เกราะแบบที่พระนเรศวลใส่ในหนังนี่ทนดาบ หรืปปืนต่างๆระดับไหนครับ



อยากรู้ว่าใน ประวัติศาสตร์จริงๆแบบนี้เลยทั้ย

ทนดาบ ง้าว ปืนขนาดไหน

สร้างที่ไหน

ต่างประเทศมีการใช้แบบนี้มั้ย
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 7
เรื่องชุดเกราะเหล็กแบบยุโรปในสยามมีหลักฐานกล่าวถึงอยู่จริงครับ  

ปรากฏในจดหมายเหตุของ Jacques de Coutre พ่อค้าชาวเฟลมิชที่ได้ติดตามคณะทูตโปรตุเกสที่ Francisco da Silva Meneses ผู้ว่าราชการเมืองมะละกาส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนเรศวรใน พ.ศ. ๒๑๓๙  ระบุว่ามีชุดเกราะเป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการที่ส่งมาถวายด้วย  เมื่อคณะทูตจะเข้าเฝ้าก็โปรดให้จัดขบวนแห่อย่างใหญ่โต สำหรับชุดเกราะนั้นให้นำใส่วอมีสัปทนกั้น ๔ คันแห่ตามมาพร้อมกันด้วย ก่อนจะนำขึ้นถวายสมเด็จพระนเรศวรในท้องพระโรงพร้อมเครื่องบรรณาการอื่น  แต่ชุดเกราะในยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นเกราะแบบเต็มชุดมีทั้งหมวกและเกราะแขนเกราะขา ไม่เหมือนกับในหนังเสียทีเดียวครับ

ในทางปฏิบัติชุดเกราะแบบนี้เป็นสิ่งของหายากและมีราคาสูง ส่วนใหญ่แล้วน่าจะเข้ามาในสยามในฐานะเครื่องบรรณาการสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือของกำนัลของเสนาบดีผู้ใหญ่เท่านั้น  นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักมากไม่คล่องตัวในการรบ ยิ่งใส่เกราะโซ่ถักชั้นในแบบในภาพยิ่งหนัก บวกกับสภาพอากาศเมืองไทยที่ร้อนจึงไม่น่าจะมีการใช้งานรบจริงเท่าไหร่ ส่วนใหญ่แล้วสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพียงของฟุ่มเฟือยสำหรับตั้งโชว์หรือเก็บไว้ในท้องพระคลังมากกว่าครับ


สำหรับเกราะที่มีหลักฐานว่าใช้งานจริงในเมืองไทยโบราณเป็นเกราะนวม หรือเกราะเหล็กบุผ้าตามที่ คห. บนได้อธิบายไว้  รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ตามลิงก์ครับ https://www.silpa-mag.com/history/article_8054


เกราะโบราณแบบหนึ่งที่พบเป็นเกราะคาดลำตัวหรืออกทับเสื้อ ดังที่พบในจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี ศิลปะอยุทธยาตอนปลายครับ


เกราะเกล็ดถักแบบจีนสามารถพบได้ตามรูปเซี่ยวกาง เป็นไปได้ว่าในสมัยโบราณอาจจะมีชุดแบบนี้จริงครับ

จิตรกรรมทวารบาลอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ศิลปะอยุทธยา ท่อนบนสวมเสื้อแขนยาวชั้นใน มีเสื้อชั้นนอกแขนสั้น ทับด้วยเสื้อชั้นนอกสุดไม่มีแขนซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเกราะนวมหุ้มด้วยแพร เย็บติดด้วยเกราะลายเกล็ดปลาคาดลำตัว สวมกรองคอ   ท่อนล่างสวมสนับเพลาหรือกางเกงชั้นในเย็บเกราะเกล็ดปลาที่ต้นขา มีสนับเพลาชั้นนอกเป็นเกราะเกล็ดสวมทับอีกชั้นหนึ่ง


จิตรกรรมทวารบาลอุโบสถวัดสระบัว เพชรบุรี ศิลปะอยุทธยา   คนซ้ายสวมเสื้อเกราะเกล็ดปลาแขนสั้น คาดแถบเกราะ สวมสนับเพลาเกราะเกล็ดปลา   คนขวาเสื้อชั้นนอกสุดไม่มีแขนสันนิษฐานว่าเป็นเกราะนวม คาดเกราะลายเกล็ดปลา สนับเพลาเกราะเกล็ดปลา

บานประตูจำหลักรูปเซี่ยวกางเหยียบกิเลน วัดหันตรา พระนครศรีอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ชั้นนอกสุดเป็นเกราะเกล็ดลายภูเขาหรือซานเหวินข่าย (山文铠) ทับด้วยเกราะคาดลำตัว สวมกรองคอ  เสื้อชั้นในแขนสั้นบุเกราะมีเกราะที่ไหล่


จิตรกรรมเซี่ยวกาง หีบพระธรรมลายกำมะลอ สมัยอยุทธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เสื้อแขนยาวชั้นในกับสนับเพลาชั้นในเป็นเสื้อเกราะเกล็ด มีเกราะเกล็ดคาดลำตัวทับเสื้อชั้นนอก


ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนกล่าวถึง "กรมม้าเกราะทอง" หรือ "ทหารม้าอาสาเกราะทอง" สังกัดอยู่ในกรมพระอัศวราชหรือกรมม้า บางทีอาจจะสวมเกราะตามแบบในภาพก็เป็นได้ครับ เนื่องจากปรากฏในคำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรมระบุว่า "ม้าห้อแลม้าอาษาเกราะทองแลม้าเครื่อง ม้าไชยนั้นคนขี่แต่งตัวใส่เสื้อเกราะแพรใส่หมวกมือถือทวนแลธนูแห่ไปซ้ายขวา"   ต่แมาจึงปรากฏหลักฐานว่ากรมนี้เปลี่ยนมาแต่งเครื่องเกราะอย่างฝรั่งเศสเมื่อรัชกาลที่ ๔


ชุดเกราะแบบนี้พัฒนาการมาเป็นชุดโขนในปัจจุบัน เกราะที่คาดลำตัวนั้นยังพบได้อยู่ในชุดโขนของทศกัณฐ์ครับ โดยปกติแล้วมีแต่ชุดโขนทศกัณฐ์ที่คาดเกราะที่อก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่