แชร์ประสบการณ์เด็กน้อย ”โกะ”เส้นทางความสำเร็จที่แลกมาด้วยน้ำตาและความพยายามจากเบบี๋สู่วิถีนักกีฬา😍

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงของลูกสาวค่ะอยากเอามาแชร์เล่าให้ฟังเริ่มแรกขอแนะนำให้รู้จักกับ“โกะ” หรือ”หมากล้อม” ก่อนนะคะ

หมากล้อมหรือโกะเป็นเกมส์หมากกระดานชนิดหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นมาในประเทศจีนเมื่อประมาณ3,000-4,000 ปีมาแล้วนับเป็นศิลปะชั้นสูงของจีนที่ชนชั้นสูงหรือนักปกครองนิยมเล่นกัน ตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์จีนเรื่อง”สามก๊ก”มักจะเห็นเหล่าแม่ทัพเล่นหมากชนิดนี้กันยามว่าง 
อุปกรณ์ที่ใช้ก็จะมากระดานหมากล้อมมีเส้นตารางตัดกัน19X19เส้นและเม็ดหมากล้อมสีดำและสีขาว วิธีการเล่นคือผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต้องสลับกันวางหมากคนละเม็ด เพื่อวางกกลยุทธ์มุ่งหมายจะล้อมเอาพื้นที่ในกระดานให้ได้มากกว่าคู่แข่ง จบเกมส์ฝ่ายใดครอบครองพื้นที่บนกระดานได้มากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ

รู้จักโกะกันคร่าวๆแล้วเรามาเข้าเรื่องกัน 

ย้อนไปเมื่อ4ปีก่อนตอนลูกสาวอายุกำลังจะ7ขวบ วันหนึ่งพาลูกไปเดินห้างลูกสะดุดกับป้ายโฆษณาโรงเรียนสอนหมากล้อมแห่งนึง ลูกสาวหันมาถาม“แม่คะนี่อะไรคะ” แม่ตอบ“โกะค่ะลูกเป็นหมากของจีนแต่แม่ไม่รู้นะว่าเล่นยังไง” ลูกสาวดูสนใจและขอเข้าไปทดลองเรียนดู

หลังจากทดลองแล้วลูกสาวบอกว่าชอบอยากเรียนให้แม่สมัครให้ ตอนนั้นในหัวแม่คิดว่าลูกคงไม่เอาจริงหรอก เพราะว่าก่อนหน้านี้เคยขอเรียนตามเพื่อนทั้งเปียโนบัลเล่ต์แต่ก็ไม่รอดสักอย่าง เลยบอกลูกว่า“หนูแม่ว่ามันยากนะเดี๋ยวหนูก็เบื่อเรียนๆไปเดี๋ยวก็ไม่อยากเรียนแม่ว่ารอดูให้แน่ใจก่อนมั้ยว่าอยากเรียนจริงๆ ถ้าหนูจะสมัครเรียนเร็วๆนี้หนูก็แคะกระปุกมาจ่ายค่าเรียนเองนะคะ“

กลับถึงบ้านลูกไปหยิบกระปุกออมสินแคะเงินออกมากองหน้าแม่ เศษเหรียญแบงค์ย่อยแบงค์ร้อยเกลื่อนเต็มพื้นพร้อมกับเสียงน้อยๆของลูกสาว 

“แม่คะแค่นี้พอจ่ายค่าเรียนมั้ยคะไปสมัครให้หน่อยหนูอยากเรียนจริงๆ”

แม่เห็นภาพนี้รู้สึกจุกอกบอกไม่ถูก นี่ลูกอยากเรียนจริงๆเหรอเนี่ยเลยบอกลูกไปว่า“แม่ขอโทษนะที่พูดไปเมื่อกี้แม่ไม่คิดว่าหนูจะอยากเรียนจริงๆไม่เป็นไรเดี๋ยวแม่จ่ายค่าเรียนให้“

ลูกยิ้มตอบว่า“ไม่เป็นไรค่ะค่าเรียนรอบนี้หนูขอจ่ายเองนะคะ แต่รอบต่อไปแม่คงต้องจ่ายให้หนูไปยาวๆเลยนะคะ”

