'เมืองอัจฉริยะ' เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคนยังไม่ฉลาดพอ

Jul 13, 2019
Last update Jul 13, 2019 15:42


ผู้เชี่ยวชาญการจัดการนวัตกรรมเตือนว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในหลายประเทศขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ละเลยการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ซึ่งหากคนไม่พร้อม เมืองอัจฉริยะก็ไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้

นิตยสารฟอร์บสเผยแพร่บทความ Smart Cities Are Built By Smart People, Not Smart Things เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 โดยเป็นความคิดเห็นของ 'เอลลิส ทาลทัน' และ 'เรมิงทัน โทนาร์' ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการนวัตกรรมและพัฒนาโครงการก่อสร้าง ซึ่งมองว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ให้เกิดขึ้นจริงได้ต้องอาศัยบุคลากร หรือ 'ผู้อยู่อาศัย' ที่มีความรู้และมีความสามารถเพียงพอที่จะทำให้เมืองอัจฉริยะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

บทความของทาลทันและโทนาร์ระบุว่า เมืองอัจฉริยะที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยไม่มีทางไปรอด ถ้าผู้อยู่อาศัยในเมืองเหล่านี้ 'ไม่มีความรู้' หรือไม่ฉลาดพอที่จะนำข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้จากนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์ ซึ่งบุคลากรในเมืองอัจฉริยะต้องมีวิจารณญานพอที่จะประเมินว่า เมื่อใดควรพึ่งพาเทคโนโลยี และเวลาใดควรลงมือปฏิบัติเอง

ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมความรู้ของบุคลากรต้องไม่ยึดติดกับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) เท่านั้น แต่ต้องผสมผสานความรู้ด้านศิลปศาสตร์ที่สามารถเติมเต็มด้านการออกแบบเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจในความต้องการของมนุษย์

เนื้อหาในบทความยังอ้างอิงคำนิยาม smart city ของ 'สตีเฟน เบนจามิน' ประธานสมาคมนายกเทศมนตรีแห่งสหรัฐฯ (USCM) ซึ่งเข้าร่วมการประชุมที่นครนิวยอร์กเมื่อต้นเดือน ก.ค. และได้พูดถึงแนวคิดเรื่อง 'เมืองอัจฉริยะ' ว่าเป็นการขับเคลื่อนให้เมืองต่างๆ ฉลาดขึ้นกว่าเดิมในแง่ของการจัดการและการใช้งานข้อมูลควบคู่ไปกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดกระบวนการทำงานต่างๆ ให้น้อยลง แต่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

เมืองอัจฉริยะ หรือเมืองแห่งหนูทดลอง?

นิยามเรื่อง smart city อีกอันหนึ่งซึ่งปรากฏในบทความของฟอร์บส มาจาก 'บอยด์ โคเฮน' นักวิชาการแห่งวิทยาลัยธุรกิจ EADA ในสเปน ซึ่งครอบคลุมกว่านิยามของสตีเฟน เบนจามิน มองว่า

เมืองอัจฉริยะคือการนำนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกด้านของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณสาธารณะ การเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมสร้างสรรค์แนวทางการอยู่ร่วมกัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีเจตนารมณ์ส่งเสริมระบบนิเวศของสังคมให้ยั่งยืน ซึ่งการจะสร้างเมืองอัจฉริยะเช่นนี้ได้ต้องอาศัยความรู้และความพร้อมของผู้อยู่อาศัยด้วย

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
โครงการ Senseable City Labs ของสถาบัน MIT ทดสอบเรื่องการใช้พาหนะรับส่งคนในนิวยอร์กอย่างไรให้ประหยัดเวลาที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทาลทันและโทนาร์สนับสนุนแนวคิดเรื่อง Senseable City ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งการรับรู้และมีไหวพริบมากกว่าความเป็นอัจฉริยะแบบ smart city

โดยผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ คือ 'คาร์โล แรตที' และ 'แมทธิว คลอเด' จากสถาบัน MIT ผู้ร่วมเขียน The City of Tomorrow: Sensors, Networks, Hackers, and the Future of Urban Life ซึ่งระบุว่า Senseable City มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการวางแผนและพัฒนา เพื่อให้เทคโนโลยีสามารถตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้อย่างครอบคลุม และบูรณาการให้เกิดระบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างทั้งด้านกายภาพและสาธารณูปโภค รวมถึงนวัตกรรมทางสังคม

ทาลทันและโทนาร์ยกตัวอย่างเพิ่มเติม กรณี Sidewalk Labs โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของ Alphabets บริษัทแม่ของกูเกิล ที่ยื่นเสนอต่อสภาเทศบาลเมืองโทรอนโตของแคนาดาตั้งแต่ปี 2017 โดยหวังว่าจะได้สัมปทานพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อดำเนินการเมืองอัจฉริยะต้นแบบ แต่กลับถูกชาวเมืองจำนวนมากต่อต้านเพราะรู้สึกว่าการวางแผนพัฒนาเมืองไม่คำนึงถึงความเห็นของประชาชนในพื้นที่

ล่าสุดบีบีซีรายงานว่า ชาวเมืองบางส่วนต้องการให้รัฐบาลล้มเลิกโครงการนี้ไปเลย เพราะรู้สึกว่าตนกำลังจะกลายเป็น 'หนูทดลอง' ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และเกรงว่าจะถูกแทรกแซงหรือสอดแนมความเป็นส่วนตัว

Sidewalk Labs สมาร์ทซิตี้ ที่ว่ากันว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของเมืองแห่งโลกอนาคต!

เมื่อพูดถึงเมืองในฝันที่หลายๆคนร่างภาพไว้ในจินตนาการ อาจจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องฝันเฟื่อง ด้วยความเป็นจริงที่ว่าคงจะเป็นเรื่องยากกับการจะสร้างเมืองทั้งเมืองขึ้นมาเองเหมือนในนิยาย แต่หารู้ไม่ว่าเรื่องราวต่อไปนี้ ไม่ใช่เรื่องที่มีแต่ในภาพยนตร์อีกต่อไป เมื่อเกิดโครงการที่ชื่อว่า Sidewalk Labs ซึ่งเป็นรูปแบบของเมืองอัจฉริยะ มีการวางโมเดลการก่อสร้างและการประกาศแผนแม่บท ซึ่งจะเริ่มก่อนสร้างก่อนปี 2021 ลองมาดูตัวอย่างผังเมืองกันว่าจะน่าอยู่แค่ไหน


Sidewalk Labs เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองนวัตกรรมต้นแบบใน Eastern Waterfront บนชายฝั่งตะวันออกของเมือง Toronto ประเทศแคนาดา โดยมุ่งเน้นการสร้างที่คำนึงในทุกๆรายละเอียด ทั้งการก่อสร้าง ทางเท้า พื้นที่สาธารณะ พื้นที่อยู่อาศัย แม้กระทั่งพลังงาน เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart City เมืองแห่งเทคโนโลยี ที่มีการวางแผนถึงการใช้พลังงานบริสุทธิ์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รถยนตร์ไร้คนขับ และที่อยู่อาศัยที่มีการเชื่อมต่อเข้ากับเทคโนโลยี

นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลในรูปแบบของการจดจำใบหน้าเพื่อทำวิจัยประชากร โดยจะมีสัญลักษณ์ของป้ายติดตามท้องถนนเมื่ออยู่ในจุดที่จะมีการบันทึกตัวตน ที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ว่าข้อมูลตัวตนของเราจะถูกนำไปใช้ทำอะไร ถูกเก็บไว้ที่ใคร


ทั้งนี้เรื่องของเมือง Sidewalk Labs กำลังอยู่ในช่วงของการดำเนินการเรื่องของการวางแผนและเตรียมการก่อสร้างซึ่งก็คาดการณ์ไว้ว่าไม่เกินปี 2021 หรือหรืออีกแค่ภายในสองปีนี้ ซึ่งต้องบอกว่าหากการก่อสร้างนั้นเสร็จสิ้นแล้ว Sidewalk Labs จะเปรียบเสมือนเมืองแห่งอนาคต ที่มีเทคโนโลยีและรูปแบบผังเมืองที่ทันสมัย ปลอดภัย และจะกลายเป็นเมืองต้นแบบเพื่อการพัฒนาสู่เมืองต่อๆไป ภาพเมืองในฝันที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์โลกอนาคต จะไม่ใช่แค่ภาพในจินตนาการอีกต่อไป
Source: Engadget

