กาลครั้งหนึ่ง เราต่างเคยเป็นนักรบหนุ่ม

เมื่อหลายปีก่อน ผมได้ไปเยือนประเทศสหรัฐฯ ได้มีโอกาสไปซื้อหาสิ่งของในร้านค้าบริการทหารของค่ายเขา แล้วก็ไปคว้าหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ We Were Soldiers Once..and Young เขียนโดย พล.ท.ฮัล มัวร์ เล่าประสบการณ์สู้รบในเวียตนามของหน่วยกองพันทหารม้าอากาศที่ท่านเป็น ผบ.พัน.สมัยนั้น สาระของหนังสือนั้นดีถึงขนาด ผบ.เหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯได้สั่งให้ถือเป็นหนังสือที่ นย.สหรัฐฯทุกคนต้องอ่าน ผมหิ้วมาอ่านแล้วไม่มีโอกาสแปลถ่ายทอด ได้แต่อยู่บนหิ้ง วันนี้ไปปัดฝุ่นเจอ นึกขึ้นได้ถึงสาระของบทนำว่าท่านเขียนไว้จับใจ ก็เลยขอขยับแปลมาเล่าสู่กันฟัง

อารัมภบท

เรื่องนี้เป็นเรื่องของกาลเวลาและความทรงจำ เวลาคือปี 1965 อันเป็นเวลาที่ยุคหนึ่งในอเมริกากำลังจะสิ้นสุดลงและกำลังเริ่มต้นยุคใหม่ เราเริ่มรู้สึกได้แต่ตอนนั้นด้วยการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเราอย่างกะทันหันและน่าตื่นเต้น และเราไม่สงสัยใจเลยแต่น้อยว่าเราคิดไม่ผิดเมื่อมองย้อนหลังไปอีกเสี้ยวหนึ่งของศตวรรษ มันคือปีที่อเมริกาตัดสินใจจะยื่นมือโดยตรงเข้าไปยุ่งในกิจกรรมอันวุ่นวายสับสนของดินแดนห่างไกลและเข้าใจยากที่เรียกว่าเวียตนาม

มันคือปีที่เราเข้าร่วมทำสงคราม พูดกันอย่างกว้างๆตามความหมายในพจนานุกรม คำว่า“เรา”ที่เข้าทำสงครามนั้นหมายถึงเราชาวอเมริกันทุกคน ถึงแม้ว่าตามข้อเท็จจริงในเวลานั้น คนส่วนใหญ่มีความรู้แต่น้อยนิด ความสนใจที่ยิ่งน้อยกว่านั้น และไม่กังวลอะไรนักว่ากำลังเกิดอะไรในที่ห่างไกลเช่นนั้น

ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของกลุ่ม “เรา”ที่แคบและเพ่งเล็งจำเพาะในประโยคนั้น นั่นคือทหารนักรบอเมริกันหน่วยแรกผู้ขึ้นเรือขนทหารยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แล่นไปยังสถานที่ซึ่งแทบไม่มีใครรู้จักนั้น และได้เข้าสู้รบในสมรภูมิใหญ่ครั้งแรกของการสงครามซึ่งจะยืดเยื้อไปยาวนานอีกสิบปี และเกือบจะทำลายอเมริกาได้พอกันกับความหายนะต่อเวียตนาม

การยุทธที่เอียตรังนั้นมีความสำคัญในสงครามเวียตนามเทียบกันได้กับความสำคัญของสงครามหฤโหดกลางเมืองสเปนในสมัยปี 1930 ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือเหมือนเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนเอาจริง มันเป็นสถานที่สำหรับการทดลองยุทธวิธี วิธีการ และอาวุธใหม่ๆ ให้แก้ไขปรับปรุงและยืนยันประสิทธิผล ที่ยุทธภูมิเอียตรังนี้ทั้งสองฝ่ายต่างก็อ้างว่ามีชัยชนะและทั้งคู่ก็สรุปบทเรียนของตน บทเรียนบางข้อนั้นหลอกตาคนสรุปอย่างน่ากลัวอันตรายเป็นอย่างยิ่งดุจเสียงก้องสะท้อนมาตลอดระยะทศวรรษในการสู้รบอันนองเลือดและการเสียสละอันขมขื่นที่จะติดตามมา