ใครจะรู้ว่าคำพูดนั้นจะเป็นจริงทุกวันนี้ยังจ่ายค่าเรียน”โกะ”ให้ลูกอย่างต่อเนื่องมาเข้าปีที่4แล้ว

มาตรฐานระดับฝีมือของโกะจะมี“คิว” และ“ดั้ง” เริ่มจากระดับเริ่มต้นคือ15-9คิวอันนี้จะใช้กระดานฝึกหัด9X9เล่น  พอฝีมือสูงขึ้นอีกหน่อยก็จะเป็นรุ่นโลว์คิว8-5 คิวใช้กระดานใหญ่19X19เล่นฝีมือสูงขึ้นอีกก็จะเป็นรุ่นไฮคิว4-1คิว  (ระดับฝีมือรุ่นคิวตัวเลขระดับจะน้อยลงแปลว่าฝีมือสูงขึ้น)

หลังจากที่ฝีมือสูงขึ้นจนถึงระดับ1คิวแล้ว ขั้นสูงต่อไปคือระดับ“ดั้ง” ซึ่งเป็นระดับอาจารย์ได้ดั้งก็ยังแบ่งต่ออีก1ดั้ง2ดั้งไล่ไปจนสูง6-7ดั้ง 

ลูกสาวเริ่มเรียนแรกๆไต่ระดับจากจุดต่ำสุด15 คิว เวลาเรียนก็สนุกดีลูกสาวหัวค่อนข้างไวเข้าใจเร็ว การเรียนถ้าจะให้ได้ผลดีจะต้องมีการลองฝีมือกับเด็กคนอื่นด้วย ลูกจึงเข้าสู่ระบบการแข่งขันตามงานแข่งที่จัดขึ้นบ่อยๆของทางสมาคม

การแข่งขันในรุ่นเริ่มต้นจะใช้กระดานเล็ก9X9 และแข่งกันเป็นทีมทีมละ3คน ต่างฝ่ายต่างเล่นกับคู่แข่งดูผลรวมของทีมถ้าชนะ2ใน3 ถือว่ารอบนั้นทีมเป็นฝ่ายชนะ แรกๆที่แข่งไปเพื่อหาประสบการณ์ไปแบบขำๆ คนในทีมแพ้กันส่วนมากไม่ได้รับรางวัลอะไร ลูกไม่ค่อยเสียใจเพราะรู้ว่าฝีมือยังอ่อนต้องกลับไปฝึกเพิ่ม พอฝีมือเริ่มดีขึ้นก็มาด้วยความคาดหวังในตัวเองที่มากขึ้นเป็นธรรมดา

การแข่งรุ่นเล็กรอบต่อๆไปเริ่มมีดราม่า ในรายการแข่งใหญ่แห่งนึงเล่นแบบทีม3คนลูกสาวเป็นฝ่ายชนะทุกกระดาน ส่วนเพื่อนร่วมทีมอีก2คนสลับกันแพ้ทำให้ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ คราวนี้น้ำตาเริ่มมาเสียใจทำไมเพื่อนในทีมถึงไม่ชนะให้หมด เพื่อนทำให้หนูอดรางวัลบลาๆบ่นไปร้องไห้ไป

แม่ต้องมานั่งอธิบายเรื่องของทีมเวิร์ค เค้าให้จัดทีมกันมาเองหนูก็เลือกทีมกันเอง เท่ากับเรายอมรับฝีมือกันและกันของเพื่อนร่วมทีมแล้ว ในทีมทุกคนก็เพื่อนหนูใช่มั้ย ผลการแข่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรโทษกันไปมา ทุกคนก็พยายามเต็มที่แล้วคนในทีมทุกคนต้องช่วยๆทำในส่วนรับผิดชอบตัวเองให้ดีที่สุดเก่งคนเดียวในทีมก็ไปไม่รอดเข้าใจมั้ย เรามาเป็นทีมเดียวกันก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับผลการแข่งขันร่วมกัน ถ้าคิดว่าทีมที่อยู่ตรงนี้ไม่โอเคหนูก็ต้องหาทีมใหม่จะเอาแบบนั้นมั้ย? 

