ข้อดีของระบบโซตัส รวมไปถึงการจัดห้องประชุมเชียร์

ระบบโซตัส กล่าวโดยง่ายเหมือนระบบอุปถัมป์ การนับพี่ถือน้อง มีรุ่นพี่และรุ่นน้อง การวางตัว การเกรงใจ การให้ความเคารพ รวมไปถึงการแสดงอำนาจของผู้เป็นรุ่นพี่ มาจนยุคปัจจุบัน ระบบดังกล่าวถูกกล่าวว่าเป็นระบบที่เก่า ล้าสมัย และไม่สมควรจะมีอยู่อีกต่อไป มหา'ลัยหลายมหา'ลัยออกมากล่าวเป็นเชิงว่า ในเมื่อระบบดังกล่าวมันล้าหลังไปแล้ว จะขอยกเลิกระบบดังกล่าวในมหา'ลัยของตนเช่นกัน แต่ถึงกระนั้น...กลับยังมีบางมหา'ลัยที่ยังใช้ระบบนี้อยู่ ที่น่าตลกร้าย...บางมหา'ลัยที่ยังใช้ระบบนี้ เป็นมหา'ลัยเดียวกันกับที่ออกมาบอกว่าจะยกเลิกระบบดังกล่าว จขกท.เองเรียนอยู่ในมหา'ลัยที่ออกมาให้สัมพาษณ์กับสื่อเช่นกันว่าจะยกเลิกระบบดังกล่าวแล้ว จขกท.ยังเรียนอยู่ในมหา'ลัย และได้ทำทุกตำแหน่งและบทบาทในห้องเชียร์หมดแล้ว เว้นเสียตำแหน่งเดียว คือ พี่ระเบียบ หรือ พี่ว้าก นั่นเอง จึงรู้เบื้องลึกหนาบาง และทุกการกระทำภายในห้องเชียร์หมดแล้ว ทั้งในฐานะน้องปี 1 ที่ถูกรับ และตำแหน่งอื่นๆ เมื่อพ้นปี 1 มาแล้ว ภายในห้องเชียร์
หากคุณเคยเข้าห้องเชียร์มาก่อน คิดว่าคุณคงเจออะไรแบบนี้มาบ้าง
- สำหรับมหา'ลัยที่บอกว่าไม่มีระบบโซตัสแล้ว รุ่นพี่ (มักจะเป็น ปี 2) จะหลอกล่อคุณไปเข้า ห้องๆหนึ่ง ด้วยท่าทางมีพิรุธ มีลับลมคมใน พวกเขาจะริบเครื่องมือสื่อสารทั้งหมดของคุณ สั่งให้คุณถอดทุกอย่างที่จะระบุความเป็นมหา'ลัยของคุณ ออกจากเครื่องแต่งกาย ก่อนให้เรียงแถวเข้าไปในห้องดังกล่าว
- ห้องดังกล่าวจะปิดไฟมืดสนิท ไม่มีใครอยู่ คุณต้องลงไปนั่งอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
- ระหว่างที่คุณจับต้นชนปลายไม่ถูก คือเวลาเปิดตัวของพวกพี่ว้าก พวกเขาคือนิสิตปี 3-4 ของคณะและสาขาของพวกคุณ ในชุดช็อป หรือไม่ก็เครื่องแต่งกายนิสิตถูกระเบียบตามมหา'ลัย คำพูดเปิดตัวมักจะเป็นประมาณ "ระเบียบเชียร์ ปี 1" "ระเบียบเชียร์นั่งยังไง ปี 1" ทำให้คุณต้องกำหมดบริเวณหัวเข่า เหยียดหลังตรง มองไปข้างหน้า ห้ามล่อกแล่ก พวกพี่ระเบียบจะตีวงล้อมเด็กปี 1 เป็นครึ่งวงกลม รูปร่างเหมือนสร้อย กล่าวคือด้านหน้าสุด หรือก็คือมุมที่นิสิตปี 1 ต้องมองตรง จะไม่มีใครยืนอยู่ นั่นจะเป็นตำแหน่งสำหรับพี่ว้ากที่ต้องการออกมาพูดกับคุณ และเป็นตำแหน่งของพวกคุณ ที่จะต้องออกไปยืน หากพี่ว้ากขอตัวแทนให้คุณไปทำอะไรบางอย่างตามที่เขาต้องการ
- พวกเขาจะบอกให้คุณ "ทำอะไรต้องขออนุญาต" (คุณจะต้องยกมือ เมื่อคุณอยากจะพูด คุณเจ็บป่วย หรือทำอะไรนอกเหนือจากการนั่งเข้าระเบียบ) พวกเขาจะมอบ แบบฟอร์ม การรายงานตัว เมื่อคุณต้องออกไปข้างหน้าห้อง อาทิเช่น...สวัสดีครับ/ค่ะ ตัวผม/ดิฉัน ชื่อ...นามสกุล...รหัสนิสิต...พี่รหัสชื่อ...ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่...อย่างไรก็ว่าไปตามเรื่องตามราว ฟอร์มของคุณจะไม่มีคำว่าหยวน เมื่อคุณพูดตกหล่นหรือเกิน พี่ว้ากทั้งหมดจะรุมว้ากใส่คุณในบัดดลเสียจนคุณไม่กล้าเงยหน้าขึ้น
- พวกเขาจะถามคำถามที่คุณไม่น่าตอบได้ คำถามนั้นจะเป็นคำถามเกี่ยวกับมหา'ลัย คณะ และสาขา เพลงเชียร์ประจำมหา'ลัย และบางทีจะให้พวกคุณร้องมันด้วย ระหว่างที่คุณร้อง คุณก็จะถูกก่นด่าด้วยเสียงเซอร์ราวมากมายรอบด้าน ทำให้คุณไม่สามารถร้องได้ และเขาก็จะบอกว่าคนที่ร้องไม่ได้ ห้ามตามน้ำ และอาจถูกลงโทษด้วยการสั่งให้ลุกขึ้นยืน ไม่ก็ยกมือขึ้นข้างหนึ่ง บางทีก็สองข้าง ทุกอย่างจะจบลงตรงที่ พี่ว้ากกล่าวว่าทั้งหมดเป็นความผิดของพี่ปี 2 ที่สอนปี 1 ไม่ได้เรื่อง และปี 2 จะถูกจับมาทำโทษต่อหน้าน้องปี 1
- น้องปี 1 บางคนที่อินกับการที่ปี 2 โดนทำโทษต่อหน้า ก็จะร้องไห้ และพาลไปลงกับเพื่อน ก่อให้เกิดการแตกแยกกันในรุ่นของปี 1
- พวกเขาจะแทนตัวเองว่า ผม-คุณ&เรา-คุณ 
- เขาจะอ้างว่าไม่มีการบังคับเข้า แต่สุดท้ายแล้วคนที่เข้า ก็จะถูกด่าแทนคนที่ไม่ได้เข้า และคนโดนด่าก็จะพาลไปใส่เพื่อนตนเองที่ไม่ได้เข้า นำไปสู่การแตกกันในรุ่นของพวก ปี 1 อีกเช่นเคย

