[ไทยรัฐออนไลน์] สาธารณะไม่สุข...ความหดหู่จากก้นบึ้งหัวใจ

[ไทยรัฐออนไลน์] สาธารณะไม่สุข...ความหดหู่จากก้นบึ้งหัวใจ

หมอดื้อ

22 ก.ย. 2562 05:11 น.

ความในใจของหมอหนุ่มคนหนึ่งพูดแทนหมอหนุ่มๆสาวๆกล่าวว่า กัญชาดูจะเป็นนโยบายที่เร่งด่วนมากๆของกระทรวงสาธารณสุขในตอนนี้ ทำให้มีความเคลือบแคลงใจ เพราะประชาชนและรัฐบาลสนใจ และทำการจัดการเรื่องกัญชาทางการแพทย์กันอย่างเต็มที่

อือ...และเรื่องความรุนแรงในโรงพยาบาล เรื่องขาดแคลนบุคลากรของ สาธารณสุข เรื่องการเข้าถึงบริการของประชาชน เรื่องความสุขในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่เร่งด่วนอย่างมากเพราะเกี่ยวพันกับสุขภาพของคนทั้งประเทศ และโยงไปถึงเศรษฐกิจอีกเพราะถ้าป่วยก็ทำงานไม่ได้ สับสนถึงความเร่งด่วน

ในมุมหมอเปรียบระบบสาธารณสุขขณะนี้เสมือนคนไข้อายุ 13 ปี ไม่ใส่หมวกกันน็อก มอเตอร์ไซค์ล้มเลือดออกในหัวกำลังจะตาย แต่...หมอไม่ช่วยกลับไปนั่งคุยจ่ายยาให้คนปวดหัวไมเกรน

สะท้อนความในใจของบุคลากรแพทย์มากมาย ตั้งแต่การบริหารที่ไม่มีอะไรดีขึ้น ความปลอดภัยในการงานต่ำ การรณรงค์ความปลอดภัยทางท้องถนนที่ไม่ได้ผล คว่ำมา หัวเละมา เปลืองทรัพยากร เอาเตียงไปครึ่งค่อนโรงพยาบาล บ้างนอนติดเตียงสอดท่อช่วยหายใจ โรงพยาบาลไม่มีนโยบายชัดเจนในการหยุดการช่วยชีวิตในเมื่อไม่มีทางทำอะไรได้แล้ว

หมอตาดำๆจะไปทำอะไร จะคุยเรื่องบริจาคอวัยวะแต่ไม่มีหน่วยงานชัดเจน (บางโรงพยาบาลมีและดี) วัยรุ่นตายอย่างกับสงครามโลก เราและหมออีกหลายคนรู้อยู่แก่ใจว่าไม่นานโรงพยาบาลรัฐคงจะไม่สามารถยืนอยู่ได้ ถึงจะมีเงินไปอัดฉีดแต่ไม่มีใครทำงานให้ เหลือแค่อาจารย์อีกหยิบมือเดียวที่ยังสู้เพื่อคนไข้ พวกหมอเองหลังจากที่พยายามปฏิรูปปรับเปลี่ยน เสนอแนะ แต่ไม่มีอะไรที่ถูกนำไปใช้เลย...

ผ่านไปแค่กัญชาเพราะมีประชาชนให้ความสนใจและสนับสนุน

แต่อย่าลืมว่า กัญชาก็แค่ยาอีกตัวนึง เมื่อปราศจากโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข โรคอีกร้อยแปดก็ไม่สามารถรักษาได้ นอกจากนั้นการป้องกันก่อนเกิดโรคก็ยังไม่สำเร็จผล อุบัติเหตุ เมาเหล้าตีกัน ยิงกัน ฟันกัน สูงเป็นประวัติการณ์

ใครไม่ได้ติดตามมาก่อนคงจะอึ้ง แต่ระบบมันก็อยู่มาตั้งนานทำไมถึงบอกว่าสาธารณสุขของประเทศไทยกำลังล่มสลาย

ใส่เงินไปเพิ่มไม่มีทางจบปัญหาครับ มิหนำซ้ำเงินที่ใส่ก็น้อยนิดไม่ต่อเนื่อง ยังไม่เท่านั้น มีเรื่องขาดแคลนบุคลากรเช่นหมอจบใหม่ไม่ใช้ทุนให้ครบ จ่ายค่าปรับไปทำเอกชน หรือใช้ทุนจบก็ไปเอกชนดีกว่า การปรับเงินก็เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทำไมหมอจบใหม่ที่น่าจะไฟแรง อยากช่วยเหลือคนไข้และเป็นกำลังสำคัญของโรงพยาบาลไม่อยากอยู่ในระบบอีกต่อไป เงินหรือ?

แพทยสภาเคยถามหมอหนุ่มสาวระหว่างการเยี่ยมเยียนว่าอยากได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ก็เป็นการจับจุดที่ตรง ยังไงเงินก็มีส่วน แต่ไม่ใช่สิ่งหลัก แพทย์ส่วนมากต้องการความมั่นคง ต้องการความสุขที่ได้จากการทำงานดูคนไข้ และก็ใฝ่การเรียนเฉพาะทาง แต่หนทางไปเฉพาะทางมันอีกยาว ทุนเรียนต่อก็หาไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นนักศึกษาแพทย์เรียนมาแทบเลือดสาด กระทั่งในบางสถาบัน การฆ่าตัวตายกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