การบริหารแบบ 'ระบบราชการ' อุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

คำเตือนของทาลทันและโทนาร์ สอดคล้องกับความคิดเห็นของ 'เจเรมี เคลลี' ผู้จัดการสถาบันที่ปรึกษาด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ JLL ซึ่งเปิดเผยกับวารสาร World Property Journal เมื่อ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่า การจะทำให้เมืองอัจฉริยะประสบความสำเร็จต้องเริ่มจากการคำนึงถึงเทคโนโลยีให้น้อยลง แต่ต้องคิดให้มากขึ้นว่าจะใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างไรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีกว่าเดิม


สิงคโปร์ประกาศวิสัยทัศน์เมืองอัจฉริยะตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา (Photo by R.H. Lee on Unsplash)

ข้อมูลของ JLL ระบุว่า ทั่วโลกมีแผนพัฒนาผลักดันโครงการเมืองอัจฉริยะมากกว่า 1,000 พื้นที่ โดยเป็นการยื่นข้อเสนอจากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่มีเพียง 15 โครงการเท่านั้นที่กำหนดเป้าหมายและวางแผนยุทธศาสตร์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว และมีเพียง 8 โครงการเท่านั้นที่วางแผนยุทธศาสตร์และกำหนดกรอบการทำงานอย่างละเอียดพอที่จะเริ่มดำเนินการได้ทันที

นอกจากนี้ 'เอเชียแปซิฟิก' ถือเป็นภูมิภาคที่มีโครงการเมืองอัจฉริยะรอดำเนินการอยู่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเกือบ 500 โครงการอยู่ในประเทศจีน และราว 100 โครงการในประเทศอินเดียกำลังรอการพัฒนาช่วงปี 2017-2022

ขณะที่สิงคโปร์กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City Vision มาตั้งแต่ปี 2014 และในปี 2018 ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียได้ลงนามความร่วมมือกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนว่าจะสนับสนุนงบประมาณกว่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะร่วมกับประเทศภาคีต่างๆ

เคลลีกล่าวว่ากลุ่มทุนและผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่อาจจะส่งเสริมให้แนวคิดเมืองอัจฉริยะเป็นจริงได้ โดยผู้ลงทุนควรคำนึงถึงการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานเข้ากับอาคารบ้านเรือน เพื่อสร้างบรรยากาศของเมืองที่มีพลัง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย นำเทคโนโลยีทั้งด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) มาใช้ในการแก้ปัญหาจากการขยายตัวของเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านจราจรหรือความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้อาจทำให้คนในสังคมต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิธีการทำงาน แต่ก็น่าจะเป็นผลดีต่อหลายเมืองในแถบเอเชียแปซิฟิกที่อัตราการเติบโตของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เคลลีสะท้อนความเห็นว่า การผลักดันโครงการเมืองอัจฉริยะในเอเชียแปซิฟิกยังดำเนินไปอย่างช้าๆ เพราะติดปัญหาใหญ่ซึ่งเป็นประเด็นร่วมของภูมิภาค นั่นก็คือ การดำเนินงานภายใต้ระบอบราชการ 

เพราะยิ่งเมืองมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ การบริหารจัดการก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น การยื่นเรื่องต่างๆ ต้องอาศัยขั้นตอนมากมาย และรัฐบาลในหลายประเทศยังคงพิจารณาอนุมัติเฉพาะโครงการนำร่องขนาดเล็กเท่านั้น เพราะประเมินแล้วว่าจะไม่สูญเสียเวลาหรือทรัพยากรด้านต่างๆ มากนักหากเกิดความผิดพลาดระหว่างดำเนินการ

VOICETV.CO
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่