จะเล่าให้ฟังว่ากระบวนการผ่าชันสูตรศพเป็นยังไง

จากที่มีข่าวดังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ คำถามเกิดมากมายทำไมกระบวนการนานจังนะ ทำไมต้องตรวจสารพิษตั้ง 2 สัปดาห์ ในฐานะหมอนิติเวช เลยอยากเล่าขั้นตอนการชันสูตรศพในไทยว่ามีดังนี้
Update 2564 : ดราม่าเรื่องสาเหตุการตาย ตามอ่านกันได้ที่ : https://ppantip.com/topic/40936916
หากท่านใดพอมีความรู้กฎหมาย ลองเปิดประมวลกฎหมายหมายวิธีพิจารณาความอาญาประกอบนะครับ
ปัจจุบันการชันสูตรศพในไทยขั้นตอนเป็นอย่างงี้นะครับ

1.คนเจอศพแจ้งตำรวจ

2.ตำรวจมาดู ถ้าเห็นว่าผิดธรรมชาติก็ตามหมอ หรืออาจจะมีตำรวจพิสูจน์หลักฐาน มาดูด้วยในรายไม่ชอบมาพากล

3.ถ้าหมอกับตำรวจเห็นว่าต้องผ่าศพ ก็ส่งศพไปผ่า ญาติไม่สามารถปฏิเสธได้

4.เมื่อศพมาถึงโรงพยาบาล เก็บศพในตู้เย็น ป้องกันการเน่า บ้านเรานี่เมืองร้อน ศพจะเน่าไวครับ

5.หมอเอาศพออกมาตรวจ บันทึกบาดแผลต่างๆที่สำคัญและผ่า เจาะเลือด ฉี่ หรือเก็บอวัยวะไปตรวจสารพิษ การผ่านั้นเราจะผ่าและชั่งน้ำหนักทุกอวัยวะ และถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน จดบันทึกความผิดปกติที่สำคัญ

บางครั้งการผ่าในขั้นนี้ หมออาจจะไม่รู้ว่าตายจากอะไรก็มี หมอจะลงสาเหตุการตายให้ในหนังสือรับรองการตายว่า "ระบบหายใจหัวใจล้มเหลว" ปัญหาของบ้านเราที่อยากจะfeedback ไปกรมการปกครอง คือ บางทียังไม่รู้จริงๆ ทำไมหมอจะลงว่ายังไม่สามารถสรุปไม่ได้ครับ คำว่า "ระบบหายใจหัวใจล้มเหลว" สร้างความงงให้กับสังคมมานานแล้ว  โดยเฉพาะในคดีดังๆ ถ้าหมอยืนยันเขียนว่า"ยังไม่ทราบสาเหตุ รอผลตรวจเพิ่มเติม"อำเภอก็ไม่ออกใบมรณะบัตรให้ ครอบครัวก็เอาศพไปทำพิธีไม่ได้อีก สุดท้ายหมอนิติเวชเลยต้องเขียน "ระบบหายใจหัวใจล้มเหลว" แลเวต้องมานั่งตอบคำถามสังคมอีก เหนื่อยใจ

อีกเรื่องทีกลัวกันว่าผ่าศพ ศพจะเสียโฉม ยืนยันครับว่าเราพยายามที่สุดที่จะไม่ให้เสียโฉม ปกติสภาพศพจะ 95% ปกติ ใส่เสื้อผ้าคอสูง กับหมวกคลุมผมเราก็ปิดรอยผ่าได้ครับ ต่อให้เห็น ก็ไม่น่าเกลียดครับ เราจะไม่ยุ่งกับใบหน้าเลย ยิ่งบางราย แผลมาเยอะๆ อวัยวะขาดจากตัว เผลอๆเราเย็บซ่อมให้ สวยกว่าตอนเสียอีก

6.หมอส่งตรวจต่อหลังผ่าดังนี้
6.1 เอาชิ้นเนื้อไปตรวจหารอยโรค หรือความผิดปกติ ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์อย่างเร็ว เราอาจจะตัดเก็บไว้ตรวจตามจำเป็น ที่เหลือเราคืนใส่ร่างศพแน่นอน ไม่มีการแอบเอาไปขายหรอกครับ บางอวัยวะ ตามหลักวิชาการหมอควรเอาไปตรวจทั้งหมด ที่เคยมีข่าวอวัยวะหาย ขอตอบเลยว่า บางกรณีจำเป็นตามหลักวิชาการครับ หลังตรวจเสร็จ อวัยวะเหล่านี้ เราก็ไปเผาให้ตามหลักศาสนา ไม่ต้องกังวล

6.2 เอาที่เก็บจากข้อ 5.ไปตรวจสารพิษ แอลกอฮอล์ ถ้าจากข้อ 5.เก็บแบบเหมาะสม ในตู้เย็นที่เหมาะ ก็เก็บได้นาน การตรวจสารพิษ กว่าจะสกัด กว่าจะตรวจด้วยเครื่องchromatography ต้องใช้เวลาเตรียมนาน ด้วยปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ และความคุ้มทุน ในรายปกติที่ไม่ได้ถูกสังคมกดดันแบบนี้ ใช้เวลายืนยันประมาณ 1-2 สัปดาห์อย่างเร็วครับ ยิ่งผลบางอย่าง เช่น แอลกอฮอล์ มีผลทางคดี ทั้งเรื่องประกัน เรื่องเงินทอง ต้องมีการตรวจสอบนานเพื่อให้แม่นยำที่สุด และในคนตายเขาบอกไม่ได้ว่าเขาโดนยาหรือสารอะไรมาก่อนตาย ดังนั้นบางทีเราก็ต้องตรวจหลายวิธีหว่านแหไป จึงอาจจะนานกว่าปกติ

