วัดพระธาตุลำปางหลวง ... อำเภอเกาะคา ลำปาง

ตั้งอยู่ที่บ้านลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
นอกจากมีองค์พระธาตุประจำเมืองลำปางแล้ว
วัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี  ได้รับการบูรณะใหญ่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช
เป็นวิหารล้านนาทั้งแบบแบบโถง และแบบทึบ
ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่



ตำนานเล่าว่า
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จมาประทับที่บ้านลัมภะการีวัน หรือบ้านลำปางหลวงในปัจจุบัน 
มีลัวะชื่อ อ้ายกอนเกิดความเลื่อมใส จึงนำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างซึ่งเป็นไม้ที่ใช้ทำข้าวหลาม, มะพร้าว, และมะตูมมาถวาย
พระพุทธองค์ฉันน้ำผึ้ง แล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ พยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมภะกัปปะนคร 
ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน
ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ ใส่ลงในอุโมงค์ พร้อมแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แต่งยนต์ผัดรักษาไว้ 
ยนต์ มาจากภาษาบาลี ส่วนคำว่า ยนตร์ มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่าเครื่องกลไก ผัด ภาษาเหนือ แปลว่าหมุน
ลัวะอ้ายกอนก็ถมดิน แล้วก่อพระเจดีย์สูงเจ็ดศอก ... 3.5 เมตร ... เหนืออุโมงค์นั้น 

วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณ ลัมภะกัปปะนคร 
พระนางจามเทวี เคยมาพักทัพและเห็นดวงไฟพระธาตุ จึงได้ไปกราบสักการะพระธาตุ ได้อธิษฐานขอให้มีสายน้ำที่ใจกลางเมืองลัมภะกัปปะนคร 
เมื่อเกิดน้ำผุดออกมาจริง พระนางก็ให้มีการฉลองพระธาตุ ถวายนา และข้าบริวาร ให้ดูแลพระธาตุและบ่อน้ำ 
ปัจจุบันมีบ่อน้ำตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน เรียกว่าบ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี


เมืองลำปางยุคแรกสร้างในสมัยพระนางจามเทวี มีพรานชื่อเขลางค์เป็นผู้หาทำเลตั้งเมืองให้จึงชื่อว่าเมืองเขลางค์ ทางฝั่งขวาของแม่น้ำวังเมืองมีรูปคล้ายหอยสังข์เหมือนหริภุญไชย
เมืองลำปางยุคสองยุคราชวงค์เม็งรายปกครองล้านนา มีการขยายเมืองลงมาตามลำน้ำ เรียกว่าเมืองละกอน หรือนคร 
เมืองสำปางยุคสามเป็นยุคย้ายเมืองลำปางข้ามมาอยู่ทางฝั่งซ้ายของน้ำวัง
พระเจ้าแสนเมืองมาปู่ของพระเจ้าติโลกเคยเสด็จที่แม่วาง ได้แม่นางคนแม่วางเป็นสนม
มีพระโอรสที่ชอบนอนในกระด้ง ภายหลังเข้ารับราชการชื่อว่าหมื่นด้ง ได้มาครองเมืองละกอน หรือลำปาง จึงชื่อหมื่นด้งนคร
ต่อมาพระเจ้าติโลกชิงราชสมบัติจากพญาสามฝั่งแกน พระราชบิดาสำเร็จขึ้นครองล้านนา 
ครั้งหนึ่งเกิดสงครามกับเมืองใต้ หมื่นด้งไม่อยู่ไปราชการ แม่เมืองคือพระเทวีซึ่งกำลังท้องได้แต่งตัวเป็นชายเข้านำทัพต่อสู้ได้ชัยชนะ
จึงได้สร้างเจดีย์ที่สนามรบ คิอเจดีย์วัดพระธาตุจอมปิง บุตรที่ออกมาจึงมีชื่อว่า หาญแต่ท้อง ... ที่จริงแม่เมืองเก่งเนาะ แต่ไปตั้งชื่อพระโอรสว่าเก่ง
ต่อมาพ.ศ.2011 พระเจ้าติโลกให้หมื่นด้งนครไปช่วยราชการที่เชียงใหม่ ดำรงตำแหน่งหมื่นโลกสามล้าน  ให้โอรส คือเจ้าหาญแต่ท้องนั่งเมืองแทน 
ในสมัยนี้เองจึงเริ่มมีการบูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวงขึ้นครั้งใหญ่ ในต่อ ๆ มาก็มีการสร้างพระเจ้าล้านทองขึ้น  และก็มีการบูรณะวัดในต่อ ๆ  มา

บันไดทางขึ้นด้านหน้าเป็นรูปมกรคายพญานาคห้าเศียร  เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่สองตัว ทอดผ่านโลกมนุษย์ขึ้นสู่เขาพระสุเมรุ
สร้างในสมัยพระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2331






ผ่านป่าหิมพานต์ซึ่งแทนด้วยซุ้มประตูโขง  จึงประดับด้วยดอกไม้ สัตว์หิมพานต์ 
มีหกชั้น ... เปรียบกับสวรรค์หรือเทวโลกหรือเปล่าไม่ทราบแต่มันพอเหมาะพอเจาะกันพอดี ส่วนยอดเป็นบัวเหลี่ยม
ซุ้มประตูโขงนี้เป็นรูปส่วนหนึ่งในในตราสัญลักษณ์จังหวัดลำปาง