ลูกสาวไม่ยอมแยกจากเพื่อนสนิท และเข้าใจถึงการทำงานระบบทีมมากขึ้น ผ่านไปอีกไม่นาทีมของลูกสาวก็คว้าแชมป์รุ่นเล็กในรายการแข่งขันรายการหนึ่งได้ เด็กๆดีใจกันกันมากเป็นความปลื้มใจที่ไม่ทอดทิ้งกัน ฝ่าฟันอุปสรรคพยายามร่วมกันจนสำเร็จได้

ขั้นต่อไปเริ่มฝีมือสูงขึ้นการเรียนยากขึ้นการแข่งขันก็ยากขึ้น ต้องแยกกันไปแข่งขันเดี่ยวไม่ได้แข่งกันเป็นทีมอีกแล้ว การรับผิดชอบกระดานคนเดียวแพ้หรือชนะอยู่ที่ตัวเองไม่เกี่ยวกับใครก็เป็นความท้าทายขึ้นอีกขั้น 

น้ำตาจากงานแข่งยังหลั่งให้เห็นอยู่เป็นประจำ มาจากความเจ็บใจตัวเอง มีมากบ้างน้อยบ้างบางทีก็ไม่มีเลยแล้วแต่เหตุการณ์ ทุกหยดน้ำตาที่มีทำให้เขาเรียนรู้ที่จะแกร่งขึ้น พยายามมากขึ้นก้าวผ่านเอาชนะความกลัว เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นต่อๆไป

ไต่ลำดับจากบ๊วยสุด แพ้รวดทุกกระดาน เก็บความผิดพลาดมาแก้ไข จากอันดับท้ายๆค่อยๆดีขึ้น จนคว้ารางวัลในรุ่นฝีมือนั้นมาได้ จากนั้นก็ต้องเปลี่ยนรุ่นไปรุ่นฝีมือสูงขึ้น ไต่จากระดับล่างแพ้รวดใหม่ ลูกมีส่วนได้ฝึกนิสัยความมุ่งมานะพยายามมาจากตรงนี้

เกือบ4ปีบนเส้นทางสาย”โกะ”เกิดเหตุการณ์ดราม่าน้ำตานองอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็ให้แง่คิดสอนใจมากมายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

-แต้มนำมาจวนจะจบเกมส์แล้ว ชัยชนะอยู่ตรงหน้าแต่บนกระดานมีจุดอ่อนจุดใหญ่ที่มองไม่เห็นอยู่ ประมาทย่ามใจคิดว่าชนะแน่นอน พอคู่ต่อสู้ที่หมดทางรอดแล้วเห็นจุดนั้น วางหมากลงไปจุดนั้น ทำให้เกมส์พลิกจากกำลังจะชนะเป็นแพ้แบบตายทั้งกองทัพ ดังคำที่ว่า“วางหมากผิดเม็ดเดียวล้มทั้งกระดาน” มีอยู่จริง= น้ำตาร่วงเจ็บใจความประมาทของตัวเอง 

-ครอบครองพื้นที่บนกระดานได้มากกว่าคู่แข่ง แต่ยังไม่พออยากได้เพิ่มวางหมากไล่ฆ่าหมากของคู่ต่อ แข่งเปรียบได้กับไล่ทำลายกะเผาบ้านเผาเมืองให้วอดวาย แต่สุดท้ายไปไม่รอดทำน้ำมันหกพื้นที่ตัวเอง และไฟก็ไหม้พื้นที่ไหม้กองทัพตัวเองจนวอดวายพ่ายแพ้ไปในที่สุด= น้ำตาร่วงเจ็บใจในความโลภของตัวเอง

-เวลาหมดในขณะที่เกมส์นำมาตลอด ในกรแข่งขันจะมีนาฬิกาจับเวลาทุกครั้งที่วางหมากเสร็จต้องกดเวลาหยุด แต่บางครั้งบริหารเวลาไม่ดีใช้เวลาคิดมากเกินไป หรือลืมกดนาฬิกาตอนใกล้จะจบเกมส์เวลาไม่พอ ถึงแม้ว่าแต้มบนกระดานจะดีกว่าก็ถือว่าแพ้ถ้าเวลาหมด บางทีเข้าช่วงสำคัญท้ายเกมส์เวลาบีบทำให้เดินพลาดแบบน่าเสียดายก็มี= น้ำตาร่วงที่บริหารเวลาไม่ดีพอ