เมื่อคุณอยู่ปี 1 คุณอาจคิดว่า "ประเพณีแย่ๆแบบนี้ จะสืบทอดทำไม เลิกมันไปซะก็สิ้นเรื่อง เดี๋ยวพอขึ้นปี 2-3-4 ไปจะยกเลิกให้ดู" คุณไม่ผิด ผมเองก็คิดเช่นกัน แต่ตอนนี้ผมเลยปี 1 มาพอสมควรแล้ว มาอยู่ในจุดที่เป็นรุ่นพี่เสียเอง คุณจะพบว่ามันยากมากที่จะยกเลิก เพราะคำว่าประเพณีมันค้ำคอคุณอยู่ และเหล่ารุ่นพี่ที่จบกันไปแล้ว ก็จะกลับมาเพื่อบรีฟคุณให้ทำห้องเชียร์และดำรงโซตัสต่อไป แล้วเขาก็จะส่งแรงกดดันจำนวนมหาศาลลงมา ถ้าคุณไม่ทำ ทั้งหมดทั้งมวลก็เพราะคำว่าโซตัสได้ก่อตั้งขึ้นมา เพราะคำว่าโซตัส ทำให้ทุกคนต้องเกรงและน้อมรับคำสั่งของคนที่เป็นรุ่นพี่ของตนเองอีกทีแทบทั้งสิ้น พี่ที่ว้ากคุณบางคนก็ไม่ได้อยากทำ แต่เขาก็มีรุ่นพี่ของเขา และเขาก็ถูกรุ่นพี่ของเขาเองสั่งมาอีกทีหนึ่ง เขาไม่สามารถขัดขืนได้ ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจมา ณ ที่นี้ด้วย ไม่ใช่จะว่าพี่ว้ากอย่างเดียว
ข้อดีของระบบโซตัสและห้องเชียร์...
จากเพื่อนที่สนับสนุนให้มีห้องเชียร์ต่อไปของผม...พวกเขาบอกว่า