นี่คือเรื่องราวของสิ่งที่เราได้ทำ สิ่งที่เราได้เห็น และความทุกขเวทนาของเราตลอดเวลาสามสิบสี่วันของยุทธภูมิที่หุบเขาเอียตรังในที่ราบสูงของเวียตนามใต้ในเดือน พ.ย.1965 ยามที่เรายังอยู่ในวัยฉกรรจ์ เปี่ยมความมั่นใจและความรักชาติ และเพื่อนร่วมชาติของเราแทบไม่รู้เรื่องการเสียสละของเราเลยและให้ความสนใจน้อยกว่านั้น

บางท่านอาจจะเอ่ยว่า นี่มันก็แค่เรื่องสงครามอีกเรื่องหนึ่ง มันก็ไม่เชิงเช่นนั้นดอกเพราะในอีกระดับหนึ่งที่สำคัญกว่านั้น นี่เป็นเรื่องรัก บอกเล่าด้วยถ้อยคำของเราและด้วยการกระทำของเราเอง

เราเป็นเด็กยุคทศวรรษ 1950 เราไปที่ซึ่งเขาส่งเราไปเพราะเรารักชาติของเรา โดยมากเรามาจากทหารเกณฑ์
แต่เราต่างภูมิใจที่เราได้มีโอกาสได้รับใช้ชาติเฉกเช่นที่พ่อของเราได้รับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2 และรุ่นพี่ของเราได้รับใช้ชาติในสงครามเกาหลี เราเป็นสมาชิกของกลุ่มทหารชั้นยอด
เป็นกองพลรบแนวหน้าที่ทดลองจัดตั้งขึ้นมาให้ได้รับการฝึกฝนในศิลปะการรบด้วยการส่งทางอากาศโดยนโยบายของท่านประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี

ก่อนจะขึ้นเรือเดินทางมาเวียตนาม กองทัพบกได้มอบธงประจำกองพลทหารม้าที่ 1ให้เรา เราเย็บตราเครื่องหมายเงาหัวม้าบนพื้นเหลืองดำประดับไหล่เครื่องแบบอย่างภาคภูมิใจ

เราเข้าสงครามเนื่องจากประเทศของเราขอให้เราไป และประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน สั่งให้เราไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราถือว่าเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไป

นี่คือชนิดของความรักที่เรามี

ความรักอีกชนิดหนึ่งซึ่งสูงส่งยิ่งกว่านั้นมาเยือนเราในสมรภูมิโดยไม่ได้ร้องขอดุจเดียวกับที่เคยมีในสมรภูมิที่เคยรบกันมาทุกแห่งของมนุษย์ ในสถานที่อันน่าหวาดสยองชวนซึมเศร้าซึ่งมีความตายตามล่าทุกย่างก้าวนั้น
เราค้นพบว่าเรารักกันและกัน เรายินดีฆ่าคนเพื่อเพื่อน เราตายเพื่อกันและกัน
และเราร้องไห้ให้กันและกัน และเมื่อเวลาผ่านไปเรารักกันและกันเหมือนพี่น้อง ในสนามรบโลกของคนเราหดเล็กลงเหลือแต่เพื่อนที่อยู่ทางซ้ายและเพื่อนที่อยู่ทางขวา รอบตัวมีแต่ข้าศึก ชีวิตชองเพื่อนอยู่ในเงื้อมมือของกันและกัน เราเรียนรู้ที่จะแบ่งปันความหวังความกลัวความฝันซึ่งกันและกันอย่างง่ายดายแบบเดียวกันกับการแบ่งปันอะไรไม่ว่าเล็กน้อยเพียงใดให้กัน