ใต้ซุ้มประตู
ด้านนอก เป็นรูปธรรมจักร วางบนดอกบัว ...ดอกบัวรองรับพระพุทธเจ้า
ด้านใน เป็นรูปธรรมจักร ประดับฉัตรโดยรอบ อยู่ระหว่างดวงจันทร์ ... นกยูง และ ดวงอาทิตย์ ... กระต่าย



ซุ้มประตูเปิดตรงสู่วิหารหลวง
หน้าบันแกะสลักเทพพนมยืนอยู่เหนือวัว ประดับด้วยลายคำ
ถัดลงมาวงกลมตรงกลางเขียนว่า เจ้าคณะจังหวัดนครลำปาง พระธรรมจินดานายก พ.ศ.2466 ด้านข้าง เป็นบาตร พัดยศ และ ... ไม่ทราบค่ะ
หน้าแหนบเป็นลายพรรณพฤกษา 
ต่างตาเป็นเทพพนม มีสายมาลัยลายกนกเป็นโก่งคิ้ว



เป็นวิหารโถงล้านนา 
ซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น เหลื่อมด้านปีกนก 3 ตับ สอดคล้องกับการยกเก็จแบ่งตามพื้นที่ใช้สอยสามส่วน 
เปิดโล่งตลอดไม่มี ประตูและหน้าต่าง มีฝาน้ำย้อยบังแดดและฝน



ตอนหลังสุดปกติส่วนนี้จะมีผนังทึบ แต่วิหารนี้เปิดโล่ง  เป็นแท่นแก้ว ประดิษฐานพระหมู่บูชา อาจเป็นพระประธานของวิหารมาก่อนสร้างพระเจ้าล้านทอง



จากจารึกเจ้าเมืองหาญสีทัตถ พ.ศ. 2049 เล่าว่า
เจ้าหาญสีทัตถได้มาครองเมืองลําปางแล้วได้ให้หล่อพระเจ้าล้านทองขึ้น  ประดิษฐานอยู่ในซุ้มโขงเก้าชั้น หน้าแท่นแก้ว
โครงหลังดั้งเดิมคาเป็นแบบม้าต่างไหมเปิดโล่ง ไม่มีเพดาน



จิตรกรรมฝาผนัง บนฝาน้ำย้อย เขียนขึ้นภายหลังดูจากสีน้ำเงินของโคลบอลท์ นำเข้ามาโดยบริษัททำไม้ 
เขียนเรื่องทศชาติชาดก พระพุทธประวัติ และเรื่องพรหมจักรชาดกหรือรามเกียรติ์ภาคล้านนา




ธรรมมาสทรงปราสาทล้านนา



อาสนะของเจ้าวรญาณรังษี เจ้าหลวงเวียงละกอนองค์ที่ 9 สร้างถวายเมื่อปี 2398 ใช้ในพิธ๊สวดพุธาภิเษก



ด้านหน้าแหนบด้านหลังประดับรูปเทพพนม และช้างเอราวัณ



ทิศเหนือของวิหารหลวงมี วิหารต้นแก้ว และวิหารน้ำแต้ม



ภายในวิหารต้นแก้ว



วิหารน้ำแต้มเป็นวิหารทิศ ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์
ที่มีวิหารหลวงเป็นวิหารทิศตะวันออก วิหารพระพุทธ - ทิศใต้ วิหารพระนาคปรก - ทิศตะวันตก
วิหารน้ำแต้ม สร้างเมื่อ พ.ศ.2044  เสาของวิหารจะเหลื่อมไม่บังกัน ทำให้มองเห็นเสาได้ทุกเสา
ประดิษฐานพระพุทธรูปสัมริดปางมารวิชัย ด้านหลังเป็นภาพเขียนลายคำต้นโพธิสามต้น
มีจิตรกรรมศิลปะล้านนาเก่าแก่บนแผงไม้คอสอง หรือฝาน้ำย้อย เรื่องท้าวสักกะหรือประวัติพระอินทร์ และเรื่องพระนางสามาวดี



วิหารพระพุทธ อยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารที่สร้างในปี พ.ศ.2019 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช 
พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคาร ก่ออิฐถือปูน ศิลปะเชียงแสนที่เห็นแล้วนึกถึงพระพุทธรูปในวิหารวัดพระเจ้าเม็งราย ที่สร้างในสมัยพระเจ้าติโลก พ.ศ.2012 เลยทีเดียว
เดิมเป็นวิหารโถง โครงสร้างภายในใช้วิธีการรับน้ำหนักของเครื่องบนแบบขื่อม้าต่างไหม มีฝาย้อยคอยกันแดดและฝน  เมื่อมีการบูรณะในปีพ.ศ.2345 ได้มีการก่ออิฐขึ้นมาเป็นฝาปิดทึบ



วิหารพระนาคปรก อยู่ทางตะวันตกของพระธาตุเจดีย์ ประดิษฐานพระเจ้าศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่จากละโว้ 
ซึ่งพระบิดาของ พระนางจามเทวีมอบให้เมื่อพระนางได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่ละโว้ พ.ศ. 1275 
แต่ เราว่าสังฆาฏิมีความคล้ายเชียงแสนสิงห์หนึ่งมากกว่าคือสั้นและเป็นเขี้ยวตะขาบ


อุโบสถ และ หอพระพุทธบาท
หอพระพุทธบาท ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ภายมีแสงหักเห ปรากฏเป็นเงาพระธาตุ และพระวิหารในด้านมุมกลับ


หอระฆัง

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่