั้นเราเริ่มอายุมากขึ้น ย้ายจากกองเดิมไปที่กอง RMF for PVD กองที่ลงทุนในตราสารหนี้ ได้เลยครับ ช่วยเป็นการปรับสัดส่วนเงินลงทุนของเราอีกทางหนึ่งด้วยครับ

          หวังว่ากระทู้นี้น่าจะเป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจได้นะครับ ว่าจะใช้ทางเลือกไหนตัดสินใจกับ PVD ก้อนนี้ดี สุดท้ายนี้ทุกการลงทุนควรวางจุดประสงค์และเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน ถ้าใครใช้ PVD เป็นเป้าหมายในการเกษียณ ก็ขอให้ตั้งใจและมีวินัยกับการทำตามแผนให้ประสบความสำเร็จนะครับ ตอนเกษียณ เราจะได้มีเงินใช้อย่าง Happy กันทุกคนครับ
 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่