เราเป็นเด็กรุ่นปี 1950 เป็นชายฉกรรจ์รุ่นต้นปี 1960 ของท่านจอห์น เอฟ. เคนเนดี ท่านได้แถลงกับโลกว่าปวงอเมริกันพร้อมจะ “รับภาระทุกประการ จ่ายมุลค่าใดๆก็ตาม ต่อสุ้กับความยากลำบากไม่ว่าเพียงใด” เพื่อปกป้องเสรีภาพ เราเปรียบเหมือนเงินมัดจำวางล่วงหน้าให้กับคำสัญญาราคาแพงนั้น แต่คนที่ลงนามในสัญญาไม่อยุ่ที่นั่นเสียแล้วในยามที่เราเป็นผู้ปฏิบัติตามสัญญานั้นของท่าน

ท่านจอห์น เอฟ. เคนเนดี พักร่างของท่านอยู่ ณ เนินแห่งหนึ่งที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน

ในเวลาอีกไม่นานนักพวกเราเป็นพันเป็นหมื่นก็มานอนอยุ่ใต้แท่งหินอ่อนขาวสะอาดอยู่เคียงข้างท่านบนเนินนั้น
พร้อมฝากเสียงกระซิบถามไปตามสายลมว่า นี่เป็นอนาคตของพวกเราที่ท่านทอดทัศนาไว้อย่างนั้นหรือ?

ในหมู่พวกเรามีทหารผ่านศึกคร่ำโลก
จ่าแก่ที่เคยรบมาแล้วตั้งแต่ยุโรปยันแปซิฟิกในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่าฟันรอดมาได้จากนรกอันหนาวเย็นของเกาหลี และตอนนี้กำลังจะได้เพิ่มดาวอีกดวงหนึ่งของเข็มเชิดชูเกียรติทหารราบผู้ผ่านสมรภูมิ

เรามีทหารบกอาสาที่พบตามปกติมาจากเมืองเล็กๆในอเมริกาซึ่งพ่อบอกว่ามาเป็นทหารเสียจะได้เรียนรู้วินัยเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว

แล้วก็มีหนุ่มคนอื่นๆที่เลือกเข้าเป็นทหารดีกว่าติดคุกอยู่นานเท่ากัน สมัยนี้ผู้พิพากษาท่านใช้คำว่า ทางเลือกในการรับโทษ แต่พวกเราส่วนมากเป็นทหารเกณฑ์อายุราวๆสิบเก้ายี่สิบปีจากทั่วอเมริกาที่ถูกคัดเลือกผ่านคณะกรรมการตรวจคัดเลือกทหารเข้ากองประจำการในถิ่นนั้นๆให้มาแต่งเครื่องแบบสีเขียวเสียสองปี พลทหารได้เงินเดือน เดือนละ 99.37 เหรียญ จ่าได้เดือนละ 343.50 เหรียญ

ผู้นำพวกเราคือศิษย์ของโรงเรียนนายร้อยเวสท์พอยท์และร้อยตรีหนุ่มๆที่สำเร็จหลักสูตรฝึกนักศึกษาวิชาทหารจากรัทเจอร์และ เดอะ ซิตาเดล แม้แต่จากมหาวิทยาลัยเยล เขาเหล่านี้ได้รับฟังและมาตามคำเรียกร้องของเคนเนดี

แล้วก็ยังมีพวกที่อาสาเข้ามาและพวกนายทหารประทวนซึ่งได้ผ่านโรงเรียนนายร้อยสำรองและตอนนี้จบการศึกษาได้เป็นสุภาพบุรุษนายร้อยใหม่สดๆร้อนๆ