- ในห้องเชียร์จะมีอีเว้นอย่างการให้จำชื่อเพื่อน อาจเป็นทั้งรุ่น หรือคนซ้ายขวาหน้าหลังของตน
Ans : มีเพื่อให้เพื่อนๆรู้จักกัน เผื่อผลสอบออก จะได้ดูแทนกันได้ บางทีที่ต้องจำรหัสนักศึกษาของเพื่อนด้วย เผื่อบางวิชา ผลสอบประกาศแต่รหัสนักศึกษา
- ว้ากเพื่ออะไร
Ans : ฝึกความกดดันให้น้องๆ ไปใช้กับตอนเจ้านายกดดันตอนทำงาน ตอนทำงานน้องๆอาจกดดันกว่านี้อีก เพราะเจ้านายไม่ได้กดดันด้วยการตะคอกกระโชกโฮกฮากแบบพี่ว้าก แต่กดดันด้วยคำพูดเพียงเล็กน้อย กับอำนาจของตัวเอง แล้วบางที...ตอนน้องๆจบไปแล้วกลับมารวมตัวกัน ก็จะได้คุยเรื่องห้องเชียร์สมัยตัวเองเรียนอยู่ได้ เป็นการเพิ่มประเด็นในการพูดคุย นอกจากเรื่องวิชาการสมัยตัวเองยังเรียนอยู่

และอีกเหตุผลนานา
ผมคนหนึ่งล่ะ ที่ไม่เห็นด้วย
น่าแปลกที่สมัยตอนเรียนมัธยม ผมก็สนิทกับสายรหัสของผมเป็นอย่างดี พี่ม.6 ที่เป็นพี่ของพี่รหัสอีกทีก็เข้ากับผมได้ดี โดยไม่ต้องให้พี่ ม.6 มาเข้าระเบียบเชียร์ ผมคุณ เราคุณ ตีวงล้อมตอนเราเข้าม.4 ใหม่ๆ เช่นเดียวกับตอนเราเข้าปี 1 แล้วโดนพี่ที่จะต้องมีสายรหัสของเราอยู่ในนั้น ปี 3-4 มาตีวงล้อมว้ากเราในห้องเชียร์ แน่นอนว่าตอนเรียนมัธยม ผมก็สนิทกับพี่รหัสได้โดยไม่ต้องให้พี่รหัสมาถูกทำโทษต่อหน้าแบบในห้องเชียร์ด้วย
แล้วทำไมมหา'ลัยที่อยู่ในช่วงชั้นที่โตกว่าระดับมัธยม กลับมีกิจกรรมและประเพณีที่วุฒิภาวะดูเด็กและด้อยกว่ามัธยมปลายอย่างเห็นได้ชัดเยี่ยงนี้

ทุกท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการมีระบบและห้องเชียร์ต่อไปอย่างไร?

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่