EEC - เล็งดันมาบตาพุดเฟส 3 เข้าครม. เดือน ส.ค. นี้

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งมีมูลค่าโครงการทั้งหมด 5.54 หมื่นล้านบาท ว่า กนอ.ได้ทำร่างสัญญา โดยได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด​ตรวจแล้ว และได้นำเข้าคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งก่อนการนำเข้า กพอ. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุง​ให้ร่างสัญญา​ครอบคลุมในรายละเอียดมากขึ้น

“ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว แต่ยังเหลือการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในช่วงปลายเดือนสิงหาคม​ หรือต้นเดือนกันยายน 2562 หลังจากนั้นจะนำเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ครม.อนุมัติ​โครงการฯ ก่อนที่จะมีการลงนามสัญญา​ภายในเดือนกันยายนต่อไป”

ส่วนในเรื่องของความกังวลว่าจะมีผู้คัดค้านระหว่างการรับฟังความคิดเห็นนั้น ทาง กนอ.มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว 3 ครั้ง พร้อมมีการอธิบายให้ประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบว่าตอนนี้มีมาตรการ​ที่จะลดผลกระทบ และชี้แจ้งถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ เช่น รายได้จากการทำธุรกิจ เศรษฐกิจในพื้นทีจะฟื้นตัวดีขึ้น​ เป็นต้น

นอกจากนี้ การรับฟังที่ผ่านมาบางหน่วยงาน อาทิ กระทรวง​พาณิชย์​ ได้เสนอความคิดเห็นเรื่องของลิขสิทธิ์ บางหน่วยงานให้ความคิดเห็นว่าหากมีการฟ้องร้องกันในอนาคต จะอนุญาต​ให้เฉพาะบริษัท​คู่สัญญามีสิทธิ์ฟ้องร้องรัฐได้เท่านั้น แต่ไม่อนุญาต​ให้บริษัทที่ร่วมทุนกับคู่สัญญา​ฟ้องร้องกับทางภาครัฐได้

ส่วนในเรื่องของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตก๊าซ แอลเอ็นจี (ชิปเปอร์) โดยก่อนหน้านี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น (พีคิว) ในส่วนของกนอ.ขณะนี้ อยู่ระหว่างการนัดประชุมคณะกรรมการคัดเลือก และจะเชิญภาคเอกชนเข้ามารับฟัง เพื่อแจ้งมติต่อกพอ. และความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เบื้องต้นทางการแบ่งสัดส่วนหรือผลประโยชน์ให้กับรัฐของภาคเอกชนนั้น ต้องรอความชัดเจนในเรื่องของรายละเอียด คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายใน 2 สัปดาห์​ หรือในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพราะบางบริษัทฯ ต้องรอให้ผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจ​ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ​ก่อนถึงจะสรุปได้ แต่ในเรื่องของรายได้ที่รัฐได้ไปรับอาจจะมีการกำหนดราคาไว้แล้ว และหากในอนาคตราคาก๊าซมีความเปลี่ยนแปลง ส่วนนี้เป็นความเสี่ยงที่เอกชนต้องรับไม่เกี่ยวกับ กนอ. เพราะได้ระบุไว้ในร่างสัญญา​ชัดเจนแล้ว”

ที่มา : มติชนออนไลน์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่