ทุกคนหัวเราะเขินๆเมื่อได้ประจักษ์กับสถิติที่เห็นโทนโท่ว่า อายุขัยในการรบของนายร้อยตรีใหม่นั้นวัดกันเป็นนาทีและวินาที ไม่นับกันถึงชั่วโมง ร้อยตรีใหม่ของเราได้เงินเดือนละ 241.20 เหรียญ

นักเรียนรุ่นปี 1965 ของเรากำเนิดมาจากอเมริกาเก่า ชาติที่ได้หายวับไปตลอดกาลแล้วกับควันโขมงที่พลุ่งออกมาจากสมรภูมิในป่าดงดิบที่เราได้ลงสนามและหลั่งเลือดมาแล้ว ประเทศที่ได้ส่งเราเข้าทำสงครามไม่ได้อยู่ต้อนรับเรากลับบ้านเสียแล้ว มันไม่มีตัวตนอีกต่อไปแล้ว เรารับคำสั่งจากท่านประธานาธิบดีท่านหนี่งที่ตอนนี้หาชีวิตไม่แล้ว เราต้องทำตามคำสั่งของอีกท่านหนึ่งที่จะถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งและถูกหลอกหลอนจากการทำศึกที่ท่านบัญชาการผิดพลาดอย่างมหันต์

เพื่อนร่วมชาติของเราเป็นอันมากต่างเกลียดชังสงครามที่เราไปรบ คนที่เกลียดมากที่สุดคือคนที่คิดมากเป็นอาชีพ คนเหล่านี้เอาเข้าจริงก็ไม่ละเอียดมากพอจะแยกแยะได้ระหว่างสงครามกับทหารที่ถูกสั่งให้ไปรบในสงคราม เขาก็เลยพลอยเกลียดเราไปด้วย คนประสาเราที่ได้เรียนรู้มาจากสนามรบแล้ว พออยู่กลางห่ากระสุน
เราก็ได้แต่หมอบราบติดดินให้รอดตาย

เมื่อวันเวลาผ่านไป คนเขาก็ลืมสงครามที่เราไปรบ เขามองข้ามความเสียสละของเรา แม้แต่สุขภาพจิตของเราและความเหมาะสมที่จะรับเราเข้าสังคมสุภาพชนอเมริกันก็ยังถูกยกขึ้นมาเป็นข้อกังขาอย่างเปิดเผย

ใบหน้าแก่เกินวัยของหนุ่มอย่างเราที่กร้านเกรียมจากความร้อนและโรคภัยและการอดหลับอดนอนตอนนี้เหมือนคนแปลกหน้าจ้องมองเราออกมาจากภาพถ่ายเก่าคร่ำคร่าจนเหลืองที่เก็บลงกรุกล่องกระดาษไว้ร่วมกับเหรียญตราต่างๆของเรา

เราก่อร่างสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมา หางานหรือวิชาชีพทำ แต่งงาน สร้าครอบครัว และรออย่างอดทนให้อเมริกาได้สติ เมื่อปีแล้วปีเล่าผ่านไปเราก็เสาะแสวงหากันและกัน เราได้พบว่าเราทุกคนผู้ได้ร่วมแบ่งปันทุกสิ่งทุกอย่างมาด้วยกันต่างร่วมแบ่งปันความภูมิใจในความทรงจำของการเป็นทหารกล้า
มีแต่กับเพื่อนร่วมตายเหล่านั้นเท่านั้นที่เราจะสามารถพูดคุยกันได้ว่าเรื่องที่เกิดที่นั่นจริงๆเป็นอย่างไร เราได้เห็นอะไร เราได้ทำอะไร เรารอดจากอะไรมาได้บ้าง เรารู้ว่าเวียตนามเป็นอย่างไร
หน้าตา วาจา ท่าทาง และกลิ่นอายของพวกเราเป็นอย่างไร ไม่มีใครคนอื่นในอเมริกาได้รู้ ฮอลลีวู้ดมันทำหนังกี่ทีก็ผิดทุกที มันเหมือนกับเอาการเมืองมาเป็นมีดทิ่มแทงเชือดเฉือนกระดูกพี่น้องที่ตายไปแล้วของเรา

