เจาะหุ้นไอพีโอ - บริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (AWC) By Billionaire VI

หุ้นไอพีโอที่เจ้าของธุรกิจคือคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี และกลุ่มทีซีซี กรุ๊ป

หุ้นไอพีโอที่เสนอขายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย ด้วยวงเงิน 42,000 ล้านบาท แซงหน้าหุ้นท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่ทำไอพีโอได้เงินไป 17,500 ล้านบาทเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

AWC จะเสนอขายหุ้นจำนวน 6,957 พันล้านหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปในช่วงวันที่ 25-27 กันยายนนี้

โดยหุ้นมีราคาพาร์อยู่ที่ 1 บาทและตั้งราคาไอพีโอไว้ที่ 6 บาท

ลองมาดูธุรกิจของบริษัทที่มีอยู่ 3 ธุรกิจหลักๆดังนี้

1. ธุรกิจโรงแรมและบริการ เช่นโรงแรมแมริออท บันยันทรี และ ฮิลตัน ปัจจุบันมีโรงแรมที่สร้างเสร็จแล้วทั้งหมด 10 แห่งและที่พัฒนาอยู่ 5 แห่ง

2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ทั้งหมด 10 แห่ง เช่น เอเชียร์ทีค เกตเวย์แอดบางซื่อและเอกมัย พันธุ์ทิพย์พลาซ่างามวงศ์วาน

3. ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าทั้งหมด 4 แห่ง เช่น ตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ แอทธินีทาวเวอร์เป็นต้น

จากงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2016 - 2018) พบว่ารายได้จากกลุ่มโรงแรมเท่านั้นที่ยังเติบโตได้อยู่จากการขยายโรงแรมมากขึ้น ส่วนอีกสองกลุ่มธุรกิจพบว่ามีรายได้ทรงๆและลดลง

รายได้และกำไรสุทธิ 3 ปีย้อนหลังดังนี้

ปี 2016 รายได้ 9,411 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,890 ล้านบาท

ปี 2017 รายได้ 11,207 ล้านบาท กำไรสุทธิ1,372 ล้านบาท

ปี 2018 รายได้ 12,415 ล้านบาท กำไรสุทธิ 489 ล้านบาท

โดยจะนำเงินที่ได้ไปใช้ดังนี้

- ซื้อกิจการโรงแรมของในเครือทีซีซีกรุ๊ปกว่า 10 แห่งและอสังหามิกซ์ยูส 2 แห่งเป็นเงิน 25,500 ล้านบาท

- คืนหนี้เงินกู้ 5,200 ล้านบาท

- ใช้เงิน 10,331 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

ในแง่ของงบการเงินปัจจุบัน พบว่าอัตราหนี้สินต่อทุนในไตรมาสล่าสุดยังสูงถึง 2.7 เท่าแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงมาเรื่อยๆก็ตาม แต่ก็ยังสูงมากอยู่ดี

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายต้นทุนทางการเงินหรือ ดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 3,000 ล้านบาทในปี 2018 ดูแล้วบริษัทเร่งสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยการใช้เงินกู้มาลงทุน

แล้วหุ้นไอพีโอตั้งราคาไว้แพงไหม?

จากหนังสือชี้ชวนในการลงทุนที่แจ้งไว้ว่าบริษัทไม่ได้ใช้หลักการหามูลค่าหุ้นเทียบกับค่าอัตราส่วนพีอี เพราะสูงถึง 277 เท่าหรือต้องลงทุนไป 277 ปีถึงจะคืนทุน

แต่ด้วยธุรกิจของบริษัทที่มีอนาคตในการเติบโตและศักยภาพในการบริหารสินทรัพย์ระดับประเทศ บริษัทจึงใช้วิธีการเทียบราคาอ้างอิงจากมูลค่าทางบัญชี (Book Value)

เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดหลักทรัพย์ เช่น CPN และ Centel ที่มีราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (Price/Book Value) อยู่ที่ 4-5 เท่า

โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าทางบัญชีอยู่ที่ 1.20 บาทต่อหุ้น บริษัทจึงได้กำหนด P/BV ที่ 5 เท่าและได้ราคาที่เหมาะสมสำหรับการขายหุ้นไอพีโอที่ 6 บาท

โดยมุมมองส่วนตัวธุรกิจของบริษัทมีความเข้าใจค่อนข้างยาก เพราะมีหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริษัททีซีซีกรุ๊ป ผมจึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ารายได้และต้นทุนของสินทรัพย์แต่ละแห่งจะเป็นอย่างไรบ้าง มีความซับซ้อนเชิงลึกที่นักลงทุนอาจจะมองไม่เห็น

#นอกจากนี้การที่บริษัทตั้งราคาโดยใช้หลักการ P/BV ก็เป็นแนวทางที่กำหนดมูลค่าของหุ้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของธุรกิจและกระแสเงินสดมากนัก เพราะจากประสบการณ์ผม มูลค่าหุ้นที่สะท้อนออกมาในตลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าทางบัญชีเสมอไป หลายๆบริษัทมีค่า P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า แต่ราคาก็ไม่วิ่งไปไหน เพราะนักลงทุนมองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจ

โดยสรุปผมคงได้แค่ติดตามหุ้นตัวนี้ ไม่ได้ลงทุน เพราะไม่สามารถเข้าใจธุรกิจได้ดีพอครับ #หุ้นไอพีโอ #หุ้นAWC
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่