ระหว่างหมอที่ทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้าน ณ ประเทศอังกฤษ งานหนักจริง แต่รู้สึกปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อตัวเอง ไม่เสียสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต จะเรียนต่อหรือจะทำอะไรก็สมัครเข้าไป เวลาอยู่เวรถึงจะหนักแต่จะไม่มีการทำงานเกิน 12 ชั่วโมง เพราะการทำงานต่อเนื่องโดยไม่ได้พักจะทำให้เกิดความผิดพลาด

ผู้ร่วมงานมีความเป็นมืออาชีพ สามารถตามพี่ ตามอาจารย์ที่อยู่เวรได้เสมอเวลาที่บางอย่างเกินความสามารถ เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น มีการตักเตือนหาจุดบอดในระบบที่จะสามารถแก้ไขได้แต่ไม่ได้หาคนผิด ไม่ได้มีการไปพูดไปนินทาต่อ เมื่อมีความจำเป็น สามารถลางานได้ สามารถเลือกวันหยุดได้พอสมควร

แพทย์ในประเทศไทยล่ะ เท่าที่สอบถามมาจากเพื่อนๆ และพี่ๆพยาบาลหลายแห่ง ทั้งในและนอกกรุง ในบางที่นั้นมีปัญหาเยอะจริงๆ เริ่มจาก ความชั่วของหมอด้วยกันเอง เช่น การรับคอนชั่วๆ (คอน หรือคอนซัลท์ consult นั้น) เวลาหมอประสบการณ์น้อยอยู่เวรจะมีอาจารย์หรือสตาฟฟ์ คอยดูอีกที และเมื่อมี อะไรไม่แน่ใจสามารถโทร.หาหรือขอให้มาช่วยได้ถ้าจำเป็น

รับคอนชั่วๆนั้นก็คือการที่สตาฟฟ์อยู่เวร แต่พอถึงเวลากลับหาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนไข้ ที่สำคัญยังไม่รวมการนำเวลาราชการไปใช้ออกตรวจส่วนตัว ซึ่งผิดจริยธรรมแพทย์ทั้งนั้น

หวังว่าแพทยสภาจะเริ่มสุ่มตรวจโดยไม่บอกก่อนจะได้ไม่มีการโรยผักชี นอกจากนี้พี่น้องแพทย์ที่ทำหรือเคยทำงานอยู่โรงพยาบาลชุมชนก็ต้องมีประสบการณ์และความสามารถ

เจอคนไข้ป่วยหนักไม่สามารถรักษาได้เพราะเกินความสามารถทั้งหมอ พยาบาลและเครื่องมือ จึงติดต่อไปยังโรงพยาบาลใหญ่หวังเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่คำตอบคือคนไข้ยังอาการไม่ดี ไปจัดการให้ดีก่อน เดี๋ยวนะ ถ้าสามารถจัดการจนดีได้ ทำเองได้ จะโทร.ขอย้ายคนไข้ไปทำไมล่ะครับ

ส่วนการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงไปชุมชน เป็นสิ่งจำเป็นแต่พอจบ...ไปลงพื้นที่ ไปโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลกลับไม่มีความพร้อมให้หมอ จะให้ทำทุกอย่างตั้งแต่บัญชียันออกแบบโรงพยาบาล ทำให้ไม่สามารถเป็นหมอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผิดหวัง ลาออก

ยังมีอีก สวัสดิการนั้นก็แห้งแล้ง เผลอๆจะโดนตัดกันไปอีก เงินเดือนก็น้อยแล้วจะวางแผนครอบครัวยังไง มิน่าหมอโสดกันเต็ม

ทำงานโรงพยาบาลรัฐไปบางแห่ง ก็ไม่มีความ เห็นอกเห็นใจ บางโรงพยาบาล หมอไม่มีความเป็นมืออาชีพ พยายามแต่จะเอาตัวรอด ไม่ช่วยเหลือคนอื่น ยังมีการนินทา ด่า ว่าคนที่อาจจะผิดพลาดหรือไม่ได้ฉลาดเหมือนตน การนินทาลับหลังนั้นบั่นทอน ไม่ช่วยการเรียนรู้ คงมีหลายต่อหลายครั้งที่ไปได้ยินจากคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ก็ใส่ไข่ไปจนบิดเบือน มันปาก จะพูดก็ควรพูดต่อหน้า...

ดราม่าไม่มีที่ในโรงพยาบาล ต้องเป็นมืออาชีพ ช่วยซึ่งกันและกันดีกว่า

ผู้ร่วมวิชาชีพ ใครตามไม่ทัน อาจจะเรียนรู้ ไม่ไวนัก ก็ต้องช่วยกัน พยุงไปด้วยกัน อย่าผลักไส จนเขาไม่อยากอยู่ สุดท้ายก็ไปอยู่เอกชน

เวลาเกิดความผิดพลาด ไม่มีคนคนเดียวที่ผิด แต่เป็นโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขที่เป็นผู้รับผิดชอบ ถึงพูดอย่างงี้ไปแต่สุดท้ายเวลาหมอโดนฟ้องร้อง ก็ไม่มีคนช่วยเหลืออยู่ดี ชีวิตการทำงานที่ไม่มีความพอดีแถมโดนฟ้อง

ผู้อ่านและคนไข้คนอื่นๆอ่านมาถึงขนาดนี้ ถามหน่อย ใครยังอยากเป็นหมอ อยากให้ลูกเรียนหมอ ถ้าลูกเรียนเก่งให้ไปเรียนที่อยากเรียนคงจะไปไกลกว่า นี่ละเหตุผลว่าทำไมหมอไม่ยิ้ม รักอาชีพขนาดไหนก็ยิ้มไม่ออก คนอื่นๆก็ยิ้มให้หมอหน่อยละกัน.

หมอดื้อ

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1665755
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่