ดังนั้นขอสักครั้งเถิด ครั้งนี้ก็ยังดี นี่คือเรื่องที่มันเกิดจริงๆเป็นอย่างนี้ เรื่องมันเป็นอย่างไร มันมีความหมายอย่างไรกับเรา และเรามีความหมายต่อกันและกันอย่างไร

นี่ไม่ใช่เรื่องหนัง เมื่อมันจบลง คนตายไม่ได้ลุกขึ้นปัดฝุ่นเดินกลับบ้านได้ คนเจ็บก็ไม่ได้เช็ดเลือดออกและใช้ชีวิตต่อไปอย่างสุโข คนที่ดวงดีไม่มีบาดแผลใดๆก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ระคาย ในหมู่พวกเราไม่มีใครจากเวียตนามมาเหมือนชายหนุ่มคนเดิมที่มาถึงเวียตนาม

ดังนั้น ต่อไปนี้คือปฏิญญาของพวกเรา และเป็นเครื่องบำบวงบูชาแก่ทหารอเมริกัน 234 คนที่ตายเคียงข้างเราระหว่างเวลาสี่วันที่ลานส่งลงเอกซเรย์และลานส่งลงอัลบานีในหบเขามรณะเมื่อปี 1965 เป็นจำนวนทหารอเมริกันที่ตายมากกว่าในกรมใดๆไม่ว่าฝ่ายเหนือหรือใต้ที่การยุทธที่เก็ตติสเบิร์ก
และมากมายยิ่งกว่าที่ตายจากยุทธการในสงครามอ่าวเปอร์เซียทั้งสิ้น นอกเหนือจากก่อนและหลังการรบใหญ่ที่เอกซเรย์และอัลบานีแล้ว สหายของเราอีก 70 คนยังพลีชีพที่เอียตรังในการปะทะเล็กบ้างใหญ่บ้าง ชื่อของทั้ง
305 คนรวมทั้งนักบิน ทอ. 1 นาย ถูกจารึกไว้ ณ แผงที่สามถัดไปทางขวาของยอดแผงที่ 3 ทางตะวันออกของอนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกเวียตนามที่กรุงวอชิงตัน ดีซี และจะจารึกไว้ในใจพวกเราตลอดไป

เรื่องนี้ยังเป็นเรื่ององความทุกข์ทรมานของครอบครัวผู้ซึ่งชีวิตของพวกเขาแตกสลายไปชั่วกาลเพราะการสูญเสีย
พ่อ, ลูกชาย สามี พี่น้อง ในหุบเขามรณะนั้น

ในขณะที่ผู้ซึ่งไม่เคยรู้จักสงครามเลยอาจจะไม่เข้าใจตรรกะแต่เรื่องนี้ยังยืนหลัดเป็นการแสดงความเคารพต่อทหารหนุ่มหลายร้อยคนแห่งกองทัพประชาชนเวียตนาม กรมที่320 กรมที่ 33 และ กรมที่ 66 ผู้ซึ่งตายด้วยน้ำมือของเราในที่แห่งนั้น พวกเขาได้ต่อสู้และตายอย่างกล้าหาญ เขาเป็นศัตรูที่คู่ควร พวกเราที่สังหารเขาขอภาวนาให้ได้พบกระดูกของเขาจากที่อันเปลี่ยวรกร้างที่เราได้ละทิ้งไว้ และมีผู้นำกลับไปดำเนินพิธีอย่างเหมาะสมและสมเกียรติที่มาตุภูมิของเขาเถิด

นี่คือเรื่องราวของพวกเราและพวกเขา

เพราะ กาลครั้งหนึ่ง เราต่างเคยเป็นทหารหนุ่ม

f
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่