เล่าเรื่องของบ้านพักคนชราในต่างประเทศ

อยู่กับแม่สามีมาช่วง๑๐ปีสุดท้าย จนเมื่อ๓เดือนสุดท้าย มีอาการหลงๆลืมๆและหกล้ม กระดูกหลังหัก
หลังผ่าเดินไม่ได้ หลงลืมขนาดจำลูกๆหลานๆไม่ได้ จึงไม่สามารถเอากลับมาอยู่บ้านได้ เพราะ
เราและสามียังทำงานเต็มเวลาอยู่ การดูแลตลอด๒๔ชม.เป็นไปไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเอาไปฝากไว้
ที่บ้านพักคนชรา

ว่าด้วยบ้านพักคนชรา ที่นี่ไม่ใช่เข้ากันไปอยู่ง่ายๆ ต้องรอกันนานมาก อาจจะรอกันเป็นปีๆเลยทีเดียว
รวมทั้งค่าใช้จ่ายรายเดือนก็ไม่ใช่ถูกๆ อย่างต่ำๆ๑๗๐๐ยูโร/เดือน(๑ยูโร=๓๕บาท) ระดับดีๆหรูๆก็๒๕๐๐
ยูโรขึ้นไป 

แล้วคนที่ไม่มีเงินจะทำงัย สำหรับที่นี่ คนที่ไม่มีเงิน อย่างแรกเลยจะดูว่ามีทายาทเหลืออยู่หรือไม่
ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ต้องช่วยจ่ายในส่วนนี้ ถ้าไม่มีลูก แต่มีสมบัติ ก็ต้องเอามาขาย เพื่อเอามาจ่ายในส่วนนี้
มีเงินในธนาคารเท่าไหร่ ก็ต้องเอาออกมาใช้จ่ายในส่วนนี้

แล้วคนที่ไม่มีอะไรเลยล่ะ ใครจ่าย พวกเราที่ทำงานนี่แหละเป็นคนช่วยจ่าย จากการเสียภาษีที่ต้องจ่าย
กันทุกๆคน หน่วยงานที่ทำเรื่องแบบนี้เรียกว่าOCMW

แล้วบางคนที่มีแต่ไม่พอจ่ายทำงัยดี อย่างเช่นบางคนมีเงินเกษียนกินแค่เดือนละ๑๔๐๐ยูโร ซึ่งไม่
พอแน่ๆ เพราะค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากกว่า๑๗๐๐ยุโร/เดือน ยังมีส่วนเหลือที่ต้องจ่ายอีก อย่างแรกถ้าตกลง
กันไม่ได้ ก็ต้องขายสมบัติหรือทายาทจะต้องช่วยหารจ่ายอีกเช่นกัน

ที่นี่ทายาทไม่ได้รับมรดกอย่างเดียวเน๊าะ ยังต้องรับหนี้ จากรัฐบาลอีกด้วย รัฐบาลเบลเยี่ยมนี่เก่งมาก
เรื่องหาคนมารับภาระช่วยหารหนี้สิน (ดิฉันยอมจริงๆ โต้ไม่ได้เลยเรื่องที่รัฐบาลเบลเยี่ยมเค็ม)

แล้วมาตรฐานของบ้านพักคนชรา(RUSTHUIS)ที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง คหสต.มาตรฐานค่อนข้างดี เพราะ
ถูกควบคุมโดยหน่วยงานอย่างเคร่งครัด ซึ่งบ้านพักคนชราไม่ใช่อยากเปิดกัน แล้วจะเปิดกันได้ง่ายๆ
จะต้องมีกฏมีระเบียบ บ้านพักคนชราจะมีทั้งแบบเอกชนและแบบรัฐบาล

โดยส่วนตัวเคยเข้าไปฝึกงานในบ้านพักคนชราครั้งนึง มีทั้งแบบดูหรูหรา เป็นอพาร์ทเม้นต์ แบบอยู่คนเดียวหรือ
คู่สามี-ภรรยา และแบบเป็นห้องๆมีเตียงนอน ทีวี ตู้เย็นและห้องน้ำในตัว

ในที่สุดแม่สามี โชคดีได้เข้าไปอยู่เร็วมากในระยะแค่๑เดือน จากการจัดการร่วมกันกับโรงพยาบาล โดยจ่ายเดือน
ละ๒๑๕๐ยูโร/เดือน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่