6.3 ตรวจอื่นๆที่จำเป็น เช่น DNA อสุจิ ในกรณีพิเศษ อย่างยังระบุตัวตนไม่ได้ สงสัยข่มขืนปกติมักใช้เวลา 1-2 สัปดาห์อย่างเร็วเช่นกัน

กรณีปกติมักมีแค่ 6.1 และ6.2

การตรวจข้อ 6.2 มีเพื่อนสมาชิกช่วยเขียนอธิบายไว้ใน comment 24 ครับ ปกติบ้านเรา การตรวจข้อ 6.2 นี่แหละที่เปลืองงบที่สุดและใช้เวลาที่สุด เพราะค่าเครื่องมือ ค่าบำรุงรักษา ค่าสารมาตรฐานก็แพงมาก บุคลากรที่ทำได้ก็มีน้อย รพ.ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่รพ.ใหญ่ๆ ก็ต้องส่งไปให้รพ.ใหญ่ๆหรือแลปที่อื่นช่วยทำ ในประเทศพัฒนาแล้ว เคยได้มีโอกาสคุยกับหัวหน้าแลปของสิงคโปร์ ที่เงินและเครื่องมือพร้อมกว่าเรา หากเจอสารยากๆ พิสดารที่นานๆเจอที จบกระบวนการเฉพาะแค่ 6.2 ใช้เวลา 3-4 เดือนก็มี

7.หมอเอาผลจากข้อ 6.มาสรุปทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ส่งตำรวจ ใช้ระยะเวลาอย่างเร็วนับจากการตายเกิดขึ้นคือ 3-4สัปดาห์ บางทีเราก็สรุปไม่ได้เหมือนกันว่าตายจากอะไรเพราะบางโรค เป็นการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ไฟฟ้าในร่างกาย หมอก็ไม่รู้ มีแต่พระเจ้าที่รู้ครับ

หลังจากข้อ 7. ตำรวจก็ต้องเอาข่อมูลทั้งหมดจากการสืบสวนสอบสวน รายงานของตำรวจพิสูจน์หลักฐานมาสรุปสำนวนคดี ระยะเวลาก็แล้วแต่ความยากง่าย กว่าจะส่งอัยการ กว่าจะฟ้องระยะเวลาจึงมัก 1-2 ปีหลังการตาย ถ้าสู้กันถึงศาลสูง บางทีมี 10ปี หลังการตายก็มีคดีถึงสิ้นสุด คดีเปรมชัยนี่ถือว่าฟ้องเร็วแล้วนะครับ
ปกติเวลาผมไปเป็นพยานศาล คือ เรื่องเกิดมาแล้ว 2 ปีโน่น

อยากบอกว่า หมอนิติเวชเราและงานทางนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆ ทำงานต้องละเอียด รอบคอบที่สุด เพราะการวินิจฉัยของเรามีผลต่อคดี มีผลต่อสังคม ครับ อย่างสงสัยเลยว่าเราทำงานช้าเพราะอะไร เราอยากรอบคอบที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคนครับ เรื่องประวิงเวลาหรือทำให้หลักฐานเสียไป พวกเราไม่กล้าทำหรอกครับ ผิดจริยธรรม ไล่ออกจาราชการ ไม่คุ้มกับเวลาที่เราทำงานมาเลย

เชิญชวนพี่ๆน้องๆที่ทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆและด้านกฎหมายเม้นท์ประกอบนะครับ ให้ทุกคนได้รู้ในงานที่ทำ ผมเป็นแต่หมอรู้แต่งานชันสูตรศพครับ

ต้องบอกเลยครับ ทั้งกระบวนการหมอไม่ใช่พระเอก เป็นแค่ตัวประกอบนึง เบื้องหลังเรามีทั้งนักวิทยาสาสตร์ ช่างภาพ เจ้าหน้าที่ธุรการ และบุคลากรอื่นๆอีกมากมายที่ช่วยกันหาความจริง

ท่านใดมีคำถามอะไรพิมพ์ถามได้เลย ยินดีมาตอบครับ

ป.ล.กระบวนการต่างๆใช้เทคโนโลยีเยอะ แต่จริงๆแล้วญาติศพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนะครับ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจ่ายเงินทั้งหมดเพื่ออำนวยความยุติธรรม ญาติศพเสียเงินเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำพิธี เช่น ฉีดยาศพ หีบศพ รถขนศพเฉยๆ

ป.ล.2 บ้านเราอากาศร้อนมาก เป็นไปได้ก่อนฉีดฟอร์มาลีน อย่าเพิ่งคลุมศพหรือใส่เสื้อผ้าให้ ศพจะเน่าไว ให้เปิดพัดลมเบอร์3 ทุกตัวในบ้านจ่อ และเปิดแอร์ในห้องให้เย็นที่สุดจะช่วยป้องกันศพมีกลิ่นออกได้ระดับนึงครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่