อยากทราบจำนวนหน่วยงานเทียบเท่ากรมในประเทศไทย

ตามหัวข้อกระทู้เลยค่ะ อยากทราบว่าหน่วยงานเทียบเท่ากรมในประเทศไทยมีทั้งหมดกี่หน่วยงานและมีหน่วยงานอะไรบ้างคะ TT
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีความซับซ้อนกว่าที่เห็นมากครับ
คำถามของคุณเหมือนจะง่าย แต่จะให้ตอบแบบถูกต้อง 100% ยาก
เพราะ "หน่วยงานเทียบเท่ากรม" ในประเทศไทย กระจายไปตามกฎหมายต่าง ๆ หลายฉบับ
บางฉบับ บอกไว้ชัดเจนว่าเป็นกรม หรือ มีฐานะเป็นกรม กรณีนี้ตอบไม่ยาก
แต่ในกฎหมายจัดตั้งของส่วนราชการหรือแบ่งส่วนราชการบางแห่ง
กลับไม่มีบทกฎหมายระบุว่ามีฐานะเป็นกรม หรือ เทียบเท่ากรม
แม้บางหน่วยงานจะเรียกชื่อว่า กรม ก็ตาม
เช่น กรม ในสังกัดสำนักพระราชวัง หรือ กรม ในสังกัดกองทัพ
กรณีนี้ต้องใช้การศึกษา และ ตีความ

เบื้องต้น
ให้คุณดู พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545
ประกอบ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
ในกฎหมายฉบับดังกล่าว จะบอกไว้ ว่าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม มีอะไรบ้าง
ถ้าตอบตามกฎหมาย เฉพาะที่ปรากฏในกฎหมายข้างต้น ก็ค่อนข้างครอบคลุมแล้วครับ

แต่ยังมีกฎหมายจัดตั้งส่วนราชการอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.๒๕๖๒
พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑

พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ.๒๕๕๔

พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.๒๕๔๓
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
พ.ร.บ.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๒

พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.๒๕๖๐
พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.๒๕๖๐

-----

สำหรับหน่วยงานเทียบเท่ากรม ที่คุณว่า
ภาษาที่ใช้จริง ๆ จะใช้คำว่า "ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม" ครับ
คือ เป็นส่วนราชการ เหมือนระดับ "กรม" แต่มีชื่อเรียกอย่างอื่น
เช่น สำนักงาน... สำนัก... สภา...
หรือมหาวิทยาลัย... บางมหาวิทยาลัยที่ยังมีสถานะเป็นส่วนราชการ (ยังไม่ออกนอกระบบ)

บางส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม
จะมีผู้บริหารสูงสุด ที่เป็นเลขาธิการ, ผู้อำนวยการ
เทียบเท่า ปลัดกระทรวง C11 คือได้เงินประจำตำแหน่ง 21,000 เท่าปลัดกระทรวง เช่น
1. หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
    - เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
    - ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
    - ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
    - เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
    - เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
    - เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
    - เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
    - เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
    - เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
    - เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
2. หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
    - เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
    - เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
    - เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
3. หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการ และขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี
    - เลขาธิการสภาการศึกษา
    - เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    - เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
    - เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น
หัวหน้าของส่วนราชการฝ่ายพลเรือนที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม อื่น ๆ ที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล
ที่ชื่อขึ้นต้นว่า สำนักงาน... สำนัก... และ มหาวิทยาลัย
ผู้บริหารที่เป็น เลขาธิการ, ผู้อำนวยการ, อธิการบดีมหาวิทยาลัย จะเทียบเท่า อธิบดี C10 ครับ

ยกเว้น ส่วนราชการขององค์กรอิสระ, ศาล, รัฐสภา ผู้บริหารสูงสุด จะ C11

-----------

ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐ อื่น ๆ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล (ที่เป็นส่วนราชการ และไม่เป็นส่วนราชการ)
ที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นระดับพระราชบัญญัติ หรือ พระราชกฤษฎีกา
โดยสภาพแล้ว ก็อาจถือได้ว่ามีฐานะเทียบเท่ากรมเช่นกัน
แม้บางหน่วยงาน จะไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายก็ตาม
เช่น รัฐวิสาหกิจ, องค์การมหาชน, มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ, หน่วยงานธุรการของศาล รัฐสภา องค์กรอิสระ, สำนักงานอัยการสูงสุด, ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

หัวหน้าหน่วยงานของส่วนราชการข้างต้น เช่น หน่วยงานธุรการของศาล รัฐสภา องค์กรอิสระ, สำนักงานอัยการสูงสุด,
จะเป็นข้าราชการระดับ C11 เดิม เช่น
อัยการสูงสุด, เลขาธิการสำนักงานศาล เป็นต้น

ส่วนราชการนิติบุคคล บางแห่ง เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น
แม้ไม่ได้ระบุในกฎหมายโดยตรงว่าเทียบเท่ากรม
แต่โดยนิตินัย กรุงเทพ​มหานคร​ก็ควรมีฐานะเทียบเท่ากรม
แต่โดยพฤตินัย หรือโดยสภาพขององค์กร
ข้อเท็จจริงของขนาดและโครงสร้างของกรุงเทพมหานคร
จะมีขนาดเทียบเท่ากระทรวงซะด้วยซ้ำ
เพราะมีปลัดกรุงเทพมหานคร C11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง
สำนักซึ่งเป็นส่วนราชการภายใน ซึ่งโดยสภาพเทียบเท่ากรม มีผู้อำนวยการสำนัก C10 อีกเป็น 10 กว่าสำนัก
และ ผู้อำนวยการเขต C9 อีก 50 สำนักงานเขต
เป็นต้น

ทั้งนี้ การจัดองค์กรของรัฐ มีความซับซ้อนกว่าที่เห็นทั่วไป
ในรายละเอียดปลีกย่อย ต้องศึกษาเพิ่มเติม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่