“ชนะโดยไม่คิดเอาชนะ” เป็นปรัชญาหมากล้อมที่นักหมากล้อมท่านนึงได้กล่าวเอาไว้ เด็กน้อยคนนึงไม่เคยเข้าใจคำนี้โดยแท้จริง เความที่ยังเป็นเด็กมุ่งหวังที่จะชนะเพียงอย่างเดียวจนลืมหลักการนี้ไป ชนะ100แต้มหรือชนะ5แต้มผลก็คือชนะเหมือนกัน การมุ่งแต่จะทำร้ายคนอื่นหวังเพียงเอาชนะให้ได้สุดท้ายตัวเองก็จะยิ่งมีจุดอ่อนมากขึ้นด้วย ตอนนี้เด็กน้อยคนนี้โตขึ้นประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขาเริ่มเข้าใจในหลักการนั้นบ้างแล้ว

น้ำตาที่ไหลไม่ได้มาจากการแข่งเพียงอย่างเดียว การเรียนการทดสอบฝีมือก็เช่นกัน การทดสอบเพื่อเลื่อนระดับฝีมือต้องสอบกับอาจารย์1ดั้งขึ้นไป
โดยการต่อแต้มตามระดับฝีมือที่จะสอบ ต้องเล่นจนสามารถชนะอาจารย์ผู้ทดสอบได้จึงจะถือว่าสอบผ่าน กว่าจะผ่านแต่ละระดับชั้นฝีมือ สอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จวนเจียนจะผ่านแต่ก็ไม่ได้สักที ด่านนี้เป็นด่านปราบมาร บางคนก็เหนื่อยจนท้อเลิกไปก็มี แต่ไม่ใช่สำหรับเด็กคนนี้ ถึงเหนื่อยถึงท้อถึงจะมีน้ำตาแต่ก็ดื้อยังพยายามอยู่

วันนี้ลูกสาวอายุ10ขวบย่าง11ขวบ มีระดับฝีมือ2ดั้งความสามารถเป็นถึงระดับอาจารย์ได้แล้ว และยังได้เป็นนักกีฬาประจำโรงเรียน ตัวแทนนักกีฬาประจำจังหวัดหวัด เพื่อเข้าแข่งขันกีฬาระดับชาติ ทั้งกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ และกีฬาแห่งชาติอีกด้วย นอกจากความภาคภูมิใจในการได้เป็นนักกีฬาแล้ว เรื่องของการเรียนยังใช้หลักการของหมากล้อมมาประยุกต์ใช้ทำให้ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม แม้จะไม่ได้เรียนพิเศษเลย
ตอนนี้น้ำตาที่มีไม่ค่อยไหลแล้ว นานๆจะเห็นสักครั้งกับเหตุการณ์ที่หนักหนาจริงๆสำหรับเขา มีน้ำตาแต่ไม่ท้อ การเข้าสู่วิถีนักกีฬานี้ชีวิตจะไม่ชิวๆอีกต่อไป การเรียนและการฝึกซ้อมที่ต้องแบ่งเวลาให้มากขึ้น แม้หนทางจะลำบากก็จะพยายามพัฒนาตัวเองต่อไป

ไม่เคยคิดว่าความพยายามของเด็กน้อยคนนึงจะมาได้ไกลขนาดนี้ ต้องขอบคุณ”หมากล้อม”หรือ”โกะ”ที่เข้ามาเป็นส่วนนึงในชีวิตลูกสาวด้วยนะคะ ถ้าอยากรู้ว่าหมากกระดานนี้ดียังไง ลองศึกษาดูนะคะ ไม่แน่คุณอาจจะหลงรักหมากกระดานชนิดนี้เหมือนบ้านนี้ก็ได้

🙏🏻ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านะคะ หากมีข้อผิดพลาดหรือเขียนวกวนเข้าใจยาก ต้องกราบขออภัยไว้ณที่นี้ด้วยนะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่